Skip to main content
sharethis

ม.มหิดล สร้างโมเดลจ้างงานคนพิการเชิงสังคม เตรียมขยายผลระดับสู่นโยบายประเทศ

อนาคตของการจ้างงานคนพิการมีแนวโน้มที่ดีขึ้น นับตั้งแต่ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการ ปี พ.ศ. 2550 แต่ยังมีหลายสถานประกอบการอยู่ระหว่างการตัดสินใจที่จะเข้าสู่กระบวนการจ้างงานคนพิการ เนื่องจากยังไม่เคยมีประสบการณ์จ้างงานคนพิการมาก่อน

รองศาสตราจารย์ ดร.อาดัม นีละไพจิตร อาจารย์ประจำภาควิชาฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล นักจิตบำบัดผู้ขับเคลื่อนสังคมสู่การทำความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อการยอมรับและส่งเสริมจ้างงานคนพิการเพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคมคุณภาพ

จนสามารถคว้า “ทุนอุดหนุนโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม ประจำปีงบประมาณ 2566 ของมหาวิทยาลัยมหิดล” จากผลงานขับเคลื่อนสังคม “กลไกการพัฒนาระบบการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม” ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการ ปี พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556

มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็น “องค์กรต้นแบบ” แห่งการจ้างงานคนพิการที่มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย SDG 10 เพื่อความเท่าเทียม (Reduced Inequality) โดยได้มีการริเริ่มจ้างงานคนพิการให้เข้าทำงานในมหาวิทยาลัยมหิดลมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2550 ที่ได้มีการประกาศพ.ร.บ.

โดยกำหนดให้พนักงานมหาวิทยาลัยที่เป็นคนพิการได้มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วไป ทั้งการเลื่อนขั้นเงินเดือน สิทธิประโยชน์ และก้าวหน้าทางวิชาชีพต่างๆ ตามความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล มากกว่าพ.ร.บ.ที่กำหนดเทียบเท่าค่าตอบแทนแรงงานขั้นต่ำทั่วไป ตลอดจนปรับภูมิทัศน์เพื่อเอื้อต่อการทำงานของคนพิการมากขึ้นตามลำดับ ก่อนขยายผลสู่ชุมชนในเวลาต่อมา

โครงการนี้ได้ร่วมกับ สถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และเครือข่ายขับเคลื่อนแนวคิด “การจ้างงานคนพิการเชิงสังคม” ซึ่งคำนึงถึงความจำเป็นของคนพิการที่มีข้อจำกัดในการเดินทาง ให้สามารถทำงานในชุมชนในฐานะผู้แทนของสถานประกอบการ ซึ่งจะนำไปสู่การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการมากขึ้น

เพื่อการสร้างความเข้าใจอันดี และเสริมพลังองค์กรต่อไปในอนาคต จากโมเดลรูปแบบการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ที่ออกแบบขึ้นเพื่อจัดทำเป็นคู่มือสร้างความเข้าใจ และกลไกในการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ เตรียมพร้อมสถานประกอบการซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในการรับคนพิการเข้าทำงานมาก่อนได้ใช้เป็นแนวปฏิบัติ และจะขยายผลสู่ระดับนโยบายประเทศต่อไป

ด้วยความหวังที่จะทำให้ภาพของคนพิการในอดีตที่เคยถูกมองว่าเป็นภาระสังคม ได้เปลี่ยนแปลงสู่ภาพของ “ผู้มีพลังชีวิต” จากศักยภาพในการทำงาน ซึ่งสมควรได้รับสิทธิเท่าเทียมพลเมืองโลกทั่วไป รองศาสตราจารย์ ดร.อาดัม นีละไพจิตร มองว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกคนในสังคมจำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมปกติ และพร้อมปรับตัวเพื่อก้าวไปด้วยกัน

ในอนาคตเราอาจได้เห็น “เพื่อนผู้พิการ” เป็นกำลังสำคัญคอยช่วยเหลือผู้อื่นในวันที่อ่อนล้า หากทุกคนในสังคมพร้อมเปิดใจร่วมฟันฝ่า สังคมไทยในอุดมคติที่เปี่ยมพลังคงอยู่ไม่ไกล ไม่ว่าโลกในวันข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

ที่มา: งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, 6/5/2566

ส.อ.ท. สรุป 15 ประเด็นรายงาน WEF สำรวจ 800 บริษัททั่วโลก ชี้ อีก 5 ปีจุดเปลี่ยนแรงงาน คาด 47% ของธุรกิจทำงานโดยเครื่องจักร

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในรายงานฉบับล่าสุดของ Future of Jobs Report 2023 โดย World Economic Forum (WEF) นั้น ผู้จัดทำได้สำรวจกับกลุ่มบริษัทกว่า 800 บริษัททั่วโลก เพื่อทำการวิเคราะห์ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับตลาดแรงงาน และส่งผลกับการพัฒนาบุคลากรต่าง ๆ ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ จึงหยิบหัวเรื่องสำคัญมาสรุปแบบสั้น ๆ ดังนี้

1. เทคโนโลยีจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงธุรกิจในอีก 5 ปีต่อจากนี้

2. สิ่งแวดล้อม, เทคโนโลยีและเทรนด์เศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงสุดของการเกิดงานใหม่ เช่นเดียวกับการทำให้งานบางอย่างหมดไปจากตลาด

3. Big data, Could Computing และ AI จะเป็นเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มจะเกิดการใช้งานมากที่สุด

4. ภาพรวมของผลกระทบจากเทคโนโลยีจะทำให้เกิดผลสุทธิในเชิงบวก (Net positive)

5. ผู้ว่าจ้างคาดว่าจะมีโครงสร้างของตลาดแรงงานกว่า 23% ที่จะหายไปในอีก 5 ปีข้างหน้า

6. การทำงานแบบ Automation จะมีเพิ่มขึ้นในตลาดธุรกิจ โดยคาดว่า 47% ของธุรกิจจะเป็นการทำงานโดยเครื่องจักรภายในอีก 5 ปีข้างหน้า

7. ตลาดแรงงานที่มีการเติบโตเร็วที่สุดจะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงดิจิทัล และการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ

8. ตลาดแรงงานที่หดตัวเร็วที่สุดจะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล

9. กลุ่มงานขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะขยายตัวคืองานด้านการศึกษา เกษตรกรรม และการค้าทางดิจิทัล

10. กลุ่มงานที่คาดว่าจะหายไปมากที่สุดคืองานด้านธุรการ การรักษาความปลอดภัยแบบปกติ และงานด้านโรงงาน

11. ทักษะด้านการวิเคราะห์ (Analytical Thinking) และการคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) จะเป็นทักษะที่สำคัญมากของแรงงานในปี 2023

12. จำนวนแรงงาน 60% ของแรงงานจำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะก่อนปี 2027 แต่มีเพียง 50% เท่านั้นที่เข้าถึงการฝึกอบรมที่มีคุณภาพ

13. ทักษะที่จำเป็นและมีความสำคัญมากขึ้นไม่ได้สัมพันธ์กับแผนพัฒนาทักษะของหลายองค์กร

14. การขาดแคลนพนักงานกลุ่ม Talent จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงองค์กรในอีก 5 ปีข้างหน้า

15. การพัฒนาศักยภาพแรงงานในองค์กรจะถูกให้ความสำคัญผ่านการฝึกอบรมและการทำ on-the-job training

สำหรับผู้ที่สนใจอ่านฉบับเต็มได้ที่ https://lnkd.in/gtAb8WXh

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 5/5/2566

ไทยและกัมพูชาบรรลุข้อตกลงการจ้างแรงงาน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เข้าร่วมการประชุมระดับวิชาการกัมพูชา – ไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยเรื่องการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา มีผลประชุมที่สำคัญ อาทิ การออกเอกสารประจำตัวให้แก่แรงงานกัมพูชาในประเทศไทย แรงงานกัมพูชาสามารถเดินทางไปทำเอกสารเดินทาง ณ ศูนย์ One Stop Services ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ พระตะบอง และบันเตียเมียนเจย การปรับปรุงแก้ไขบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันเรื่องการตรวจสุขภาพในประเทศต้นทาง ต้องกำหนดโดยหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศผู้รับ โดยแรงงานจะต้องตรวจสุขภาพจากประเทศต้นทางก่อนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย

ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบและขอบคุณการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จนสามารถลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยเรื่องการจ้างแรงงาน ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการจ้างแรงงานที่มีประสิทธิภาพได้สำเร็จ เชื่อมั่นว่า จะช่วยอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนแก่แรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง ได้รับการดูแลคุ้มครองตามมาตรฐานสากล จะแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างและผู้ประกอบการ รวมไปถึงการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 5/5/2566

ก.แรงงาน จับมือเอกชน น้อมนำพระราชดำรัสพัฒนาชาวเขาเชียงราย สร้างรายได้หลักหมื่นสู่หลักแสน

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า โครงการหลวง เป็นโครงการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการส่งเสริมการประกอบอาชีพ มีรายได้ให้แก่ชาวไทยบนที่ราบสูงเพื่อเป็นการทดแทนการปลูกฝิ่น ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2512 ซึ่งมีพระราชดำริ “ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก”โดยใช้วิถีชีวิตแบบอยู่ร่วมกันเป็นหลักแหล่ง มีที่ทำกินแน่นอน และมีการรวมกลุ่มกันทำการบริหารชุมชน ตลอดถึงพื้นที่ทำการผลิตและผลผลิตของสมาชิกชุมชนอย่างยั่งยืนแบบ ซึ่งกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานมาโดยตลอดและได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาทักษะแรงงานในพื้นที่ของโครงการดังกล่าว

