Skip to main content
sharethis

‘เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง’ แถลง ชวนร่วมเป็นอาสาสมัคร จับตา #เลือกตั้ง66 ชี้ สิ่งไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นแน่ เพราะ ส.ว. แต่งตั้งยังมีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ และกกต. ก็เป็นชุดที่ คสช.แต่งตั้ง

 

11 ม.ค. 2566 วันนี้ (11 ม.ค.) เวลา 13.30 -17.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ประกอบด้วย iLaw WeWatch ACTLAB และ ทะลุฟ้า จัดงาน “เข้าคูหา จับตา เลือกตั้ง 66” มีการอ่านแถลงการณ์ถึงข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ เสวนาวิชาการ และกิจกรรมจำลองการนับคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้ง ฝึกการสังเกตการณ์โดยประชาชน และสรุปปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในการเลือกตั้ง 66 สืบเนื่องจากในการเลือกตั้งตามกำหนดปี 66 ยังคงมีอำนาจของระบอบ คสช. ที่ครอบงำการเลือกตั้งอยู่มากไม่ต่างจากการเลือกตั้งในปี 2562 ทั้ง ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของคสช.​ และยังมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้ง กกต. ทั้ง 7 คน ที่มาจากระบบการคัดเลือกของคสช. รวมทั้งกฎหมายลูก กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องที่ออกมากำกับดูแลการเลือกตั้งทั้งหลายด้วย ดังนั้น การเลือกตั้งที่จะถึงก็คงจะไม่ใช่ธรรมดา และเพื่อปกป้องให้ทุกคะแนนเสียงถูกนับอย่างถูกต้อง ประชาชนอาจต้องมีภารกิจมากกว่าการเข้าคูหาไปออกเสียง

ที่มาภาพ: iLaw

เวลาประมาณ 13.30 น. เครือข่ายฯ อ่านแถลงการณ์ ระบุ 3 ข้อเรียกร้อง ดังนี้

1. ให้กกต. ทำหน้าที่อย่างโปร่งใสเป็นธรรม เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทั้งหลักเกณฑ์ในการแบ่งเขต และผลคะแนนรายหน่วยออนไลน์

2. ให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐ สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการเลือกตั้ง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนมีเสรีภาพ ควบคุมมิให้เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายกระทำการอันคุกคามต่อเสรีภาพของประชาชน

3. ชวนประชาชนร่วมลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครจับตาเลือกตั้ง 66

ที่มาภาพ: iLaw

ช่วง 14.00 - 15.45 น. มีกิจกรรมเสวนาวิชาการ “เข้าคูหา จับตา เลือกตั้ง 66” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พงษศักดิ์ จันทร์อ่อน เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (Wewatch) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

‘ปริญญา’ ชี้ กกต. ต้องโปร่งใส

อย่ากันซีน ปชช. ร่วมตรวจสอบ

ที่มาภาพ: iLaw

ผศ.ดร.ปริญญา จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ระบบเลือกตั้งที่แตกต่างไปจากการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ทำให้ประเด็นเรื่องการจัดการเลือกตั้ง ระบบเลือกตั้ง และการเลือกนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร ไม่ว่าจะการเปลี่ยนบัตรเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบคือ บัตรแบบแบ่งเขตและพรรคการเมือง 

การเลือกตั้งในปี 2562 มีหลักการที่ผิดเพี้ยนไปคือ พรรคพลังประชารัฐที่มี ส.ส. 116 เสียงจาก ส.ส. 500 คน แต่ผลักดันให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีจากการสนับสนุนของ ส.ว. 250 คน แต่ภูมิทัศน์ในแง่ของตัวผู้เล่นปัจจุบันแตกต่างออกไป

