Skip to main content
sharethis
  • พรรคที่มีผู้สมัคร ส.ส. กทม. ที่มาจากพรรคเดิมมากที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 14 คน คิดเป็น 42.42% รองลงมาคือเพื่อไทย 11 คน คิดเป็น 33.33% และพรรคก้าวไกล 6 คน คิดเป็น 18.18% 
  • พรรคเพื่อไทยมี อดีต ส.ส. กทม. ปี 2562 ที่กลับมาลงสมัคร ส.ส. กทม. ปี 2566 ในนามพรรคเดิมมากที่สุดคือ 7 คน รองลงมาก็คือก้าวไกล 3 คน และพลังประชารัฐ พรรคละ 1 คน 
  • พรรคภูมิใจไทยมีผู้สมัครที่ย้ายพรรคมามากที่สุด 13 คน และมีอดีต ส.ส. กทม. ปี 2562 พรรคอื่นย้ายมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคภูมิใจไทยมากถึง 8 คน โดยมาจากพรรคพลังประชารัฐ 5 คน พรรคอนาคตใหม่ 2 คน (ที่ย้ายมาอยู่พรรคภูมิใจไทยหลังอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค) และพรรคเพื่อไทย 1 คน 
  • พรรคก้าวไกล มีผู้สมัครหน้าใหม่มากที่สุด 26 คน และมีผู้สมัครที่มาจากการย้ายมาจากพรรคอื่นน้อยที่สุดเช่นเดียวกัน เพียง 1 คน โดยเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 เพื่อไทย

จากการประกาศตัวผู้สมัคร ส.ส. กทม. ของ 7 พรรคใหญ่ที่ส่งผู้สมัครครบทั้ง 33 เขต ได้แก่ ก้าวไกล ไทยสร้างไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ เพื่อไทย ภูมิใจไทย และรวมไทยสร้างชาติ Rocket Media Lab ชวนสำรวจผู้สมัคร ส.ส. กทม. ทั้ง 33 เขตจากทั้ง 7 พรรค ว่าเป็นใคร มาจากไหนบ้าง เป็นผู้สมัครพรรคเดิม หน้าใหม่ หรือย้ายพรรค?

เปรียบเทียบผู้สมัคร ส.ส. กทม. ทั้ง 7 พรรค

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 Rocket Media Lab จัดทำฐานข้อมูลทางการเมืองของผู้สมัคร ส.ส. โดยแยกกลุ่มผู้สมัครเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ผู้สมัครจากพรรคเดิม หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น

2. ผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น โดยนับปีล่าสุดที่ผู้สมัครคนนั้นลงสมัคร ส.ส. 

3. ผู้สมัครหน้าใหม่ หมายถึง ผู้ที่ไม่เคยลงสมัคร ส.ส. มาก่อน ทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ

เมื่อนำข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. กทม. ทั้ง 7 พรรค จากทั้ง 33 เขตมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab จะพบว่าพรรคที่มีผู้สมัคร ส.ส. กทม. ที่มาจากพรรคเดิมมากที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 14 คน คิดเป็น 42.42% รองลงมาคือเพื่อไทย 11 คน คิดเป็น 33.33% และพรรคก้าวไกล 6 คน คิดเป็น 18.18% 

แต่หากพิจารณาเฉพาะผู้สมัคร ส.ส. กทม. พรรคเดิมที่เป็นอดีต ส.ส. กทม. ปี 2562 และลงสมัครในปี 2566 ในนามพรรคเดิมจะพบว่า พรรคเพื่อไทยมี อดีต ส.ส. กทม. ปี 2562 ที่กลับมาลงสมัคร ส.ส. กทม. ปี 2566 ในนามพรรคเดิมมากที่สุด จำนวน 7 คน รองลงมาก็คือก้าวไกล 3 คน และพลังประชารัฐ 1 คน 

ในขณะที่ 2 พรรคใหม่ คือพรรคไทยสร้างไทยและพรรครวมไทยสร้างชาติถือว่าไม่มีผู้สมัครพรรคเดิม แต่ทั้งสองพรรคใหม่นี้กลับไม่ได้มีผู้สมัคร ส.ส. กทม. ที่มาจากการย้ายพรรคมากที่สุด เพราะพรรคที่มีผู้สมัคร ส.ส. กทม. ที่มาจากการย้ายพรรคมากที่สุดก็คือ พรรคภูมิใจไทย 13 คน คิดเป็น 39.39% รองลงมาคือพรรคไทยสร้างไทยและพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคละ 11 คน คิดเป็น 33.33% ตามมาด้วยพรรคพลังประชารัฐ 10 คน คิดเป็น 30.30% ในขณะที่พรรคที่มีผู้สมัคร ส.ส. กทม. ที่ย้ายมาจากพรรคอื่นน้อยที่สุดคือพรรคก้าวไกล โดยมีเพียง 1 คน คิดเป็น 3.03% ซึ่งก็คือพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ เขต 33 อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทย ปี 2562

