Skip to main content
sharethis

การประท้วงใหญ่ในอิหร่านถูกจุดติดรอบใหม่ช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว นักวิชาการอิหร่าน 2 คนวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่มีการประท้วงต่อเนื่องว่าประชาชนชาวอิหร่านเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นในระบอบอิหร่านในปัจจุบันและมองว่าเป็นระบอบที่ไร้ประสิทธิภาพและเต็มไปด้วยการเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ยังมีเรื่องที่ผู้ประท้วงในฝรั่งเศสเรียกร้องให้ขึ้นบัญชีกองทัพอิหร่านเป็น "องค์กรก่อการร้าย" เนื่องจากกองทัพอิหร่านทำการปราบปรามประชาชน

แฟ้มภาพการประท้วงของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Amir kabir เมื่อ 19 ก.ย.2565 (ที่มา: Wikipedia/Darafsh)

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประท้วงใหญ่เกิดขึ้นในหลายเมืองของอิหร่าน รวมถึงในกรุงเตหะราน ซึ่งนับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ยังเป็นวันครบรอบ 40 วันนับจากที่กองทัพอิหร่านทำการประหารชีวิตผู้ประท้วง 2 รายล่าสุด หลังจากที่ก่อนหน้านี้การประท้วงในอิหร่านซาลงบ้างส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการปราบปรามอย่างหนักจากทางการอิหร่าน

มีวิดีโอที่แสดงให้เห็นการประท้วงในเมืองแมชแฮดทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิหร่านแสดงให้เห็นผู้ประท้วงประสานเสียงคำขวัญว่า "พี่น้องผู้สละชีพของพวกเรา พวกเราจะล้างแค้นให้เอง" นอกจากนี้ยังมีวิดีโอที่แสดงให้เห็นการประท้วงในเมืองอื่นๆ ของอิหร่าน ในเมืองซานันดาจซึ่งเป็นเมืองหลักของจังหวัดเคิร์ดดิสถานของอิหร่านมีคนจุดไฟเผาแผนกั้นถนน นอกจากนี้ยังมีการเดินขบวนในเมืองซิสถาน จังหวัดบาลูจิสถานซึ่งเป็นพื้นที่ๆ มีชาวมุสลิมนิกายซุนนีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

พื้นที่เหล่านี้มักจะเป็นพื้นที่ๆ มีการประท้วงของกลุ่มต่อต้าน และทั้งสองพื้นที่นี้ทำการร้องเรียนเรื่องต่างๆ ต่อรัฐบาลมาเป็นเวลายาวนาน แต่กลับถูกละเลยจากกลุ่มชนชั้นนำอิหร่านที่เป็นอิสลามนิกายชีอะฮ์

นอกจากในกรุงเตหะรานแล้ว สัปดาห์ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีการประท้วงต้านรัฐบาลอิหร่านในที่อื่นๆ ของโลก ในปารีสมีการชุมนุมของผู้คนหลายพันคนที่ต่อต้านรัฐบาลอิหร่าน โดยมีการเรียกร้องกดดันให้สหภาพยุโรปขึ้นบัญชีกองทัพปฏิวัติอิหร่านเป็น "องค์กรก่อการร้าย" เพื่อเป็นการโต้ตอบที่กองทัพของรัฐบาลอิหร่านใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุม

พลเมืองอเมริกันอดอาหาร 7 วัน ในโอกาสอยู่เรือนจำอิหร่านครบ 7 ปี, 29 ม.ค. 66

อิหร่าน จับ 'นักข่าวหญิง' เพิ่ม 3 ราย จับ 'ช่างทำป้ายหลุมศพ' ให้ผู้ประท้วง ที่ถูกประหาร, 25 ม.ค. 66


นักวิชาการวิเคราะห์ทำไมคนถึงประท้วงหนักในอิหร่าน

นักวิชาการชาวอิหร่าน 2 รายคือ โมห์เซน กูดาร์ซี และ อับดุลโมฮัมหมัด กาเซมีปูร์ เพิ่งจะนำเสนอหนังสือที่ชื่อ "เกิดอะไรขึ้น? เรื่องราวความเสื่อมถอยของสังคมอิหร่าน" และได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อถึงสาเหตุที่ว่าทำไมอิหร่านถึงมีการประท้วงหนักมากตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ พวกเขาให้เหตุผลหลักว่าเป็นเพราะประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นในระบอบโดยมองว่ามันไร้ประสิทธิภาพและเต็มไปด้วยการกีดกันเลือกปฏิบัติ

นักวิชาการอิหร่านระบุว่า "ประชาชนที่คับข้องใจออกมาชุมนุมบนท้องถนนเมื่อพวกเขาไม่มีหนทางอื่นในการที่จะแสดงความไม่พอใจต่อสถานการณ์ปัจจุบัน พวกเราได้อธิบายไว้ในหนังสือเล่่มนี้แล้ว ว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองในอิหร่านเริ่มเสื่อมถอยลง และผู้คนส่วนมากก็เชื่อว่าระบบโครงสร้างอำนาจของทางการอิหร่านนั้นไร้ประสิทธิภาพและฉ้อฉล"

