Skip to main content
sharethis

องค์กรสิทธิจัดเวที “เลือกตั้ง 66: วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน” ให้พรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งได้เสนอนโยบายด้านสิทธิ "ไทยภักดี" ยืนยันต้องขยายม.112 คุ้มครองอดีตกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ "สามัญชน" ย้ำต้องยกเลิกม.112

องค์กรสิทธิร่วมกันจัดเวที พรรคการเมืองประชันนโยบาย ด้านสิทธิมนุษยชน (1)

20 เม.ย.2566 ที่ลานคนเมืองหน้าศาลาว่าการกรุงเทพ องค์กรสิทธิมนุษยชนร่วมกันจัดเวทีดีเบตพรรคการเมือง “เลือกตั้ง 66: วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน” ซึ่งมีพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมทั้งหมด 12 พรรคโดยแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงหลังมีตัวแทนจากพรรคไทยภักดี, พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคสามัญชน, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคเสมอภาค และพรรคเป็นธรรม

วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี กล่าวว่าสำหรับทางพรรคมองเรื่องสิทธิมนุษยชนเชื่อมโยงกับเรื่องปากท้องก็ได้วิเคราะห์เห็นปัญหาเรื่องทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองและทุนผูกขาดถ้าจัดการได้ก็เชื่อว่าจะนำไปสู่เรื่องปัญหาปากท้องประชาชนได้ เช่นการทำสาธารณูปโภคอย่างไฟฟ้าหรืออินเตอร์เนตความเร็วสูงราคาถูกได้

ทั้งนี้เขามองเรื่องประเทศไทยไม่มีสิทธิมนุษยชนเพราะถูกดำเนินคดีแล้วไม่ได้รับสิทธิประกันตัวไม่ใช่เรื่องจริงเพราะกฎหมายได้ระบุว่าทุกคนมีสิทธิได้รับการประกันตัวหากไม่ได้ประกันตัวก็เป็นไปตามเหตุผลในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาชัดเจน หรือเรื่องการชุมนุมเขามองว่าไทยมีสิทธิเสรีภาพมากจนเฟ้อ เมื่อมีการชุมนุมทำผิดกฎหมายเจ้าหน้าที่มีการฉีดน้ำกลับเป็นปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาการสื่อสารที่ผิดพลาดและไม่ตรงตามความเป็นจริง

นอกจากนั้นเขายังคิดว่ากฎหมายมาตรา 112 ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับประชาชน เพราะนักการเมืองทุจริตกับทุนผูกขาดสร้างปัญหาให้กับประชาชนมากกว่า แต่เมื่อมีคนส่วนหนึ่งกระทำโดยมีเจตนามีหลักฐานไม่ได้มีการดำเนินคดีกันโดยไม่มีเหตุผลดังนั้นที่บอกว่ามาตรา 112 ใช้รังแกประชาชนก็ไม่จริง และทางพรรคไทยภักดียืนยันว่าประเทศไทยต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป้นประมุข และขณะนี้มีขบวนการจ้องทำลายให้สถาบันเสื่อมเสีย พรรคไทยภักดีจึงประกาศชัดเจนว่าจะแก้ไขมาตรา 112 เพื่อเพิ่มความคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ใน 3 ประเด็น

ประเด็นแรก ทำให้มาตรา 112 คุ้มครองพระมหากษัตริย์ในอดีตทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี

ประเด็นที่สอง จะทำให้มาตรา 112คุ้มครองพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป

ประเด็นที่สาม ให้คุ้มครองถึงคำว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์” ด้วย

วรงค์กล่าวว่าประเด็นทั้งสามนี้เป็นจุดยืนของพรรคเพราะเชื่อว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เคยสร้างปัญหาให้กับประชาชนแต่อาจมีบางส่วนเข้าใจผิดเพราะมีการสื่อสารที่ไม่ถูกต้องมีการวิเคราะห์โครงสร้างสังคมไทยผิด เพราะสังคมไทยมีปัญหามาจากนักการเมืองทุจริตที่ร่วมกับทุนผูกขาด

