Skip to main content
sharethis

'คนเสื้อแดง' จัดรำลึก 13 ปี เหตุสลายการชุมนุม พรรคการเมืองร่วมวางหรีดเคารพวีรชน พร้อมถกข้อเสนอ คปช. 8 ข้อ 'ณัฐวุฒิ' ยกสัจธรรมทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง แม้กระทั่งการเคลื่อนไหว ของ นปช.

10 เม.ย.2566 เนื่องในวาระครบรอบ 13 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ นปช. หรือคนเสื้อแดง ที่ปักหลักที่สะพานผ่านฟ้าฯ ยาวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บนถนนราชดำเนินกลาง โดยรัฐบาลอภิสิทธิ์และกองทัพส่งผลให้ประชาชนถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงเสียชีวิตหลายรายนั้น วันนี้ สำนักข่าวราษฎร รายงานว่า ตั้งแต่เวลา 15.00 น.  ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว กทม. คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 หรือ คปช. นำโดย ธิดา ถาวรเศรษฐ เหวง โตจิราการ ร่วมกันจัดงาน งานรำลึก “13ปี เมษา พฤษภา53” 

บรรยากาศในวันนี้ประกอบด้วย พิธีสงฆ์ เพื่ออุทิศบุญส่วนกุศลให้กับวีรชนที่เสียชีวิต จากนั้นได้มีการวางพวงหรีดงจากองค์กร พรรคการเมือง กลุ่มนักกิจกรรมต่างๆ อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเส้นด้าย พรรคไทยสร้างไทย กลุ่มนักกิจกรรม และ กลุ่มเสื้อแดง

ธิดา ถาวรเศรษฐ กล่าวปราศรัยขอขอบคุณพรรคการเมืองนักกิจกรรมที่ได้มาร่วมรำลึกคนเสื้อแดงเลยวันนี้ พร้อมกล่าวว่า ตนเป็นประธาน นปช. มาวันที่ 1 ธ.ค.2553 เราจัดงานรำลึกและทวงความยุติธรรมพร้อมกับชุมนุมใหญ่ในแต่ละปี ไม่ว่าจะที่ราชประสงค์ หรือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คดีที่เราฟ้องผู้สั่งฆ่า ในช่วงปี 2554 ปัจจุบันก็มีการทวงความยุติธรรมอย่างเป็นรูปธรรม เราทวงความยุติธรรมมันอยู่ตลอด 

เหวง โตจิราการ กล่าวปราศรัย ตนขอร้องพรรคฝั่งประชาธิปไตยอย่าทะเลาะกัน เพราะถ้าทะเลาะกัน ฝั่งประยุทธ์ จันทร์โอชาจะดีใจ ตนขอกราบเรียนพรรคการเมืองทุกท่านว่ากรุณานำ 8 ข้อเรียกร้องของ คปช.53 ไปดำเนินการให้เรียบร้อย ต้นขอฝากพรรคการเมืองทุกพรรคกรุณาประกาศรับรองเขตอำนาจศาล ICC เฉพาะกรณีปี 2553 ทั้งนี้ขอให้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขได้ถ้า รัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อให้มี สสร. ยกระดับรัฐธรรมนูญได้โดยตรง 

8 ข้อเรียกร้อง คปช.53 ประกอบด้วย 

1. ทำการเร่งรัดตรวจสอบและผลักดันคดีความกรณีปี 2553 ที่ถูกแช่แข็งและบิดเบือน เพื่อมิให้มีการสังหารประชาชน “ลอยนวลพ้นผิด” เกิดได้อีกในอนาคต รวมทั้งตรวจสอบผลักดันคดีความในช่วงเวลาปัจจุบัน อันเป็นคดีความทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน ให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรมที่เป็นสากล ไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติและกลั่นแกล้งทางการเมือง

2. แก้ไขกฎหมาย กรณีที่ทหารและนักการเมืองทำความผิดต่อประชาชน พลเรือน ให้ขึ้นศาลพลเรือน

3. เมื่อได้เป็นรัฐบาล ขอให้ลงนามรับรองธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เฉพาะกรณีเหตุการณ์ 2553 ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์แต่ประการใด ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามที่อัยการ ICC ได้มาแจ้งไว้กับรัฐบาลเพื่อไทยเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2555

