Skip to main content
sharethis

กลุ่ม #saveอโยธยา เสนอรัฐทบทวนย้ายเส้นทาง 'รถไฟความเร็วสูง' ออกนอกเขตเมืองเก่าในจังหวัดอยุธยา เนื่องจากเมืองโบราณช่วงระยะทาง 13.3 กิโลเมตร จากสถานีบ้านโพ-สถานีพระแก้วพาดผ่านพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเลียบด้านนอกเกาะเมืองอยุธยา (ทับทางรถไฟสายเดิม) ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองเก่าในศิลาจารึกว่า “อโยธยาศรีรามเทพนคร”

 

19 เม.ย. 2566 สุจิตต์ วงษ์เทศ และกลุ่ม “Save อโยธยา” รวบรวมรายชื่อประชาชนที่ต้องการเก็บรักษาประวัติศาสตร์ของชาติ เพื่อเสนอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทบทวนให้ย้ายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงออกไปนอกเขตเมืองเก่าอโยธยาศรีรามเทพนคร หลังโครงการรถไฟความเร็วสูงสุ่มเสี่ยงสร้างทับเมืองโบราณที่สำคัญ ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ทางกลุ่ม “Save อโยธยา” สนับสนุนให้มีรถไฟความเร็วสูง แต่ต้องไม่ทำลายเมืองโบราณ เนื่องจากตามที่ได้มีโครงการร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงในไทย ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2557 อันมีตรงกับปีแรกของการก้าวขึ้นสู่อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และได้ใช้กฎหมาย ม. 44 ในการดำเนินการให้เกิดความร่วมมือดังกล่าวขึ้นนั้น ส่งผลให้มีเส้นทางช่วงหนึ่งของรถไฟความเร็วสูงที่จะสร้างทับเมืองโบราณที่สำคัญในเขต จ. พระนครศรีอยุธยา

เมืองโบราณดังกล่าวคือช่วงระยะทาง 13.3 กิโลเมตร จากสถานีบ้านโพ-สถานีพระแก้ว ได้พาดผ่านพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเลียบด้านนอกเกาะเมืองอยุธยา (ทับทางรถไฟสายเดิม) อันเป็นพื้นที่เมืองเก่าที่มีชื่อเรียกในศิลาจารึกว่า อโยธยาศรีรามเทพนคร และกำลังจะเริ่มสร้างหากผ่านผลการประเมิน HIA (Heritage Impact Assessment) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 20 เม.ย. 2566 ที่กำลังจะถึงนี้

พื้นที่เมืองอโยธยา อันเป็นบริเวณที่จะก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงนั้น เป็นพื้นที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยาในทางประวัติศาสตร์-โบราณคดี เพราะเป็นพื้นที่เก่าก่อน พ.ศ. 1893 ที่พงศาวดารระบุว่า เป็นปีที่พระเจ้ารามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) หมายความว่าพื้นที่บริเวณนี้คือ รากฐานที่จะก่อให้เกิด “ความเป็นอยุธยา” เป็นพื้นที่ของคติกษัตริย์คือพระราม ซึ่งยังสืบทอดมาถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไทยเป็นอย่างมาก

การก่อสร้างที่ย่อมมีการขุดเจาะเสาเข็มและตอม่อขนาดใหญ่ รวมไปถึงแรงสั่นสะเทือนในการสร้าง และการสั่นสะเทือนจากการวิ่งของรถไฟทุกเมื่อเชื่อวันหลังจากที่สร้างเสร็จแล้ว ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อบรรดาโบราณวัตถุสถานทั้งบนดิน และใต้ดินอย่างมากมายมหาศาล

การสร้างรถไฟความเร็วสูงไปยังอยุธยาย่อมส่งเสริมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชน เศรษฐกิจในพื้นที่ และการท่องเที่ยวแน่ จึงสมควรทำเป็นอย่างยิ่ง แต่ควรสร้างให้ห่างออกไปจากเขตเมืองเก่าเพราะนอกจากเพื่อเป็นการอนุรักษ์เมืองเก่า และหลักฐานทางประวัติศาสตร์-โบราณคดีต่าง ๆ แล้ว จุดขายสำคัญของการท่องเที่ยวอยุธยานั้น ก็คือความเป็นเมืองเก่าและประวัติศาสตร์ของไทย ดังนั้น จึงไม่ควรให้การพัฒนาเมืองต้องทำลายตัวเมืองเก่าเสียเอง

ในการนี้กลุ่ม ‘Saveอโยธยา’ จึงได้รวบรวมรายชื่อประชาชนที่ต้องการเก็บรักษาประวัติศาสตร์ของชาติไว้ เพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานทบทวนให้ย้ายเส้นทางรถไฟออกไปนอกเขตเมืองเก่าอโยธยาศรีรามเทพนคร โดยจะนำรายชื่อผู้เสนอให้ทบทวนโครงการฯ เสนอต่อที่ประชุม HIA วันที่ 20 เม.ย. 2566

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net