ภิเศก สายชนะพัน จากพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงประเด็นปัญหากฎหมายที่ขัดขวางสิทธิเสรีภาพและการชุมนุมประท้วง ซึ่งปัจจุบันแม้จะเป็นสิทธิที่ได้รับการยอมรับอยู่ในรัฐธรรมนูญแต่ก็ยังมีข้อยกเว้นอยู่ในเรื่องที่เป็นการขัดศีลธรรมอันดีและความมั่นคงก็ไม่สามารถทำได้ แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังมีเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่เช่นเดียวกัน เพราะต้องยอมรับว่าถ้าพี่น้องประชาชนยังมีข้อเรียกร้องอยู่ก็คงจะนับไม่ได้ว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มใบแล้ว ดังนั้นรัฐจึงต้องรับฟังแก้ไขกฎหมายทั้งเรื่องของการใช้สิทธิแล้วถูกละเมิดเพราะเมื่อออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยแล้วยังมีการใช้กฎหมายบังคับจะใช้กฎหมายอาญาทั่วไปไม่ได้เพราะการเรียกร้องประชาธิปไตยถือเป็นเหตุพิเศษและเป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตยเองและเป็นสิทธิ การใช้กฎหมายที่มีโทษปรับหรือยึดทรัพย์ก็จะต้องมีการแก้ไขโดยเข้าไปดูที่องค์ประกอบความผิด เช่นเรื่องการตัดสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยข้อหาเล่นการพนันซึ่งในกฎหมายเลือกตั้งมีการตั้งคุณสมบัติเอาไว้ว่าจะต้องไม่เป็นเจ้ามือเจ้าสำนักแต่ในพ.ร.บ.การพนันกลับไม่เคยมีการระบุลักษณะของเจ้ามือไว้

ดังนั้นชาติไทยพัฒนาก็มีนโยบายว่าถ้าประชาธิปไตยมีต้นตอมาจากรัฐธรรมนูญก็ต้องเข้าสู่กระบวนการแก้ไขเหมือนกับหลายพรรคที่มองว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาแล้วส่งต่อมาที่กฎหมายลูกแล้วไม่สามารถใช้บริหารจัดการได้พรรคก็พร้อมที่จะเข้าสู่การแก้ไขโดยรับฟังเสียงจากประชาชน

วรนัยน์ วาณิชกะ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวถึงการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2563 ซึ่งมีการใช้ทั้งแก๊สน้ำตา เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง โล่กระบองกับผู้ชุมนุมประท้วงมีการจับกุมอีกร้อยกว่าคน มีการใช้กฎหมายอย่างพ.ร.บ.ความสะอาดที่ไม่ได้เกี่ยวกับการชุมนุมเพื่อกลั่นแกล้งข่มขู่ประชาชน ซึ่งแม้จะมีกฎหมายหลายเรื่องที่ต้องแก้อยู่แล้วแต่รัฐธรรมนูญก็มีระบุถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน สื่อ หรือเรื่องการชุมนุมอยู่แล้วแต่ก็ไม่ถูกเอามาใช้

วรนัยน์กล่าวว่าประเด็นจึงอยู่ที่ว่าใครเป็นผู้กุมอำนาจรัฐหรือกฎหมาย ถ้าแก้รัฐธรรมนูญให้ทุกมาตราตั้งอยู่บนหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนแต่ผู้มีอำนาจรัฐเป็นพวกอำนาจนิยมก็เอากฎหมายมากลั่นแกล้งกันอยู่ ดังนั้นวิธีแก้จึงไมใช่แค่เรื่องกฎหมาย แต่ต้องดึงอำนาจออกจากฝ่ายอำนาจนิยมแล้วเอามาให้กับประชาชน และแก้ได้ด้วยการเลือกตั้ง

กรกนก คำตา หัวหน้าพรรคสามัญชน กล่าวว่าพรรคยืนยันว่ายืนอยู่บนความขัดแย้งจนกว่าความยุติธรรมจะมาถึงประชาชนที่สูญเสียจากรัฐบาลเผด็จการหรือการรัฐประหารแล้วใช้อำนาจรัฐมาจับกุม สลายการชุมนุม การควบคุมการแสดงออกทางการเมืองต่างๆ จึงมี 2 นโยบายหลักคือ