“ผมฟังท่านนายกฯ ปราศรัยเมื่อวานนี้บนเวที ข้อสำคัญคือ ท่านบอกว่า ท่านเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความเท่าเทียม ผมก็สงสัยว่า เราเท่าเทียมกันอย่างไร ในเมื่อท่านมีส.ว.ที่ท่านเลือกไว้ ถ้าท่านจะเท่าเทียมจริง เอาล่ะ ถ้าท่านยึดในมั่นในระบอบประชาธิปไตยจริงแล้วท่านปฏิวัติทำไมเมื่อแปดปีที่แล้ว ถ้าท่านยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่ข้อสำคัญคือ ส.ว.ของท่าน ถ้าท่านยืนยันที่แล้วก็แล้วไป จากนี้ไปท่านประกาศได้ไหมว่า ส.ว.จะไม่ยุ่งเกี่ยวให้ประชาชนตัดสิน หากท่านเป็นเสียงข้างมาก โอเคท่านเป็นนายกฯ ต่อไป พรรคไหนได้เสียงข้างมากก็เป็นรัฐบาลไป ไม่ใช่เป็นนายกฯ ด้วยเสียง ส.ว.ของท่าน...” ปริญญากล่าว

ระบบเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบเกี่ยวข้องกับปัญหาของการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา ระบบแบบปี 2562 นั้นมีบัตรใบเดียวคือ บัตรแบบเขตทำให้มีผู้สมัครมากในหนึ่งเขต จากปกติ 7-8 คนเพิ่มเป็น 28 คน มากสุดหนึ่งเขตมี 44 คน เหตุเช่นนี้เพราะคะแนนแบบแบ่งเขตจะนำมาคำนวณ ส.ส.พึงมี ใช้เขตแสวงหาคะแนนให้พรรคการเมือง เมื่อผู้สมัครมากขึ้นส่งผลให้บัตรเลือกตั้งมีรายละเอียดมากขึ้น การจัดการเลือกตั้ง กกต.ผิดพลาดเยอะมาก เช่น เรื่องคุณสมบัติในการสมัครซึ่งมีหลุดบ้างเนื่องจากผู้สมัครมีจำนวนมากจากหลักพันเป็นหลักหมื่น ผศ.ดร.ปริญญา เชื่อว่าเมื่อเปลี่ยนระบบมาเป็นบัตรสองใบข้อผิดพลาดจะลดลง

หลักการของการเลือกตั้งซึ่งมาตั้งแต่มี กกต.ในปี 2540 วางอยู่บนหลักการเลือกตั้งจะโปร่งใสได้ก็ต่อเมื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งมีชัย ฤชุพันธุ์ตัดหมดและนำผู้ตรวจการเลือกตั้งมาแทน เลิกกกต.จังหวัด ตัดภาคประชาชนทิ้งไป มีวิธีการพิสดารต่างๆ จนเกิดปัญหาเยอะ เขาเชื่อแบบราชการเลยให้ราชการมาตรวจ เขาไม่เชื่อประชาชนเลยตัดประชาชนทิ้ง ปัจจุบันกฎหมายยังไม่เปลี่ยน แต่จากการพูดคุยเชื่อว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นปัญหาดังกล่าว และการนำหลักการการสังเกตการณ์กลับมาจะทำให้ป้องกันการโกงได้  แต่จนถึงตอนนี้ กกต.ยังไม่พูดออกมา ดังนั้นเครือข่ายภาคประชาชนควรเข้าไปหาและขอเข้าไปมีส่วนร่วม เราไม่มีอะไรมากเลย ขอเพียงให้ประชาชนเลือกอย่างไรให้ผลออกมาตามนั้น ในแง่ของนโยบายสำนักงานกกต.น่าจะมีการเปิดกว้างมากกว่าครั้งที่ผ่านมา

“ผมคิดว่าเครือข่ายภาคประชาชนต้องเข้าไปทวงถามกับ กกต. ว่าคราวที่แล้ว ไม่ยอมให้ประชาชนมีส่วนรวม ปัญหาเลยเยอะ แต่คราวนี้ประชาชนเราขอเข้าไปมีส่วนร่วม เราไม่มีอะไรมาก ขอเพียงแค่ประชาชนเลือกอย่างไรและให้ผลออกมาตามนั้น” ปริญญา กล่าว