ในหมวดการย้ายพรรคนี้ หากพิจารณาเฉพาะอดีต ส.ส. กทม. ปี 2562 ที่ย้ายไปพรรคอื่นๆ จะพบว่า พรรคภูมิใจไทยมีผู้สมัคร ส.ส. กทม. ที่เป็นอดีต ส.ส. กทม. ที่ย้ายมาจากพรรคอื่นมากที่สุดถึง 8 คนเลยทีเดียว รองลงมาคือพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน 7 คน และพรรคเพื่อไทย จำนวน 6 คน 

ขณะที่ในหมวดผู้สมัครหน้าใหม่นั้น พบว่าพรรคก้าวไกล มีผู้สมัครหน้าใหม่มากที่สุด 26 คน คิดเป็น 78.79% รองลงมาก็คือพรรคไทยสร้างไทยและรวมไทยสร้างชาติที่ถือเป็นพรรคใหม่ จำนวนพรรคละ 22 คน คิดเป็น 66.67%

ผู้สมัคร ส.ส. กทม. พรรคก้าวไกล 

เมื่อนำข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. กทม. ทั้ง 33 คนของพรรคก้าวไกลมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab จะพบว่า จากที่ในปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส. กทม. 9 คน ในการเลือกตั้ง 2566 นี้ พรรคก้าวไกลมีผู้สมัครที่มาจากพรรคเดิม (อนาคตใหม่) 6 คน แยกเป็นอดีต ส.ส. ปี 2562 จำนวน 3 คน ซึ่งกลับมาลงสมัครในนามพรรคก้าวไกล แต่เป็นอดีต ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 1 คน คือ ธีรัจชัย พันธุมาศ ในขณะที่อีก 2 คนคือ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร และณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส่วนอีก 3 คนเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่

ส่วนผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น พบว่า ผู้สมัคร ส.ส. กทม. ของพรรคก้าวไกลที่ย้ายมาจากพรรคอื่น มีจำนวน 1 คน โดยเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 จากพรรคเพื่อไทย นั่นก็คือ พงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ

และในส่วนของผู้สมัครหน้าใหม่ พบว่า ผู้สมัคร ส.ส. กทม. ของพรรคก้าวไกลที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ มีจำนวน 26 คน ซึ่งพบว่าส่วนมากเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ มาก่อน โดยเฉพาะงานกรรมาธิการด้านต่างๆ ในสภาฯ และเคยเป็นผู้ช่วย ส.ส. มาก่อน รองลงมาคือนักเคลื่อนไหวทางการเมือง/สังคม ซึ่งมีทั้งอดีตกลุ่มเส้นด้าย และผู้ที่ทำงานเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น กลุ่ม WeVo หรือ Re-Solution

ผู้สมัคร ส.ส. กทม. พรรคไทยสร้างไทย

เมื่อนำข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. กทม. ทั้ง 33 คนของพรรคไทยสร้างไทยมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab จะพบว่า พรรคไทยสร้างไทยมีผู้สมัคร ส.ส. กทม. ที่มาจากการย้ายพรรค 11 คน แยกเป็น อดีต ส.ส. ปี 2562 จำนวน 1 คน คือ การุณ โหสกุล อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย อีก 9 คนคืออดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 ซึ่งมาจากพรรคอนาคตใหม่ 3 คน เพื่อไทย 2 คน ประชาธิปัตย์ รวมพลังประชาชน พลังประชารัฐ และชาติพัฒนา พรรคละ 1 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 1 คน ซึ่งก็คือ นุชนาฏ หุ่นอยู่ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาราช ปี 2550

ในส่วนของผู้สมัคร ส.ส. กทม. ของพรรคไทยสร้างไทยที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ พบว่ามีจำนวน 22 คน ซึ่งมาจากนักการเมืองระดับท้องถิ่นและนักธุรกิจมากที่สุด โดยนักการเมืองระดับท้องถิ่น คืออดีตผู้สมัคร ส.ก. ของพรรคไทยสร้างไทยในปี 2565 ที่ผ่านมานั่นเอง รองลงมาคือผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านต่างๆ มาก่อน ซึ่งส่วนมากเป็นอดีตผู้ประสานงานพรรคและเป็นกรรมาธิการในสภาฯ 

