Skip to main content
sharethis

สิ้นสุดการประชุมผู้นำ APEC รับรองปฏิญญาฯ และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG 'ประยุทธ์' ส่งมอบ 'ชะลอม' ให้สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพปี 2023 - หารือทวิภาคีรอง ปธน.สหรัฐฯ ย้ำความเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน - 'สีจิ้นผิง' ย้ำสัมพันธ์จีน-ไทย ร่วมมือด้านมั่นคง-เศรษฐกิจ-ระบบราง


ที่มาภาพ: APEC 2022 Thailand

19 พ.ย. 2565 Thai PBS รายงานว่าวันนี้ (19 พ.ย.) เป็นวันสุดท้ายของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยผู้นำได้รับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ.2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวในที่ประชุมฯ ขอบคุณผู้นำเขตเศรษฐกิจ ผู้แทนและแขกพิเศษที่เดินทางมาร่วมการประชุมในครั้งนี้

พร้อมระบุว่า สัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยคือ "ชะลอม" สะท้อนถึงหัวข้อหลักและรูปแบบการทำงานของเอเปคได้เป็นอย่างดี ทั้งการเปิดกว้างสานสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันสู่สมดุล โดยประสานความเข้มแข็งและความพยายามของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เข้มแข็ง ครอบคลุมและยั่งยืนสำหรับคนรุ่นหลังต่อไป

"วันนี้จะส่งมอบชะลอมให้เป็นของขวัญและเป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง ยืดหยุ่นและความต่อเนื่องของความร่วมมือของพวกเรา ให้แก่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีถัดไป"

พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียกร้องให้สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปครักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และบริหารจัดการภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะเอเปคกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ

นอกจากนี้ยังระบุว่า ไทยพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการขับเคลื่อนงานของเอเปคต่อไป ซึ่งหวังว่าประเด็นความยั่งยืนและครอบคลุมที่ถูกระบุไว้ในเป้าหมายกรุงเทพฯ จะได้รับการสานต่อในปี 2023

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ส่งมอบ "ชะลอม" คล้องพวงมาลัย ให้กับคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งมอบตำแหน่งเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปี 2023 ถือเป็นการปิดฉากการประชุมเอเปคในครั้งนี้อย่างเป็นทางการ

เปิดรายละเอียด ‘ปฏิญญาผู้นำเอเปค 2022’

มติชนออนไลน์ รายงานว่าการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 29 ที่ปิดฉากลงแล้วในวันนี้ ที่ประชุมผู้นำเอเปคได้รับรองเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ซึ่งเป็นผลจากการประชุมตลอดปีนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ประกอบด้วยปฏิญญาเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี ซึ่งถือเป็นความสำเร็จสำคัญที่ที่ประชุมสามารถออกปฏิญญาร่วมกันได้

เนื้อหาสำคัญในปฏิญญาเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ระบุถึงสงครามยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งผู้นำเอเปคได้เน้นย้ำจุดยืนที่แสดงในเวทีอื่นๆ ที่สมาชิกส่วนใหญ่ประณามอย่างรุนแรงและเน้นย้ำว่าทำให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างมากต่อผู้คน และทำให้เศรษฐกิจโลกที่เปราะบางอยู่แล้วเลวร้ายลงมากขึ้น ขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ขัดขวางห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านพลังงานและอาหาร และเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน แต่ตระหนักว่าเอเปคไม่ใช่เวทีสำหรับการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคง และรับทราบว่าปัญหาด้านความมั่นคงอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก

ผู้นำเอเปคยังได้ย้ำถึงความสำคัญของการค้าระหว่างประเทศและองค์การการค้าโลก ที่จะช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดความเติบโต และบรรเทาความยากจน และยืนยันความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมด้านการค้าการลงทุนที่เสรี ยุติธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ และคาดการณ์ได้ และมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและเสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดตามกฎการค้าระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ยังพูดถึงความคืบหน้าในเรื่องการจัดทำเขตการค้าเสรีในเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) ในปีนี้ที่มีการกลับมาพูดคุยกันใหม่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจะยังคงรักษาพลวัตต่อไปเพื่อไปสู่การทำงานที่มีคุณภาพและครอบคลุม โดยมอบหมายให้มีการรายงานความคืบหน้าในปีต่อๆ ไปให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปครับทราบ และจะเสริมสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งรวมถึงสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) ในการพัฒนาการทำงานภายใต้โครงการ FTAAP Work

ผู้นำเอเปคยังให้ความสำคัญกับการบรรลุการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ที่ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อการเติบโตที่มีความครอบคลุม ยั่งยืน เป็นมิตรกับนวัตกรรม และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยกับธุรกิจทุกประเภท โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) และธุรกิจสตาร์ทอัพ

