Skip to main content
sharethis

นักวิชาการชี้ หนี้ครัวเรือนฐานรากไทยอ่วมปี 2564 เพิ่มสูงขึ้นถึง 91% ขณะที่ครัวเรือนเกษตรกว่า 90% แบกหนี้เฉลี่ย 450,000 บาท เกินศักยภาพในการชำระหนี้


หนี้สินครัวเรือนฐานรากหรือครัวเรือนของครอบครัวที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอซึ่งส่วนใหญ่คือครัวเรือนในภาคการเกษตร ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายการบริหารจัดการการเงินของประเทศไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรไทยติดอยู่ใน “กับดักหนี้สิน” อย่างดิ้นไม่หลุด เพราะสถาบันการเงินในประเทศไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะกับกับประชากรกลุ่มนี้ 

“ปัญหาหนี้เกษตรกรคือปัญหาการเงินฐานรากของไทย เราอาจยังมีข้อมูลเกี่ยวกับครัวเรือนที่มีรายได้ไม่ประจำไม่มากพอทำให้เกิดการปล่อยสินเชื่อเกินศักยภาพ และมีการใช้สถาบันการเงินนอกระบบ จึงไม่มีการแชร์ข้อมูลกันระหว่างสถาบันการเงิน ระบบการเงินฐานรากของเรายังไม่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับครัวเรือนฐานราก สัญญาสินเชื่อส่วนใหญ่จึงอาจไม่อยู่ในวิสัยที่เขาจ่ายได้” โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวในเวที “Policy forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย 

โสมรัศมิ์ได้ฉายภาพใหญ่ให้เห็นภูมิทัศน์ปัญหาหนี้สินครัวเรือนในประเทศไทยว่ากำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแซงหน้าตลาดต่างๆ ในระบบการเงินไทย โดยพบว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2564 สูงถึง 91% ต่อ GDP และโตขึ้นถึง 32% ในทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบว่า 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้ในระบบและกว่า 1 ใน 6 มีหนี้เสีย มียอดหนี้เฉลี่ย 350,000 บาท ต่อคน ที่สำคัญคือคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีจำนวนหนี้มากเกินศักยภาพในการชำระหนี้ของตนเอง เมื่อศึกษาลงลึกไปในกลุ่มครัวเรือนฐานราก หรือครัวเรือนเกษตรกรพบว่า 90% ของเกษตรกรมีหนี้สินและมียอดหนี้สูงเฉลี่ย 450,000 บาทต่อครัวเรือน ส่วนใหญ่ไม่ได้มีหนี้ก้อนเดียว แต่โดยเฉลี่ยมีหนี้กันถึงคนละ 3.8 ก้อน และกว่า 54% อยู่ในโครงการพักการชำระหนี้มานานกว่า 4 ปี เจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (Specialized Financial Institutions: SFIs) เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แหล่งเงินกู้นอกระบบ บริษัทเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง และสถาบันการเงินชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน 

“นโยบายการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินอาจกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าพ่อแม่รังแกฉัน เพราะนโยบายพักหนี้เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น เมื่อปล่อยให้พวกเขาอยู่กับการพักการชำระหนี้นาน ทำให้เขาติดในวงจรหนี้ นโยบายพวกนี้จึงกลายเป็นกับดักแห่งการพัฒนา เพราะทำให้เกษตรกรติดในกับดักหนี้จนกลายเป็นการฉุดรั้งการปรับตัวและการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพ” 

ทั้งนี้เมื่อลองสำรวจมาตรการพักการชำระหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ พบว่าเป็นการให้ลูกหนี้พักหรือหยุดชำระเงินต้น และ/หรือ ดอกเบี้ย ในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งจะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เช่น 2 เดือน 3 เดือน และเป็นเพียงการอนุญาตให้หยุดการชำระโดยไม่มีการทวงถาม แต่ดอกเบี้ยก็ยังคงดำเนินต่อไป การติดอยู่ในวงจรการพักการชำระหนี้นานไม่ต่างจากการผิดชำระหนี้ เพราะดอกเบี้ยยังคงเดินหน้าต่อไป กลายเป็นกับดักรั้งเกษตรกรไว้ไม่ให้หลุดไปจากวงจรหนี้ 

โสมรัศมิ์ยังพบว่าพฤติกรรมเอาตัวรอดจากหนี้ของเกษตรกรที่พบคือ การหมุนหนี้ กู้จากที่หนึ่งไปโปะอีกที่หนึ่งวนไป จนสุดท้ายไม่สามารถหลุดออกมาจากวงจรหนี้ได้ 

