Skip to main content
sharethis

หน่วย 50(5) จ.พระนครศรีอยุธยา เผยเน้นการทำงานผ่านเครือข่าย พร้อมเร่งพัฒนาศักยภาพตัวแทนหน่วย 50(5) ที่นั่งเป็นกรรมการในกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นทั้ง 157 แห่งทั่วจังหวัด ให้สามารถผลักดันโครงการต่างๆ ในกองทุน รวมทั้งสามารถรับเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ได้ - สปสช.ชื่นชม รพ.ศรีสงคราม จ.นครพนม วางระบบบริการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 

 

สปสช. แจ้งข่าวเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 ว่า น.ส.ชลดา บุษเกษม ประธานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถููกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงการดำเนินงานของหน่วย 50(5) จ.พระนครศรีอยุธยา ว่าโดยภาพรวมจะเป็นการทำงานผ่านเครือข่ายใน 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือการทำงานกับเครือข่ายในพื้นที่ เครือข่ายเหล่านี้จะเข้าไปเป็นตัวแทนของหน่วย 50(5) ในกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ซึ่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา มีทั้งหมด 157 กองทุน 

น.ส.ชลดา กล่าวว่า เครือข่ายเหล่านี้ นอกจากทำหน้าที่เป็นกรรมการกองทุนแล้ว ยังจะเป็นตัวแทนของหน่วย 50(5) ในพื้นที่นั้นๆ ในการให้คำปรึกษา แนะนำสิทธิ รวมทั้งการรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ทำหน้าที่แบบเดียวกับหน่วย 50(5) ระดับจังหวัดเพียงแต่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ และหากมีข้อสงสัยที่ตอบคำถามประชาชนไม่ได้ หรือได้รับการร้องเรียนต่างๆ ก็จะประสานมาที่หน่วย 50(5) ระดับจังหวัดเพื่อดำเนินการต่อไป 

ขณะเดียวกัน ในฝั่งของผู้ให้บริการ ทางหน่วย 50(5) ระดับจังหวัด จะเน้นการทำงานร่วมกับกลุ่มงานประกันสุขภาพของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งในส่วนของกลุ่มงานประกันสุขภาพก็ได้สร้างเครือข่ายเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทข้อร้องเรียนต่างๆในทุกอำเภออยู่แล้ว ทางหน่วย 50(5) ก็จะเชิญเครือข่ายเหล่านี้มาทำงานร่วมกัน เช่น เวลามีเคสร้องเรียนต่างๆ ก็จะลงพื้นที่ไปด้วยกันเพราะร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้แล้ว หน่วย 50(5) จ.พระนครศรีอยุธยา ยังมีการจัดเวทีประชุมร่วมกับหน่วยบริการ เพื่อเป็นเวทีพบปะพูดคุยกันทุกปี 

น.ส.ชลดา กล่าวว่า การวางระบบการทำงงานในลักษณะนี้ช่วยลดข้อพิพาทระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการพอสมควร เช่น บางกรณีที่ประชาชนไม่พอใจการให้บริการแต่ไม่กล้าร้องเรียนกับหน่วยบริการโดยตรง ก็กล้าที่จะมาร้องเรียนกับเครือข่ายในพื้นที่แทน ซึ่งบางครั้งแม้ไม่ใช่การเรียกเรียน เป็นเพียงการบ่นแสดงความไม่พอใจ แต่ถ้าเข้าข่ายการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานบริการสาธารณสุข หรือไม่ได้รับความสะดวกในการรับบริการ หรือถูกเรียกเก็บเงิน ทางเครือข่ายในพื้นที่ก็สามารถส่งเรื่องเข้ามาที่หน่วย 50(5) ระดับจังหวัดเพื่อหารือว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง ในมุมกลับกัน บางครั้งการร้องเรียนที่เกิดขึ้นเกิดจากความเข้าใจผิดของผู้รับบริการ ตัวแทนหน่วย 50(5) ก็จะได้ช่วยอธิบายสร้างความเข้าใจ ซึ่งลดโอกาสที่ผู้รับบริการจะเกิดความขัดแย้งกับผู้ให้บริการได้เช่นกัน 

สำหรับทิศทางการดำเนินงานของหน่วย 50(5) จ.พระนครศรีอยุธยา ในอนาคตนั้น น.ส.ชลดา กล่าวว่า จะเน้นการขยายเครือข่ายให้มากขึ้น เพื่อให้เครือข่ายเข้ามาช่วยเป็นแขนขาในการทำงาน  