นโยบายแรกคือ จะยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเป็นกฎหมายปกป้องสถาบันกษัตริย์ที่เป็นต้นต่อของเครื่องมือที่เอามาใช้เล่นงานผู้เห็นต่างทางการเมืองและจับกุมคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ทั้งที่พวกเขาแค่ออกมาแสดงความเห็นโดยไม่ได้ทำร้ายใครหรือทำลายทรัพย์ แต่ต้องติดคุกสูญเสียต้นทุนชีวิตเพราะถูกดำเนินคดี และเพื่อเป็นการเยียวยาให้แก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีการเมืองจะต้องมีการเพิกถอนคดีหรือนิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2557 หรือก่อนหน้านั้นเป็นต้นมาไม่ใช่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่นิรโทษให้ประชาชนทุกฝ่ายทั้งเสื้อแดง เสื้อเหลือง ก็ตามและยังต้องได้รับการชดเชย เพราะการแสดงออกทางการเมืองไม่ควรเป็นโทษแต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

นอกจากนั้นจะต้องเอาผิดรัฐที่สลายการชุมนุม ซึ่งความยุติธรรมจะต้องได้มาเมื่อผู้สั่งการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รับโทษโดยทันที โดยนับมาตั้งแต่การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อ 2553 จนถึงการสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค2022 ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องออกมารับผิดชอบทั้งหมด ถ้าไม่เกิดสิ่งนี้พรรคสามัญชนจะไม่ยอมแพ้และไม่ยอมไปร่วมกับรัฐบาลชุดไหนทั้งสิ้นจนกว่าจะได้ความยุติธรรมกลับมา

นโยบายที่สองของพรรคคือเรื่องป่าไม้และที่ดิน ที่จะต้องมีการนิรโทษกรรม 14,000 คดีที่เป็นคดีป่าไม้ทั้งหมดเพราะมีประชาชนที่ทำการเกษตรทับซ้อนอยู่บนพื้นที่ที่ประกาศอยู่ใน พ.ร.บ.ป่าไม้และพ.ร.บ.อุทยาน และให้พวกเขาได้ทำกินบนที่ดินที่พวกเขาอยู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

นาดา ไชยจิตต์ ประธานยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคทางเพศของพรรคเสมอภาค กล่าวว่าจุดยืนของพรรคเรื่องสิทธิมนุษยชนคือประชาชนเป็นผู้ทรงสิทธิ์และรัฐมีหน้าที่ปกป้อง เคารพและเติมเต็มสิทธิ์นั้นดังนั้นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนพรรคเสมอภาคไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน

นาดากล่าวว่าพรรคจะมีการยื่นกฎหมายที่ร่างไว้แล้วคือเรื่องส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะอยู่ร่วมกับป่า สิทธิที่จะได้ใช้วัฒนธรรมประเพณีที่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชน และพรรคก็มีจุดยืนเรื่องสิทธิและเสรีภาพรวมถึงการคุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงด้วย

ประธานยุทธศาสตร์ด้านสิทธิของพรรคยังกล่าวอีกว่าสถิติผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรงมีมากถึง 5,000 รายต่อปีที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลแต่มีแค่ 164 คดีใน 3 ปีที่กระบวนการเดินหน้าไปจนได้รับความยุติธรรม พรรคเสมอภาคจึงยืนยันถึงการทำเจนเดอร์โควต้าให้ผู้สมัครที่เป็นผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศให้ถึง 48% ของการสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเชื่อว่าถ้าคนกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิไปพูดความเดือดร้อนความเจ็บปวดจากโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมทางเพศ และนักปกป้องสิทธิส่วนใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีเป็นผู้หญิงที่เขาลุกมาปกป้องแผ่นดินและเรื่องนี้จะเป็นนโยบายสำคัญที่พรรคเสมอภาคจะดำเนินการ

กัณวีร์ สืบแสง รองหัวหน้าพรรคเป็นธรรม กล่าวว่าประเด็นที่ถูกเสนอกันบนวเทีจะไม่เกิดขึ้นถ้าผู้นำประเทศเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเข้าใจในเบื้องต้นเรื่องสิทธิเป็นเรื่องตามธรรมชาติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อีกทั้งถ้าผู้นำรู้ว่าต้องนำเรื่องมนุษยธรรมนำการเมืองและเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีความเป็นกลางและไม่พึ่งพิงกลุ่มทุน

รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องแรกที่จะต้องแก้ทั้งฉบับ รัฐธรรมนูญปัจจุบันที่เขียนให้สิทธิเสรีภาพไว้แต่เขียนไว้ด้วยว่าจะต้องไม่กระทบความมั่นคงแล้วจะใช้สิทธิเสรีภาพอย่างไรถ้าไม่กระทบต่อความมั่นคง เพราะสิทธิเสรีภาพเป็นสิทธิตามธรรมชาติ สิทธิมนุษยชนจะต้องมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการพูด จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

เรื่องที่สองกฎหมายมาตราต่างๆ อย่างเช่นมาตรา 113 หรือมาตรา 116 ที่จะต้องยกเลิกไป หรือกฎหมายที่จะทำให้การรวมกลุ่มกันได้ลำบากเช่นมาตรา 215 อั้งยี่ รวมถึงร่างพ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงผลกำไรถ้าออกมาได้ทุกคนจะมีปัญหาเพราะฉะนั้นก็จะต้องไม่ให้ออก

กัณวีร์ยังได้กล่าวถึงกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันในกลุ่มกฎหมายพิเศษที่ประกาศใช้ทับซ้อนกันในพื้นที่ปาตานีที่ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่จังหวัดปัตตานีแต่ยังรวมถึงพื้นที่ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งคำว่าปาตานีเป็นคำแสลงของประเด็นความมั่นคง แต่เขายืนยันว่าจะต้องพูดเรื่องของปาตานีบนเวทีนี้และประชาชนชาวปาตานียังคงมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกไม่จำเป็นต้องถูกกดทับจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือพ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน และกฎหมายทั้งสามฉบับนี้จะต้องหมดไปจากพื้นที่ปาตานี

นอกจากนั้นรองหัวหน้าพรรคเป็นธรรมยังกล่าวถึงประเด็นแรงงานในอาชีพค้าบริการทางเพศด้วยว่าทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะทำงานอะไร หรือแม้กระทั่งไรเดอร์ก็ด้วย และเราจะทำให้ทุกคนเข้าถึงสวัสดิการอย่างมีความหมายด้วย

หลังจากแต่ละพรรคได้นำเสนอนโยบายแล้วบนเวทีมีการถามต่อในเรื่องประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112 ต่อ

วรงค์ได้ตอบไปถึงเรื่องที่เขาได้เจอกับเด็กอายุ 15 ปี ที่ได้ไปชูสามนิ้วใส่ขบวนเสด็จซึ่งเขาได้คุยว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่ต้องเคารพซึ่งกันและกันแต่ไม่ควรละเมิดสิทธิของคนอื่นถ้าท่านไม่ได้รังแกเราจะไปละเมิดสิทธิไม่ได้ ซึ่งเด็กคนดังกล่าวก็ไม่สนใจแล้วพอชบวนเสด็จผ่านก็ไม่สนใจก็ได้บอกเขาว่าทำอย่างนี้ไม่ถูกเพราะไปละเมิดสิทธิคนอื่น แล้วเมื่อบอกให้เด็กไปตั้งใจเรียนเพื่อเป็นนายกฯ เด็กยังตอบอีกว่าจะเป็นประธานาธิบดี

กรกนกได้ตอบโต้สิ่งที่วรงค์ตอบว่าสิ่งที่เด็กคนดังกล่าวทำไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาทอีกทั้งการชูสามนิ้วก็ไม่ได้เป็นการทำร้ายใคร หรือมีท่าทีที่จะเป็นภัยคุกคามซึ่งเป็นเสรีภาพที่ควรมีอยู่

นอกจากนั้นกรกนกยังได้กล่าวว่าถึงนโยบายอื่นๆ ด้วยว่า เมื่อเป็นนักปกป้องสิทธิแล้วก็ต้องปกป้องสิทธิอื่นๆ นอกจากสิทธิเสรีภาพการแสดงออกด้วย เช่นสิทธิในการทำแท้งปลอดภัยเพราะแม้จะมีการแก้ไขกฎหมายแล้วแต่รัฐก็ยังไม่มีสถานบริการหรือมีแพทย์ให้บริการได้ทำให้ยังเกิดความเสี่ยงเมื่อต้องไปซื้อยาเอาเอง หรือแม้กระทั่งสิทธิในการทำงานของพนักงานบริการทางเพศ รวมถึงการยกเลิกโทษประหารชีวิตเพราะการมีชีวิตอยู่เป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์และรัฐหรือผู้ใดจะพรากไปไม่ได้ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นประชาชนฆ่ากันหรือรัฐเป็นผู้ฆ่าจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net