Skip to main content
sharethis

สถาบันโลวี ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองจากออสเตรเลียระบุว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ เริ่มสูญเสียอิทธิพลในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่จีนเข้ามามีอิทธิพลแทน โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจและการทูต ขณะที่สหรัฐฯ ยังคงมีอิทธิพลด้านกลาโหมสูงกว่า


ที่มาภาพ: Iecs (Creative Commons Attribution 3.0 Unported)

3 พ.ค. 2566 สถาบันโลวี ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยชั้นนำของออสเตรเลียนำเสนอรายงานออกมาเมื่อเดือน เม.ย. 2566 ที่ผ่านมาระบุว่า สหรัฐฯ กำลังสูญเสียอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับจีน และความพยายามของทางการสหรัฐฯ ในการรวบรวมการสนับสนุนจากประเทศพันธมิตรและประเทศหุ้นส่วนของพวกเขาในภูมิภาคอาเซียนยังคงไม่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็ในเชิงเปรียบเทียบ

รายงานของสถาบันโลวีระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จีนมีการขยายขอบเขตอิทธิพลโดยรวมมากขึ้นในอาเซียนเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ ในปี 2561 จีนมีคะแนนอิทธิพลต่ออาเซียนนำสหรัฐฯ อยู่ที่ 52-48 คะแนน ในปี 2565 คะแนนของจีนก็เพิ่มขึ้นเป็น 54-46 คะแนน นอกจากนี้แล้วจีนก็กำลังทำการวางแนวทางเชื่อมสัมพันธ์กับพื้นที่ๆ เคยเป็นแหล่งอิทธิพลของสหรัฐฯ มาก่อนด้วย

มีประเมินเรื่องนี้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลในดัชนีอำนาจเอเชียประจำปีตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเป็นการ "ตรวจวัดทรัพยากรและอิทธิพลในการประเมินว่ารัฐต่างๆ ในเอเชียเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วมีอำนาจเท่าใด" ดัชนีนี้ตรวจวัดจากปัจจัย 4 ประเภทได้แก่ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ, เครือข่ายทางกลาโหม, อิทธิพลทางการทูต และอิทธิพลทางวัฒนธรรม โดยมีการให้คะแนนเต็ม 100 คะแนน

ซึ่งนอกจากคะแนนเฉลี่ยโดยรวมแล้วยังมีการตรวจให้คะแนนอิทธิพลของแต่ละประเทศ พบว่าในอาเซียนมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่สหรัฐฯ ยังคงมีอิทธิพลนำจีนในปี 2565 นั่นคือ ฟิลิปปินส์ กับ สิงคโปร์ แต่ก็มีคะแนนนำจีนแบบเฉียดฉิวเท่านั้นอยู่ที่ 52-48 ในกรณีฟิลิปปินส์ และ 51-49 ในกรณีของสิงคโปร์ ซึ่งลดลงจากในปี 2561 ที่มี 3 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และเวียดนาม

รายละเอียดการประเมินของสถาบันโลวีระบุอีกว่า ในปี 2565 จีนมีอิทธิพลสูงสุดในประเทศ ลาว (71-29), กัมพูชา (69-31), และพม่า (66-34) ซึ่งนับว่ามีคะแนนสูงกว่าสหรัฐฯ แบบพลิกฝ่ามือ ขณะที่ประเทศอื่นๆอย่างอินโดนีเซีย (60-40), มาเลเซีย (63-37) และเวียดนาม (53-47) จีนก็มีคะแนนนำเช่นกัน ทั้งที่เวียดนามนั้นมีการสร้างอัตลักษณ์ของชาติโดยตั้งอยู่บนการเผชิญหน้าต่อสู้กับอำนาจจีนเสมอมาในประวัติศาสตร์

สำหรับประเทศไทยนั้นทั้งสหรัฐฯ และจีนมีคะแนนอิทธิพลเท่ากันในปี 2561 (50-50) แต่ในปี 2565 ก็กลายเป็นว่าจีนก็มีคะแนนอิทธิพลในประเทศไทยนำสหรัฐฯ อยู่ที่ 53-47 คะแนน

ซูซานนาห์ แพตตัน จากสถาบันโลวีกล่าวว่าเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ในขณะที่มีการแข่งขันด้านอิทธิพลในอาเซียน แต่ดูเหมือนว่าจีนจะเริ่มกลายเป็นฝ่ายได้คะแนนนำ แพตตันกล่าวอีกว่าถึงแม้ว่าจะมีอีกหลายชาตินอกเหนือจากจีนและสหรัฐฯ ที่ทำการแข่งขันด้านอิทธิพลในอาเซียน แต่ทั้งสองชาตินี้ก็เป็นประเทศอิทธิพลที่มีความสำคัญที่สุด และทิศทางก็ดูจะไม่เป็นบวกสำหรับสหรัฐฯ

รายงานของโลวีแสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา สหรัฐฯ ก็สูญเสียอิทธิพลโดยรวมจากมาเลเซีย เนื่องจากว่าจีนมีการสร้างความร่วมมือด้านกลาโหมกับมาเลเซียมากขึ้น นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังสูญเสียอิทธิพลจากอินโดนีเซีย และบรูไน ด้วย สำหรับกรณีอินโดนีเซียนั้นจีนได้ทำการสร้างความก้าวหน้าอย่างมากในแง่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและเครือข่ายทางกลาโหมกับอินโดนีเซีย ในขณะที่สหรัฐฯ มีคะแนนด้านอิทธิพลทางการทูตต่ออินโดนีเซียมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน (44 คะแนน) แต่ก็ยังน้อยกว่าจีน (56 คะแนน)

