Skip to main content
sharethis

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการเผยผลสำรวจคนหนุนเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัด 65.39% ขณะที่ไม่เห็นด้วย 15.52% ชี้สอดคล้องกับคะแนนนิยมพรรคฝ่ายประชาธิปไตย

6 พ.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์' ของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รายงานว่า งานวิจัยส่วนบุคคลของตน เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคนทั้งประเทศ (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52.32 ล้านคน) จำนวน 4,588 คน ใน 57 จังหวัด เรื่อง ทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งและสังคมการเมืองไทย 2566

ผลการวิจัยพบว่า

1. ผู้ที่เห็นควรต้องมีเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดทุกจังหวัด มีมากถึงร้อยละ 65.39 คือผู้ที่จะตัดสินใจเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อจากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ได้แก่ อันดับที่ 1 ก้าวไกล 36.46% อันดับที่ 2 เพื่อไทย 24.30% อันดับที่ 3 เสรีรวมไทย 1.0% อันดับที่ 4 ไทยสร้างไทย 0.70%

ผู้ที่เห็นว่ายังไม่ควรต้องมีเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดทุกจังหวัด มีร้อยละ 15.52 คือผู้ที่จะตัดสินใจเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อจากพรรคการเมืองสืบทอดอำนาจ คสช. และอดีตพรรคร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แก่ อันดับที่ 1 รวมไทยสร้างชาติ 4.42% อันดับที่ 2 ประชาธิปัตย์ 2.76% อันดับที่ 3 ภูมิใจไทย 2.62% อันดับที่ 4 พลังประชารัฐ 2.06% อันดับที่ 5 ชาติไทยพัฒนา 0.35%

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่แสดงความเห็นเกี่ยวกับเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดทุกจังหวัด ที่มีร้อยละ 19.09 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใดและไม่แสดงความเห็นอีกร้อยละ 22.07

2. พิจารณารายภาคที่ปรารถนาให้ต้องมีเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดทุกจังหวัด กรุงเทพฯ มีมากสุดร้อยละ 77.10 รองลงมาเป็นภาคกลาง ร้อยละ 65.84 ตามด้วยภาคอีสาน ร้อยละ 65.20 ภาคใต้ ร้อยละ 63.67 ภาคเหนือ (บนและล่าง) ร้อยละ 60.74

กรณีภาคใต้ ในส่วนสิบจังหวัดภาคใต้ ปรารถนาให้ต้องมีเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัด ร้อยละ 60.90 ส่วนสี่จังหวัดชายแดนใต้ มีระดับสูงกว่า คือ ร้อยละ 67.50

กรณีภาคเหนือ ในส่วนจังหวัดภาคเหนือตอนบน ปรารถนาให้ต้องมีเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัด ร้อยละ 63.90 ส่วนภาคเหนือตอนล่าง มีระดับน้อยกว่า คือ ร้อยละ 59.60

3. พิจารณารายภาคที่เห็นว่ายังไม่ควรต้องมีเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดทุกจังหวัด มีจำนวนมากที่สุดคือภาคเหนือ (บนและล่าง) ร้อยละ 20.99 รองลงมาเป็นภาคอีสาน ร้อยละ 18.74 ภาคใต้ ร้อยละ 16.81 ภาคกลาง ร้อยละ 13.86 และกรุงเทพฯ ร้อยละ 5.6

4. พิจารณารายภาคที่ไม่แสดงความเห็น ภาคกลาง ร้อยละ 20.30 ภาคใต้ ร้อยละ 19.52 ภาคเหนือ (บนและล่าง) ร้อยละ 18.27 กรุงเทพฯ ร้อยละ 17.30 ภาคอีสาน ร้อยละ 16.06

5. บทวิเคราะห์ของผู้วิจัย : หลังการต่อสู้ของประชาชนที่ได้ชัยชนะในคราวพฤษภา 2535 ทำให้ประชาธิปไตยกลับมาเฟื่องฟูพร้อมกับการกระจายอำนาจอย่างกว้างขวางลงไปถึงระดับตำบล และถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อให้เกิดการเลือกตั้งนายกฝ่ายบริหารท้องถิ่นโดยตรง ตั้งแต่ นายก อบต. นายกเทศมนตรี นายก อบจ. นายกเมืองพัทยา ผู้ว่า (นายก) กรุงเทพ และนายกรัฐมนตรี

