Skip to main content
sharethis

นักศึกษาชาวอังกฤษวัย 23 ปี ถูกตำรวจควบคุมตัวพร้อมตั้งข้อหาก่อความไม่สงบ หลังปาไข่ใส่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลลา ขณะเสด็จฯ เยือนเมืองยอร์ก ด้านสื่ออเมริกันตั้งข้อสังเกต เกิดเหตุวันเดียวกับซีรีส์ The Crown ฉายวันแรก ชี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ราชวงศ์อังกฤษถูกปาไข่และประท้วงขับไล่

 

11 พ.ย. 2565 สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษรายงานว่าเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นของอังกฤษ ตำรวจในเมืองยอร์กจับกุมตัวชายคนหนึ่งที่ปาไข่ใส่สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลลา ขณะที่ทั้ง 2 พระองค์เสด็จฯ เยือนประชาชนในเมืองยอร์กซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ หลังถูกจับกุม ตำรวจควบคุมตัวชายคนดังกล่าวไปสอบสวนเพิ่มเติมและตั้งข้อหาก่อความไม่สงบ ตามประมวลกฎหมายอาญาความปลอดภัยสาธารณะ ค.ศ.1986 (Public Order Act 1986)

บีบีซี ระบุว่า ชายผู้ก่อเหตุเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยยอร์ก วัย 23 ปี ขณะเกิดเหตุ เขาได้ตะโกนว่า “ประเทศนี้ถูกสร้างขึ้นจากเลือดของเหล่าทาส” และ “ไม่ใช่กษัตริย์ของฉัน” ขณะที่สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานเพิ่มเติมว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่คณะผู้บริหารท้องถิ่นเมืองยอร์กกำลังให้การต้อนรับสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลลาบริเวณถนนมิกเคิลเกต ซึ่งเป็นถนนสายหลักใจกลางเมือง โดยมีประชาชนจำนวนมากมาเข้าเฝ้ารับเสด็จ ระหว่างนั้น ชายผู้ก่อเหตุได้ขว้างปาไข่ใส่ทั้งสองพระองค์ แต่พลาดเป้า ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะคุ้มกันให้กษัตริย์และราชินีเดินออกจากบริเวณดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ประชาชนที่มารอรับเสด็จได้ตะโกนว่า “ขอพระเจ้าคุ้มครองพระราชา” และตะโกนใส่ผู้ก่อเหตุว่า “จงละอายใจเสียบ้าง” ต่อมา บีบีซีรายงานเพิ่มเติมว่ามหาวิทยาลัยยอร์กซึ่งเป็นสถานศึกษาของชายคนผู้ก่อเหตุ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยรู้สึก “ตกใจ” กับภาพที่เกิดขึ้นและจะสอบสวนเหตุดังกล่าวตามระเบียบวิธีปฏิบัติด้านความประพฤติต่อไป

ภาพเหตุการณ์ ขณะพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ถูกปาไข่

สำหรับประมวลกฎหมายอาญาความปลอดภัยสาธารณะ ค.ศ.1986 (Public Order Act 1986) ของสหราชอาณาจักรแบ่งการกระทำความผิดออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1) ก่อจลาจล 2) ก่อความไม่สงบ 3) ทะเลาะวิวาท 4) สร้างความหวาดกลัวหรือยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ และ 5) คุกคาม สร้างความหวาดกลัว หรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญ โดยความผิดประเภทที่ 1-3 มีโทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี 5 ปี และ 3 ปี ตามลำดับ หรือปรับสูงสุดในระดับ 5 (สูงกว่า 5,000 ปอนด์และไม่มีเพดานค่าปรับ) หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนความผิดประเภทที่ 4-5 มีโทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับสูงสุดในระดับ 5 (สูงกว่า 5,000 ปอนด์และไม่มีเพดานค่าปรับ) หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังเกิดเหตุดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงไม่แสดงท่าทีกังวลและเสด็จทักทายประชาชนที่มาต้อนรับต่อ การเสด็จทักทายประชาชนบริเวณถนนมิกเคิลเกตผ่านประตูเมืองเป็นธรรมเนียมของชาวยอร์กในการต้อนรับประมุขของประเทศ ซึ่งการเสด็จฯ เยือนเมืองยอร์กครั้งสุดท้ายอย่างเป็นทางการของกษัตริย์อังกฤษคือใน พ.ศ.2555

