Skip to main content
sharethis

คุยกับ 'ภัชราภรณ์ กองค้า' นักศึกษาที่กำลังอยู่ในช่วงฝึกงาน หนึ่งในสมาชิก We Volunteer ผู้ถูกตั้งข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร ทั้งที่เพียงเอาน้ำไปส่งม็อบ 7 สิงหา 64 เปิดมุมมองต่อผลกระทบทั้งต้องแบ่งเวลาไปขึ้นศาลและต้องเรียนไปด้วย ระบุ "ไม่กล้าวางแผนชีวิตในระยะยาว" ยันคงออกมาต่อสู้เรื่อยๆ เท่าที่จะเป็นไปได้

ภัชราภรณ์ กองค้า นักศึกษาที่กำลังอยู่ในช่วงฝึกงาน หนึ่งในสมาชิก We Volunteer ผู้ถูกตั้งข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร ทั้งที่เพียงเอาน้ำไปส่งม็อบ 7 สิงหา 64

นับตั้งแต่ปี 2563 การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของประชาชน ซึ่งนำโดยคนรุ่นใหม่ถือเป็นปรากฏการณ์ที่มีนัยยะสำคัญของยุคสมัย การแสดงออกและเรียกร้องของประชาชนกลายเป็นแรงกระเพื่อมระลอกใหญ่ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง แม้อาจกล่าวได้ว่าเป้าประสงค์ของผู้ชุมนุมที่ต้องการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้นยังไม่สัมฤทธิ์ผล ซ้ำในขวบปีที่ผ่านมาจำนวนของผู้ชุมนุมก็ลดน้อยลงไปกว่าครึ่ง หากกระแสคลื่นทางความคิดก็ได้ปลุกผู้คนในสังคมให้มีความตื่นตัวในเรื่องของประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเป็นธรรม และสิทธิ์อันพึงมีในฐานะประชาชน ซึ่งรวมถึงการแสดงออกทางการเมืองที่เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 3 ปี มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นจำนวนมาก ไล่เรียงตั้งแต่ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ. รักษาความสะอาด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ ที่รัฐอ้างว่าเป็นมาตรการควบคุมโรคระบาด แต่กลับเป็นข้อหาที่ผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีมากที่สุด ไม่ต่ำกว่า 1,448 ราย ไปจนถึงข้อหารุนแรงอย่างมาตรา 116 และมาตรา 112

นอกจากวิธีการเข้าจับกุม และขั้นตอนการเข้าถึงทนายความที่หลายครั้งถูกตั้งคำถามถึงความถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน การดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมยังได้กลายเป็นประเด็นที่ประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วย เมื่อผู้ถูกกล่าวหาหลายรายถูกคุมขังในเรือนจำ ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาตัดสิน หลายคนถูกคุมขังเป็นเวลาหลายเดือน ถูกลิดรอนสิทธิ์ประกันตัว สร้างความยากลำบากในการต่อสู้คดี ที่มากไปกว่านั้น สำหรับผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด ไม่ว่าจะถูกคุมขังหรือไม่ ก็ล้วนได้รับผลกระทบในชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น ทุกคนสูญเสียโอกาส ทรัพย์สิน หน้าที่การงาน การศึกษา รวมทั้งการถูกตีตราราวกับอาชญากร เราอาจรับรู้เรื่องราวของพวกเขาบางคนจากหน้าสื่อ ตามที่ชุมนุม หรือตามแคมเปญต่างๆ ทว่ายังมีผู้ถูกกล่าวหาอีกเป็นจำนวนมากที่ชีวิตได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี หลายข้อหาชวนให้ตั้งคำถามถึงสัดส่วนของโทษกับสิ่งที่กระทำ ยิ่งในสถานการณ์ที่รัฐมองประชาชนผู้เห็นต่างเป็นฝ่ายตรงข้าม รวมถึงการไม่ได้อยู่ในหน้าสื่อ เสียงของพวกเขาก็ยิ่งแผ่วเบา จนบางครั้งเราอาจไม่ได้ยิน

