Skip to main content
sharethis

FTA Watch เปิดเผยการสร้างภาพเศรษฐกิจสีเขียว ท่ามกลางการชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้ง อนุญาตบริษัทปลูกป่าค้าคาร์บอนในที่ดินของรัฐ แก้กฎหมายพันธุ์พืชเอื้อบรรษัท ปลดล็อคปลูก GMOs อนุญาตขยะพลาสติดรีไซเคิลมาบรรจุอาหาร ส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลก่อมลภาวะ และลดภาษีอุตสาหกรรมต่อเนื่องโรงงานน้ำตาล

 

17 พ.ย.2565 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch ออกมาเปิดเผยการสร้างภาพเศรษฐกิจสีเขียว การพัฒนาที่ยั่งยืน และการให้ความสำคัญกับวิถีของคนเล็กคนน้อย ของรัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 2022 ขณะที่เนื้อหาและกระบวนการขับเคลื่อนในยุทธศาสตร์ และโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ที่รัฐบาลผลักดันให้เป็นหนึ่งในสาระสำคัญของการประชุม APEC2022 ที่กรุงเทพ กลับมีเนื้อหาสำคัญตรงกันข้ามกับที่นำเสนอ

FTA Watch ระบุว่า เนื้อหาในยุทธศาสตร์ยังเป็นการปลดล็อคกฎหมายและการแก้ไขระเบียบตลอดจนมาตรการทางการเงินการคลังเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบรรษัทยักษ์ใหญ่ ในกิจการที่ก่อมลภาวะ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และแย่งชิงทรัพยากรของคนเล็กคนน้อยในท้องถิ่น ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ อาทิเช่น

1) ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อปลดล็อคกฎหมายและนโยบายเพื่อให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอ ซึ่งประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติและบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย 1-2 บริษัท ไม่มีสักคำเดียวที่กล่าวถึงเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในยุทธศาสตร์และแผนปฏฺิบัติการ BCG

2) แก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช 2542 เพื่อแก้นิยามพันธุ์พืชพื้นเมือง หลีกเลี่ยงการแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่นำพันธุ์พืชพื้นเมืองไปใช้ประโยชน์ ข้อเสนอนี้มาจากข้อเสนอของมอนซานโต้/ไบเออร์และบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ของไทย ที่ประสงค์จะผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ เช่นเดียวกับที่ผลักดันให้ประเทศไทยเข้าร่วม UPOV1991

3) ส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทเอกชนรวมทั้งบรรษัทข้ามชาติใช้ที่ดินของรัฐปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ 3.2 ล้านไร่ โดยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี และไม่ต้องลดการปล่อยคาร์บอนและแกสเรือนกระจกในกิจการของตนเอง ผลักไสชาวบ้านนับล้านๆรายที่ประสบปัญหาที่ดินทำกินออกจากแผ่นดินของตน รวมทั้งเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมตามวิถีวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ

4) ปรับปรุงมาตรการภาษีสรรพสามิตสร้างมูลค่าเพิ่มแอลกอฮอล์แปลงสภาพ เป็นการสร้างแรงจูงใจและแต้มต่อให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล

5) ปลดล็อคข้อจำกัดการรับซื้อขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ท่ามกลางสถานการณ์ที่ชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งคัดค้านการขยายโรงงานอ้อยและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ก่อมลพิษในพื้นที่

6) ส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิล ทั้งๆที่การดำเนินการที่ผ่านมาโรงงานรีไซเคิลขยะเหล่านี้ก่อมลพิษ สร้างปัญหากับชุมชนท้องถิ่น และพื้นที่ผลิตอาหารในหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขใดๆ

7) เตรียมแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบให้อนุญาตขยะพลาสติกรีไซเคิลมาบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม เอื้ออำนวยให้เกิดการขนขยะพลาสติกที่ไม่สามารถใช้พื้นที่ในประเทศของตนมาจัดการในประเทศไทย จนได้รับการขนานนามว่าเป็นประเทศถังขยะของโลก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net