Skip to main content
sharethis
  • เปิดเชิงอรรถดีเบต 'พรรณิการ์-วรงค์' จาก รายการ แฉ ปมพระบรมราชโองการ ที่ไม่มีผู้รับสนองฯ และการจัดสรรงบสถาบันสถาบันกษัตริย์
  • วรงค์บอก พระบรมราชโองการที่เป็นกิจกรรมส่วนพระองค์ไม่มีผู้รับสนอง ขณะที่ ย้อนดูอย่างน้อย 112 ฉบับ ที่ไม่มี 'ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ' มีทั้ง ตั้งปลดทหาร-ข้าราชการในพระองค์ สมณศักดิ์พระ จัดการทรัพย์สิน จนถึงการเมือง
  • เปิดหลักการ ‘ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ’ กับหลักประชาธิปไตย ไม่มีผู้ใดที่มีและใช้อำนาจทางการเมืองโดยปราศจากความรับผิดชอบ
  • การจัดสรรงบฯ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ปี 63-66 พร้อมสัญญาณความก้าวหน้าในสภาจากหน่วยรับงบฯ

จากกรณีวานนี้ (28 เม.ย.66) รายการ แฉ ทาง GMM25 สัมภาษณ์ผู้สมัครและผู้ช่วยหาเสียงของพรรคการเมืองหลายพรรค 2 ในนั้น คือ พรรณิการ์ วานิช ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล และวรงค์ เดชกิจวิกรม หรือ หมอวรงค์ หัวหน้าพรรคไทยภักดี ซึ่งช่วงหนึ่ง วรงค์ยกข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินคดีเยาวชนด้วย ม.112 หรือข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ เพื่อแสดงให้เห็นพฤติกรรมการหมิ่นประมาท

จากนั้น พรรณิการ์ นำภาพข้อมูลดังกล่าวของวรงค์มาแย้ง เริ่มจากภาพที่กลุ่มทะลุวัง ทำกิจกรรมสำรวจความเห็นประชาชน ‘ต้องการจ่ายภาษีเลี้ยงราชวงศ์หรือไม่’ โดย พรรณิการ์ อธิบายว่านี่เป็นการทำโพลเพื่อแสดงความคิดเห็น เป็นการตั้งคำถามถึงการจ่าวภาษีของประชาชน เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง ต่อกรณีที่วรงค์บอกว่าพระมหากษัตริย์ไม่รับเงินปีนั้น ต้องยืนยันว่า งบประมาณเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในความเป็นจริงนั้นเรายืนยันว่าไม่เข้า ม.112 เพราะงบประมาณส่วนนี้ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสถาบันกษัตริย์เลย เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จัดสรรให้กับหน่วยรับงบประมาณต่างๆ ซึ่งมีการแยกออกมาแล้ว และสามารถไปดูได้ในเว็บไซต์ข่าวว่างบประมาณส่วนนี้ปีหนึ่งเกือบ 40,000 ล้านบาท หมายความว่าการตั้งคำถามเรื่องการใช้เงินภาษีของประชาชนตรงนี้ย่อมเป็นสิทธิที่ประชาชนคนไทยสามารถทำได้ เหมือนเราตั้งคำถามเรื่องเหตุผลการใช้งบประมาณซื้อรถถัง เรือดำน้ำ กรณีนี้ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล

อีกประเด็นเป็นภาพการทำโพลที่กลุ่มทะลุวัง ทำสำรวจหัวข้อ “เห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามอัธยาศัย” พรรณิการ์ อธิบายว่า เรื่องนี้หลายคนอาจไม่ทราบว่ามีพระบรมราชโองการจำนวนมากที่ออกมาโดยไม่มีการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยปกติตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์จะถูกปกป้องโดยการมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ หมายความว่าไม่ว่าคำสั่งนั้นจะเป็นอะไร นายกฯ หรือผู้รับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์รับผิดชอบ มีพระบรมราชโองการจำนวนมากที่ออกประกาศใช้โดยไม่มีการเซ็นหรือลายเซ็นรับสนองพระบรมราชโองการ สามารถดูได้ตามเว็บไซต์ข่าวทั่วไป

