Skip to main content
sharethis

อุปนายกสิทธิเสรีภาพสื่อฯ มองกรณี ศปปส.จ่อฟ้องสื่ออิสระ ถ่ายไลฟ์สด ดญ.อายุ 14 ปี อ่านแถลงการณ์หน้า UN เมื่อ 18 ก.พ. 2566 สื่อสามารถต่อสู้ในชั้นศาลได้ หากการรายงานไม่ได้มีการแสดงความเห็นบิดเบือน และสิทธิการนำเสนอข่าวเป็นสิทธิตาม รธน. ที่ทุกคนได้รับการคุ้มครองไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

 

สืบเนื่องจากเมื่อ 22 ก.พ. 2566 ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. เดินทางไปแจ้งความมาตรา 112 ต่อ ‘ธนลภย์’ (สงวนนามสกุล) เด็กหญิงอายุ 14 ปี อ่านแถลงการณ์หน้าสำนักงานสหประชาชาติ (UN) ถ.ราชดำเนินนอก เมื่อ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา และได้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า จะแจ้งความต่อสื่ออิสระ 'สำนักข่าวราษฎร' และยูทูบเบอร์ ที่ถ่ายทอดสด ในข้อหาเกี่ยวกับการเผยแพร่และทำซ้ำข้อความหมิ่นประมาทฯ ทาง ศปปส. ระบุว่า เบื้องต้น อยู่ในระหว่างรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดี 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ ศปปส.ไปฟ้องสื่ออิสระในเรื่องนี้ ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลเป็นอันดับแรก ว่าศาลจะตีความว่าผิดหรือไม่ผิด แต่ถ้าดูจากที่ผ่านมายังไม่มีคดีไหนที่ศาลเอาผิดสื่อที่ทำหน้าที่รายงาน "ข้อเท็จจริง" เกี่ยวกับการชุมนุม จัดกิจกรรมการการประท้วงเกี่ยวกับข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่มีการประท้วงเมื่อ 2563 เป็นต้นมา 

อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ ระบุต่อว่า ในทางกลับกันเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลพยายามปิดกั้นการทำงานของสื่อด้วยข้ออ้างว่าสื่อเผยแพร่สิ่งผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมนั้น ศาลก็จะตีความให้ความคุ้มครองการนำเสนอข่าวของสื่อ

หนึ่งในตัวอย่างคือเมื่อ 21 ต.ค. 2563 ศาลอาญาเคยยกคำร้องของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ขอระงับการเผยแพร่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของ 'วอยซ์ทีวี' (Voice TV) ครอบคลุมถึงเว็บไซต์ประชาไท The Reporters The Standard และเยาวชนปลดแอก โดยศาลยืนยันเสรีภาพสื่อตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 35 วรรค 2 และ มาตรา 36 วรรค 1 

รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 35 วรรค 2 ระบุว่า การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ และมาตรา 36 วรรค 1 ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าในทางใดๆ

"ถ้ามีใครฟ้องกับสื่อที่รายงานตามข้อเท็จจริง และไม่มีการใส่ความคิดเห็น ไม่ได้มีการเอาไปบิดเบือน ผมเชื่อว่าสื่อย่อมมีโอกาสในการต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อพิสูจน์ตนเอง" ธีรนัย ระบุ

ทั้งนี้ ธีรนัย ระบุเพิ่มเติมว่า หากมีการฟ้องร้องการทำงานของสื่อขึ้นมาจริงๆ ทางสมาคมนักข่าวฯ มีการทำข้อตกลงความเข้าใจร่วมกัน (MOU) กับทางสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถ้าหากมีสื่อถูกดำเนินคดีจากการทำหน้าที่ของสื่อ และประสงค์ต้องการหาทนายความมาสู้คดี ทางสมาคมนักข่าวฯ และสภาทนายความฯ สามารถประสานมีทนายความให้คำปรึกษาในการต่อสู้คดีความให้กับสื่อมวลชน ซึ่งนี่จะเป็นเครื่องป้องกันสามารถให้สื่อมวลชนสามารถอุ่นใจได้เวลาทำหน้าที่นำเสนอข่าว

อย่างไรก็ตาม ก็มีบางความเห็นที่ระบุว่า สื่ออิสระหรือยูทูบเบอร์เหล่านี้ไม่ใช่สื่อจริงๆ และไม่ควรได้รับความคุ้มครองในฐานะสื่อมวลชน อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ มองว่าถ้าว่ากันตามหลักการ สมาคมนักข่าวฯ มีการสื่อสารต่อสาธารณชนและตำรวจอย่างต่อเนื่องว่า 

"เราเชื่อว่าสิทธิการเข้าถึงเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เป็นสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามสามารถเข้าถึงสิทธินี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน สื่อกระแสหลัก สื่อกระแสรอง สื่อพลเมือง แม้แต่ภาคประชาชน ย่อมมีสิทธิที่จะใช้สิทธินี้โดยไม่ถูกลิดรอน"

อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ ยกตัวอย่างว่า เวลาไปคุยกับตำรวจ เวลาที่มีการชุมนุม ทางตำรวจจะถามเสมอว่า พวกสื่อพลเมืองและภาคประชาชนเอากล้องถ่ายแบบนี้ กลุ่มนี้มีสิทธิไหม สมาคมฯ จะตอบเสมอว่า ถ้าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ คุณไม่มีสิทธิปฏิเสธ เพราะคนกลุ่มนี้ทำงานโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และไม่ได้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

ต่อประเด็นเส้นแบ่งและความท้าทายเรื่องการรายงานข่าวที่หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมายนั้น ธีรนัย มองว่า สถานการณ์ปัจจุบันไม่มีกฎหมายไทยที่ระบุอย่างชัดเจนว่า เรื่องไหนที่สื่อรายงานได้ หรือรายงานไม่ได้ ทำให้สื่อบางสำนักเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองไม่รายงานเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย ยิ่งเป็นสื่อโทรทัศน์ยิ่งระวังตัว เพราะมี กสทช.ควบคุม ด้านอุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ กำชับทิ้งท้ายด้วยว่า เรื่องการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อเป็นข้อเท็จจริงที่รู้ทั่วกันในวงการสื่อมาโดยตลอด

หมายเหตุ - มีการปรับแก้ไขเนื้อข่าว เมื่อ 24 ก.พ. 2566 เวลา 17.43 น. ด้านอุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ กำชับทิ้งท้ายด้วยว่า เรื่องการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อเป็นข้อเท็จจริงที่รู้ทั่วกันในวงการสื่อ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net