พระราชกรณียกิจสำคัญที่เมืองยอร์กของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลลาในครั้งนี้คือการเป็นประธานในพิธีเปิดอนุสาวรีย์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งถือเป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกหลังพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา อนุสาวรีย์ดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณหน้าอาสนวิหารยอร์กมินสเตอร์ มีขนาดความสูง 2 เมตร หนัก 1.1 ตัน แกะสลักโดยใช้หินปูน Lepine จากประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในพระราชพิธีครองราชย์ครบ 70 ปี (Platinum Jubilee) และแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 2565 ก่อนที่ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะเสด็จสวรรคตในเดือนถัดมา

ด้าน สำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสต์ ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ปาไข่ใส่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ซีรีส์ The Crown ซีซั่น 5 ออกอากาศครั้งแรกบนสตรีมมิ่งแพลฟอร์มระดับโลกอย่างเน็ตฟลิกซ์ เนื้อเรื่องของ The Crown ซีซั่นนี้อ้างอิงประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษในช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งเกิดเหตุการณ์สำคัญ อาทิ ไฟไหม้พระราชวังวินด์เซอร์ การหย่าร้างของสมเด็จเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (พระยศเดิม) กับเจ้าหญิงไดอาน่า ดัชเชสแห่งเวลส์ รวมถึงการณ์สิ้นพระชนม์ของจ้าหญิงไดอาน่า เป็นต้น

นอกจากนี้ สำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสต์ของสหรัฐอเมริกา รายงานเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่สมาชิกราชวงศ์อังกฤษถูกประชาชนปาไข่ใส่ ย้อนกลับไปใน พ.ศ.2529 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถูกหญิงคนหนึ่งปาไข่ใส่พระองค์ขณะเสด็จฯ เยือนประเทศนิวซีแลนด์อย่างเป็นทางการ หญิงคนดังกล่าวระบุว่าเธอไม่พอใจสนธิสัญญาไวตางี (The Treaty of Waitangi) ที่รัฐบาลอังกฤษยุคอาณานิคมทำไว้กับชนพื้นเมืองชาวเมารี ในขณะเกิดเหตุ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงประทับบนรถเก๋งเปิดประทุน และถูกปาไข่ใส่พระวรกายแต่ไม่ได้รับบาดเจ็บ สร้างความเสียหายแก่ฉลองพระองค์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตามรายงานข่าวเก่าของสำนักข่าว AP และ LA Times พบว่าหญิงคนดังกล่าวถูกควบคุมตัวโดยตำรวจแต่ไม่มีรายงานเรื่องการตั้งข้อกล่าวหาอื่นๆ เช่น การก่อความไม่สงบ หรือการหมิ่นประมาทกษัตริย์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรไม่มีกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทกษัตริย์ (Lese Majeste Law) โดยตรง แต่มีกฎหมายคุ้มครองประมุขแห่งรัฐและรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร คือ พระราชบัญญัติความผิดอาญาฐานเป็นกบฏ ค.ศ.1848 (Treason Felony Act 1848) โดยหนึ่งในความผิดที่ระบุในกฎหมายฉบับนี้ คือ การล้มล้างการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญถือเป็นความผิด อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ได้รับการแก้ไข โดยระบุให้ความผิดตามกฎหมายดังกล่าวมีเพียงโทษทางอาญา ไม่ใช่โทษทางความมั่นคง แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่การบังคับใช้ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1883 นอกจากนี้ การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ รวมถึงการรณรงค์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณัฐยังสามารถทำได้อย่างเปิดเผยในสหราชอาณาจักร เช่น การรณรงค์ของกลุ่มรีพับลิก (Republic UK) เป็นต้น

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net