“กกต. ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของอาจารย์มีชัย มีการเพิ่มจำนวนเป็นเจ็ดคน ที่สำคัญคือมีลักษณะเป็นบอร์ด ไม่ค่อยทำงาน แต่เน้นประชุมและทำงานสำนักงาน ไม่เหมือนกับ กกต. ที่ผ่านมาที่มีการแบ่งฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายส่งเสริมการเรียนรู้และประชาธิปไตย ฝ่ายการมีส่วนร่วม ฝ่ายพรรคการเมือง และอื่นๆ แต่ชุดนี้ไม่มี ไม่มีการปฏิบัติ ผมพูดอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องไปพูดคุยกับ กกต. ทั้งเจ็ดคนหรอก แต่พูดกับเลขาฯ กกต. แทน”

ประเด็นส.ว. ชุดนี้มีวาระถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 และระหว่างนี้ยังมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีและองค์กรอิสระอยู่ ทำให้สมการการเลือกนายกรัฐมนตรียังคงเป็นแบบเดิมเหมือนปี 2562 ผศ.ดร.ปริญญามองว่า การแตกคอของสอง ป. อย่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อถึงเวลาจะมีคนหนึ่งที่ถอย ทำให้เสียงของ ส.ว.ยังไม่แตกออก อย่างไรก็ตามทั้งสองอาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ถ้ามีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึง 250 คนจะทำงานไม่ได้และอาจถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้นจึงต้องทำให้มีเสียงส.ส. 250 คน แต่อาจจะเกิดการ “ดูดเอาดาบหน้า” อย่างไรก็ตามพล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ต่อไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือ เลือกตั้งโปร่งใสและส.ว.ต้องออกเสียงตามเสียงข้างมาก อันเป็นการป้องกันรัฐประหารไปด้วย

“ที่พล.อ.ประยุทธ์ไม่อ่านคำปฏิญาณว่า จะพิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ใช่เพิ่งไม่อ่าน แต่บรรดาแม่ทัพ นายกองสิบปีมาแล้วเขาไม่อ่านแล้ว ในการรับตำแหน่งผบ.เหล่าทัพต่างๆ ประโยคนี้ไม่มีมานานแล้ว ทหารต้องปฏิญาณตนว่า จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผมคิดว่า รัฐประหารกับส.ว.เป็นเรื่องที่ต้องไปด้วยกัน ต้องให้ส.ว.รับปากกับประชาชนตั้งแต่ก่อนหน้าการเลือกตั้ง”

ปริญญากล่าวทิ้งท้ายว่า การสังเกตการณ์การเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญและทำได้

“ไม่เกี่ยวกับข้างไหน อยู่ข้างไหนก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน ผมอยากจะเสนอไว้ข้อหนึ่งคือ เรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่ละจังหวัดจะมี 5 หรือ 8 คนแล้วแต่จำนวนประชากร ผมชวนให้ภาคประชาชนลองร่วมมือกับผู้ตรวจการเลือกตั้ง เท่าที่เคยคุยกับผู้ตรวจการเลือกตั้งเขาก็มีความรู้สึกเหมือนกับว่า ทำอะไรไม่ได้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ถ้าภาคประชาชนสามารถร่วมมือกับผู้ตรวจการเลือกตั้งผมว่า โอกาสสำเร็จมีแล้วนะในการทำการเลือกตั้งให้โปร่งใส”

อ.นิติศาสตร์ มธ.มองว่า การใช้ผู้ตรวจการเลือกตั้งที่เป็นคนจากทางราชการสะท้อนทัศนคติของราชการที่ไม่เชื่อใจประชาชน การเลือกตั้งจะโปร่งใสได้ ก็ต่อเมื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม 