นอกจากนี้ยังตระหนักถึงความเร่งด่วนในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การขนส่ง และบริการอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการพูดถึงการจัดหาแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืน การให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลักดันการเติบโตที่ทั่วถึงและยั่งยืน รวมถึงตระหนักถึงพลังของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้า เพื่อปลดล็อกให้เกิดการเติบโตแบบทวีคูณ

ผู้นำเอเปคยังประกาศความมุ่งมั่นในการเพิ่มความพยายามให้มากขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาท้าทายในปัจจุบัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศสุดขั้ว และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานที่ยั่งยืน

ที่ประชุมผู้นำเอเปคยังได้รับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี” ซึ่งถูกระบุว่า เป็นการทำงานที่ครอบคลุมเพื่อต่อยอดเป้าหมายด้านความยั่งยืนของเอเปค โดยจะมีการพัฒนาเป้าหมายกรุงเทพฯ ไปสู่การดำเนินการที่ชัดเจน ตอบสนอง และครอบคลุม ทั้งยังยินดีต่อการเปิดตัวรางวัล APEC BCG Award ในปีนี้ เพื่อยกย่องความสำเร็จของความยั่งยืนในภูมิภาค

ผู้นำเอเปคยังประกาศว่าจะระดมทรัพยากรอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเร่งรัดและกระชับงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการเกษตร และส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว สร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนรวมถึง MSMEs และผู้หญิง ให้เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ สามารถมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากมัน พร้อมกับเน้นย้ำถึงอันตรายจากการทุจริตคอรัปชั่น

ในตอนท้ายผู้นำเอเปคยินดีกับผลการประชุมรัฐมนตรีเอเปคในปี 2565 รวมถึงการประชุมรัฐมนตรีรายสาขาต่างๆ พร้อมขอบคุณประเทศไทยสำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2565 และตั้งตารอการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2566 ของสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็แสดงความยินดีที่เปรูและเกาหลีใต้จะรับเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ

สมาชิกส่วนใหญ่ประณามสงครามในยูเครน

สำนักข่าวไทย รายงานว่าในการประชุมสุดยอดเอเปคครั้งที่ 29 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งปิดฉากลงในวันนี้ (19 พ.ย.) สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจออกแถลงการณ์ร่วมว่า สมาชิกส่วนใหญ่ขอประณามสงครามในยูเครน และขอย้ำว่าสงครามนี้ทำให้ผู้คนทุกข์ยากและยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกเปราะบางมากยิ่งขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดี ที่ประชุมมีทัศนะและการประเมินที่แตกต่างกันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและการใช้มาตรการคว่ำบาตร

เอเอฟพีตั้งข้อสังเกตว่า แถลงการณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจรวมทั้งรัสเซียและจีน ไม่มีถ้อยคำวิจารณ์รัสเซียที่รุกรานยูเครน และมีถ้อยคำเหมือนปฏิญญาที่ประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หรือจี 20 (G20) ที่บาหลีของอินโดนีเซียเมื่อวันพุธแบบคำต่อคำ ยกเว้นเพียงชื่อการประชุมเท่านั้นที่เปลี่ยนไป

สหรัฐฯ จะช่วยไทยพัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก

สำนักข่าวไทย รายงานอ้างสำนักข่าวต่างประเทศว่ารองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริสของสหรัฐเผยวันนี้ว่า สหรัฐจะช่วยเหลือไทยพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ด้วยเตาปฏิกรณ์ขนาดเล็ก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

AFP รายงานอ้างทำเนียบขาวสหรัฐฯ ว่าความช่วยเหลือนี้เป็นส่วนหนึ่งของความริเริ่มโลกเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero World Initiative) ที่สหรัฐจับมือกับภาคเอกชนและกลุ่มผู้ใจบุญเปิดตัวในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกร้อนครั้งที่ 26 หรือคอป 26 (COP26) ที่กลาสโกว์ของสกอตแลนด์เมื่อปี 2564 เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด สหรัฐจะให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์ชนิดโมดูลขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอาร์ (Small Modular Reactors : SMR) ที่ผลิตในโรงงานและสามารถเคลื่อนย้ายได้ โดยทั่วไปแล้วเตาปฏิกรณ์แบบนี้ถือว่าปลอดภัยเพราะไม่จำเป็นต้องให้คนเข้าไปปิดเครื่องในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในคณะของนางแฮร์ริสที่เดินทางมาร่วมการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหรือเอเปค (APEC) ที่กรุงเทพฯ เผยโดยขอสงวนนามว่า สหรัฐฯ มุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกับไทยเพื่อใช้ประโยชน์จากเอสเอ็มอาร์และแหล่งพลังงานสะอาดที่ไว้ใจได้ ทำเนียบขาวไม่ได้ให้กรอบเวลาในเรื่องนี้ แต่เผยว่าจะสนับสนุนไทยในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2608 ซึ่งเป็นการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้เท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับกลับคืน นอกจากนี้ยังได้ประกาศความริเริ่มร่วมกับไทยในการเสริมสร้างความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ตยุค 5 จี และโครงการสร้างศูนย์รักษามะเร็งระดับโลกที่จังหวัดชลบุรีของไทย