สองนักวิชาการอิหร่านกล่าวให้สัมภาษณ์ว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลอิหร่านในฐานะความสัมพันธ์แบบบนลงล่างที่ไม่เท่าเทียมกันเรื่มเสื่อมถอยลงเพราะรัฐบาลอิหร่านปิดกั้นระบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองทำให้ผู้คนไม่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมทางการเมืองได้ เรื่องนี้ทำให้กลายเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลอิหร่านจะทำให้ประชาชนหันมาเชื่อวาทกรรมของพวกเขา ขณะเดียวกันพวกเขาก็เล็งเห็นว่าความเชื่อมั่นในแนวระนาบระหว่างประชาชนด้วยกันก็ลดลงไปบ้างเหมือนกัน

นอกจากนี้นักวิชาการทั้งสองคนยังทำการวิเคราะห์กระแสการประท้วงในอิหร่านนับตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2565 ที่มีอยู่ 4 กระแสซึ่งมีรูปแบบต่างกันออกไป ถึงแม้ว่ากระบวนขบวนการสีเขียวสมัยปี 2552 นั้นความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลจะยังมีอยู่บ้าง แต่หลังจากเกิดกระแสการประท้วงหลายครั้ง ความเชื่อมั่นระหว่างประชาชนกับรัฐบาลก็เสื่อมถอยลง และความเชื่อมั่นระหว่างประชาชนด้วยกันเองก็ถดถอยไปบ้างบางส่วน

กาเซมิปูร์กล่าวว่า ในยุคสมัยการเคลื่อนไหวปี 2552 สังคมยังได้เห็นความสามารถของรัฐบาลนักปฏิรูปที่มีส่วนเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมและกลุ่มนักกิจกรรมอยู่บ้าง ทำให้ในตอนนั้นความเชื่อมั่นระหว่างประชาชนด้วยกันยังคงมีอยู่ ในตอนนั้นผู้คนยังหวังจะได้เห็นการปฏิรูปอยู่บ้าง แต่สำหรับกระแสการเคลื่อนไหวปี 2561, 2562 และ 2565 ความเชื่อมั่นทิ้งสองแบบได้ลดน้อยถอยลงไป

กาเซมิปูร์ตั้งข้อสังเกตอีกว่าแม้กระทั่งการสื่อสารจากรัฐบาลสู่ประชาชนและจากประชาชนสู่รัฐบาล ก็เสื่อมถอยไปด้วย ในการประท้วงครั้งนี้ประชาชนเน้นพูดถึงแค่พวกเขาไม่ต้องการ ผู้ประท้วงไม่ได้มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูป มีการปฏิบัติการ หรือสร้างความประพฤติใดๆ จากโครงสร้างอำนาจของสังคมอีกต่อไปแล้ว

อย่างไรก็กูดาร์ซีกล่าวยอมรับว่าหนังสือของเขายังมีส่วนที่ขาดคือการพิจารณาในเรื่องกลุ่มประชากรที่หลากหลายในหมู่ผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัย ชนชั้นทางสังคม และทัศนคติต่างๆ ถ้ามีข้อมูลเหล่านี้พวกเขาอาจจะสามารถเชื่อมโยงว่ามันมีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับขบวนการเคลื่อนไหวบ้างก็ได้

กูดาร์ซีบอกว่าประชาชนอิหร่านในตอนนี้มองว่ารัฐบาลอิหร่านไม่ได้ประสบความสำเร็จในเรื่องใดเลยนอกเหนือจากการดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศ แม้กระทั่งความสำเร็จของรัฐบาลก็ดูไม่ล่อตาล่อใจประชาชน ประชาชนอิหร่านมองว่ารัฐบาลล้มเหลวในด้านเศรษฐกิจ ล้มเหลวในด้านสิทธิเสรีภาพพลเมือง ผู้คนต่างก็รู้สึกถูกเลือกปฏิบัติ กูดาร์ซีมองว่าความรู้สึกถูกเลือกปฏิบัตินี้เองที่เป็น "ต้นตอใหญ่ๆ ของความไม่พอใจ" ของประชาชน

"ผู้คนไม่เชื่อว่าสำนักงานรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐบาลเป็นของพวกเขา ผลที่ตามมาคือ ประชาชนมีความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้นำศาสนา ตุลาการ และข้าราชการ ลดน้อยถอยลงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แล้วมันก็ทำให้ผู้คนหันหลังให้สถาบันของรัฐ และแม้กระทั่งหันหลังให้กลุ่มต่างๆ ทางการเมือง" กูดาร์ซีกล่าว

เรียบเรียงจาก

Sociologists Say Lack Of Public Trust Driving Iran Protests, Iran International, 16-02-2023

Iran: Protests erupt for first time in weeks, DW, 17-02-2023

Opposition Groups Rally in France Demanding EU List IRGC as Terrorist Group, Asharq Al-Awsat, 12-02-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net