อย่างไรก็ตาม วรงค์ แย้งว่า พระบรมราชโองการปกติแล้วมี 2 รูปแบบ แบบหนึ่งคือแบบที่เป็นทางการที่นายกฯหรือรัฐมนตรีเป็นคนลงนาม เนื่องจาก ม.6 ของรัฐธรรมนูญถือว่าพระมหากษัตริย์ได้รับการคุ้มครองไว้ ดังนั้นถ้าเป็นทางการจะต้องมีนายกฯ หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นคนลงนาม แต่ถ้าเป็นพระบรมราชโองการที่เป็นกิจกรรมส่วนพระองค์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นในเชิงสาธารณะช่วยเหลือเหลือประชาชนพระองค์ก็สามารถดูแลและช่วยเหลือประชาชนได้ก็จะมีพระบรมราชโองการที่ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ย้อนดู 112 ฉบับ ที่ไม่มี 'ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ' : ตั้งปลดทหาร-ข้าราชการในพระองค์ สมณศักดิ์พระ จัดการทรัพย์สิน จนถึงการเมือง

สำหรับประเด็นพระบรมราชโองการที่ไม่มีผู้รับสนองนั้น เป็นเฉพาะ "กิจกรรมส่วนพระองค์" ตามที่ วรงค์พูดหรือไม่ ทั้งนี้เมื่อ ก.ย.2564 ประชาไทได้รวบรวมพบอย่างน้อยช่วงเวลานั้นมี 112 ฉบับ เริ่มตั้งแต่ปี 60 ในประเด็นตั้ง/ปลดทหาร-ข้าราชการในพระองค์ พระราชทานเครื่องราชฯ ตั้งสมณศักดิ์พระ จัดการทรัพย์สินฯ โครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ สถาปนาและถอดเจ้าคุณพระฯ จนถึงจุดยืนทางการเมือง โดยเป็นประเด็นที่เป็นทางการทั้งสิ้น

นับตั้งแต่ 10 พ.ค. 60 ที่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ นำมาสู่พระราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล และอีก 9 คน ในวันที่ 6 มิ.ย.2560 ซึ่งมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ หลังจากนั้นมีอีกอย่างน้อยรวม 112 ฉบับ ถึงปัจจุบันที่ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ในประเด็นเกี่ยวกับ  แต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ โอน แต่งตั้งและปลดนายทหารสัญญาบัตร พระราชทานยศทหารและถอดยศทหาร แต่งตั้งกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พระราชทานหรือเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ตั้งสมณศักดิ์พระ พระราชทานยศเลื่อนขั้นเจ้าหน้าที่จากการเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ และดำเนินงานเกี่ยวกับโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี ด้วยหัวใจ จนถึงแสดงความเห็นกรณีทูลกระหม่อมลงแคนดิเดทนายกฯ เป็นต้น

โดยตัวบทกฎหมายที่ถูกอ้างถึงในประกาศเหล่านี้เช่น

  • มาตรา 9  ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บัญญัติไว้ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจทจะสถาปนาและถอดถอนฐานัน ดรศักดิ์และพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์"
  • มาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บัญญัติไว้ว่า "การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตําแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา"
  • มาตรา 4 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560
  • มาตรา 10 มาตรา 13 มาตรา 15 และมาตรา 18 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหาร งานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560
  • มาตรา 8 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดแต่งตั้งคณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ การการพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย รวมทั้งรายได้จากทรัพย์สินทั้งการนำไปจ่ายหรือลงทุนได้ให้ตามที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายหรือใช้สอยได้ก็แต่โดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย

รวมทั้ง มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติยศทหาร พุทธศักราช 2479 และมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 อย่างไรก็ตาม กรณีแต่งตั้งสมณศักดิ์เพราะไม่ปรากฏ การอ้างถึง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ (ฉบับ ที่ 4) พ.ศ. 2561 ที่บัญญัติแก้ไขจาก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีจะมีความที่บัญญัติถึงพระราชอำนาจที่ว่า “มาตรา 5 ตรี เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนการดูแลการปกครองคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญาและมีการรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา แก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป พระมหากษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมตามพระราชบัญญัตินี้" 

  • อ่านรายละเอียดทั้ง 112 ฉบับได้ที่ https://prachatai.com/journal/2021/09/95103 ทั้งนี้ หลัง ก.ย.2564 ที่ประชาไทรวบรวมยังมีพระบรมราชโองการที่ไม่มีผู้รับสนองออกมาเป็นระยะเช่นกัน

แม้ตัวบทเขียนว่า "เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย" ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องมีผู้ลงนามรับสนองฯ เพราะก่อนหน้านั้นพระบรมราชโองการในลักษณะเดียวกันก็ออกโดยมีผู้ลงนามรับสนองฯ เช่น นายกรัฐมนตรี เป็นต้น

ดูตัวอย่าง

เทียบการคืนยศหรือให้ปลดนายทหารสัญญาบัตร ก่อนและหลัง 10 พ.ค. 60 ที่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้