'สีจิ้นผิง' ย้ำสัมพันธ์จีน-ไทย ร่วมมือด้านมั่นคง-เศรษฐกิจ-ระบบราง

Thai PBS รายงานว่าวันนี้ (19 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม หารือร่วมกับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเยือนประเทศไทย ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือ ณ ทำเนียบรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า การเดินทางเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีจีนครั้งนี้มีความหมายและมีความสำคัญ ทั้งในด้านการกระชับความสัมพันธ์ที่จะร่วมกันกำหนดทิศทางความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครบรอบ 10 ปีในปีนี้ และมุ่งไปสู่การฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2568 รวมทั้งการเข้าร่วมการประชุมของจีน มีผลอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการประชุมเอเปคที่จะร่วมกันบรรลุเป้าหมาย รวมถึงส่งผลความมั่นคงและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อภูมิภาคและโลก

ทั้งนี้ การเดินทางเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นับเป็นการเยือนไทยในรอบ 11 ปีและเป็นการเยือนครั้งแรกนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

ขณะที่ สี จิ้นผิง กล่าวว่า จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทย เพราะจีนและไทยไม่ใช่อื่นไกลคือพี่น้องกัน โดยพร้อมร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ให้ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ และแสดงความยินดีที่ไทยประสบความสำเร็จในการจัดประชุมเอเปค แสดงให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกพร้อมพัฒนาภูมิภาคและสร้างสรรค์ประชาคมร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก

ทั้ง 2 ฝ่ายหารือแนวทางความร่วมมือเสริมสร้างความมั่นคง โดยนายกฯ เสนอให้หารือยุทธศาสตร์ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ การหลอกลวงทางโทรศัพท์ ซึ่งประธานาธิบดีจีนยินดีร่วมมือ และทั้ง 2 ประเทศควรปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2565-2569) เพื่อผลักดันและบูรณาการความร่วมมือในหลายหลายมิติให้ได้ผลเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ไทยและจีนยังเห็นพ้องเพิ่มมูลค่าและอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ พร้อมทั้งส่งเสริมการลงทุนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP และส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงทางราง รวมถึงการดำเนินการโครงการรถไฟไทย-จีน

ผู้นำจีน เห็นว่า 2 ฝ่ายควรต่อยอดความร่วมมือแบบดั้งเดิมทั้งเรื่องการลงทุน การค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือแบบใหม่ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล รถยนต์พลังงานทดแทน นวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง

ขณะที่ความร่วมมือ 3 ฝ่ายไทย-จีน-ลาว ในการเชื่อมโยงระบบรถไฟ ไทยและจีนควรส่งเสริมการเชื่อมโยงตั้งแต่อีอีซีของไทยไปยังรถไฟจีน-ลาว ต่อไปจนถึงมณฑลยูนนานของจีน และเชื่อมไปยังเส้นทางขนส่งสินค้าทางบกและทางน้ำสายใหม่ของจีน โดยหวังว่าจะมีการเชื่อมโยงทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และระบบศุลกากร เพื่อขยายการขนส่งสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย เช่น ทุเรียนและมังคุด

ผู้นำจีนยังมีความยินดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการลดความยากจนและการพัฒนาชนบท หลังทราบว่าไทยมีแนวคิดไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและการแก้ปัญหาความยากจน เนื่องจากรัฐบาลจีนมีหน้าที่ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจีน และพัฒนาประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรืองรอบด้าน

นอกจากนี้ จีนจะส่งเสริมให้ประชาชนของทั้ง 2 ฝ่ายเดินทางไปมาหาสู่กันได้ หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง อีกทั้งยังพร้อมร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดในกรอบพหุภาคีต่างๆ ทั้งเวทีอาเซียน ACMECS รวมถึงกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง

หลังการหารือเต็มคณะ ทั้ง 2 ฝ่ายได้ประกาศเอกสารความร่วมมือและความตกลงที่มีการลงนามในช่วงการเยือน จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย

  1. แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2565-2569)
  2. แผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วย การร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21
  3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
  4. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
  5. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการก่อตั้งคณะทำงานความร่วมมือด้านการลงทุนและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net