Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนอีสานคัดค้าน มาตรา 272 จำนวน 50 องค์กร แถลงการเรียกร้อง "ยกเลิกอำนาจ ส.ว." ขอสภาต้องเร่งพิจารณา 3 วาระรวด

5 ก.ย. 2565 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เฟมินิสต์ปลดแอกอีสาน' รายงานว่า วันนี้ (5 ก.ย.) เวลา 18.30 น. เครือข่ายประชาชนคนอีสาน คัดค้านมาตรา 272 อ่านแถลงการรณ์เพื่อคัดค้านการสืบทอดอำนาจ ส.ว. "เถื่อน" ที่มาจากการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือคณะรัฐประหารปี 2557  ซึ่งเครือข่ายประชาชนคนอีสานได้เรียกร้องให้ ส.ว. คืนอำนาจให้ประชาชน ด้วยการยื่นหนังสือในวันพรุ่งนี้ เพื่อร้องให้รัฐสภา เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นต่อแนวทางดังกล่าว โดยลงมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกอำนาจพิเศษของ ส.ว. ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 “สามวาระรวด” ภายในวันที่ 7 ก.ย. 2565 นี้ ทั้งนี้มีกลุ่มในภาคอีสานที่ร่วมลงชื่อกว่า 50 กลุ่มในท้ายแถลงการณ์

นอกจากนี้ในช่วงเช้าของวันนี้ยังมีการทำโพลที่ศูนย์อาหารคอมเพล็กซ์เกี่ยวกับเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกอำนาจ ส.ว. โดยมีนักศึกษามาติดสติ๊กเกอร์ที่ช่อง "เห็นด้วย" เป็นจำนวนมาก ขณะที่ช่องไม่เห็นด้วยไม่มีคนติดสักอันเดียว

รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้ 

แถลงการณ์ หยุดระบอบซุมผีปอบประยุทธ์ ตัดอำนาจ สว.ลากตั้ง เอาอำนาจกลับคืนสู่ประชาชน 

หมุดหมาย ณ วันที่ 6-7 ก.ย.2565 ได้มีระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในประเด็นสำคัญ หนึ่งในนั้นคือการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่เสนอโดยการเข้าชื่อกันของประชาชน ซึ่งเป็นข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2560 หรือ การตัดอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มาจากการคัดเลือกโดยเผด็จการทหาร หรือ คสช. ซึ่งเป็นอำนาจในการลงมติเลือกบุคคลให้เป็นนายกรัฐมนตรี อำนาจที่มากเป็น “พิเศษ” ของ สว. ที่มีที่มาแบบ “พิเศษ” ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐสภาแห่งนี้ไม่ได้รับการเชื่อถือยอมรับ และทำให้รัฐบาลที่มาจากเสียงสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภาขาดความชอบธรรม ขาดการยึดโยงกับประชาชน อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในปัจจุบัน 

เครือข่ายประชาชนอีสานคัดค้าน มาตรา 272 ตามที่มีรายชื่อข้างท้ายนี้เล็งเห็นว่า ตั้งแต่ คสช. กระทำการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 ก็ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศไว้ในมือเพียงคนกลุ่มเดียว และยังไม่คืนอำนาจให้อยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง ยังคงยึดกุมอำนาจไว้ด้วยกลไกหลากหลายในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมไปถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประกาศ และคำสั่งของ คสช. และองค์กรอีกมากมายที่ถูกแต่งตั้งขึ้น เครื่องมือที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดจากผลพวงเหล่านั้น คือ “อำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี” ซึ่งปัจจัยที่กำลังนำไปสู่การสืบทอดอำนาจของคนกลุ่มเดิม ดังนั้น กลไกที่จะคืนอำนาจให้ประชาชนที่สำคัญที่สุด คือ “ให้เกิดการจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่บริสุทธ์ โปร่งใส และเป็นธรรมโดยเร็ว” ซึ่งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ จะไม่มีทางเป็นธรรมและไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาชนได้ หาก สว. ที่มาจากการลากตั้งของ คสช. ยังคงมีอำนาจ “เหนือประชาชน” โดยการสามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดต่อไปได้ทั้งที่ไม่ได้มีที่มาจากประชาชน พวกเราจึงมีความเห็นร่วมกันว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในอนาคตนั้น จะต้องมีที่มาจากระบบประชาธิปไตยที่ยึดโยงกับประชาชน

เครือข่ายประชาชนอีสานคัดค้าน มาตรา 272 ตามที่มีรายชื่อข้างท้ายนี้ จึงขอให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นต่อแนวทางดังกล่าว โดยลงมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกอำนาจพิเศษของสมาชิกวุฒิสภาตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 “สามวาระรวด” ภายในวันที่ 7 ก.ย. 2565  ซึ่งถือว่าภารกิจดังกล่าวคือเรื่องสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน อันจะเป็นหนทางที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ไม่ให้เกิดการ “ยืดเยื้อต่อลมหายใจ” ให้ระบอบเผด็จการ เพื่อนำสังคมไทยออกจาก “พื้นที่ของความตีบตันและสิ้นหวัง” สู่การสร้างทางออกที่มาจากอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง”
ด้วยความเคารพใน ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
เครือข่ายประชาชนอีสาน คัดค้าน มาตรา 272
ประกาศ ณ วันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2565

รายชื่อเครือข่ายประชาชนอีสาน คัดค้าน มาตรา 272
1) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
2) สมัชชาคนจน 
3) โครงการปฎิบัติการเพื่อสิทธิคนจน
4) กลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน จ.ขอนเเก่น
5) เฟมินิสต์ปลาแดก 
6) LANDERS
7) ทะลุ มข.
8) ดาวดิน
9) คณะที่ลาบสูง
10) กอผือรื้อเผด็จการ
11) ขบวนการอีสานใหม่ 
12) โคราชมูฟเมนต์
13) คณะอุบลปลดแอก
14) ดึงดิน 
15) คบเพลิง
16) ภาคีนักเรียน KKC 
17) ราษฎรชัยภูมิ 
18) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน 
19) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move 
20) วงสะเวินใจ
21) ขอนแก่นพอกันที
22) อุดรพอกันที
23) กลุ่มปฏิบัติการชุมชนเมืองอีสาน
24) เครือข่ายเสียงเยาวชน จ.ขอนเเก่น
25) แดนดินถิ่นขบถ
26) Move High
27) แนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย 
28) เครือข่าย MSU Pride
29) ลานไก่หลง
30) กลุ่มจุลภาพ
31) กลุ่มเยาวชนศีขรภูมิ
32) เครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน (IGDN)
33) กลุ่มสุรินทร์เสวนา
34) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน
35) โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
36) กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
37) เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
38) กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ (คัดค้านเหมืองโปแตชและโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.ชัยภูมิ)
39) กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน (คัดค้านเหมืองทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย)
40) กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส (คัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร)
41) กลุ่มรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองหินทราย ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร)
42) กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได (คัดค้านการทำเหมืองหิน ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู)
43) กลุ่มรักษ์บ้านแหง (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง)
44) กลุ่มคนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองทรายแก้ว ต.เหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์)
45) กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด (คัดค้านการทำเหมืองแร่โปแตช) อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
46) เครือข่ายองค์กรชุมชน จ.บุรีรัมย์
47) เครือข่ายป้องกันและต่อการทุจริต จ.บุรีรัมย์
48) เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน จ.บุรีรัมย์
49) เครือข่ายคนไร้บ้าน จ.ขอนเเก่น
50) สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net