ขณะเดียวกัน หน่วย 50(5) จ.พระนครศรีอยุธยา ยังเน้นความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายที่นั่งเป็นตัวแทนหน่วย 50(5) อยู่ในกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ซึ่งตัวแทนเหล่านี้มาจากเครือข่ายที่หลากหลาย ทั้งผู้พิการ ผู้ติดเชื้อ ผู้สูงอายุ ผู้นำสตรี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สื่อมวลชน ฯลฯ ประกอบกับปีนี้เป็นปีที่กรรมการบางส่วนหมดวาระและต้องตั้งกรรมการคนใหม่ ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพ โดยเชิญตัวแทนหน่วย 50(5) จากทั้ง 157 กองทุน มาร่วมพูดคุยทำความรู้จัก เสริมพลัง สร้างเข้าใจกับบทบาทหน้าที่ในการเสนอโครงการ การกระตุ้นผลักดันโครงการต่างๆ ในกองทุน รวมถึงการอัพเดทสถานการณ์ใหม่ๆ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพในด้านการรับเรื่อง โดยได้รับความร่วมมือจาก สปสช.เขต 4 สระบุรีที่ส่งทีมงานวิทยาการมาร่วมให้ความรู้ 

สปสช.ชื่นชม รพ.ศรีสงคราม จ.นครพนม วางระบบบริการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 

22 เม.ย. 2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.กวี วีระเศษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 8 อุดรธานี และนายเสนีย์ จิตตเกษม ประธานคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพ เขต 8 อุดรธานี ลงพื้นที่โรงพยาบาลศรีสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เพื่อเยี่ยมชมระบบการจัดบริการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในพื้นที่ โดยมี นพ.วรกาล ธิปกะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสงคราม และ นายกามนิต มงคลเกตุ สาธารณสุขอำเภอศรีสงคราม พร้อมเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ  

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากบุคลากรในพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมให้กับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือสิทธิบัตรทอง ที่ต้องล้างไตผ่านช่องท้อง (CAPD) ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม(HD)  

ทพ.กวี เปิดเผยว่า จากข้อมูลพบว่าใน อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม มีประชากรทั้งสิ้น 69,716 คน และมีสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ 16% ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ในส่วนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในการดูแลของโรงพยาบาลศรีคราม จำนวนทั้งสิ้น 2,085 ราย แยกเป็นผู้ป่วยในอำเภอศรีสงคราม 1,000 ราย และนอกเขตอำเภอ 1,085 ราย ซึ่งโรงพยาบาลศรีสงคราม พร้อมด้วยภาคเอกชนให้การดูแลผู้ป่วยอยู่  

ทั้งนี้ หน่วยไตเทียมโรงพยาบาลเริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2553 มีเครื่องไตเทียมเพื่อฟอกเลือดให้กับผู้ป่วยไตวาย จำนวน 9 เครื่อง เปิดบริการวันจันทร์-วันเสาร์ รวม 2 รอบต่อวัน ระหว่างเวลา 08.00 น.ถึง 17.00 น. โดยมีบุคลากรแพทย์ และพยาบาลเชี่ยวชาญ พยาบาลที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร หลักสูตร 6 เดือนจากสถาบันที่สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยรับรอง รวมถึงผู้ช่วยเหลือคนไข้ จำนวนรวมกัน 8 คน  

นอกจากนี้ ในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม ยังมีภาคเอกชนจาก 2 องค์กรที่เข้าร่วมบริการฟอกเลือดให้กับผู้ป่วยไตวาย และประชาชนสิทธิบัตรทองก็เข้ารับบริการได้ ภายใต้ชื่อ ‘ศูนย์ไตเทียมฟ้าสั่ง’ ที่เปิดให้บริการเมื่อปี 2563 โดยมีเครื่องไตเทียม 24 เครื่อง ทำให้สามารถเปิดบริการผู้ป่วยไตวายเพิ่มเติม และยังมีบุคลากรที่พร้อมดูแลผู้ป่วยอย่างได้มาตรฐานเช่นกัน  

นพ.วรกาล กล่าวว่า โรงพยาบาลมุ่งเป้าลดผู้ป่วยรายใหม่ พร้อมกับการสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนได้มีความรู้เกี่ยวกับโรคไตวาย และสาเหตุที่เกิดโรค ซึ่งส่วนใหญ่พบว่ามาจากพฤติกรรมการกิน รวมไปถึงผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ที่มีโอกาสเสี่ยงป่วยเป็นโรคไตด้วย อย่างไรก็ตาม ในส่วนผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงคือโรคนิ่วในไต หากพบจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามค่าไตอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการคัดกรองประชาชนในพื้นที่  