แต่รัฐประหาร 2549 ทำให้ฝ่ายรัฐทหารยื้อยุดพัฒนาการของการเมืองท้องถิ่นให้เปลี่ยนแปลงอย่างเชื่องช้า ฝ่ายภาคประชาชนเริ่มผลักดันกฎหมายจังหวัดปกครองตนเองหรือจังหวัดจัดการตนเอง โดยให้มีการยกเลิกผู้ว่าจังหวัดแต่งตั้งจากส่วนกลางโดยอำนาจกระทรวงมหาดไทย แล้วให้มีเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดโดยตรงจากประชาชนตั้งแต่ปี 2555 แต่ก็ถูกหยุดชะงักอย่างสิ้นเชิงเมื่อเกิดรัฐประหาร คสช. 2557 โดยการแช่แข็งท้องถิ่นทุกแบบให้อยู่ใต้อำนาจข้าราชการประจำ ทั้งผู้ว่าจังหวัด นายอำเภอ และทหารเป็นต้นมา ทำให้ท้องถิ่นได้กลายเป็นเพียงแขนขากลไกอีกส่วนหนึ่งของรัฐบาลทหารส่วนกลางเท่านั้น

ทว่าเมื่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไม่อาจจะหยุดยั้งการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับได้ แต่ก็ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นแบบไม่พร้อมกันและได้แก้ไขกฎหมายบางอย่าง เพื่อสกัดกั้นพลังประชาธิปไตยของท้องถิ่น ทว่า เมื่อถึงกรณีเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ เมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2565 ชัยชนะอย่างถล่มทลายของผู้ว่าชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่แสดงให้เห็นถึงสปิริตนักการเมืองแบบใหม่ แสงแห่งความหวังของชีวิตคนเมืองแบบใหม่ รวมทั้งทีมงานอาสาสมัครจำนวนมาก ตลอดจนวิถีปฏิบัติในการบริหารงานกรุงเทพฯที่มีสีสันและระดมคนเข้าร่วมกิจกรรมในด้านต่างๆ ตลอดปีที่ผ่านมา ที่ทำให้เมืองกรุงเทพฯ ทั้งแกนกลางและรากฝอย กลับฟื้นมามีชีวิตชีวาหลังจากเงียบเหงาทางเศรษฐกิจสังคมมานานแปดปี กลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความหมายและความสำคัญของผู้ว่าจังหวัดเลือกตั้งอย่างไม่เคยมีมาก่อน

แม้ว่าก่อนหน้านั้น พรรคการเมืองบางพรรคจะได้นำเสนอนโยบายหยุดรัฐรวมศูนย์ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รวมทั้งรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดการปกครองท้องถิ่นอย่างจริงจังมาแล้วก็ตาม ปัจจัยมหัศจรรย์ของผู้ว่าชัชชาติดังกล่าวทำให้สิ่งที่ประชาชนไม่เคยคิดเคยเชื่อมาตลอดว่าผู้ว่าจังหวัดเลือกตั้งนั้นจะเป็นไปได้ กลับทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในนโยบายนี้ของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยสูงมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อที่จะหยุดระบบอำนาจรัฐรวมศูนย์ อำนาจรัฐประหาร กระจายความมั่งคั่งสู่ท้องถิ่น โดยอำนาจของคนทุกจังหวัด เพื่อประชาชนทุกจังหวัด

ดังนั้น คะแนนนิยมของประชาชนในพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจึงสอดรับกับผลโพลทัศนคติของประชาชนเรื่องต้องให้มีเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดทุกจังหวัด

ข้อมูลพื้นฐาน : 

งานวิจัยทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งและสังคมการเมืองไทย 2566 มีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 4,588 คน เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 6-17 เมษายน 2566

เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 2,439 คน (53.16%) ชาย 2,023 คน (44.09%) เพศหลากหลาย 126 คน (2.75%)

อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม Gen Z (18-26 ปี) 1,915 คน (41.74%) Gen Y (27-44 ปี) 1,016 คน (22.10%) Gen X (44-58 ปี) 1,046 คน (22.80%) Gen Baby Boomer ขึ้นไป (59 ปีขึ้นไป) 613 คน (13.36%)

การศึกษาของผู้ตอบแบบสอบถาม ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 492 คน (10.72%) มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า 971 คน (21.16%) อนุปริญญาหรือเทียบเท่า 542 คน (11.82%) ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 2,210 คน (48.17%) สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 373 คน (8.13%)

อาชีพหลักของผู้ตอบแบบสอบถาม: นักเรียนนักศึกษา 1,529 คน (33.33%) เกษตรกร 456 คน (9.94%) พนักงานเอกชน 431คน (9.39%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 471 คน (10.27%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 602 คน (13.12%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 600 คน (13.08%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 329 คน (7.17%) อื่นๆ 170 คน (3.70%)

รายได้ต่อเดือนของผู้ตอบแบบสอบถาม: ไม่มีรายได้ 939 คน (20.47%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 1,141 คน (24.87%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 1,170 คน (25.50%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 620 คน (13.51%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 302 คน (6.58%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 416 คน (9.07%)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net