Skip to main content
sharethis

สุขภาพจิตเป็นเรื่องของทุกคน และ “ชุมชน” จะกลายเป็นขุมพลังใหม่ที่ช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในพื้นที่ให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน ดูผลสำเร็จ 10 ชุมชนท้องถิ่นต้นแบบ 5 ภูมิภาคทั่วไทย ในโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนท้องถิ่นในสถานการณ์วิกฤตและตลอดช่วงชีวิต

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สสส. และกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่าจาก “เวทีสานพลังส่งเสริมสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น ครั้งที่ 1” โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่นำเอาผลสำเร็จของ 10 ชุมชนท้องถิ่นต้นแบบ 5 ภูมิภาคทั่วไทย ใน “โครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนท้องถิ่นในสถานการณ์วิกฤตและตลอดช่วงชีวิต” ที่ มสช. กรมสุขภาพจิต และ สสส. เข้าไปช่วยผลักดันพื้นที่ที่ทำงานด้านสุขภาพจิตในชุมชนแต่เดิม ให้เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นและครอบคลุมครบทุกมิติ  พร้อมถอดบทเรียนให้ชุมชนที่ประสบปัญหานำไปพัฒนาปรับใช้ได้ทั่วประเทศมาเผยแพร่สู่สาธารณะ

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทย สิ่งที่ปรากฏมักเป็นจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น หรือตัวเลขบุคลากรเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีไม่เพียงพอต่อการรักษา ทว่า 10 ชุมชนท้องถิ่นต้นแบบในข้างต้น ได้แก่ 1.องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) วังสะพุง จ.เลย 2.อบต.ผักไหม จ.ศรีสะเกษ และ 3.อบต.วังกรด จ.พิจิตร 4.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านคลองเหมืองใหม่ จ.สมุทรสงคราม 5.โรงพยาบาลศรีธัญญา จ.นนทบุรี  6.กลุ่มโฆษกสีขาว จ.สุพรรณบุรี 7.องค์กรหัวใจดวงใหม่ จ.ปัตตานี 8.มูลนิธิเพื่อภราดรภาพ จ.สตูล 9.โรงนาบ้านไร่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และ 10.มูลนิธิบุญยง-อรรณพ นิโครธานนท์ จ.ปทุมธานี นั้นต่างออกไป หลายพื้นที่ปลดล็อคไม่นำข้อจำกัดต่าง ๆ มาเป็นตัวตั้ง แต่กลับใช้ต้นทุนดีที่มีอยู่ แล้วปรับกระบวนการคิดตั้งแต่ต้นทาง เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ปลอดภัยจากปัญหาสุขภาพจิตจนเป็นสุขในระยะยาว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ“อาร์ต ฟาร์ม สวรรคโลก” จ.สุโขทัย แหล่งเรียนรู้และผลิตวัคซีนใจให้ชุมชน 1 ใน 10 ชุมชนท้องถิ่นต้นแบบของโครงการฯ ซึ่ง สัญญา พานิชย์เวช เจ้าของอาร์ต ฟาร์ม สวรรคโลก กล่าวว่า การแก้ปัญหาสุขภาพจิตที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นการแก้ที่ปลายทาง ด้วยการทุ่มงบประมาณทุ่มบุคคลากรถมเข้าไป แต่แท้จริงแล้วควรเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่ต้นทางซึ่งก็คือตัวของเราเอง ด้วยการปรับปเลี่ยนกระบวนการคิดต่อสิ่งเร้าหรือปัญหาที่เข้ามากระทบ อีกทั้งยังควรปลูกฝังให้ทุกคนเร่งพัฒนาตัวเองในทุกมิติ เมื่อเกิดปัญหาจะได้ไม่อับจนหนทางหรือคิดฆ่าตัวตาย  อาร์ต ฟาร์ม สวรรคโลกจึงใช้สิ่งที่มีมาประยุกต์ปรับใช้ เช่น แปรพื้นที่โรงนาเป็นสถานที่บำรุงจิตใจผ่านกิจกรรมงานศิลปะต่าง ๆ ระหว่างการสร้างสรรค์ผลงานจะสอดแทรกเรื่องสุขภาพจิตให้เยาวชนและผู้ปกครอง โดยมองว่าหากจะปลูกฝังเรื่องสุขภาพจิตควรเริ่มตั้งแต่วัยเยาว์ แม้จะเห็นผลในอีก 5-10 ปีข้างหน้า แต่รับรองว่าคุ้มค่าและไม่ต้องกังวลกับเรื่องบุคลากรไม่เพียงพออย่างในปัจจุบัน 

