Skip to main content
sharethis

หอการค้าฯ จับเข่าคุยพิธา เคลียร์ปมเศรษฐกิจหวังตั้งรัฐบาลใหม่ราบรื่น ระบุเห็นด้วยที่จะมีการขึ้นค่าแรงอยู่ในระดับที่เหมาะสมตามแต่ละพื้นที่และควรเพิ่ม Productivity ของแรงงานควบคู่ไปพร้อมกันและรอบด้าน ด้าน 'พิธา' ชู 3F ปรับทิศทางเศรษฐกิจสู่อนาคต มุ่งส่งเสริม SME ให้เศรษฐกิจไทยแกร่งจากฐาน 

 

31 พ.ค.2566 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Thai Chamber' รายงานว่า วันนี้ (31 พ.ค.) สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังจากการหารือกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้บริหารพรรค ว่าภาคเอกชนมีความยินดีที่การเลือกตั้งที่ผ่านมาประชาชนเกิดการตื่นตัวและออกมาใช้สิทธิ์จำนวนมาก ขณะเดียวกันเองผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของประชาชนที่อยากให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงและเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ต้องขอแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกลที่ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 ของการเลือกตั้งในครั้งนี้

ประธานกรรมการหอการค้าไทยฯ ระบุด้วยว่า โดยที่ผ่านหอการค้าไทยให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้านโยบายเศรษฐกิจของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะ MOU 23 ข้อ 5 แนวทาง ของพรรคร่วม รวมถึงมติของ 8 พรรคร่วมที่ได้จัดตั้งคณะทำงานประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านใน 7 ด้าน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของหอการค้าฯ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้แนวทาง 1) Connect หอการค้าฯ พร้อมประสานการทำงานกับทุกรัฐบาลอย่างใกล้ชิด 2) Competitive นโยบายหลายข้อของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ตรงกับหอการค้าฯ โดยเฉพาะเรื่อง Ease of Doing Business การปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบที่ล้าสมัย การส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้ไปยังทุกจังหวัด และ 3) Sustainable ซึ่งหลายประเด็นมีนโยบายที่สามารถร่วมกันผลักดันได้ทั้ง ปัญหา PM 2.5 ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงนโยบายสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ

สำหรับประเด็นหารือที่เป็นไฮไลท์สำคัญในครั้งนี้ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า มีการพูดคุยถึงแนวนโยบายของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่

และทำความเข้าใจกัน 3 ประเด็นเร่งด่วน คือ 1) ขอให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้การจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณมีความต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะแนวทางการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ที่หอการค้าฯ เห็นด้วยที่จะนำเอารูปแบบดังกล่าวมาใช้กับการจัดทำงบประมาณของประเทศ แต่มีข้อกังวลเรื่องกรอบระยะเวลาการจัดทำงบประมาณว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันทีหรือไม่ เพราะรูปแบบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการทำงานของภาครัฐในทุกหน่วยงานและใช้ระยะเวลามาก จึงฝากให้มีการจัดเตรียมแผนต่าง ๆ ให้รอบคอบ เพื่อให้การใช้งบประมาณของประเทศในการขับเคลื่อนมิติต่าง ๆ มีความต่อเนื่อง 2) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วย Ease of Doing Business และ Ease of Investment โดยปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง regulatory guillotine ที่มีภาครัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพราะที่ผ่านมาไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ เพียงการปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความทันสมัยและสะดวกขึ้น จะช่วยดึงดูดการลงทุนได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้ยังได้หารือในประเด็นนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคก้าวไกลได้เสนอเป็นนโยบายหลักไว้ 450 บาทต่อวัน หอการค้าฯ เห็นด้วยที่จะมีการขึ้นค่าแรงอยู่ในระดับที่เหมาะสมตามแต่ละพื้นที่และควรเพิ่ม Productivity ของแรงงานควบคู่ไปพร้อมกัน ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ควรมีการตัดสินใจอย่างรอบด้านร่วมกันก่อน ทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในฐานะนายจ้าง และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์บนพื้นฐานของกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันมีกลไกคณะกรรมการไตรภาคีฯ แต่ละจังหวัดในการพิจารณาและเสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ หากมีการขึ้นค่าแรงอย่างทันทีจะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจพึ่งฟื้นตัวและยังมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจอีกหลายด้าน หากผู้ประกอบการมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นบางส่วนอาจจะรับไม่ไหว ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการชะลอการจ้างงาน ปรับลดจำนวนพนักงาน หรือแม้แต่ภาคภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากอาจพิจารณาย้ายฐานการผลิต รวมถึงนักลงทุนใหม่ที่หวังจะเข้ามาคงมีการปรับแผนลงทุนไปประเทศอื่นแทน ซึ่งส่วนนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างหากไม่สร้างความชัดเจน ดังนั้น การจะปรับขึ้นค่าแรงจึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันหลายส่วนและหวังว่าจะมีการทบทวนเพื่อให้เกิดรูปแบบที่ทุกภาคส่วนยอมรับได้ นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับแนวทางการปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่กระทบค่าครองชีพประชาชน และต้นทุนผู้ประกอบการทั่วประเทศ 3) เสริมสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการ และ SMEs หอการค้าฯ ได้เสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณานโยบายที่ช่วยเอื้อและสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน Soft Loan ได้ง่ายขึ้น ทั้งการปรับกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง มาตรการพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว เพราะ SMEs ถือเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศและยังเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดที่รัฐต้องเข้ามาสร้างความเข้มแข็ง