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานทุกระดับโดยบูรณาการร่วมทัังหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ กับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะฝีมือ ความรู้ทางวิชาการด้านเกษตรเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติร่วมกับสถาบันวิจัยฯ จัดฝึกอบรมให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ราบสูงในจังหวัดเชียงราย รวมถึงฝึกอบรมให้แก่บุคลากรของสถาบันวิจัยฯ เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดต่อแก่ประชาชนในหลักสูตรต่างๆ เช่น การจำหน่ายผลิตภัณฑ์หัตกรรมผ่านตลาดออนไลน์ การให้บริการบ้านพักและร้านอาหารในพื้นที่โครงการหลวงเพื่อสร้างความประทับใจ การต้อนรับและให้บริการการพัฒนาบุคลิกภาพเพื่อสร้างความประทับใจและภาษาอังกฤษเบื้องต้นสำหรับการสื่อสาร การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทั้งนี้ ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรเพื่อใช้ฝึกอบรมจากนี้ไปด้วย ได้แก่ หลักสูตรการปลูกพืชภายใต้ระบบโรงเรือนร่วมกับระบบ Internet of Things (IoT) สำหรับการเกษตร (Smart Greenhouse for IoT)

ความร่วมมือดังกล่าว สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างมั่นคง ยั่งยืนให้แก่ชุมชน ทั้งนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการน้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ท่านเพื่อพัฒนาชาวเขาต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรอื่นดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th เลือกหัวข้อกำหนดการฝึกอบรม หรือสอบถามโทร 1506 กด 4 อธิบดี กพร.กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนางสาวลักขณา เหียง (น้องมะปราง) อายุ 28 ปี ลูกหลานชนเผ่าบ้านปางแดงใน ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร การใช้สมาร์ทโฟนเพื่อธุรกิจออนไลน์ จากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ เมื่อปี 2562 ได้นำทักษะที่ได้จากการอบรมไปเป็นช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มหัตถกรรมย้อมสีธรรมชาติบ้านปางแดงใน จากรายได้ปีละหลักหมื่น ขณะนี้ยอดขายหลักแสน ตนภูมิใจที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ความสำคัญและไม่ทอดทิ้งตนทำให้มีรายได้มีอนาคตชีวิตมีความสุข

ที่มา: ข่าวสด, 4/5/2566

ไทยส่งแรงงานไป ตปท. ต.ค.65 – มี.ค.66 เกือบ 3 หมื่นคน ส่งเงินกลับ ปท.กว่าแสนลบ.

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พอใจต่อสถานการณ์แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยพบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65 – มี.ค.66) กรมการจัดหางาน มีการอนุญาตให้แรงงานไทย 29,395 คน เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ส่งเงินกลับประเทศผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มูลค่ารวมกว่า 120,070 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมส่งแรงงานอีกกว่า 1,400 คน ในเดือนพ.ค.66 เชื่อเป็นโอกาสแรงงานไทย พร้อมสนับสนุนศักยภาพแรงงานไทยอย่างต่อเนื่อง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศโดยภาครัฐ ใน 3 ประเทศหลัก คือ สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) อิสราเอล และญี่ปุ่น รวม 11,300 คน แบ่งเป็น เกาหลีใต้ เป้าหมาย 4,400 คน อิสราเอล เป้าหมาย 6,500 คน และญี่ปุ่น เป้าหมาย 400 คน

โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ส่งแรงงานไทยไปทำงานยัง 3 ประเทศนี้รวม 3,637 คน และในเดือน พ.ค.66 มีแผนจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ รวมทั้งหมด 1,435 คน แบ่งเป็น 3 ประเทศหลัก ได้แก่ เกาหลีใต้ 750 คน อิสราเอล 660 คน ญี่ปุ่น 20 คน และประเทศอื่น ๆ อีกประมาณ 5 คน

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพคนไทย เน้นย้ำความสำคัญของภาคแรงงาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยแรงงานไทยที่ไปทำงานยังต่างประเทศน อกจากจะส่งรายได้กลับมายังประเทศแล้ว ยังนำความรู้และเทคโนโลยีที่ได้รับจากการทำงานในต่างประเทศกลับมาพัฒนาประเทศอีกทางหนึ่งด้วย” นายอนุชา ระบุ

ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมให้แรงงานคุณภาพของไทย ไปทำงานในต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย มีสวัสดิการรองรับ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพิ่มโอกาสให้แรงงานไทยได้มีรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิต

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเคสท์, 4/5/2566

 