ส่วน “ลิ้นจี่เหมืองใหม่โมเดล” จ.สมุทรสงคราม ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน นิพนธ์ เงินคงพันธ์ ผอ. รพ.สต.บ้านคลองเหมืองใหม่  คีย์แมนสร้างสุขภาพจิตดีในพื้นที่บอกว่า ลิ้นจี่เหมืองใหม่โมเดลคือรูปแบบคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ที่ภาคีเครือข่ายดำเนินงานตั้งเป้าอยากให้ชาวบ้านมีความสุขกาย สุขใจ สุขเงิน และสุขสามัคคี โดยเป็นความสุขที่เริ่มจากทุกคนดูแลตัวเองได้ มีหลักการทำงานเป็นการบูรณาการให้ บ.ว.ร. (บ้าน วัด และหน่วยงานราชการ) ทำงานร่วมกัน  และใช้หลักปรัชญา 5 ท. คือ ทีม ทุน ทำ ทน และเทคโนโลยีขับเคลื่อนงาน โดยแบ่งหน้าที่กันชัดเจน เน้นทำงานต่อเนื่องในการสำรวจประชากรกลุ่มเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจิต พร้อมนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และจัดกระบวนการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีทางจิตใจ เช่น  นำหลักธรรมคำสอนเข้ามาช่วยบำบัด และมีการพัฒนารูปแบบดำเนินการรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิตในชุมชนในอนาคตต่อไป

รวมถึง เสมาโมเดล : ป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น ของ อบต.วังสะพุง จ.เลย ที่ ยุทธ บุญเกษ ตัวแทนจาก อบต.วังสะพุง เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของปัญหาสุขภาพจิตในพื้นที่ว่า ต้นเหตุมาการแพร่ระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด 19 เช่นกัน และทำให้คนในชุมชนประสบปัญหาในทุกมิติจนเกิดเคสฆ่าตัวตาย จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทุกภาคส่วนศึกษาปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร จากนั้นก็ได้เขียนโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาเสนอไปยัง สสส. เมื่อได้งบประมาณมาก็จัดตั้งหน่วยส่งเสริมสุขภาพชุมชนที่เน้นการเรียนรู้ร่วมกัน และถ่ายทอดความรู้ด้านสุขภาพจิตสู่ชุมชน  มีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล  และนำเครื่องมือความสุขของคนไทยไปปรับใช้ จนสามารถสร้างนักส่งเสริมสุขภาพจิตในพื้นที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพจิตให้ผู้คนในชุมชนได้สำเร็จ และยังวัดประเมินสุขภาพจิตชาวบ้านเป็นระยะ ๆ โดยเฉพะในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งเสมาโมเดลเกิดขึ้นได้เพราะภาคประชาชน ภาคเอกชน เข้ามาร่วมงานกับภาครัฐ ซึ่งมั่นใจว่าชุมชนจะสามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ขณะที่ภาพรวมของโครงการฯ ซึ่งประมวลจากการดำเนินกิจกรรมตลอดระยะเวลา 1 ปี ของทั้ง 10 ชุมชน ทั้งการประชุมเครือข่ายร่วมดำเนินงาน การเฟ้นหานักสร้างแรงบันดาลใจและอบรมพัฒนาจนกลายเป็น “นักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน” หรือ “นสช.” การลงพื้นที่สำรวจข้อมูลสุขภาพจิต คัดกรอง ประเมินกลุ่มเสี่ยงเพื่อส่งต่อรักษาได้อย่างทันท่วงที การให้ความรู้และรณรงค์เรื่องสุขภาพจิตแก่ชุมชน การคัดเลือกบุคคลต้นแบบ การสร้างสรรค์กิจกรรมตามวิถีสานความสัมพันธ์ผู้คนในพื้นที่ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย และการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการดำเนินงาน ฯลฯ ได้ก่อเกิดผลเชิงประจักษ์ใน 5 มิติ คือ 