ผู้สมัคร ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ 

เมื่อนำข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. กทม. ทั้ง 33 คนของพรรคประชาธิปัตย์มาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab จะพบว่า พรรคประชาธิปัตย์มีผู้สมัครที่มาจากพรรคเดิม 14 คน ซึ่งมากที่สุดในบรรดา 7 พรรค แยกเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 จำนวน 13 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 1 คน แม้จะพบว่าผู้สมัคร ส.ส. กทม. ปี 2566 จากพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. กทม. ปี 2562 จำนวนมาก แต่เมื่อสืบค้นลงไปก็จะพบว่าส่วนมากก็เคยเป็นอดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 มาก่อน เพียงแต่ในปี 2562 ไม่ได้รับเลือกตั้ง 

ในส่วนของผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรคนั้น พบว่าผู้สมัคร ส.ส. กทม. ปี 2566 จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น มีจำนวน 4 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากปี 2562 แยกเป็นจากพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทย พรรคละ 2 คน 

และในส่วนของผู้สมัครหน้าใหม่ พบว่า ผู้สมัคร ส.ส. กทม. ปี 2566 จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 15 คนนั้น ส่วนมากมาจากนักการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งก็คืออดีตผู้สมัคร ส.ก. ในปี 2565 ของพรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง รวมไปถึงอดีต ส.ก. และ ส.ข. ก่อนปี 2565 ของพรรค รองลงมาคือเครือญาตินักการเมืองระดับชาติ ซึ่งส่วนมากเป็นเครือญาติของอดีต ส.ส. เช่น อภิมุข ฉันทวานิช บุตรของ สมเกียรติ ฉันทวานิช อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และเครือญาตินักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งคือเครือญาติของอดีต ส.ก. และ ส.ข. เช่น วณิชชา ม่วงศิริ เครือญาติของสารัช ม่วงศิริ ส.ก. เขตบางขุนเทียน

ผู้สมัคร ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ

เมื่อนำข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. กทม. ทั้ง 33 คนของพรรคพลังประชารัฐมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab จะพบว่า ในปี 2562 พรรคพลังประชารัฐมี ส.ส. กทม. จำนวน 12 คน ซึ่งกลับมาลงสมัครในปี 2566 จำนวน 1 คน ซึ่งก็คือ ศิริพงษ์ รัสมี ในขณะที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. ที่ถือเป็นผู้สมัครพรรคเดิมของพรรคพลังประชารัฐ อีก 4 คน เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562

ในส่วนของผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรค พบว่า ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น มีจำนวน 10 คน โดยเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 ทั้งหมด แยกเป็น พรรคภูมิใจไทยและพลังท้องถิ่นไทย พรรคละ 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย เพื่อแผ่นดิน ภราดรภาพ และรวมพลังประชาชาติไทย พรรคละ 1 คน

และในส่วนของผู้สมัครที่ถือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ของพรรคพลังประชารัฐ มีจำนวน 18 คน โดยส่วนมากเป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่นมาก่อน ซึ่งคือ อดีตผู้สมัคร ส.ก.ในปี 2565 ทั้งจากพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ รองลงมาก็คือนักธุรกิจและเครือญาตินักการเมืองระดับชาติ เช่น ณิรินทร์ เงินยวง บุตรของ ทิวา เงินยวง อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์

ผู้สมัคร ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย

เมื่อนำข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. กทม. ทั้ง 33 คนของพรรคเพื่อไทยมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab จะพบว่า ในปี 2562 พรรคเพื่อไทยมี ส.ส. กทม. จำนวน 9 คน ซึ่งกลับมาลงสมัครในการเลือกตั้ง ปี 2566 ถึง 7 คนด้วยกัน โดยพรรคเพื่อไทยมีผู้สมัครพรรคเดิมทั้งหมด 11 คน นอกจาก 7 คนที่เป็นอดีต ส.ส. ที่กลับมาลงสมัครแล้ว ยังมีอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 อีก 4 คน

ในส่วนของผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรคนั้น พรรคเพื่อไทยมีผู้สมัคร ส.ส. กทม. ที่ย้ายมาจากพรรคอื่นจำนวน 8 คน แยกเป็น อดีต ส.ส. ปี 2562 จำนวน 2 คน ซึ่งมาจากพรรคพลังประชารัฐ 1 คน และอนาคตใหม่ 1 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 จำนวน 6 คน ซึ่งมาจากจากพรรคไทยรักษาชาติ 4 คน และจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐ พรรคละ 1 คน

และในส่วนของผู้สมัครหน้าใหม่นั้น พบว่า พรรคเพื่อไทยมีผู้สมัคร ส.ส. กทม. ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 14 คน โดยมาจากผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ มากที่สุด ซึ่งก็คืออดีตผู้ช่วย ส.ส. และเป็นกรรมาธิการในสภาฯ มาก่อน รองลงมาคือเครือญาตินักการเมืองระดับชาติและนักธุรกิจ โดยเครือญาตินักการเมืองระดับชาติ เช่น ญาณกิตติ์ ห่วงทรัพย์ ซึ่งเป็นหลานของจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย

ผู้สมัคร ส.ส. กทม. พรรคภูมิใจไทย

เมื่อนำข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. กทม. ทั้ง 33 คนของพรรคภูมิใจไทยมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab จะพบว่า พรรคภูมิใจไทยไม่มีผู้สมัครที่มาจากพรรคเดิมเลยแม้แต่คนเดียว โดยในส่วนของ มณฑล โพธิ์คาย และโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี ที่แม้จะเป็นอดีต ส.ส. กทม. เดิม แต่เป็นอดีต ส.ส. กทม. ปี 2562 จากพรรคอนาคตใหม่ ที่ย้ายมาอยู่พรรคภูมิใจไทยหลังอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค ทั้งนี้ ในการจัดประเภทของฐานข้อมูล Rocket Media Lab ในครั้งนี้ยึดถือสังกัดพรรคการเมืองจากผลการเลือกตั้งจากวันที่ 24 มีนาคม 2562 ดังนั้นจึงถือว่าผู้สมัคร ส.ส. กทม. ของพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งปี 2566 ไม่มีผู้สมัครจากพรรคเดิม

ในส่วนของผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรคนั้น พบว่า พรรคภูมิใจไทยมีผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรคมากที่สุด และมีอดีต ส.ส. กทม. ปี 2562 จากพรรคอื่นย้ายเข้ามาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคภูมิใจไทยมากที่สุดเช่นเดียวกัน โดยผู้สมัคร ส.ส. ที่มาจากการย้ายมาจากพรรคอื่นรวม 13 คน แบ่งเป็น อดีต ส.ส. จำนวน 8 คน จากพรรคพลังประชารัฐ 5 คน พรรคอนาคตใหม่ 2 คน (ที่ย้ายมาอยู่พรรคภูมิใจไทยหลังอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค) และพรรคเพื่อไทย 1 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 จำนวน 3 คน ซึ่งมาจากพรรคอนาคตใหม่ พลเมืองไทยและพลังธรรมใหม่ พรรคละ 1 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 อีก 2 คน ซึ่งมาจากพรรคชาติไทยพัฒนาและความหวังใหม่ พรรคละ 1 คน

ในส่วนของผู้สมัครหน้าใหม่นั้น พบว่าพรรคภูมิใจไทยมีผู้สมัครหน้าใหม่ 20 คน ซึ่งมาจากผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ มาก่อนมากที่สุด โดยเป็นผู้ช่วย คณะทำงานของ ส.ส. หรือรัฐมนตรี และเป็นอดีตกรรมาธิการสภาฯ ด้านต่างๆ รองลงมาก็คือนักธุรกิจและประกอบอาชีพส่วนตัว

ผู้สมัคร ส.ส. กทม. พรรครวมไทยสร้างชาติ

เมื่อนำข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. กทม. ทั้ง 33 คนของพรรครวมไทยสร้างชาติ มาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab จะพบว่า มาจากการย้ายพรรคจำนวน 11 คน แยกเป็น อดีต ส.ส. ปี 2562 จากพรรคอื่น จำนวน 7 คนได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ 2 คน พรรคอนาคตใหม่ 1 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อจากพรรคเศรษฐกิจใหม่ 2 คน พรรคพลเมืองไทย 1 คน และพรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 คน

และในส่วนของผู้สมัครหน้าใหม่นั้น พรรครวมไทยสร้างชาติ มีผู้สมัครหน้าใหม่จำนวน 22 คน โดยส่วนมากเป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่นนักธุรกิจมากที่สุดและผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ มาก่อน ซึ่งนักการเมืองระดับท้องถิ่นนั้นก็คืออดีตผู้สมัคร ส.ก. ในปี 2565 ที่ผ่านมา เช่น ศรราม ภูมิไชย อดีตผู้สมัคร ส.ก. กลุ่มรักษ์กรุงเทพ และผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ เช่น ณัฐนันท์ กัลยาศิริ อดีตกรรมการบริหารพรรคกล้า

 

ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-election-66-3/ 

 

หมายเหตุ
ข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. เป็นข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ

ข้อมูลผู้สมัครและประวัติ สืบค้นจากการประกาศของพรรค การนำเสนอของสื่อและโซเชียลมีเดียของผู้สมัครแต่ละเขต

การนับ ส.ส. ปี 2562 นับจากการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562

ปีที่ลงสมัคร ส.ส. ไม่นับปี 2557 ที่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ดูฐานข้อมูลว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ปี 2566 แบบแบ่งเขต รายจังหวัด (อย่างไม่เป็นทางการ) พร้อมประวัติทางการเมืองว่า เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม ย้ายมาจากพรรคไหน หรือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยลง ส.ส. มาก่อน ภายใต้ชื่อโครงการ DEMO Thailand ได้ที่ https://demothailand.rocketmedialab.co  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net