สิ่งที่นักวิจัยจากสถาบันเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านนี้มองว่าจะเป็นทางรอดให้กับเกษตรกรคือ การปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงตามศักยภาพของเกษตรกร ซึ่งจะเป็นสิ่งท้าทายมากการบริหารจัดการการเงินของประเทศมาก เพราะนั่นหมายถึงการปรับโครงสร้างหนี้รายบุคคล เนื่องจากเกษตรกรแต่ละคนจะมีศักยภาพทางการเงินไม่เท่ากัน การปรับโครงสร้างหนี้ต้องต้องออกแบบมาให้เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละรายด้วย ทั้งนี้แม้ปัจจุบันสถาบันการเงินหลายแห่งจะมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ แต่การปรับโครงสร้างหนี้ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันคือ การนำเงินต้นคงค้าง ดอกเบี้ยค้างชำระ ค่าปรับ และดอกเบี้ยค่าปรับ ทั้งหมดมารวมกันเป็นยอดเงินกู้ยอดใหม่ ทำให้มูลหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นเกินศักยภาพในการชำระหนี้ของเกษตรกรยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ โสมรัศมิ์ยังมองว่าภาคนโยบายทางการเงินของไทยควรต้องมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับครัวเรือนฐานราก เพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้หันไปพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ ที่จะไม่มีข้อมูลเชื่อมโยงกับแหล่งเงินกู้อื่น ทำให้ฐานข้อมูลการเงินของเกษตรกรในระบบไม่ชัด กลายเป็นการปล่อยวงเงินกู้เกินศักยภาพดังที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน

ข้อเสนอของโสมรัศมิ์ สอดคล้องกับงานวิจัยของมูลนิธิชีวิตไท ที่มีการเผยแพร่มาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้แม้ที่ผ่านมาสถาบันการเงินภาครัฐอย่าง ธ.ก.ส. ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมทางการเงินที่ออกแบบมาเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกร แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับพบว่าไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความมั่นคงทางการเงินได้ เพราะขาดการคิดอย่างเป็นระบบครบวงจร เช่น การกำหนดให้เงินกู้ของเกษตรกรมีการชำระหนี้ตามรอบการเก็บเกี่ยวผลผลิต ไม่ต้องชำระรายเดือนเหมือนโครงการสินเชื่อทั่วไป แต่การให้เงินกู้นั้นก็ไม่ได้มีการคำนึงถึงความเสี่ยงจากการที่ผลผลิตอาจเสียหาย หรือราคาผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดคิด ทำให้เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ก้อนใหญ่ของ ธ.ก.ส.ได้ ชญานี ชวะโนทย์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมทางการเงินของชาวนาร่วมกับมูลนิธิชีวิตไท และพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะมีหนี้หลายก้อนและเมื่อต้องชำระจะเลือกชำระก้อนเล็กที่เป็นการชำระรายเดือนก่อน เช่น หนี้ไฟแนนซ์รถ หนี้นอกระบบ และอื่นๆ เพราะหนี้ของ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นหนี้ก้อนใหญ่มักให้ชำระครั้งเดียวรวมเงินต้นและดอกเบี้ย หรือหากชำระบางส่วนจะถูกตัดเป็นค่าดอกเบี้ยเท่านั้น ไม่มีการลดเงินต้น ทำให้นวัตกรรมทางการเงินของ ธ.ก.ส. ที่ออกแบบมาเพื่อเกษตรกรเช่นนี้ยังไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมทางการเงินของชาวนา หรือนวัตกรรมทางการเงินของ ธ.ก.ส. เมื่อหลายทศวรรษก่อน ที่ให้เกษตรกรกู้เงินได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ให้ใช้บุคคลค้ำประกัน โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันกู้และค้ำประกันเอง โดยมีจุดมุ่งมายเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ แต่มาตรการดังกล่าวกลายเป็นการผลักภาระความเสี่ยงจาก ธ.ก.ส. ไปสู่เกษตรกรคนอื่น เพราะเมื่อไม่สามารถได้รับการชำระหนี้จากเกษตรกรผู้กู้ ธ.ก.ส. ในฐานะเจ้าหนี้จะไปทวงถามจากผู้ค้ำประกันแทน ตามสัญญาค้ำประกัน ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายค้ำประกันฉบับเดิม ก่อนจะมีการแก้ไขในต้นปี 2565 นี้เอง ทั้งนี้เคยปรากฏว่าผู้ค้ำประกันถูกยึดที่ดินเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาด เพราะเกษตรกรผู้กู้ไม่ชำระหนี้ตามเงื่อนไขในสัญญา และสถาบันการเงินไม่ได้มีมาตรการคุ้มครองเกษตรผู้ค้ำประกัน 

ภาระหนี้ภาคเกษตรกรในปัจจุบันจึงเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบการเงินไทย ที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับระบบการเงินของครัวเรือนฐานราก ซึ่งโสมรัศมิ์เองก็ยอมรับว่าการจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นคงให้ภาคเกษตรกรต้องร่วมมือกัน

“การแก้ปัญหาให้ยั่งยืนต้องอาศัยนโยบายภาครัฐ ไม่ทำลายแรงจูงใจของครัวเรือนในการช่วยเหลือตัวเอง และที่สำคัญปัญหาหนี้มีองคาพยพมากมาย การแก้หนี้ครัวเรือนฐานรากไม่สามารถแก้ได้ด้วยหน่วยงานเดียว ทุกองคาพยพต้องร่วมมือกัน” โสมรัศมิ์ แห่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ๋กล่าว 
  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net