1.กลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัยในชุมชนมีความรู้ ความตระหนัก และให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิต 

2.เกิดแกนนำส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชน  400 คน และ นสช.ที่พร้อมทำงานต่อเนื่องใน 10 พื้นที่ทั่วประเทศ ประมาณ 100 คน 

3.เกิดเครือข่ายและรูปแบบการทำงานแบบบูรณาการของชุมชนท้องถิ่น 

4.เกิดฐานข้อมูลสุขภาพจิตและบทเรียนการดำเนินงานใน 10 พื้นที่ต้นแบบระดับชุมชนท้องถิ่น 

5.เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายที่พร้อมขยายผลสู่หน่วยงานระดับพื้นที่และระดับจังหวัดใน 4 พื้นที่ เช่น อบต.วังสะพุง จ.เลย ได้บรรจุโครงการส่งเสริมสุขภาพจิตในแผนพัฒนาตำบลเรียบร้อยแล้ว 

ซึ่งทั้งหมดมาจากความร่วมมือของ “ทีมทำ” คือ นสช. และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ผนึกกำลังกับ “ทีมนำ” อย่างหน่วยบริการสุขภาพ อปท. เครือข่ายศาสนา ภาคประชาสังคม และ “ทีมหนุน” ที่เป็นเครือข่ายภายในและภายนอกพื้นที่ เช่น โรงเรียน วัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เทศบาล และ อบต.

ที่สำคัญผลเชิงประจักษ์ใน 5 มิติ ของโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนท้องถิ่นฯ ยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งมียุทธศาสตร์สำคัญคือส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิตในทุกกลุ่มวัย เสริมสร้างให้คนไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต มีทัศนคติที่ดีต่อผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช รวมถึงการผลักดันให้สังคมยอมรับและให้โอกาส

“สิ่งที่น่าสนใจของโครงการฯ นี้ คือการให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทดูแลคนในพื้นที่และกลุ่มคนเปราะบาง โดยทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านสุขภาพจิตแก่คนในชุมชนทุกช่วงวัยแบบเชิงรุก ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นใน 10 พื้นที่ต้นแบบ ยังครอบคลุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขของประเทศ คือ อปท. หน่วยบริการสุขภาพ เครือข่ายศาสนา และภาคประชาสังคม กลุ่มกลไกทางศาสนา” นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุ 
ชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า หากประชาชนมีภาวะเครียด ซึมเศร้า มีอาการประสาทหรือจิตเวชอื่น ๆ ชุมชนจะกลายเป็นจุดจัดการที่สำคัญลำดับแรก ส่งผลให้การทำงานระหว่างชุมชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เช่น ชุมชน ตำรวจ และ รพ.สต.ต้องทำงานเชื่อมโยงในการรับมือกับผู้ป่วยที่มีอาการคลุ้มคลั่งและไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เป็นต้น  ฉะนั้นบทบาทของชุมชนต้องเข้มแข็ง และเครือข่ายทำงานต้องเห็นเป้าหมายตรงกัน เวทีสานพลังที่ สสส. มสช. และกรมสุขภาพจิตจัดขึ้นครั้งนี้ โดยจะมีต่อเนื่องไปอีก 1 ปี จะเป็นพื้นที่หลอมประสานให้การทำงานระดับชุมชนมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น 
ด้าน พงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการ มสช. กล่าวทิ้งท้ายว่า  มสช.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเวทีสานพลังด้านสุขภาพจิตในวันนี้ จะกลายเป็นพื้นที่กลางให้ชุมชนทั่วประเทศไทย ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ บทเรียนการทำงาน และร่วมพัฒนาข้อเสนอแนะในการยกระดับและขยายผลการดำเนินงานของชุมชนท้องถิ่นในการส่งเสริมสุขภาพจิตคนไทยต่อไป

เวทีสานพลังส่งเสริมสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น ครั้งที่ 1 ยังได้รับเกียรติจาก พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.โรงพยาบาลศรีธัญญา เข้าร่วมในฐานะประธานในที่ประชุม และได้รับความสนใจจากภาคีเครือข่ายเข้าร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จำนวนมาก


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net