“การเลือกตั้งครั้งนี้จะช่วยให้เรากลับสู่ประชาธิปไตยเร็วขึ้น เมื่อส.ว.ไม่โหวตเลือกนายกฯ แล้วเมื่อส.ว.หมดวาระในปีหน้า เราจะแก้รัฐธรรมนูญแล้วอะไรก็แล้วแต่เป็นอุปสรรคขัดขวางประชาธิปไตย เราแก้ได้หมดเลยแล้วเราก็จะกลับสู่ประชาธิปไตยเต็มใบอีกครั้งหนึ่ง เริ่มจากการเลือกตั้งครั้งนี้ให้โปร่งใส”

‘สิริพรรณ’ ชำแหละ ระบบเลือกตั้ง 62

ทำลายประชาธิปไตย

ที่มาภาพ: iLaw

“ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง 5 ครั้ง ทำแบบนั้นทำไม ใครได้ประโยชน์”

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งบ่อยอยู่ใน 5 อันดับแรกของโลก ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีนักเพราะทุกครั้งที่เปลี่ยนประชาชนต้องทำความเข้าใจใหม่

ถ้าย้อนกลับไปก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ไทยใช้ระบบเลือกตั้งแบบ 1 เขต 3  คน พรรคการเมืองส่งได้ 3 ชื่อ ทางวิชาการมองว่า ทำให้เกิดการแข่งขันกันเองในระบบพรรคการเมืองก็ยกเลิกไปและเปลี่ยนมาเป็นแบบคู่ขนานในการเลือกตั้ง 2544 และ 2548 คล้ายกับการเลือกตั้ง 2566 แต่ต่างตรงที่ 2544 และ 2548 มีเกณฑ์ขั้นต่ำ 5 % ที่ถูกมองว่าเอื้อต่อพรรคใหญ่และพรรคที่มีชื่อเสียงติดหูและมีทรัพยากรในการหาเสียงในระดับประเทศ ตามด้วยการรัฐประหารในปี 2549 และเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง จากนั้นเปลี่ยนระบบอีกครั้งในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่ใช้ในการเลือกตั้ง 2554

การรัฐประหาร 2557 นำไปสู่รัฐธรรมนูญ 2560 และระบบเลือกตั้งแบบใหม่ รศ.ดร.สิริพรรณระบุว่า ขอไม่เรียกระบบการเลือกตั้ง 2562 ว่า ระบบเลือกตั้งแต่ขอเรียกว่า เป็น “เทคนิคเลือกตั้ง” เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกเลยที่ใช้ระบบเลือกตั้งนี้ เหตุที่เป็นเช่นนี้คือ ข้อเสียของระบบจัดสรรปันส่วนผสมเป็นระบบที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะเน้นตัวบุคคลและรากเหง้า

“ซากเดนของปัญหายังสืบทอดจนถึงปัจจุบัน ทำไมทุกวันนี้เราจึงเห็นการย้ายพรรคแบบไร้ยางอาย การซื้อส.ส. การซื้อผู้สมัครบ้านใหญ่ เพราะเป็นผลพวงของระบบเลือกตั้งปี 2562 ที่เน้นตัวบุคคล เวลาเราเลือกเรามีบัตรใบเดียว เขาเลือกส.ส.เขต ส่วนบัญชีรายชื่อเอาคะแนนส.ส.ทั้งหมด ไม่ว่าจะสอบได้ สอบตก บางเขต บางพรรคเข้าไปดูได้ห้าคะแนน แต่คะแนนเหล่านี้ยังมีความหมาย ในปี 2562 มีผู้สมัครเป็นหมื่นๆ คนเพราะทุกคะแนนไม่ตกน้ำ ซึ่งเป็นข้ออ้างของผู้ร่างระบบเลือก แต่ตั้งคำถามคือ คะแนนไม่ตกน้ำ มันดีตรงไหน ในระบบเลือกตั้งคือ ระบบที่คัดผู้ชนะ ไม่ใช่ให้โบนัสแก่ผู้แพ้ คือแพ้ก็ได้ประโยชน์อยู่ ทำให้ตัวบุคคลมีความสำคัญมาก ทำให้บ้านใหญ่ ผู้มีอิทธิพล เจ้าพ่อเจ้าแม่กลับมาบูมอีกครั้งหนึ่ง”