กรมการจัดหางานเตือนแรงงานต่างชาติหากทำผิด ม.112 มีสิทธิถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์วันแรงงาน เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา กรณีม็อบแรงงานต่างชาติเคลื่อนไหวเรียกร้อง “ปฏิรูปกษัตริย์ สร้างรัฐสวัสดิการ” นั้น กรมการจัดหางาน ขอเตือนไปยังแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยทุกเชื้อชาติ ว่า พฤติการณ์ในลักษณะดังกล่าวหากหน่วยงานด้านความมั่นคงพิจารณาแล้วเห็นว่า เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้แรงงานต่างชาติผู้นั้นจะมีใบอนุญาตทำงาน และเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง แต่เมื่อมีความผิดตามกฎหมาย กรมการจัดหางานมีสิทธิพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างชาตินั้น ตาม พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และแจ้งต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อเพิกถอนสิทธิในการอยู่ในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ต่อไปได้

นอกจากนี้หากตรวจสอบพบว่าเป็นแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำงานกับนายจ้างโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน นอกจากมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองแล้ว กรมการจัดหางานจะร้องทุกข์กล่าวโทษแก่แรงงานต่างชาติ ในความผิดฐานทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน  ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ และดำเนินคดีกับนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างชาติดังกล่าว ในความผิดฐานให้คนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

“กรมการจัดหางานตระหนักและให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างด้านเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา หรือเพศ คำว่า “คนต่างด้าว” เป็นถ้อยคำตามกฎหมาย ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  หมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งกรมการจัดหางานเอง ใช้ทั้งคำว่า “คนต่างด้าว” หรือ “คนต่างชาติ” และ “แรงงานต่างชาติ” หรือ “แรงงานข้ามชาติ” หรือแรงงานต่างด้าว ในการสื่อสารและนำเสนอข่าวมาโดยตลอด เพราะถือว่ามีความหมายและให้คุณค่าที่ไม่แตกต่างกัน” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ที่มา: กรมการจัดหางาน, 3/5/2566 

ม.มหิดลศึกษา 'มิติความเป็นมนุษย์ของผู้ย้ายถิ่น' สู่นโยบายแรงงานย้ายถิ่นโลก

ด้วยเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและการเดินทางที่ทันสมัยในปัจจุบันทำให้การเดินทางย้ายถิ่นข้ามชาติทำได้สะดวกรวดเร็วมากขี้น การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่โน้มนำให้หลายคนตัดสินใจเดินทางไปทำงานต่างแดน ซึ่งต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในฐานะแรงงานข้ามชาติและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพหุวัฒนธรรม

จึงกลายเป็นโจทย์ท้าทายในระดับโลก เมื่อสหภาพยุโรปเสนอให้ทุนวิจัยเพื่อระดมมันสมองจากนักวิจัยชั้นนำจากทั่วโลกมาศึกษาประเด็นปัญหาของแรงงานย้ายถิ่นที่จะนำไปสู่การผลักดันนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาในระดับโลกร่วมกันต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริจิต สุนันต๊ะ อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาพหุวัฒนธรรมศึกษา (นานาชาติ) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดลนับเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เมื่อเร็วๆนี้ได้สร้างชื่อเสียงจากการคว้าทุนวิจัยจากสหภาพยุโรป ทำหน้าที่ "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมศึกษาวิจัยในประเด็น "การตัดสินใจย้ายถิ่นของแรงงานเอเชียสู่ยุโรป" ร่วมกับ 13 สถาบัน/องค์กรทั่วโลก

ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีต่อการมุ่งบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) ข้อ 8 ที่ว่าด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของการจ้างงาน (Decent Work and Economic Growth) ข้อ 10 ที่ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequities) และข้อ 17 ที่ว่าด้วยการสร้างความร่วมมือสู่การบรรลุเป้าหมาย (Partnerships for the Goals)

คนไทยที่ย้ายถิ่นไปทำงานในทวีปยุโรปมีความหลากหลายแต่ปัจจุบันมีแรงงานไทยย้ายถิ่นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากปลายทางในทวีปยุโรป และจากภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทยเอง ได้แก่แรงงานเก็บผลไม้ป่าในช่วงฤดูร้อนของประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย โดยพบว่ามีแรงงานไทยบางส่วนได้รับการปฏิบัติที่ไม่ธรรม มีสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ไม่เหมาะสม และไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริจิต สุนันต๊ะ กล่าวเพิ่มเติมถึงรายละเอียดของการวางแผนทำวิจัยภายใต้ทุนระดับโลกดังกล่าวว่า เป็นการเก็บข้อมูลของแรงงานไทยในประเทศแห่งหนึ่งในยุโรป และคนไทยที่เคยไป หรือวางแผนที่จะไปทำงานในประเทศดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การสร้างนโยบายร่วมกันระหว่างประเทศ ที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาที่แรงงานย้ายถิ่นประสบอยู่