4. ดำเนินการเพื่อแก้ไขให้ได้รัฐธรรมนูญของประชาชนให้ได้ระบอบประชาธิปไตยแท้จริง โดยการใช้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ รวมทั้งสนธิสัญญากรุงโรมที่ยังไม่ได้ลงนาม ก็ควรได้ลงนามในอนาคตหลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว

5. แก้ไขกฎหมายอื่น อันเป็นผลพวงการทำรัฐประหาร รวมทั้ง กอ.รมน. และกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ที่กลายเป็นเครื่องมือจัดการผู้เห็นต่างทางการเมือง

6. ดำเนินการเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปกองทัพ และองค์กรอิสระอย่างจริงจัง เพราะ 3 แหล่งนี้เป็นกระบวนการกลุ่มอภิชนที่ยึดครองประเทศไทย ยึดอำนาจจากประชาชน ไม่ยึดโยงกับประชาชน

7. กระจายอำนาจบริหารจากส่วนกลางไปยังภูมิภาค แก้ปัญหาระบบศักดินา ให้ผู้บริหารผ่านการเลือกตั้งของประชาชนและถูกตรวจสอบได้ง่าย

8. ให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด หรือมาจากประชาชนโดยอ้อม ผ่านการคัดสรรตามโควตา ส.ส. ในรัฐสภาของพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งทั่วไป หรือมิฉะนั้นก็ไม่ต้องมีวุฒิสมาชิกเลย

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรารำลึกเหตุการณ์ต่างๆ มักจะเลือกเอาวันที่เป็นวันสิ้นสุดของเหตุการณ์ มีเหตุการณ์เมษา พฤษภา 53 ที่เป็นการรำลึก 2 วัน ทำไมเราถึงต้องมารำลึกในวันที่ 10 เมษายน บรรยากาศของวันที่ 10 เมษายนปีฃ 2553 นบริเวณนี้ ถือเป็นวันจุด หักเหของคนเสื้อแดงที่เรียกร้องประชาธิปไตย รัฐบาลในขณะนั้นได้สั่งการให้มีการยึดพื้นที่ถนนราชดำเนิน เมื่อไม่มีความจำเป็นยึดพื้นที่คืนแต่ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ไปจนถึงเวลากลางคืนซึ่งไม่มีใครในโลกนี้เขาทำกัน

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีต แกนนำ นปช. กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะเป็นผิดเขียนสำคัญที่ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศจะใช้การลงคะแนนในคูหาเลือกตั้งเอาชนะรัฐบาลสืบทอดอำนาจเผด็จการและผลักดันผู้นำจากรัฐทหารออกจากอำนาจโดยวิธีสันติ ตน มายืนอยู่ตรงนี้ให้พี่น้องได้เข้าใจว่าในนามของคนเสื้อแดง 100% เรื่องราวของเหตุการณ์ดังกล่าวได้ถูกสลักหัวใจ งานรำลึก 10 เม.ย. 2553 ได้อธิบายสัจธรรมชีวิตของมนุษย์อย่างแท้จริง ว่าทุกสรรพสิ่งในโลกไม่ใดๆที่ไม่เปลี่ยนแปลง มนุษย์ทุ่มเทสรรพกำลัง ทุ่มเทงบประมาณต่างๆทุกเรื่อง นับประสาอะไรกับขบวนการต่อสู้ ที่ถูกเรียกว่าคนเสื้อแดงมันก็มีความเปลี่ยนแปลงมีพัฒนาการมาเป็นลำดับมาจนวันที่เรายืนอยู่ด้วยกันตรงนี้ และเราหลับตาอธิบายตัวเองไม่ได้ว่าดาวมาจนถึงวันนี้ได้อย่างไรวันที่หลายคนตามหากันไม่เจอ 

“ความรู้สึกเหล่านี้วิ่งแล่นอยู่ในทุกคนในขบวนการ ขอให้ทุกคนได้เข้าใจว่าทุกคนต่างมีทางเลือกทางเดินเป็นของตัวเองต่างมีวิธีเป็นของตัวเอง อย่างไรก็ตามถ้าเราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำเมื่อ 13 ปีที่แล้วมันถูกต้องมันถูกชอบธรรม ก็ขอให้รักษาจิตวิญญาณการต่อสู้นั้นไว้ในชีวิตของเราตลอดไป ถ้าเรายืนยันว่ามันถูกจะกี่เดือนกี่ปีข้างหน้ามันก็จะถูกอธิบายว่าถูกต้องเช่นเดิม" ณัฐวุฒิ กล่าว 