สิริพรรณ กล่าวถึง ระบบการเลือกตั้งปี 62 ที่ทำให้ไทยมีพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมาก ระบุ รัฐบาลประยุทธ์ชุดปัจจุบันเป็นมีพรรคร่วมรัฐบาลถึง 19 พรรคด้วยกัน ที่ถึงแม้จะอยู่ครบเทอมจริง แต่มีประสิทธิภาพจริงหรือ หากอยู่รอดเพราะประสานผลประโยชน์กันลงตัว ไม่ได้อยู่ร่วมกันเพราะเจตจำนงค์ทางการเมืองที่จะทำเพื่อประชาชน พร้อมกันนี้เรียกร้องให้ กกต. เผยแพร่วิธีการคำนวณจัดสรรที่นั่งต่อสาธารณะ เพื่อความโปร่งใสและรักษาศักดิ์ศรีของกกต.เองด้วย

นอกจากนี้นักวิชาการทั้งสองแล้ววงเสวนายังมีตัวแทนภาคประชาสังคมที่ทำงานจับตาการเลือกตั้งร่วมแลกเปลี่ยนอย่างพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (WeWatch) และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ชวน ปชช. ร่วมตรวจสอบ

หากนิ่งเฉย หายนะจะมาเยือน

พงษศักดิ์ จาก WeWatch กล่าวว่า จากประสบการณ์สังเกตการเลือกตั้งในหลายประเทศ รากเหง้าของปัญหามี 2 ระดับ คือ โครงสร้าง-ข้อกฎหมาย และระบบวิธีคิดเชิงวัฒนธรรมในสังคม การตัดสินหรือการวินิจฉัยที่เป็นที่มาของปัญหาที่ทำให้คนมองว่า การเลือกตั้งไม่โปร่งใสและเป็นธรรม การลงชื่อเพื่อปลดกกต. ของประชาชนสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจ หลายคนในที่นี้คงไม่มั่นใจในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ประเด็นความกังวล เช่น การที่มีกฎหมายให้กระทรวงมหาดไทยมาจัดการเลือกตั้งร่วมกับกกต. ก่อนการรัฐประหารไม่มีกฎหมายนี้

ประเด็นต่อมาคือ กกต.ไม่สนับสนุนการสังเกตการณ์และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งอยู่ในระเบียบของกกต.ก่อนการรัฐประหาร 2557 แต่ถูกนำออก พร้อมยกตัวอย่างการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเทศฟิลิปปินส์

“การเลือกตั้งในระดับอาเซียนที่ผ่านมา ที่ฟิลิปปินส์มีองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งสามารถระดมอาสาสมัครได้ 550,000 คน ใน 70,000 หน่วยเลือกตั้ง สามารถสังเกตการณ์และเทียบคะแนนได้ทุกหน่วยเลือกตั้งสามารถอ้างอิงและขอให้ตรวจสอบได้ 

“ไม่ว่าประเทศใดๆ ก็ตามในโลกนี้ จะสร้างเครื่องมือหรือกลไกอะไรก็ตาม เพื่อจะตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจก็แล้วแต่ แต่ถ้าปราศจากการที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ วางใจ ละเลย เชื่อมั่นในกลไกนั้นโดยไม่มีส่วนร่วม คุณเชื่อไหมว่า หายนะจะมาเยือนประชาชนหรือสังคมนั้น เพราะว่า ท้ายที่สุดคนที่มีอำนาจก็ต้องใช้กลไกหรือเครื่องมือนั้นเพื่อหาประโยชน์หรือสืบทอดอำนาจของตนเอง” พงษศักดิ์ กล่าว