อิทธิพลของจีนยังเห็นได้ชัดจากการแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลจากความสัมพันธ์ด้านการค้าเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ (อ้างอิงจากสถิติของรัฐบาลจีน) กับกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ในรายงานของโลวีระบุว่าจีนมีอิทธิพลด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่ออาเซียนเหนือกว่าสหรัฐฯ อยู่ที่ 70-30 คะแนน

ถ้าคิดแบบแยกแต่ละประเทศ จีนจะมีคะแนนด้านความสัมพันธ์ทางการค้าสูงกว่าสหรัฐฯ 60-40 คะแนนในเกือบทุกประเทศยกเว้นเวียดนาม (52-47) ประเทศที่จีนมีความสัมพันธ์ทางการค้าด้วยสูงที่สุดคือลาวอยู่ที่ 92-8 ส่วนบรูไนที่ 84-16

ในแง่การทูตแล้ว จีนยังคงนำสหรัฐฯ อยู่ในอาเซียน แต่ด้วยคะแนนที่สูสีกันมากกว่าอยู่ที่ 56-44 คะแนน สำหรัยเรื่องทางการทูตนี้สหรัฐฯ ทำได้ดีอยู่บ้างจากการที่มีการส่งผู้แทนระดับสูงเยือนภูมิภาคนี้หลายครั้ง และมีการแลกเปลี่ยนทางการทูตกับอาเซียน

รายงานของโลวีระบุว่า สำหรับในอาเซียนแล้ว สหรัฐฯ ยังคงมีข้อได้เปรียบอย่างมากในด้านเครือข่ายทางกลาโหม (72-28) และยังคงมีคะแนนนำอยู่ในด้านอิทธิพลทางวัฒนธรรม (52-48) ถึงแม้ว่าทั้งสองด้านนี้จะลดลงไปบ้างเมื่อเทียบกับปี 2561

ถึงแม้ว่าการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นเรื่องที่ไม่ใช่แค่เรื่องสองประเทศมหาอำนาจขั้วตรงข้ามระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเท่านั้น แต่รายงานของโลวีก็แสดงให้เห็นถึงการเปรียบเทียบขุมกำลังของสองมหาอำนาจนี้ และทำให้ประเมินกระแสในระดับกว้างๆ ได้

นอกจากนี้แล้วมันยังเป็นการเน้นย้ำมุมมองแบบเดียวกับของผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ผู้ทำงานในอาเซียน ที่มีการยอมรับว่าสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับอาเซียนไปไกลกว่าความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะมีการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้มากพอสมควรเลยก็ตาม

เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องน่าแปลกใจ ในแง่ที่ว่าจีนยังคงมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเหนือกว่าอิทธิพลทางความมั่นคงในอาเซียน เมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้คือ เรื่องนโยบาย "โควิดเป็นศูนย์" ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เรื่องการใช้ยุทธศาสตร์ทางการทูตแบบ "วูล์ฟวอริเออร์" ที่เน้นสร้างภาพให้ตัวเองเป็นฮีโร่ที่ดูดุดัน ชาตินิยม มีการแสดงออกเชิงโต้ตอบอย่างแข็งกร้าวต่อหน้าสาธารณชนต่อผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์จีน รวมถึงการเข้าหาอาเซียนมากขึ้นในยุคสมัยของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

แต่สิ่งที่เป็นจุดแข็งของจีนก็คือการเติบโตทางเศรษฐกิจและอิทธิพลทางการทูต ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นเพราะจีนมีความใกล้ชิดในเชิงภูมิศาสตร์ต่ออาเซียนและด้วยการนี้เองทำให้จีนให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้มาก่อนเป็นลำดับแรกๆ ในขณะเดียวกันมันก็อาจจะสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ มีการปฏิสัมพันธ์ในระดับโลกมากกว่าทำให้มีการวางลำดับความสำคัญในแบบที่เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ให้ความสนใจกับที่อื่นมากกว่าก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามเนื้อหารายงานของโลวีก็มีบางส่วนที่ระบุว่า อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน แม้แต่ในประเทศที่พวกเขาลงหลักปักฐานอย่างเข็มแข็งมากอย่างลาว หรือกัมพูขา ก็มีระดับอิทธิพลทางเศรษฐกิจลดลงไปบ้างเช่นกัน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าการเติบโตด้านปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจากโครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" ของจีนเริ่มลดกำลังลงบ้างแล้วอย่างน้อยก็ในตอนนี้

นอกจากนี้โลวียังวิเคราะห์ว่า ในแง่อิทธิพลทางวัฒนธรรมนั้น จีนและสหรัฐฯ มีความได้เปรียบต่างกัน สหรัฐฯ มีการส่งอิทธิพลผ่านทางสื่อของพวกเขาได้ ในขณะที่อิทธิพลจากสื่อจีนยังคงมีน้อยกว่าสหรัฐฯ ในภูมิภาคอาเซียน แต่จีนจะได้เปรียบในเรื่องที่พวกเขามีการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลกับชาวอาเซียนได้มากกว่า ซึ่งมีสะท้อนอยู่ในข้อมูลดัชนีอำนาจเอเชียที่พูดเรื่องความสัมพันธ์ผ่านคนพลัดถิ่นและการท่องเที่ยว


เรียบเรียงจาก
US Influence in Southeast Asia Waning, New Report Says, The Diplomat, 21-04-2023
Asia Power Snapshot: China and the United States in Southeast Asia, Lowy Institute, 20-04-2023

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Wolf_warrior_diplomacy

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net