“ภัชราภรณ์ กองค้า” หรือ “แป้ง” นักศึกษาที่ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงฝึกงาน เธอเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม We Volunteer คนรุ่นใหม่อีกหนึ่งคนที่ยืนยันว่าประเทศนี้สามารถดีกว่าที่เป็นอยู่ได้ และเชื่อว่าการแสดงออกทางการเมืองเป็นสิทธิ์อันพึงกระทำ เธอถูกดำเนินคดีจากการเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุม ด้วยข้อหาอั้งยี่และซ่องโจร เรานัดพูดคุยกันย่านชานเมือง ในวันแสงแดดจัดจ้า หากก็ยังไม่เพียงพอจะสาดความสว่างได้ถ้วนทั่ว

ถูกดำเนินคดีอะไรบ้าง อยู่ในขั้นตอนไหน?

ภัชราภรณ์ : คดีในข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร และพกวิทยุสื่อสารโดยไม่ได้รับอนุญาต ตอนนี้กำลังรอสืบพยาน เป็นคดีอาญา จำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท

ถูกดำเนินคดีได้อย่างไร?

7 สิงหาคม 2564 วันนั้นจะเอาน้ำไปส่งให้เพื่อนที่ไปชุมนุม จู่ๆ เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาขัดขวางและขอตรวจค้นในวัดมหรรณพารามวรวิหาร วันนั้นมีรถสองคัน คันหนึ่งเจ้าหน้าที่พบพวกลูกแก้ว หนังสติ๊ก วิทยุสื่อสาร แต่คันที่แป้งอยู่คือน้ำที่จะเอาไปส่งให้เพื่อน เจ้าหน้าที่เอาแต่บอกว่าให้ไปคุยกันก่อน เราพยายามปฏิเสธ แต่สุดท้ายเขาก็พาตัวไปที่สน.สำราญราษฎร์

เจ้าหน้าที่ปฏิบัติอย่างไร?

เจ้าหน้าที่พาตัวไปที่สน.สำราญราษฎร์ ก่อนที่จะพาไปกองบัญชาการตำรวจนครบาล อยู่ที่นั่นตั้งแต่ 10 โมง โดยที่ไม่ได้แจ้งข้อหาอะไรเลย เขาให้เราอยู่แบบนั้นจนประมาณ 2 ทุ่ม ถึงได้รับทราบข้อกล่าวหา หลังจากทำสำนวนคดีเสร็จ เราโดนส่งไปควบคุมตัวอยู่ 48 ชั่วโมง ที่ตชด. ภาค 1

มีการละเมิดสิทธิ์บ้างไหม?

ตั้งแต่ตอนแรกที่โดนควบคุมตัว ตำรวจไม่ได้แจ้งสิทธิ์ในการพบทนาย เราก็อยู่แบบนั้น จนคนข้างนอกรู้ว่าเราถูกจับ ก็เป็นทนายเองที่ติดต่อมา เราจึงได้พบทนาย

ผลกระทบที่เกิดจากการถูกดำเนินคดีมีอะไรบ้าง?

หลักๆ คือผลกระทบต่อการเรียน เพราะว่าต้องแบ่งเวลาไปขึ้นศาลและต้องเรียนไปด้วย มีครั้งหนึ่งที่เกือบจะไม่ได้สอบเพราะวันที่สอบตรงกับวันที่ศาลนัด ตอนแรกทำเรื่องกับอาจารย์ก็ไม่ได้รับอนุญาต เครียดมาก แต่สุดท้ายได้เข้าพบทางคณะ และได้รับอนุญาตให้สอบในภายหลัง คือเราไม่สามารถวางแผนอนาคตในระยะยาวได้เลย ว่าจะทำอะไร จะไปไหน เพราะคดียังไม่จบ อีกอย่างก็คือผลกระทบกับครอบครัว เคยมีตำรวจไปที่บ้าน 2 ครั้ง และพยายามข่มขู่ผู้ปกครองว่าอย่าให้ลูกหลานมาชุมนุมอีก และเจ้าหน้าที่ยังทำการถ่ายรูปบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย

ในสัดส่วนความผิดที่กระทำกับคดีที่ถูกกล่าวหา คิดว่ามีความชอบธรรมหรือไม่?