ภาวะ ‘ประยุทธ์’ ไม่ถอยแน่ ยิ่งต้องจับตา 

ด้านยิ่งชีพ จาก iLaw บอกว่า การเลือกตั้งปี 2562 อยู่ภายใต้กติกาของคสช. ปูทางให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี มีกลไกที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ เอารัดเอาเปรียบผู้แข่งขัน ไม่ว่าจะการตั้งชื่อพรรคการเมืองให้เหมือนนโยบายคสช. และการแบ่งเขตใหม่ ในการเปิดตัววันที่ 9 ม.ค. 66 ทำให้แน่ใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังตั้งมั่นในทางการเมือง อย่างไรก็ตาม 4 ปีที่ผ่านมาอำนาจเปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้อำนาจตามมาตรา 44 อย่างการจำกัดเสรีภาพสื่อ ปัญหาเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาและ New Voter อีกจำนวนมากขึ้นอันเป็นคะแนนที่ควบคุมไม่ได้ ใช้การควบคุมแบบเก่า อิทธิพลบ้านใหญ่แบบเดิมยิ่งน้อยลง การอยู่ต่อของพล.อ.ประยุทธ์ในปี 66 ยากขึ้นมาก แต่ยังมีกลไกบางอย่างที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของคสช. อยู่

เขาเล่าย้อนปัญหาในการเลือกตั้งปี 2562 ว่า หลังการเลือกตั้งประธานกกต. แถลงข่าวตอน 3 ทุ่มบอกว่า ประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 65% แต่กว่าคะแนนจะครบร้อยเปอร์เซ็นต์คืออีกหลายวันถัดมา โดยเปลี่ยนตัวเลขผู้มาใช้สิทธิเป็น 75% จำนวนห่างกันหลักล้านคน และประเด็นที่กกต.มีการรายงานผลเรียลไทม์หน้าหน่วยเมื่อนับเสร็จและรายงานตอนนั้น ซึ่งการรายงานคะแนนมีปัญหาตามมามากมาย และครั้งนี้กกต.อาจไม่มีการรายงานผลเรียลไทม์แล้ว 

ยิ่งชีพตั้งคำถามว่า เราจะรอผลคะแนนจากกกต.เท่านั้นหรือ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีอาสาสมัครการเลือกตั้งปี 66 ไม่มีทางเลือกเลย หากประชาชนลงสังเกตการณ์การเลือกตั้งจำนวนมากจะเป็นชัยชนะที่มองไม่เห็น มันอาจจะไม่มีกรณีที่นับต่างกันจนต้องโต้แย้ง แต่เมื่อประชาชนออกมาสังเกตการณ์จำนวนมาก ผู้จัดการการเลือกตั้งจะทำทุกอย่างให้ถูกต้องโปร่งใสไปเอง

ต่อจากเสวนา มีกิจกรรมจำลองการนับคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้ง จำลองฝึกการสังเกตการณ์โดยประชาชน และสรุปปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในการเลือกตั้ง 66

 


แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ฉบับเต็ม

ที่มา: iLaw

สำหรับรายชื่อองค์กรที่ร่วมแถลงการณ์ประกอบด้วย 


1.    Act LAB
2.    Art Lab : ห้องทดลองศิลป์
3.    Dot easterner
4.    iLAW
5.    KNACK กลุ่มสนับสนุนสังคมประชาธิปไตยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม
6.    Korat movement 
7.    LANDERS  แลนเด้อ
8.    NU Movement
9.    Projek Sama Sama
10.    R2S
11.    Support of people (SOP)
12.    The Coalition of Innovation for Thai Youth (CITY)
13.    The Patani
14.    We volunteer 
15.    WeWatch
16.    Youth integration for community employment (YICE)
17.    เครือข่ายแรงงานหญิง
18.    เครือข่ายคนพิการเข้าถึงการเลือกตั้ง
19.    เครือข่ายความหลากหลายทางเพศภาคอีสาน(IGDN)
20.    เครือข่ายชาติพันธุ์เมืองเชียงราย
21.    เครือข่ายชายฝั่งทะเลบูรพา๕จังหวัดภาคตะวันออก
22.    เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (Welfare Watch Network)
23.    เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
24.    เครือข่ายประชาชล (Prachachol)
25.    เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียม
26.    เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair)
27.    เครือข่ายสลัม4ภาค
28.    เฟมินิสต์ปลดแอกอีสาน 
29.    แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 
30.    โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
31.    กรองข่าวแกง
32.    กลุ่มโกงกาง ม.บูรพา
33.    กลุ่มคนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองทรายแก้ว ต.เหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์)
34.    กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์  (คัดค้านเหมืองโปแตชและโรงไฟฟ้าถ่านหิน  จ.ชัยภูมิ)
35.    กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด  6  หมู่บ้าน  (คัดค้านเหมืองทองคำ  ต.เขาหลวง  อ.วังสะพุง  จ.เลย)
36.    กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด (คัดค้านการทำเหมืองแร่โปแตช) อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
37.    กลุ่มฅราม
38.    กลุ่มนครเสรีเพื่อประชาธิปไตย
39.    กลุ่มนอนไบนารี่แห่งประเทศไทย (non-binary thailand)
40.    กลุ่มนักศึกษาเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม(ดาวดิน)
41.    กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
42.    กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก
43.    กลุ่มรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย  (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองหินทราย  ต.คำป่าหลาย  อ.เมือง จ.มุกดาหาร)
44.    กลุ่มรักษ์บ้านแหง  (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ต.บ้านแหง  อ.งาว  จ.ลำปาง)
45.    กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส  (คัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช  อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร)
46.    กลุ่มสิงห์น้ำตาลอาสา
47.    กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได  (คัดค้านการทำเหมืองหิน  ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา  จ.หนองบัวลำภู)
48.    กอผือรื้อเผด็จการ 
49.    ขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทยPDMT
50.    ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)
51.    ขบวนการอีสานใหม่ 
52.    ขอนแก่นพอกันที
53.    คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 
54.    คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
55.    คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนตะวันออก(กป.อพช.ตะวันออก)
56.    คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.พอช.ภาคเหนือ)
57.    คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
58.    คณะก่อการล้านนาใหม่
59.    คณะราษฎรนครนายก
60.    คนพัทยาปลดแอก
61.    คบเพลิง 
62.    ชมรมประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
63.    ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ(CAN)
64.    ทะลุฟ้า
65.    นิติซ้าย
66.    พรรคคนธรรมศาสตร์
67.    พิราบขาวเพื่อมวลชน
68.    ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (ภรป.)
69.    ภาคีนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ
70.    ภาคีพลเมืองสังเกตการเลือกตั้ง
71.    ภูเก็ตปลดแอก
72.    มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
73.    มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)
74.    ราษฎรภูเก็ต
75.    ราษฏรลพบุรี
76.    ลำพูนปลดแอก
77.    ศิลปะปลดแอก
78.    ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
79.    ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
80.    ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD)
81.    สโมสรนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินท์ วิทยาเขตปัตตานี
82.    สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยนอร์ทเชียงใหม่
83.    สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
84.    สถาบันสังคมประชาธิปไตย
85.    สภานักศึกษา องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี
86.    สมัชชาคนจน
87.    สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา (คัดค้านการทำเหมืองหินปูน ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา)
88.    สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
89.    สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) 
90.    สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้(สกต.)
91.    สหภาพคนทำงาน
92.    สำนักข่าวLanner
93.    สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน
94.    อุบลปลดแอก
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net