Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เนื่องในวันสตรีสากล 8 มี.ค.66 เสนอแรงงานแพลตฟอร์ม ต้องมีวันหยุด สิทธิลาป่วยและลาคลอดได้เท่าเทียมกับแรงงานหญิงกลุ่มอื่นๆ ชวนสังคมวิพากษ์  'แรงงานอิสระ' ย้ำพวกเขาเป็นแรงงานที่ต้องได้รับการคุ้มครอง

วันสตรีสากล ในเมืองไทย จุดสำคัญ เริ่มต้นเป็นจุดที่เป็นการเคลื่อนไหวของคนงานหญิงและกลุ่มผู้หญิงกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย ที่เป็นจุดย้ำคือ ได้มีการขับเคลื่อนของกลุ่มแรงงานหญิงจากหลายพื้นที่ เช่น พื้นที่อ้อมน้อยอ้อมใหญ่ จ.นครปฐม พระประแดง จ.สมุทรปราการ และรังสิต เป็นกลุ่มผู้หญิงที่ยากจนมีปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่องสวัสดิการต่างๆ ด้านแรงงาน จนวันหนึ่ง คนงานหญิงรู้สึกว่า พวกเขาต้องการสวัสดิการที่ดี จึงร่วมกันแสดงพลังเรียกร้องกฎหมายลาคลอด 90 วันจนในช่วงปี 2536 ได้มีกฎหมายลาคลอด และนับถึงปีนี้ถือว่าผ่านมา 30 ปี

 

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

แต่เวลาผ่านไป 30 ปี มีแรงงานหญิงอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มใหญ่และกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น ได้หลุดออกไปจากความคุ้มครองของกฎหมายลาคลอด และกฎหมายแรงงานอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย ในโอกาสนี้จึงสัมภาษณ์ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานหญิงมาตลอดเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์เปลี่ยนแปลง การจ้างงาน พร้อมทั้งข้อเสนอโดยเฉพาะคนงานแพลตฟอร์ม

การจ้างงานที่เปลี่ยนไป

จะเด็จ กล่าวว่าในวันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนแปลง การจ้างงานในโรงงานได้เปลี่ยนไป อุตสาหกรรมการผลิตบางประเภทเริ่มหายไป ระบบทุนมีการปรับตัวสูง พยายามที่จะจ้างงานออกไปนอกระบบโรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ คนงานหญิงที่อยู่ในอุตสาหกรรมตัดเย็บ สิ่งทอ ค่อยๆ หายไป เมื่อโรงงานย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในประเทศที่ค่าแรงต่ำ และในช่วงโควิด คนงานหญิงในโรงงานถูกเลิกจ้าง เข้ามาเป็นคนงานหญิงที่ถูกจ้างงานในรูปแบบใหม่ๆ บางคนออกจากโรงงานก็ไปอยู่ในระบบการจ้างงานแพลตฟอร์มส่งอาหารซึ่งไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานทุกเรื่อง ทั้งในเรื่องสุขภาพซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในกฎหมายประกันสังคมและกฎหมายคุ้มครองแรงงาน  ไม่ว่าจะเป็นคนงานหญิงกลุ่มไรเดอร์ คนงานหญิงที่เป็นแม่บ้าน คนงานหญิงที่เป็นพนักงานทำความสะอาด คนงานหญิงที่เป็นพนักงานนวด ที่อยู่ในระบแพลตฟอร์ม

รูปแบบการจ้างงานต่างๆ ได้ปรับเปลี่ยนไป ระบบทุนนิยมในอดีตเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว มีการเอาเปรียบคนงานหญิงและเด็กอย่างเข้มข้น จนมีการต่อสู้ให้เกิดวันสตรีสากล จากคนงานหญิงซึ่งทำงานในชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ถูกเอาเปรียบในเรื่องค่าแรงและเรื่องต่างๆ สิ่งเหล่านั้นได้กลับมาอีกในยุคนี้ โดยเฉพาะในระบบแพลตฟอร์ม ซึ่งไรเดอร์มีชั่วโมงการทำงานยาวนานเพื่อให้ได้รอบมาก ไม่มีระบบในการดูแลสนับสนุนเรื่องความปลอดภัย ไม่มีวันหยุด ลางานไม่ได้ พวกเขาถูกวาทะกรรมแบบทุนนิยมไปหลอกลวงว่าเป็นแรงงานอิสระ จึงทำให้เขาถูกเอาเปรียบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรงโดยใช้ระบบรอบที่ค่ารอบลดลงตามอำเภอใจของนายจ้าง ชั่วโมงการทำงานยาวนาน ฯลฯ ฉะนั้น เรื่องความปลอดภัยในโรงงานได้ย้ายออกมาสู่ท้องถนน ย้ายมาสู่สถานประกอบการแบบใหม่ที่ไม่ใช่โรงงาน เช่น ในตึก ในสถานที่นวด เป็นต้น

