Skip to main content
sharethis

ภาพปก: Amnesty International Thailand

 

  • 'ตินซา ชุนเล ยี' นักกิจกรรมจากเมียนมา บอกว่าในเวลานี้ชาวเมียนมาต้องการความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจากทุกคน ด้าน 'เพนกวิ้น พริษฐ์' ย้ำเหตุผลที่คนไทยต้องไม่นิ่งเฉยต่อเหตุนองเลือดในพม่า ชี้เผด็จการไทย-พม่าเป็นเพื่อนกัน เราจะชนะในเกมนี้ได้ ‘สามกีบ’ ไทย-พม่าก็ควรจะเป็นเพื่อนกันด้วย อยากเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย ต้องไปยกแผง
  • รายงานชิ้นนี้สรุปประเด็นสำคัญจากเสวนา ‘When Spring Comes: ปรากฎการณ์แห่งความหวัง’ ชวนฟังเสียงนักกิจกรรมจาก 3 ประเทศว่าด้วยเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองและแรงบันดาลใจที่ส่งถึงกัน จากม็อบราษฎร 2563 สู่การลุกฮือต้านรัฐประหารในเมียนมา ในปี 2564 เพื่อไขคำตอบที่ว่า เมื่อความหวังถูกจุดด้วยคนรุ่นใหม่ เราจะยืนเคียงข้างเมียนมาได้อย่างไร

 

3 พ.ย. 2565 เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมเสวนา ‘When Spring Comes: ปรากฎการณ์แห่งความหวัง’ เรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองและแรงบันดาลใจที่ส่งถึงกัน จากม็อบราษฎร 2563 สู่ การลุกฮือต้านรัฐประหารในเมียนมา ในปี 2564 และเครือข่าย ‘พันธมิตรชานม’ มูฟเมนต์ทางการเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียน ร่วมพูดคุยโดยสปีกเกอร์จากไทย เมียนมา และฟิลิปปินส์ ได้แก่ สิทธิพร เนตรนิยม อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์เมียนมา ประจำศูนย์ภารตะศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมชาวไทย ผู้สนใจสายธารของประวัติศาสตร์ ตินซา ชุนเล ยี (Thinzar Shunlei Yi) นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยชาวเมียนมาและสิทธิผู้หญิงชาวเมียนมา จีโน โลเปซ (Gino Lopez) นักกิจกรรมผู้ประสานงานกับ ‘พันธมิตรชานม’ ชาวฟิลิปปินส์ ดำเนินรายการโดย ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

นโยบายชาติพันธุ์นิยมของเมียนมา

สิทธิพร สะท้อนปัญหาการกุมอำนาจนำของกองทัพพม่ามาอย่างยาวนานในช่วงก่อนปี 2012 และช่วง 2012-2022 ที่บรรยากาศทางการเมืองค่อนข้างเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ ออง ซาน ซูจี ได้รับการปล่อยตัวและได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ รวมถึง ความเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมพม่าก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง สืบเนื่องมาจากในปี 2012 รัฐบาลเต็งเส่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองหลายร้อยคนรวมถึงนักกิจกรรม อดีตแกนนำนักศึกษายุค 1988 ปัจจัยทางการเมืองเหล่านี้ อิทธิพลของเทคโนโลยีและเสรีนิยม รวมถึงการเข้ามาของอินเตอร์เน็ตทำให้พม่ามีการเชื่อมโยงกับโลกภายนอกมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดปัญหาการจัดสรรผลประโยชน์ การกดปราบกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในพม่าก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม

“รัฐมีอำนาจดึงชนชาติต่างๆ เข้ามาด้วยการบังคับ มีคำกล่าวที่ว่า “พม่าคือพุทธ พุทธคือพม่า” นโยบายชาติพันธุ์นิยมและศาสนานิยม ทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย เช่น บัตรประชาชน ถ้าพ่อผมเป็นคนจีน แม่ผมเป็นอินเดีย ในนั้นก็จะเขียนว่า นายสิทธิพร เนตรนิยม พ่อชื่อนายก. ชาวอินเดีย แม่ชื่อนางข. ชาวจีน เพราะฉะนั้นนายสิทธิพรก็จะเป็นแขกและจีน ซึ่งมันคือการกำหนดชาติพันธุ์ กำหนดความเป็นอื่น แม้แต่ในบัตรประชาชน” 

อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์เมียนมากล่าวถึงผลกระทบจากนโยบายชาติพันธุ์นิยมที่ทำให้รอยร้าวทางสังคมขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ นโยบายดังกล่าวนำมาซึ่งเหตุการณ์ปะทะส่งผลให้เกิดผู้ลี้ภัยทางการเมืองและเศรษฐกิจ แตกกระสานซ่านเซ็นเข้ามายังประเทศไทย

“ปี 1988 ปัญญาชน กลุ่มต่อต้านในพม่าแตกทะลักเข้ามาในไทยและประเทศใกล้เคียงหลายระลอก…ถูกผลักดันมาเป็นแรงงานข้ามชาติราคาถูกที่ไม่มีตัวตนในสังคมไทย แล้วมาถูกนายจ้างในเมืองไทยกดขี่ ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมก็ไม่รู้จะแจ้งไปที่ใคร ช่วงหนึ่งจะแจ้งไปที่สถานทูตพม่าก็ไม่ได้ ในไทยก็ไม่มีตัวตน ในพม่าก็กลับไปไม่ได้” 

“แต่กลุ่มชาติพันธุ์พม่าแท้ๆ ก็จะมีความรู้สึกภาคภูมิ และแยกตัวเองออกจากเพื่อนร่วมชาติเผ่าอื่นๆ ด้วยความรู้สึกชาตินิยมอย่างเด่นชัด อย่างเช่น คนที่อยู่ในเขตมัณฑะเลย์ มะกเว ซึ่งถือว่าเป็นฐานทางวัฒนธรรมของพม่าแท้ๆ เขาก็จะรู้สึกภูมิใจและรักในสถาบันทหารมาก เพราะถือว่าเป็นกองทัพของพม่า

สิทธิพรมองว่า ในช่วงหลังจาก 2012 ที่นางออง ซาน ซูจี เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของรัฐ พม่าเปิดประเทศรับกลิ่นอายของประชาธิปไตย มีการขยายตัวของเทคโนโลยีและเสรีนิยมที่เป็นทั้งคุณและโทษต่อการเมืองและการดำรงอยู่ของพม่า 

ในด้านที่เป็นคุณก็คือเกียรติภูมิของคนพม่าก็มีความเสมอหน้ากันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน คนไทยกับคนพม่านั้นมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นผ่านอินเตอร์เน็ตและการเดินทางท่องเที่ยว คนไทยก็จะเริ่มมีทัศนคติที่ดีต่อพม่ามากขึ้น จากที่เมื่อก่อนคนไทยก็มักจะดูถูกคนพม่าหรือไม่ก็จำได้แค่ว่าพระเจ้าบุเรงนองมาฆ่าคนอยุธยา

ส่วนในด้านที่เป็นโทษ หรือข้อท้าทายสำหรับสังคมการเมืองพม่าคือการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มการเมืองก็ยังไม่ลงตัว ตั้งแต่ระดับในท้องถิ่นไปจนถึงระดับเพื่อนบ้าน ระดับโลก ยังไม่ได้ตกลงกันเรื่องผลประโยชน์ในพม่าอย่างแท้จริง ในสังคมพม่ามีกระแสท้าทายอำนาจเก่า ถึงแม้ว่ากองทัพจะวางนโยบายหรือวางหมากในรัฐธรรมนูญเอาไว้ เกิดการต่อต้านอำนาจใหม่ด้วยกระบวนการทางวัฒนธรรมและอาวุธ

สิทธิพร เนตรนิยม

เราต้องการความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว 

ตินซา ชุนเล ยี กล่าวถึงยุทธศาสตร์ของการประท้วงในเมียนมา และการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประเทศในกลุ่มอาเซียน เธอเป็นผู้ประสานงานด้านการรณรงค์ของกลุ่มที่ชื่อว่า Action Committee for Democracy Development (ACDD) สมาชิกของกลุ่มเกือบทั้งหมด 99% อาศัยอยู่ในเมียนมา กระจายตัวหลบซ่อนกันอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ส่วนตัวเธอเองขณะนี้อาศัยอยู่ในประเทศไทย 