ตัวอย่างการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นกรณีพิเศษ แบบมีผู้ลงนามรับสนองกับไม่มีผู้ลงนาม

‘ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ’ กับหลักประชาธิปไตย ไม่มีผู้ใดที่มีและใช้อำนาจทางการเมืองโดยปราศจากความรับผิดชอบ

การมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการนั้น เกี่ยวกับหลักการในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีผู้ใดที่มีและใช้อำนาจทางการเมืองโดยปราศจากความรับผิดชอบ โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เขียนไว้ในบทความ "หยุด แสงอุทัย" กับหลัก "The King can do no wrong" เผนแพร่ทางประชาไท เมื่อ มิ.ย.2551 https://prachatai.com/journal/2008/06/17092 ตอนหนึ่งว่า

จากการศึกษาตำรากฎหมายของรัฐธรรมนูญของหยุด บทความ หรือคำอภิปรายต่างๆ เรายืนยันได้ว่า หยุด มีความคิดอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย คือ ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีผู้ใดที่มีและใช้อำนาจทางการเมืองโดยปราศจากความรับผิดชอบ เพื่อมิให้กษัตริย์ต้องรับผิด ตามคำกล่าวที่ว่า “The King Can Do No Wrong” จึงต้องมิให้กษัตริย์กระทำการใดๆ เว้นแต่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการซึ่งเป็นผู้กระทำอย่างแท้จริง

ดังปรากฏให้เห็น เช่น

“ในขณะนี้ปรากฏว่าได้มีการวิพาษ์วิจารณ์การกระทำของพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุมสาธารณะหรือในทางหนังสือพิมพ์อยู่บ้าง ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะตามรัฐธรรมนูญนั้น องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ฉะนั้นในทางรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์จึงทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong) แต่ทรงกระทำตามคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบแทนพระองค์” และ “องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหาหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศ โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ”(ในบทความชื่อ “อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย” อ่านออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙)(หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๑๕. หน้า ๔๖-๔๗)

เช่นเดียวกับ iLaw เขียนไว้ใน หลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong) ตามรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ เมื่อพ.ย. 2563 (ดู https://www.ilaw.or.th/node/5785) ย้ำว่า ตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อกษัตริย์ถูกคุ้มครองไม่ให้ถูกฟ้องร้องได้แล้ว การกระทำของกษัตริย์นั้นย่อมต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายด้วย และการกระทำต่างๆ ต้องมีผู้ลงนามรับสนอง และบุคคลนั้นจะเป็นผู้รับผิด ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า กษัตริย์มิได้ใช้พระราชอำนาจในทางที่ริเริ่ม (Active) แต่เป็นการใช้อำนาจแบบเชิงรับ (Passive) เช่น กษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่การแต่งตั้งนั้นมิใช่ว่าจะแต่งตั้งผู้ใดก็ได้ตามอำเภอใจ แต่ต้องเป็นผู้ที่ได้รับเลือกผ่านมติมหาชน (จากประชาชนโดยตรงหรือจากรัฐสภา) เมื่อมีผู้ทูนเกล้าเสนอรายชื่อแล้ว กษัตริย์จึงลงปรมาภิไธยเพื่อแต่งตั้งผู้นั้นเป็นนายกฯ และผู้ที่ลงนามรับสนอง คือผู้ที่ทูนเกล้ารายชื่อนั้น ก็จะต้องเป็นผู้รับผิด ซึ่งหลักเช่นนี้เองที่ทำให้กษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยมีความแตกต่างจากกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีความผันผวนทางการเมืองมาก เนื่องด้วยวงจรการรัฐประหาร ออกประกาศคณะปฏิวัติและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ทำให้ในประวัติศาสตรร์มีระยะเวลาที่อยู่ในสภาวะไร้รัฐธรรมนูญอยู่เป็นช่วงๆ จากนั้นจึงมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และประกาศใช้ ดังนี้ โฉมหน้าของ “ผู้ลงนามรับสนอง” ตามรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจึงแตกต่างกันออกไป โดยแยกพิจารณาได้สองกรณี คือกรณีทั่วไป และกรณีพิเศษ โดย ผู้รับสนองพระบรมราชโองการในกรณีปกติ จึงวนเวียนอยู่ที่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี หรือประธานสภา ส่วนกรณี “พิเศษ” ด้วยเหตุที่ประเทศไทยมีการรัฐประหารและต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อยู่บ่อยครั้ง โฉมหน้าของผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจึงเปลี่ยนแปลงไปบ้าง และในบางครั้งอาจไม่ได้เป็นผู้แทนของปวงชน ในบางกรณีคณะรัฐประหารก็อาจจะแปรสถานะอยู่ในรูปแบบอื่น และกลายเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