เรามองว่าคดีที่ได้รับไม่ยุติธรรม ถ้าโดนแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ ก็พอจะเข้าใจ เพราะตอนนั้นมีกฎหมายห้ามชุมนุม แต่ว่านี่โดนคดีอาญา เรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม

คิดว่าการแจ้งข้อหากับผู้ชุมนุม เป็นความพยายามเผยแพร่ความกลัว ให้คนอื่นๆ ไม่กล้า หรือกลัวที่จะออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่?

เหมือนกับว่ารัฐพยายามที่จะสร้างความกลัว ทำให้ประชาชนหรือนักกิจกรรมหลายๆ คนไม่กล้าออกมาร่วมชุมนุม เพราะทุกคนที่ออกมาชุมนุมก็มีภาระหน้าที่ มีคนข้างหลัง มีพ่อแม่ มีครอบครัว อย่างตอนที่ตำรวจไปคุกคามที่บ้านเราก็กลัว เครียดมาก กังวลว่าทางบ้านจะเดือดร้อนไปด้วย

คาดการณ์อนาคตไว้อย่างไรบ้าง?

ตอนนี้ไม่กล้าหวังอะไรทั้งนั้น ไม่กล้าวางแผนชีวิตในระยะยาว แต่ก็คงออกมาต่อสู้เรื่อย ๆ เท่าที่จะเป็นไปได้

มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการชุมนุมในปัจจุบัน?

คิดว่าการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในทุกวันนี้ มวลชนอาจจะน้อยลงจากหลายปัจจัย อย่างเช่นการแจ้งข้อหา ที่รัฐอาจคิดว่าเป็นเหมือนการเชือดไก่ให้ลิงดู ประมาณว่าถ้าออกมาชุมนุมก็จะโดนคดี ทั้งที่บางคนเขายังไม่ได้ทำอะไรด้วยซ้ำ หรือศาลยังไม่ได้ตัดสินเลย ก็โดนคดี โดนฝากขังไปแล้ว ตรงนี้อาจทำให้หลายคนกลัว และทำให้คนออกมาชุมนุมน้อยลง

สิ่งที่อยากฝาก อยากสื่อสารกับสังคม?

ถ้าไม่โชคร้ายจนเกินไป เราก็หวังว่าตุลาการจะตัดสินคดีความอย่างยุติธรรม และอยากฝากกับพี่น้องประชาชนทุกคนว่าต่อให้มันจะน่าเบื่อขนาดไหน ก็อย่าลืมที่จะตั้งคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับสังคม กล้าที่จะแย้งในเรื่องไม่ถูกต้อง และไม่อยากให้ลืมพี่น้องของเราที่อยู่ในเรือนจำ ทุกคนที่โดนดำเนินคดีทางการเมืองว่าพวกเขากำลังรอให้เราออกมาเรียกร้องแทนพวกเขาที่อยู่ข้างใน

ศูนย์ทนายสิทธิฯ เผย ก.ค. 63 - ต.ค.65 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม-แสดงออก 1.8 พันคน

อนึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,864 คน ในจำนวน 1,145 คดี  ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 ราย 

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 4 คน คดีเพิ่มขึ้น 6 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,710 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 217 คน ในจำนวน 236 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 127 คน ในจำนวน 39 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 662 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 75 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 154 คน ในจำนวน 174 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 27 คน ใน 7 คดี

จากจำนวนคดี 1,145 คดีดังกล่าว มีจำนวน 268 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยเป็นคดีที่เป็นการปรับในชั้นสอบสวนหรือชั้นศาลจำนวน 156 คดี และมีคดีอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 35 คดี  เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 877 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net