เธอมองว่า การรัฐประหารในปี 2021 ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะมีแรงเสียดทานจากกลุ่มต่อต้านที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยยกตัวอย่างกลุ่มที่ชื่อว่า ‘People’s Soilders’ กลุ่มทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 10,000 คนที่ออกจากกองทัพเพื่อมาเข้าร่วมกับฝ่ายประชาชน 

เธอเคยจัดกิจกรรม ‘Sisters to Sisters’ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมในแง่สิทธิสตรีควบคู่ไปกับการเรียกร้องประชาธิปไตยในภาพใหญ่ที่มักถูกมองเห็นว่าขับเคลื่อนด้วยผู้ชาย อาทิ ‘The Sarong Revolution’ การเดินประท้วงของผู้หญิงในชุมชน โดยนำเอาสะโหร่งมาทำเป็นธงสัญลักษณ์ นอกจากในชุมชน เธอก็ได้ขยายสโคปการทำกิจกรรมไปที่ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดียซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประเทศประชาธิปไตยเดียวที่เมียนมามีพรมแดนติดด้วย แต่รัฐบาลอินเดียก็ไม่ได้มีท่าทีสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมา เขาต้องการสนับสนุนรัฐบาลทหารมากกว่า กลุ่มของเธอจึงได้มีการจัดกิจกรรม ‘India for Myanmar’ ในพื้นที่ชายแดนเมียนมา-อินเดีย เพื่อบอกเล่าสถานการณ์ที่เกิดในเมียนมาให้คนอินเดียได้รับรู้

“เราอาจจะไม่สามารถทำงานกับรัฐบาลประเทศอินเดียได้ แต่เราสามารถทำงานกับคนอินเดีย คนไทย คนลาว ที่สนับสนุนประชาธิปไตยได้” นักกิจกรรมชาวเมียนมากล่าว

ตินซา ชุนเล ยี

ภาพจาก: Linkedin Thinza Shunlei Yi

จะชนะได้ 'สามกีบ' ไทย-พม่า ต้องเป็นเพื่อนกัน

 

ด้านพริษฐ์ หรือเพนกวิ้น นักกิจกรรมชาวไทยผู้สนใจสายธารของประวัติศาสตร์ เล่าถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของเผด็จการไทย-พม่าจากเนวิน ถึงมิน อ่อง หล่าย ระบุนายพล เน วิน อดีตผู้นำรัฐบาลทหารของเมียนมา เคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากไทย ในปี 1960 และ 1962 ต่อมาพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้ก่อรัฐประหารครั้งล่าสุด เคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ‘ประถมาภรณ์ช้างเผือก’ จากไทยในปี 2018 

ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมไทยต้องไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรงในเมียนมา พริษฐ์มองว่า วิธีคิดของรัฐเผด็จการที่มักจะเป็นเพื่อนกัน ในระดับประชาชนเราก็ควรจะเป็นเพื่อนกันด้วย การเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยไม่สามารถเกิดขึ้นเดี่ยวๆ แต่เกิดขึ้นยกแผง เป็นแรงบันดาลใจซึ่งกันและกันในภูมิภาค ถ้าเมียนมามีประชาธิปไตย ไทยก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนผ่านได้

“สามกีบทำ สามกีบใช้ สามกีบเจริญ ถึงจะชนะ” นักกิจกรรมผู้สนใจประวัติศาสตร์กล่าวทิ้งท้าย

พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิ้น

พันธมิตรชานม และความท้าทายในยุคของฝ่ายขวา

ด้าน จีโน โลเปซ เล่าถึงการเกิดขึ้นของกลุ่ม ‘พันธมิตรชานม’ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ครอบคลุมทั้งไทย ไต้หวัน อินเดีย และพม่า ว่ามีจุดเริ่มต้นที่เหลือจะเชื่อ โดยเริ่มมาการทะเลาะกันระหว่างชาวเน็ตจีนกับชาวเน็ตไทย ต้นเรื่องคือมีดาราไทยคนหนึ่งที่เป็นที่นิยมในจีนจากกระแสซีรีส์วาย รีทวีตโพสต์หนึ่งในทวิตเตอร์ที่มีข้อความในทำนองที่ว่า “ฮ่องกงเป็นประเทศ” ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายจีนเดียว ชาวเน็ตจีนจึงไม่พอใจและออกมาโจมตีดาราคนดังกล่าว ส่งผลให้ชาวเน็ตไทยที่เป็นแฟนคลับดาราคนดังกล่าวไม่พอใจและออกมาปกป้อง