การจัดสรรงบฯ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ปี 63-66 พร้อมสัญญาณความก้าวหน้าในสภาจากหน่วยรับงบฯ

ส่วนประเด็นการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์นั้น ประชาไทรวบรวมตั้งแต่ปี งบประมาณ 2563-2566 ดังนี้

การเปิดประเด็นเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ รวมทั้งตรวจสอบทั้งในกรรมาธิการพิจารณางบประมาณ และสภาผู้แทนฯ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมานั้นส่งผลให้เกิดการปรับตัว โดยเมื่อ ก.ย.65 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลโพสต์ผ่านแฟนเพจของตัวเอง 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' ถึงความก้าวหน้าของการจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ ว่ารู้สึกยินดีหลังจากสมาชิกของพรรคที่อยู่ในกรรมาธิการพิจารณางบประมาณแจ้งว่าทางหน่วยงานมีความก้าวหน้าขึ้นในการชี้แจงเหตุผลในการขอรับงบประมาณทั้งในส่วนของกระบวนการและเนื้อหา แม้ว่าจะยังควรจะมีความละเอียดของแผนดำเนินงานและการแจกแจงรายจ่ายมากกว่าที่เป็นอยู่

พิธายังได้แจกแจงของความก้าวหน้าในการชี้แจงเพื่อขอรับงบประมาณในปี 66 นี้ของหน่วยราชการในพระองค์ไว้ดังนี้ ความก้าวหน้าขึ้นในส่วนกระบวนการครั้งนี้มีการปรับใน 3 เรื่องคือ

1. มีแจกเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมให้กับ กมธ. งบฯ (แม้จะมีเพียง 3 หน้า ที่เป็นข้อมูลใหม่)

2. มีวิดีทัศน์ความยาว 5 นาที เพื่อให้ข้อมูลและแจกจายรายละเอียด รวมถึงจำนวนบุคลากรในแต่ละสำนัก

3. มีการมอบหมาย เลขาฯ ครม. มาเป็นตัวแทนชี้แจงงบประมาณและตอบคำถาม กมธ.

ในส่วนของความก้าวหน้าขึ้นของเนื้อหาขึ้นพิธากล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อ กมธ. สังกัดพรรคก้าวไกล ได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับงบประมาณที่ไม่ได้ถูกตั้งโดยส่วนราชการในพระองค์ แต่สัมพันธ์หรือมีการใช้ชื่อสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไปอยู่ในชื่อโครงการ ที่มีประมาณ 27,000 ล้านบาท ซึ่งทางพรรคกังวลว่ามีความเสี่ยงจะส่งผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ต่อสถาบันฯ ได้ หาก

1. สังคมมีความเข้าใจผิดว่างบฯส่วนนี้ เป็นงบของสถาบันฯโดยตรง หรือ

2. ส.ส. ไม่ประสงค์จะตั้งคำถามหรือตรวจสอบโครงการด้วยมาตรฐานเดียวกันกับโครงการอื่น จนนำไปสู่ผลลัพธ์ที่โครงการไม่ประสบผลสำเร็จหรือมีการทุจริต ซึ่งจะทำให้ชื่อของสถาบันฯเสื่อมเสีย แม้สถาบันฯไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าวก็ตาม

พิธายังระบุอีกว่า กมธ.สังกัดพรรคก้าวไกลที่นั่งอยู่ในได้เล่าให้เขาฟังว่า เมื่อถามตรงนี้ไป เลขา ครม.ในฐานะผู้ชี้แจง ได้ตอบเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า "ขอให้หน่วยงานต่างๆ หลีกเลี่ยงคำว่า ‘เฉลิมพระเกียรติ’ ในการจัดทำโครงการ โดยเฉพาะบางหน่วยงานที่มักใช้ต่อท้ายชื่อโครงการและรายการต่างๆ"

หัวหน้าพรรคก้าวไกลแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่าเป็นสัญญาณที่สำคัญมากและหวังว่าหน่วยงานอื่นจะนำแนวปฏิบัตินี้ไปในอนาคตด้วยความตระหนักอยุ่เนมอว่าการใช้ชื่อสถาบันเพื่อห้อยท้ายชื่อโครงการของหน่วยงานตัวเองมีโอกาสที่จะส่งผลอันไม่พึงประสงค์ต่อสถาบันฯ ได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net