จึงเป็นเรื่องน่าตกใจว่า จากร้อยปีที่แล้ว สถานการณ์แรงงานน่าจะดีขึ้น กลายเป็นว่า ระบบทุนนิยมปรับตัวแล้วเอาเปรียบมากขึ้นไม่ต่างจากร้อยปีที่แล้ว คนงานยุคใหม่อยู่ในสภาพการทำงานที่ย่ำแย่

ภาพจากวงประชุมในหัวข้อ “ชีวิตไรเดอร์หญิง การทำงาน และความต้องการด้านสุขภาพและความปลอดภัย” โดยมีตัวแทนไรเดอร์หญิงจากแพลตฟอร์มต่างๆ หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ เข้าร่วมการประชุม เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2565

จากรายงานการศึกษาเรื่องคนงานแพลตฟอร์มหลายฉบับชี้ออกมาชัดเจนว่า มีการประสบอุบัติเหตุสูงมากในกลุ่มไรเดอร์  และในกลุ่มของผู้หญิงที่เป็นพนักงานนวดและพนักงานไรเดอร์เองก็ถูกคุกคามทางเพศเป็นประจำ โดยไม่มีการคุ้มครอง ขาดสวัสดิการต่างๆ คนทำงานต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยตัวเองแทบทั้งหมดและรับผิดชอบความเสี่ยงในอาชีพด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเจ็บป่วย เมื่อประสบอุบัติเหตุ  ภายใต้คำว่าแรงงานอิสระ จริงๆ แล้วเหมือนแรงงานทาสยุคใหม่ เพราะระบบแพลตฟอร์มเอารัดเอาเปรียบ หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อคนงาน ต้องตกเป็นความรับผิดชอบของคนงานเองและของสังคม

ภายใต้วาทะกรรมนี้ สังคมต้องช่วยกันวิพากษ์ ต้องอย่าไปคิดว่าพวกเขาเป็นแรงงานอิสระ แต่พวกเขาเป็นแรงงานที่ต้องได้รับการคุ้มครอง

ในโลกยุคธุรกิจและเทคโนโลยีที่ทันสมัย แรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานกลุ่มที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมากที่สุดโดยที่กฎหมายต่างๆ ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือ ในขณะเดียวกันการจ้างงานแบบเดิมก็จะหายไปเรื่อยๆ กฎหมายเหล่านี้จะถูกมองว่าล้าหลังหากไม่สามารถคุ้มครองแรงงานกลุ่มใหม่ๆที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ได้ในอนาคต

ข้อเสนอแนะคือ?

คนงานแพลตฟอร์มเป็นมนุษย์ มีครอบครัวมีลูก มีภาระที่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นพื้นฐานที่สุด เรื่องแรกคือ พวกเขาและเธอ ควรมีวันหยุดที่ได้ค่าจ้างเพื่อจะได้อยู่กับครอบครัว ควรมีสิทธิลาป่วย เพราะมนุษย์ต้องเจ็บป่วย ต้องรู้สึกเหนื่อย รู้สึกล้า เมื่อไม่มีลาป่วยที่ได้รับค่าจ้าง อาจจะฝืนไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ ความเสี่ยงในการประสบอุบัติเหตุก็จะมากขึ้น  

เรื่องที่สองคือ คนงานแพลตฟอร์มควรจะมีสิทธิการลาคลอดได้เท่าเทียมกับแรงงานหญิงกลุ่มอื่นๆ คนเรามีครอบครัวที่ต้องดูแล ถ้ามีลูกต้องดูแล อยู่ใกล้ชิดลูก หากไม่มีสิทธิลาคลอดเหมือนที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เมื่อไรเดอร์มีลูก พนักงานนวดมีลูก คนทำความสะอาดบ้านมีลูก พวกเขาและเธอก็ต้องหยุดอาชีพไป ไม่สามารถขับรถส่งอาหารให้ผู้บริโภคได้ ไม่สามารถไปทำงานนวด ทำความสะอาดบ้านได้ สวัสดิการเหล่านี้เป็นพื้นฐานมาก เมื่อรัฐพยายามบอกให้คนมีลูก แต่จะมีลูกได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีการจัดมีสวัสดิการให้แก่พวกเขา และไม่มีการคุ้มครองใดๆ  

"ถ้ามีไรเดอร์ท้องขับรถเพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจจะอันตรายมาก และจะแสดงถึงความผิดปกติเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมอย่างรุนแรง ดังนั้นผมมองว่า การต่อสู้ของขบวนการแรงงานเรื่องต่างๆ ที่มาอยู่ในกฎหมาย มันเป็นเหมือนโลกจินตนาการ กฎหมายทุกวันนี้ เหมือนอยู่โลกอีกโลกหนึ่ง ซึ่งในโลกความเป็นจริง กลับกลายเป็นว่า กฎหมายพวกนี้ไปไม่ถึง" ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวทิ้งท้าย

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการรูปแบบการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อสุขภาวะของแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหาร ภายใต้มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net