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานพบว่าจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการคัดกรองโรคไตจำนวน 4,792 คน หรือคิดเป็น 73% พบผู้ป่วยไตวายระยะ 3-4 มีอาการที่ดีขึ้นถึง 65% ซึ่งการลดผู้ป่วยไตวายมาจาการการจัดกิจกรรมให้ความรู้ และเพิ่มทักษะในการดูแลตนเองเพื่อลดการเสี่ยมของไตมากขึ้น   

ขณะที่ นายเสนีย์ กล่าวว่า โรงพยาบาลศรีสงคราม วางระบบการดูแลผู้ป่วยโรคไตในคลินิกโรคไตเรื้อรังอย่างมีมาตรฐาน มีแพทย์ที่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางคลินิก หรือ CPG รวมถึงเภสัชกรที่ดูแลด้านยา และพยาบาลที่จะคอยให้คำแนะนำกับผู้ป่วยโรคไต หรือกลุ่มเสี่ยงทีจะป่วยอย่างใกล้ชิด  

“สาเหตุหลักของโรคไตในพื้นที่พบว่ามาจากการพฤติกรรมการกินอาหารของคนอีสานด้วย ที่อาจจะชอบอาหารรสจัด ซึ่งหากมีการให้องค์ความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับด้านการกินอาหาร ก็จะทำให้ลดผู้ป่วยไตลงไปได้” นายเสนีย์ กล่าว     

ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ขอชื่นชมการดำเนินงานอย่างสมบูรณ์แบบ และให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลศรีสงคราม และภาคีเครือข่าย รวมถึงภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมบริการในการดูแลและชะลอไตเสื่อม และลดผู้ป่วยรายใหม่ อีกทั้ง การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังเห็นถึงการจัดระบบบริการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในพื้นที่โรงพยาบาลศรีสงคราม ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ สปสช. คือ “เลือกฟอกไตแบบที่ใช่ได้ทุกคน” เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองตัดสินใจร่วมกับแพทย์เพื่อเลือกวิธีฟอกไตที่เหมาะสมได้ ไม่ว่าจะเป็นการล้างไตทางช่องท้อง หรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม  

“ปัจจุบันผู้ป่วยโรคไตวายเรื้องรังระยะสุดท้าย ต้องรับการรักษาด้วย 2 แบบคือ การล้างไต้ทางช่องท้อง และการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน แต่ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับตัวเองได้ร่วมกันกับแพทย์ ซึ่ง สปสช.มองว่า จะใช้วิธีไหนขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของคนไข้ ที่สามารถตัดสินใจได้เอง แต่ที่สำคัญคือต้องวางแผนร่วมกันกับแพทย์ และต้องได้รับข้อมูลการรักษาอย่างครบถ้วน” ทพ.อรรถพร กล่าว  

วันเดียวกัน คณะผู้บริหาร สปสช. ยังได้ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมบ้านผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการดูแลรักษาจากสิทธิบัตรทองรวม 2 ราย ซึ่งแต่ละรายเลือกการบำบัดที่แตกต่างกัน โดยรายแรกเป็นเพศชาย อายุ 65 ปี มีโรคประจำตัว คือเบาหวานและเกิดภาวะไตวายระยะสุดท้าย ซึ่งตัดสินใจเลือกรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง เมื่อปี 2561 โดยปฏิบัติตามคำแนะนำและขั้นตอนในการล้างไตทางช่องท้องอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ทำให้มีผิวพรรณที่ดีขึ้น และยังมีกำลังกายที่แข็งแรง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ระบุด้วยว่า การล้างไตทางช่องท้องช่วยให้เกิดการขับของเสียได้ทุกวัน แตกต่างจากการที่ต้องรับการรักษาด้วยการฟอกเลือด ซึ่งไม่สะดวกในการเดินทาง  

รายที่ 2 เป็นผู้ป่วยไตวายเพศชาย อายุ 48 ปี ตัดสินใจรับการบำบัดด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม แต่เดิมเมื่อมีอาการป่วยพบว่ามีความเครียดสูง เนื่องจากเป็นหัวหน้าครอบครัว และยังเครียดถึงภาระหนี้สิน เนื่องจากต้องเดินทางไปฟอกไตและมีค่าใช้จ่าย แต่ปัจจุบัน ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่หน่วยบริการ 3 ครั้ง/สัปดาห์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้น และสามารถเข้าถึงระบบบริการในการบำบัดทนแทนไตได้เร็วและช่วยเหลือตนเองได้  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net