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานต่อด้วยว่า เวลา 16.30 น. ได้มีการจัดวงเสวนา ให้หัวหน้าพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมือง เสนอนโยบายรวมทั้งการปฏิบัติในเรื่องการเมืองการปกครองและปัญหาความยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี “เมษา-พฤษภา53” ตามที่คณะประชาชนทวงความยุติธรรมฯ ได้มีข้อเสนอ 8 ข้อไว้ล่วงหน้าแล้วต่อพรรคการเมืองดังต่อไปนี้ พรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคประชาชาติ และพรรคไทยสร้างไทย

อนึ่งเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. หรือคนเสื้อแดง ที่ปักหลักที่สะพานผ่านฟ้าฯ ยาวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บนถนนราชดำเนินกลาง โดยรัฐบาลอภิสิทธิ์และกองทัพส่งผลให้ประชาชนถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงเสียชีวิตหลายราย จนในช่วงค่ำปรากฏ “ชายชุดดำ” ยิงตอบโต้ทหาร ทำให้นายทหารเสียชีวิต 5 ราย ในจำนวนนั้นมี พ.อ.ร่มเกล้ารวมอยู่ด้วย ต่อมาได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเอก ยอดรวมผู้เสียชีวิตในวันนั้นคือ ประชาชน 20 คน ทหาร 5 นาย (มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมภายหลังบางแหล่งระบุ 1 คน บางแหล่งระบุ 2 คน)

หลังจากนั้นยังคงมีการชุมนุมของ นปช.ต่อเนื่องไปอีกและการสลายการชุมนุมก็เต็มไปด้วยความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงวันที่ 13-19 พ.ค.มีประชาชนเสียชีวิตเกือบ 70 คน โดยในเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษา มีการไต่สวนการตายแล้ว 7 ศพ ศาลสั่งกระสุนมาจากฝั่งทหาร 3 ศพ ได้แก่ได้แก่ เกรียงไกร คำน้อย, จรูญ ฉายแม้นและสยาม วัฒนนุกูล โดยเฉพาะเกรียงไกร ผู้ชุมนุมซึ่งเป็นคนขับตุ๊กๆ วัย 23 ปีถูกยิงท้อง ตั้งแต่บ่าย ที่สะพานมัฆวานฯและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

อีกทั้งการสลายการชุมนุมก็ต่อเนื่องยาวนานจนถึงเวลากลางคืนอีกด้วย และนอกจากกระสุนจริงซึ่งเป็นอาวุธสงครามแล้ว มีการใช้แก๊สน้ำตาจากเฮลิคอปเตอร์ จนเป็นเหตุให้มนต์ชัย แซ่จอง ผู้ชุมนุมซึ่งมีโรคประจำตัวเมื่อโดนแก๊สน้ำตาที่โปรยต่อเนื่องมาจากเฮลิคอปเตอร์ทำให้เขาเริ่มมีอาการราว 1 ทุ่ม หนาวสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติจนต้องส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในช่วงกลางดึกคืนนั้น

สำหรับข้อเรียกร้องหลักของการชุมนุมตั้งแต่ 12 มี.ค. 53 คือให้อภิสิทธิ์นายกฯขณะนั้น ยุบสภา หลังจากดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม 2551 การดำรงตำแหน่งของอภิสิทธิ์เป็นผลมาจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้ยุบพรรคพลังประชาชน (และอีก 2 พรรค) ซึ่งมีเสียงข้างมากและเป็นผู้นำรัฐบาลอยู่ในเวลานั้น ทำให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ หัวหน้าพรรคพลังประชาชนพ้นจากตำแหน่งนายกฯ นับเป็นการถูกยุบพรรคเป็นครั้งที่สอง หลังจากไทยรักไทยโดนยุบพรรคไปก่อนหน้านี้ครั้งหนึ่งแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net