ที่ผ่านมา นโยบายด้านการย้ายถิ่นมักมาจากการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ แต่การวิจัยในครั้งนี้จะมุ่งทำความเข้าใจความคิด ความต้องการ และการตัดสินใจของแรงงานย้ายถิ่น สะท้อนมิติความเป็นมนุษย์ของผู้ย้ายถิ่นว่าเป็นผู้มีความคิดและการตรึกตรองนโยบายด้านการย้ายถิ่นจะต้องพิจารณามิติความต้องการของผู้ย้ายถิ่นด้วย

การดำเนินโครงการจะมีนักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาพหุวัฒนธรรมศึกษา (นานาชาติ) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงพื้นที่เก็บข้อมูลในครั้งนี้ด้วย จากนั้นจะนำผลการวิจัยที่ไปเผยแพร่ผ่านสู่การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับโลก ตลอดจนนำเสนอใน Innovation Lab ต่างๆ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมสู่สังคมโลกต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 3/5/2566

สสช.เปิดอัตรา ‘ว่างงาน’ ไตรมาส 1 ปี66 ตลาดแรงงานไทยฟื้นตัวชัด

2 พ.ค. 2566 ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ทำการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เพื่อติดตาม สถานการณ์แรงงานในทุกสามเดือนหรือรายไตรมาส โดยข้อมูลจากการสำรวจฯ สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันของตลาดแรงงานไทย รวมทั้งนำข้อมูลจากการสำรวจฯ มาจัดทำตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการว่างงานและตลาดแรงงานของประเทศ สถานการณ์ด้านแรงงานในไตรมาสแรกของปี 2566 จากผลการสำรวจพบว่าสถานการณ์ด้านแรงงานมีการปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งมีรายละเอียดประกอบด้วย โครงสร้างกำลังแรงงาน ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 58.8 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 40.3 ล้านคน หรือร้อยละ 68.5 และที่เหลืออยู่นอกกำ ลังแรงงานประมาณ 18.5 ล้านคน โดยผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 39.6 ล้านคน (ร้อยละ 98) และผู้ว่างงาน 4.2 แสนคน

ขณะเดียวกันสถานการณ์การมีงานทำในไตรมาส 1 ปี 2566 ตลาดแรงงานไทยฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดเจน เห็นได้จากการทำงานเต็มเวลาเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (ไตรมาส 1 ปี 2565) พบว่า จำนวนผู้ทำงานเต็มเวลา (ทำงาน 35-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนคน เช่นเดียวกันกับผู้ที่ทำงาน 50 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 7 แสนคน ในขณะที่ผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงเกือบ 1.3 แสนคน

นอกจากนี้การว่างงานลดลง สำหรับสถานการณ์การว่างงานในไตรมาสนี้ลดลงเหลือ 4.2 แสนคน หรือร้อยละ 1.1 ซึ่งกลับมาเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 สำหรับการว่างงานระยะยาว (หรือการว่างงาน ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป) พบว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น โดยการว่างงานระยะยาวในไตรมาส 1 ปี 2566 มีจำนวนลดลงกว่า 26,000 คน จากไตรมาสก่อนหน้า (จากเดิม 1.13 แสนคน เป็น 87,000 คน) และกลุ่มคนว่างงานระยะยาวที่จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาตรี มีจำนวนลดลงอย่างมากในไตรมาสนี้ จาก 45,000 คนในไตรมาสที่แล้ว เหลือเพียง 35,000 คน

อย่างไรก็ตามสถานการณ์แรงงานอีกประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ผู้เสมือนว่างงาน ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด นั่นคือ ไม่เกิน 20 ชั่วโมงสำหรับภาคเกษตรกรรม และไม่เกิน 24 ชั่วโมงสำหรับนอกภาคเกษตรกรรม ผู้เสมือนว่างงานนี้เป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากแม้จะยังมีงานทำแต่ก็มีรายได้ที่ลดลงตามชั่วโมงการทำงาน มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้ว่างงานได้ในอนาคต โดยผู้เสมือนว่างงานในไตรมาส 1 ปี 2566 นี้ มีจำนวน 3.4 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านคนจากไตรมาสก่อนหน้า (2.1 ล้านคน) แต่หากเทียบ 3 ปี ย้อนหลังของไตรมาสเดียวกัน พบว่า มีแนวโน้มที่ลดลง

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของตลาดแรงงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 คือการเติบโตของแรงงานในภาคการท่องเที่ยว หลังจากที่จีนกลับมาเปิดประเทศและมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก พบว่า ในภาคการท่องเที่ยว กิจกรรมที่พักแรม การบริการอาหารและเครื่องดื่ม หรือตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยว มีอัตราการว่างงานที่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกิจกรรมตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวที่อัตราการว่างงานลดลงเกือบ 7 เท่า จากร้อยละ 27.6 เหลือเพียงร้อยละ 4.2