พันธมิตรชานม

ภาพจาก: Milktea Alliance Pilipinas

“ทางไอโอจีนคิดว่าโจมตีกษัตริย์ไทยแล้วจะปังมาก แต่ชาวเน็ตไทยกลับรู้สึกขำๆ ” นักกิจกรรมจากฟิลิปปินส์กล่าว

ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรชานม เล่าว่า เขาหรือใครก็ตามคงไม่เคยคิดมาก่อนว่าธงทิเบต ธงฮ่องกงจะได้มาโบกสะบัดกลางท้องถนนในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย และเล่าถึงการใช้ป๊อปคัลเจอร์ในฟิลิปปินส์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากไทยคือเป็ดยางที่ใช้ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ

ส่วนความท้าทายของพันธมิตรชานมในภาพรวม เขามองว่าในฟิลิปปินส์ ขบวนการเคลื่อนไหวจะมีความแยกส่วนกัน จึงมีความพยายามจะเชื่อมโยงองค์กรเยาวชนเข้าหากันมากขึ้น และอีกประเด็นก็คือในเรื่องของจุดยืนของผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในแต่ละกลุ่ม ที่อาจจะสนับสนุนไทย ต่อต้านอิทธิพลจีน แต่ก็สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์และฝ่ายขวาอื่นๆ

จีโน โลเปซ

ภาพจาก: Twitter @ginollopez

หยุดการนองเลือดในเมียนมา

‘อาเซียน’ ทำอะไรได้บ้าง

สิทธิพรมองว่า ในแง่กลไกอาเซียนยังไงแต่ละประเทศก็รวมกันด้วยผลประโยชน์ ฉะนั้นเราจำเป็นต้องถอดรื้อว่าใครมีผลประโยชน์อะไรในพม่าบ้าง ทุกประเทศมีเบื้องหน้าเบื้องหลังหมด ท่ามกลางสถานการณ์นองเลือดในพม่า ถ้าเราสามารถที่จะเชื่อมโยงและเห็นโครงสร้างของการจับมือร่วมกันในเรื่องผลประโยชน์ของทุกกลุ่ม เราก็จะได้เข้าใจว่า พวกเขาคุยกันเรื่องอะไร ประชาชนถึงได้ซวย

“อาเซียนรวมกันได้ด้วยผลประโยชน์ แต่ถูกสถานการณ์เรื่องโรคระบาด เรื่องความเป็นขวาจัด ความอ่อนแรงของมหาอำนาจทางซีกเสรีนิยม ซึ่งก็ทำให้แรงขับเคลื่อนที่จะผลักดันให้อาเซียนมีบทบาท ในการเข้าไปแทรกแซงเชิงสร้างสรรค์มันน้อยลง ปัจจุบันรู้สึกว่าจะเป็นยุคของฝ่ายขวาอย่างชัดเจน”

อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์เมียนมากล่าวถึง นโยบายต่างประเทศของไทยในยุคก่อนหน้านี้ที่ อำนาจการแทรกแซงจากตะวันตกมีอิทธิพลต่อผู้นำไทย นโยบายจึงมีเอนไปทางสากลนิยม โดยยกตัวอย่าง ยุคพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นักการทูตและนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของไทย ผู้มีชื่อเสียงเรื่องนโยบาย ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ เชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอินโดจีน และ ช่วงพล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา อดีตรมว.ต่างประเทศที่ดำรงตำแหน่งนาน 10 ปีติดต่อกัน รวมถึงในยุคของสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรมว.ต่างประเทศในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย และอดีตเลขาธิการอาเซียนคนที่ 12 ผู้ผลักดันอาเซียนไปสู่เวทีโลก 

ในขณะที่ปัจจุบัน นโยบายการต่างประเทศไทยมีลักษณะที่ค่อนข้างถอยหลังลงเรื่อยๆ ด้วยปัจจัยจากกระแสโลกที่เป็นยุคของฝ่ายขวากลับมามีอำนาจ บวกกับมีการระบาดของโควิด-19 ผู้นำไทยก็เป็นทหารด้วย เมื่อระเบียบโลกยิ่งไม่มีคนคุม ก็ส่งผลทำให้มหาอำนาจไม่ค่อยจะจับมือกับอาเซียนมากนัก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net