Skip to main content
sharethis

'ธำรงศักดิ์' เผยผลสำรวจคนต้องการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารมากถึงร้อยละ 65.93 เห็นด้วยกับการบังคับเกณฑ์ทหารเพียงร้อยละ 18.51 ชี้สอดคล้องกับคะแนนนิยมที่มีต่อพรรคฝ่ายประชาธิปไตย

30 เม.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (30 เม.ย.) เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์' ของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รายงานว่า งานวิจัยส่วนบุคคลของตน  เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคนทั้งประเทศ (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52.32 ล้านคน) จำนวน 4,588 คน ใน 57 จังหวัด เรื่อง ทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งและสังคมการเมืองไทย 2566

ผลการวิจัยพบว่า

1. ผู้ที่ต้องการให้ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารมีมากถึงร้อยละ 65.93 คือผู้ที่จะตัดสินใจเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อจากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ได้แก่ อันดับที่ 1 ก้าวไกล 36.46% อันดับที่ 2 เพื่อไทย 24.30% อันดับที่ 3 เสรีรวมไทย 1.0% อันดับที่ 4 ไทยสร้างไทย 0.70%

ผู้ที่เห็นด้วยกับต้องมีการบังคับเกณฑ์ทหารที่มีร้อยละ 18.51 คือผู้ที่จะตัดสินใจเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อจากพรรคการเมืองสืบทอดอำนาจ คสช. และอดีตพรรคร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แก่ อันดับที่ 1 รวมไทยสร้างชาติ 4.42% อันดับที่ 2 ประชาธิปัตย์ 2.76% อันดับที่ 3 ภูมิใจไทย 2.62% อันดับที่ 4 พลังประชารัฐ 2.06% อันดับที่ 5 ชาติไทยพัฒนา 0.35%

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารที่มีร้อยละ 15.56 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใดอีกร้อยละ 15.75

2. พิจารณารายภาคที่ให้ยกเลิกบังคับการเกณฑ์ทหาร ภาคกลางมีมากสุดร้อยละ 70.43 รองลงมาเป็นกรุงเทพฯ ร้อยละ 68.0 ตามด้วยภาคเหนือ (บนและล่าง) ร้อยละ 63.44 ภาคอีสาน ร้อยละ 62.72 และภาคใต้ ร้อยละ 61.63

3. พิจารณารายภาคที่ยังต้องให้มีการบังคับเกณฑ์ทหาร มีจำนวนมากที่สุดคือภาคเหนือ (บนและล่าง) ร้อยละ 22.88 รองลงมาเป็นภาคใต้ ร้อยละ 20.27 ภาคอีสาน ร้อยละ 18.96 ภาคกลาง ร้อยละ 16.84 และกรุงเทพฯ ร้อยละ 14.0

4. พิจารณารายภาคที่ไม่แสดงความเห็น ภาคอีสาน ร้อยละ 18.32 ภาคใต้ ร้อยละ 18.10 กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.0 ภาคเหนือ (บนและล่าง) ร้อยละ 13.68 ภาคกลาง ร้อยละ 12.73

5. บทวิเคราะห์ของผู้วิจัย : นโยบายของพรรคการเมืองเรื่องยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร กล่าวได้ว่าเป็นบทบาทของพรรคการเมืองที่ได้ประมวลความคิดและความต้องการที่มีอยู่ในประชาชนไทยมาอย่างยาวนาน แล้วนำมาก่อรูปขึ้นเป็นนโยบายและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหานี้ที่หมกสุมอย่างเรื้อรังมานานนับศตวรรษ ดังเป็นเรื่องที่ประชาชนพูดคุยซุบซิบกันตลอดมา หาใช่เป็นเพราะพรรคการเมืองคิดค้นนำเสนอนโยบายนี้เพื่อชี้นำต่อสังคมไทยแต่อย่างใด ด้วยความเข้าใจดังกล่าวนี้ เราจึงเห็นถึงความสอดคล้องกันในความชื่นชมของประชาชนต่อนโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหารกับคะแนนนิยมที่มีต่อพรรคการเมืองที่มีนโยบายนี้

ข้อมูลพื้นฐาน

งานวิจัยทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งและสังคมการเมืองไทย 2566 มีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 4,588 คน เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 6-17 เมษายน 2566

เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 2,439 คน (53.16%) ชาย 2,023 คน (44.09%) เพศหลากหลาย 126 คน (2.75%)

อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม Gen Z (18-26 ปี) 1,915 คน (41.74%) Gen Y (27-44 ปี) 1,016 คน (22.10%) Gen X (44-58 ปี) 1,046 คน (22.80%) Gen Baby Boomer ขึ้นไป (59 ปีขึ้นไป) 613 คน (13.36%)

การศึกษาของผู้ตอบแบบสอบถาม ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 492 คน (10.72%) มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า 971 คน (21.16%) อนุปริญญาหรือเทียบเท่า 542 คน (11.82%) ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 2,210 คน (48.17%) สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 373 คน (8.13%)

อาชีพหลักของผู้ตอบแบบสอบถาม: นักเรียนนักศึกษา 1,529 คน (33.33%) เกษตรกร 456 คน (9.94%) พนักงานเอกชน 431คน (9.39%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 471 คน (10.27%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 602 คน (13.12%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 600 คน (13.08%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 329 คน (7.17%) อื่นๆ 170 คน (3.70%)

รายได้ต่อเดือนของผู้ตอบแบบสอบถาม: ไม่มีรายได้ 939 คน (20.47%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 1,141 คน (24.87%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 1,170 คน (25.50%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 620 คน (13.51%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 302 คน (6.58%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 416 คน (9.07%)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net