ที่มา: แนวหน้า, 2/5/2566

วันแรงงาน เครือข่านแรงงานเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 712 บาท บุกทำเนียบยื่นข้อเรียกร้องอื้อ

เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวปราศรัยเผยแพร่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ว่า ขอส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีมายังผู้ใช้แรงงานทุกคน ถือเป็นบุคลากรที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศที่ต้องได้รับการดูแลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสร้างความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที ในนามของรัฐบาลขอชื่นชมทุกภาคส่วนและขอบคุณผู้ใช้แรงงานทุกคน ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของตน จนทำให้ประเทศของเราเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ สามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงท่ามกลางวิกฤตการณ์สังคมโลก

สำหรับการจัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงาน ประจำปี 2566 ของกลุ่มแรงงานต่างๆนั้น ช่วงเช้า สภาองค์การลูกจ้างกับสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และกลุ่มแรงงานนอกระบบ นำโดยนายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมด้วยการจัดขบวนถือป้ายข้อเรียกร้องต่างๆ เคลื่อนจากบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก ไปยื่นขอเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งมีการตั้งเวทีจัดกิจกรรมที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพ มหานคร มีนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เป็นผู้รับมอบข้อเรียกร้องจำนวน 7 ข้อ โดยนายชินโชติ แสงสังข์ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 กล่าวว่า มีบางข้อเป็นข้อเรียกร้องเดิมที่ยื่นมานาน อาทิ ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเรียกร้องตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน ให้กระทรวงแรงงานออกพระราชบัญญัติ หรือกฎกระทรวง ให้มีการตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง กรณีสถานประกอบการเลิกจ้าง ส่วนสิทธิตามระบบประกันสังคม เงินบำนาญชราภาพที่ให้สูงสุด 3,000 บาท ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ขอให้ปรับเพิ่มเริ่มต้นที่ 5,000 บาท และให้คงสิทธิ 3 ประการให้กับผู้ประกันตนที่เกษียณ และเข้าสู่ประกันตนเองตามมาตรา 39 ให้รักษาพยาบาลตลอดชีวิต โดยไม่ปรับเข้าสู่ระบบบัตรทอง ได้เงินชดเชยทุพพลภาพ และค่าทำศพ

นายชินโชติกล่าวว่า รัฐบาลเป็นรัฐบาลรักษาการ ข้อเรียกร้องปี 66 จึงดำเนินการตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา แต่ทันทีที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังวันที่ 14 พ.ค.เครือข่ายแรงงานจะมีการรีวิวและยื่นข้อเสนอเหล่านี้ต่อรัฐบาลใหม่โดยย้ำในข้อเรียกร้องให้รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาไอแอลโอโอฉบับที่ 87 และ 98 ส่วนเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งมีการปรับเพิ่มไปเมื่อเร็วๆนี้ และมีหลายพรรค การเมืองนำเรื่องค่าแรงขั้นต่ำมาหาเสียงอีกครั้ง ถือว่าเป็นประโยชน์ไม่คัดค้าน แต่จะเห็นว่าในการเลือกตั้งปี 62 ก็มีรัฐบาลที่เคยหาเสียงว่าจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 425 บาท แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาล กลับไม่เคยพูดถึงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาทเลย เป็นการไม่รักษาคำพูดหรือตระบัดสัตย์

ส่วนที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน และนายชาลี ลอยสูง และสหภาพแรงงานกลุ่มต่างๆ แยกเวทีจัดงานเหมือนทุกปี ได้ตั้งขบวนเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 5 ยื่นข้อเรียกร้อง อาทิ รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 712 บาทเท่ากันทั้งประเทศ กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและมีการปรับค่าจ้างทุกปี ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำรงชีพของประชาชนในราคาที่เป็นธรรม ลดราคาน้ำมัน ก๊าซ พร้อมกับการปรับโครงสร้างการกำหนดราคาใหม่ เลิกเก็บเงินที่ซ้ำซ้อนทั้งระบบภาษี และเก็บเงินเข้ากองทุนต่างๆ ทำให้ประชาชนต้องจ่ายราคาน้ำมันต่อลิตรสูงมาก ลดค่าไฟฟ้าที่ปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก จากการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าที่ผิดพลาด ทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินความต้องการ การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชน ถึงแม้ไม่ผลิตไฟฟ้าแต่ประชาชนจะต้องจ่าย ที่เรียกว่า “ค่าพร้อมจ่าย” ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก และควรจัดวางระบบการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าใหม่

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 1/5/2566

ไทยวิกฤตขาดแคลนแรงงาน หลังโควิด 52%

ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยให้เห็นว่าในช่วงเดือน ก.พ. 2566 ไทยมีจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 1,405,809 คน ลดลงถึง 52% จากก่อนช่วงโควิด-19

โดยแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทย ส่วนใหญ่ยังคงเป็นชาวเมียนมา กัมพูชา และลาว ที่ทำงานอยู่ในภาคเกษตร-ปศุสัตว์ ก่อสร้าง และบริการ เมื่อเปรียบเทียบในช่วงก่อนโควิด เดือน ธ.ค. 2562 กับช่วงหลังโควิด ในเดือน ก.พ. 2566 จะเห็นว่าแรงงานชาวกัมพูชามีอัตราลดลงมากที่สุดถึง 70.54% จาก 687,009 คน เหลือเพียง 202,364 คนเท่านั้น

ขณะที่แรงงานชาวเมียนมา ซึ่งเป็นชาติที่จำนวนแรงงานในประเทศไทยมากที่สุด เป็นอันดับ 1 มียอดแรงงานหายไปถึง 53.55% จาก 1,825,979 คน เหลือ 848,173 คน และสุดท้าย แรงงานชาวลาว ลดลง 52.42% จาก 281,345 คน เหลือ 133,859 คน มีการประเมินว่าปี 2566 ไทยจะยังคงขาดแคลนแรงงาน 350,000-500,000 คน แม้ว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายลงไปแล้ว แต่แรงงานยังไม่กลับมา

ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่กำลังส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น อย่างภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการซึ่งกำลังฟื้นตัวอย่างฉับพลันหลังโควิด ทำให้แรงงานที่ขาดแคลนอยู่แล้ว ยิ่งขาดแคลนหนักขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม พบข้อมูลที่น่าสนใจว่าตอนนี้มีแรงงานตามมาตรา 63/1 ซึ่งเป็นประเภทชนกลุ่มน้อย เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 96.05% หรือเกือบ 100,000 คน ในขณะที่การเข้ามาตามมาตราอื่น ๆ เช่น นำเข้าแบบตลอดชีพ ตาม MOU ตามการส่งเสริมการลงทุน ตามมติ ครม. 7 กุมภาพันธ์ 2566 และแบบไปกลับตามฤดูกาล กลับมีสัดส่วนลดลง ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในขณะนี้ ไม่เพียงเกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มแรงงานต่างด้าวเท่านั้น แต่ปัญหานี้ ยังลุกลามบานปลายไปถึงแรงงานวิชาชีพ แรงงานทักษะสูงอีกด้วย

โดยมีข้อมูล ผลการสำรวจความต้องการแรงงาน จากโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ปี 2565 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมยังขาดแคลนแรงงานทุกระดับ ถึง 168,992 คน แบ่งเป็นระดับปริญญาตรีขึ้นไปถึง 29,037 คน ระดับ ปวช.-ปวส. 38,079 คน ระดับ ป.6-ม.6 96,786 คน และอื่น ๆ อีก 5,090 คน

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ 5,294 คน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 5,035 คน และบริการที่มีมูลค่าสูง 4,517 คน ซึ่งคือเหล่านักวิศวกร ช่างอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และนักบริหารธุรกิจ

ย้อนกลับไปถึงสาเหตุของปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่กำลังวิกฤตในขณะนี้ เป็นผลพวงมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานต้องกลับประเทศ โดยเฉพาะแรงงานชาวเมียนมา ที่มีข้อจำกัดในการส่งแรงงานออกนอกประเทศ ทำให้มีแรงงานผิดกฎหมายทะลักเข้ามา

ขณะที่สถาบันการศึกษาในประเทศไม่สามารถผลิตบุคลากรได้ทัน หรือไม่ตรงตามที่ตลาดต้องการ ทางออกของเรื่องนี้ ไทยต้องมีแนวทางสนับสนุน และเพิ่มจำนวนแรงงานไทยให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวแบบถูกต้อง ภายใต้การ MOU กับหน่วยงานรัฐของประเทศต้นทาง ตลอดจนการอัพสกิล-รีสกิล โดยสถาบันการศึกษาสนับสนุนการสร้างบุคลากรให้ตรงตามที่ต้องการ หรือแม้แต่องค์กรภาคเอกชน หันมาตั้งสถาบัน หรือศูนย์ฝึกอบรมเอง

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า แรงงานเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างคนอย่างมากที่สุด ทางบีโอไอจึงได้ใช้กลยุทธ์ 2 ด้าน คือ build and buy ทั้งการพัฒนาบุคลากรในประเทศ และการดึงคนเก่งจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย การสร้างคน บีโอไออยากเชิญชวนให้บริษัทที่มีศักยภาพดำเนินการ ตั้งสถาบัน เช่น ปตท. ทำสถาบัน Vistec กำเนิดวิทย์ หรือ CP ทำปัญญาภิวัฒน์ โตโยต้าทำวิทยาลัยยานยนต์ IRPC มีวิทยาลัยด้านปิโตรเคมี