ขณะที่ พิธา กล่าวถึงการเข้าร่วมหารือกับหอการค้าฯ ในวันนี้ว่าตนมี 3 วาระหลัก ในการมานำเสนอและหารือกับหอการค้าฯ คือ 1) ความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้แนวทาง 23 ข้อหลัก ใน MOU ของพรรคร่วม และการเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลชุดใหม่ของคณะทำงาน 7 ด้าน ซึ่งจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของนโยบายต่าง ๆ ของพรรคที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน เพราะทั้งงบประมาณและเวลามีจำกัด 2) มุมมองเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ มองว่าเป้าหมายเศรษฐกิจประเทศไทยในอีก 4 ปีข้างหน้า จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและไม่มีความเหลื่อมล้ำ ในระยะสั้นเศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตช้า ดังนั้นจะต้องหาทางให้ประเทศไทยสามารถเติบโตต่อไปได้โดยไม่พึ่งพาเศรษฐกิจโลกมากจนเกินไป รวมถึงธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ Power electronics จาก Silicon Carbide และเรื่องการพัฒนาด้านดิจิทัล เป็นต้น 3) นโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างเป็นธรรม ผ่านโครงสร้างพื้นฐานให้เข้มแข็งโดยการทำ Ease of Doing Business และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมทั้งการยกเครื่องกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ การจัดสรรและใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพและกระจายอำนาจท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งนโยบายทั้งหมดจะต้องหา Scenario ร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยดึงเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยเฉพาะเรื่องการปรับแก้กฎหมายที่ล้าสมัย

สนั่น กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าภาคเอกชนไทยมีความเข้มแข็งและปรับตัวอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าจะเจอกับหลายวิกฤตทางเศรษฐกิจ วันนี้สิ่งที่เราพูดคุยกับพรรคก้าวไกล เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนและผู้ประกอบการอยากเห็นภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก บนเวทีการแข่งขันหน้าที่ของเอกชนก็พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ การพูดคุยในวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่รัฐและเอกชนจะได้ปรึกษาหาทางออกร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนและเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

พิธา ชู 3F ปรับทิศทางเศรษฐกิจสู่อนาคต มุ่งส่งเสริม SME ให้เศรษฐกิจไทยแกร่งจากฐาน 

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนเพิ่มเติมด้วยว่า พิธากล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบันเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ไม่ว่าพิจารณาจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยหรือรายได้ต่อหัว ดังนั้น เป้าหมายของพรรคก้าวไกลในการบริหารเศรษฐกิจ คือทำให้ในอีก 4 ปีข้างหน้า ไทยอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ยโลก มีเศรษฐกิจที่เติบโตควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำ

เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาเน้นการส่งออก พึ่งพาเศรษฐกิจโลกมากเกินไป เมื่อวันนี้สถานการณ์โลกเปลี่ยนไป เช่น วิกฤติโควิด หรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้หลายประเทศเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ แต่เมื่อดู SME ซึ่งถือเป็นรากฐานของเศรษฐกิจ จะเห็นว่า SME ไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่าช่วงก่อนโควิด จากช่วงก่อนโควิดปี 2562 สัดส่วนของ SME ต่อ GDP อยู่ที่ 35.3% ในปี 2565 ยังอยู่ที่ 34.9% แม้ตัวเลขดูไม่มาก แต่มูลค่าที่หายไปนั้นมหาศาล

พิธากล่าวว่า ดังนั้น ยุทธศาสตร์ในการตอบสนองต่อสภาพเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก หลังช่วงโควิด คือ 3F ประกอบด้วย Fast-Forward Growth เสริมเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ คือไฮเทค เช่น อุตสาหกรรมชิป และไฮทัช เช่น content economy, Fair game สร้างกติกาและกลไกภาครัฐเพื่อเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ด้วยการทลายทุนผูกขาด เช่น สุราก้าวหน้า และกระจายอำนาจ, Firm Ground วางรากฐานเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง ด้วยการส่งเสริมความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เช่น ลดใบอนุญาตลง 50% ขยายพื้นที่ชลประทานและประปาคุณภาพ และพัฒนาทุนมนุษย์ เช่น คูปองเรียนเสริมทักษะ เรียนฟรีอาชีวะถึง ปวส. รวมถึงอาจมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดึงดูด Digital Nomad เข้ามาในสาขาที่ประเทศไทยยังขาดแคลน เช่น data scientist

ส่วนนโยบายเพื่อส่งเสริม SME คือ 5ต ประกอบด้วย 1) แต้มต่อ เช่น หวยใบเสร็จ 2) เติมทุน เช่น ทุนสร้างตัว รายละ 100,000 บาท 3) ตัด cost เช่น SME นำค่าแรงขั้นต่ำหักภาษีได้ 2 เท่าเป็นเวลา 2 ปี 4) เติมตลาด เช่น กำหนดชั้นวางสินค้า SME ในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และ 5) ตั้งสภา SME ให้มีอำนาจต่อรองเทียบเท่าทุนใหญ่

เสร็จจากวงประชุมหารือ สภาหอการค้าไทยฯ และทีมพรรคก้าวไกลได้ถ่ายภาพร่วมกัน โดยสนั่นกล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นการพบปะที่สร้างสรรค์ ทำให้รู้สึกสบายใจ เห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลมีความชัดเจนและจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน จากการหารือพบว่าเห็นตรงกันหลายเรื่อง เช่น การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ การสร้างความยั่งยืน โดยหลังจากนี้จะมีการประสานงานพูดคุยกันต่อไป ส่วนความกังวลของบางฝ่ายเกี่ยวกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นนั้น ตนเห็นว่าเรื่องเงินเฟ้อ ค่าไฟคือตัวร้ายที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net