โดยบีโอไอมีมาตรการพร้อมสนับสนุน หากบริษัทใดมีอะคาเดมีเทรนพนักงาน สามารถมาขอใช้สิทธิบีโอไอได้ ขณะที่คลังก็มีมาตรการสนับสนุน เช่น หากบริษัทใดเทรนบุคลากรจะสามารถลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า และยิ่งถ้าเป็นการเทรนในหลักสูตรเป้าหมายจะหักได้ 2.5 เท่า

อีกด้านหนึ่ง ไทยจำเป็นต้องดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาช่วยเรา โดยได้มีการเร่ง talent pool ที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต นั่นจึงเป็นเหตุให้ได้ออก smart VISA และ long term residence VISA หรือ LTR เพื่อจะดึงคนเก่งจากทั่วโลกให้เข้ามาอยู่ในเมืองไทย

ทั้งหมดนี้ หากไทยสามารถแก้ปัญหาแรงงานได้ นอกจากจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุนแล้ว ยังทำให้ไทยได้เปรียบคู่แข่งแทบจะทุกด้านอีกด้วย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 1/5/2566

กรุงเทพโพลเผยคนใช้แรงงานขอ ปรับค่าแรง-โบนัส รายได้หดไม่มีเก็บ

เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ หรือวันแรงงานสากล วันที่ 1 พ.ค. ประจำปี 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. กรุงเทพโพลล์โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความหวังของแรงงานไทย ในวันแรงงานแห่งชาติ” เพื่อสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ในวันนี้เป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อต้องการทราบถึงผลกระทบที่ยังต้องเจอหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย รวมถึงสะท้อนถึงสิ่งที่อยากขอให้กับแรงงานในวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ และเพื่อสะท้อนถึงทักษะที่อยากให้มีการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพต่อการเข้าสู่ตลาดแรงงานสากล โดยสำรวจระหว่างวันที่ 18-23 เม.ย.2566 เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างแรงงานในพื้นที่กรุงเทพ มหานครและปริมณฑล ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 11 เขต จากทั้งหมด 50 เขต แบ่งเป็นเขตชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ได้แก่ จตุจักร ดอนเมือง ดุสิต บางเขน บางกะปิ บางซื่อ ภาษีเจริญ มีนบุรี สายไหม หนองแขม หลักสี่ และปริมณฑล 2 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) จากนั้นใช้วิธีเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบพบตัว ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 643 คน

ทั้งนี้ ในประเด็นชีวิตความเป็นอยู่ในวันนี้เป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 พบว่ากลุ่มตัวอย่างแรงงาน ร้อยละ 41.4 มีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนร้อยละ 30.9 มีชีวิตความเป็นอยู่แย่ลง ขณะที่ร้อยละ 27.7 มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ส่วนยังต้องเจอผลกระทบต่อการทำงานหรือไม่ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.9 ยังเจอผลกระทบ ในจำนวนนี้ ร้อยละ 44.5 รายได้ต่อวันลดลงจากเดิม รองลงมา ร้อยละ 31.3 ต้องทำงานเยอะขึ้น งานหนักขึ้น และร้อยละ 24.0 ไม่มีโอที เงินโบนัส ขณะที่ร้อยละ 28.1 ไม่เจอกับผลกระทบ

ส่วนประเด็น “ในปัจจุบันรายรับจากค่าจ้างแรงงานกับรายจ่ายเป็นอย่างไร” พบว่า แรงงานร้อยละ 45.7 มีรายรับพอดีกับค่าใช้จ่าย จึงไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออม ขณะที่ร้อยละ 38.6 มีรายรับไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้ ต้องหยิบยืม ส่วนที่เหลือ ร้อยละ 15.7 มีรายรับเพียงพอกับค่าใช้จ่ายและมีเงินเก็บ ขณะที่สิ่งที่อยากขอให้กับแรงงาน ในวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 73.9 อยากให้ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคพื้นฐานไม่ให้ขึ้นราคา กระทบค่าครองชีพ รองลงมาคือ อยากให้เร่งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คิดเป็นร้อยละ 72.2 และอยากให้มีสวัสดิการโบนัสแก่แรงงานในทุกๆปี คิดเป็นร้อยละ 52.7

ประเด็นสุดท้าย อยากให้มีการพัฒนาทักษะในด้านใด เพื่อเพิ่มศักยภาพต่อการเข้าสู่ตลาดแรงงานสากล พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 63.6 อยากให้พัฒนาทักษะในการปรับตัวและเปิดรับในการเรียนรู้สิ่งใหม่ รองลงมาคือ ทักษะทางภาษา คิดเป็น ร้อยละ 44.6 และทักษะในการสื่อสารทางการตลาด คิดเป็นร้อยละ 27.1

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 30/4/2566

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net