Skip to main content
sharethis

'นรเศรษฐ์ นาหนองตูม' หนึ่งในทนายความของ 'ชลธิชา แจ้งเร็ว' คดี ม.112 แจงกรณีศาลกำหนดวันนัดใหม่ ย้ำทนายความทั้ง 2 คน ไม่ว่างเพราะนัดพิจารณาคดีที่ศาลอื่นซึ่งได้นัดหมายไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว ก่อนศาลจะมีคำสั่งให้สืบพยานใหม่ แต่ศาลก็ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี

5 มิ.ย. 2566 สืบเนื่องจากกรณีที่นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม  เปิดเผยถึงกรณี  น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล จ.ปทุมธานี  ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เพื่อให้ตรวจสอบวินัยผู้พิพากษาศาลอาญา ที่เร่งรัดคดีอาญา มาตรา 112 ที่ น.ส.ชลธิชา   ตกเป็นจำเลย โดยมีการเลื่อนนัดสืบพยานให้เร็วขึ้น จนไม่มีทนายความจำเลย ร่วมฟังการสืบพยานโจทก์ ว่า คดีนี้ แต่เดิม มีการกำหนดนัดสืบพยานไว้เป็นช่วงเดือนมี.ค. 2567  แต่ตอนหลังมีเรื่องของการกำหนดกรอบ ระยะเวลาในกระบวนการยุติธรรม โดยมีระเบียบของประธานศาลฎีกา ออกมาว่า คดีประเภทคดีอาญาสามัญ ควรจะพิจารณาคดีแล้วเสร็จตั้งแต่วันรับฟ้อง ซึ่งศาลอาญา เห็นว่า ระยะเวลา ที่มีการนัดสืบพยานในช่วงเดือนมี.ค. 2567  น่าจะเป็นระยะเวลาที่ยาวเกินไป  เลยกรอบไปนาน  จึงมีการปรับปรุงวันนัดใหม่ ให้กระชั้นขึ้น  หรือเร็วขึ้น เพื่อไม่ให้เกินกรอบ ระยะเวลานานเกินไป 

โดยเมื่อกำหนดวันนัดใหม่ ก็เลยมีประเด็น ที่จำเลยโต้แย้งวันนัด ว่า ในวันที่ 1-2 มิ.ย.2566 นี้ จำเลยไม่ว่าง เพราะทนายติดว่าความคดีที่ศาลอื่น  จึงขอเลื่อนการสืบพยาน ในวันดังกล่าว แต่องค์คณะผู้พิพากษา เจ้าของสำนวนคดีนี้ พิจารณาแล้ว เห็นว่าคดีนี้ จำเลยมีทนาย 2 คน คือ นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม และนายกฤษฎางค์ นุตจรัส  โดยคนที่แถลงเลื่อน ว่าติดว่าความที่ศาลอื่น คือ นายนรเศรษฐ์  ส่วน นายกฤษฎางค์  ไม่ได้ปรากฏว่า ติดคดีอะไร  เพราะฉะนั้นโดยปกติ เมื่อมีทนาย 2 คนแบบนี้ หากคนหนึ่ง ติดว่าความคดีอื่น แต่อีกคนไม่ติดคดีอะไร ก็สามารถที่จะทำหน้าที่ได้  องค์คณะผู้พิพากษา จึงไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี  และนัดสืบพยานไป

ส่วนประเด็นที่ น.ส.ชลธิชา ระบุว่า ในการสืบพยานจำเลย เมื่อวันที่ 1มิ.ย. ไม่มีทนายจำเลยร่วมรับฟังการสืบพยานภายในห้องพิจารณาคดี นั้น โฆษกศาลยุติธรรม  กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย  กำหนดว่า ต้องมีการสืบพยานต่อหน้าจำเลย  แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องสืบพยานต่อหน้าทนายจำเลย  เพราะฉะนั้นเรื่องของกระบวนพิจารณา  การที่กฎหมายกำหนดคือเรื่องของจำเลยเป็นหลัก   แต่สิทธิ์ในการที่จะต่อสู้คดีในการถามค้านตรงนี้ ก็มี 2 ส่วนคือ ประเด็นแรก ทางศาลถามตัวจำเลยว่าจะซักถามพยานในเชิงถามค้านเองหรือไม่  ซึ่งจำเลยก็ไม่ใช้สิทธิ์ ทั้งนี้ ก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ของตัวความ ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ หรือ จำเลย  ก็มีสิทธิ์ที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาได้เองอยู่แล้ว  เพราะทนายก็เป็นตัวแทนของตัวความ ก็คือโจทก์ จำเลย เพราะฉะนั้น สิทธิ์ในการถาม ก็เป็นสิทธิ์ในตัวความอยู่แล้ว

โฆษกศาลยุติธรรมยังกล่าวด้วยว่า ในการสืบพยานโจทก์  เมื่อวานที่ผ่านมา มีการอัดเทป หรือ วิดีโอ ไว้ด้วย  ซึ่งศาลก็ได้มีการถามเหมือนกันว่า หากทนายจำเลย ไม่ว่างในวันดังกล่าว  ก็สามารถไปศึกษาจากวิดีโอ ที่บันทึกไว้ เพื่อขอถามค้านในวันอื่น ได้  แต่ปรากฏว่า น.ส.ชลธิชา ก็โต้แย้งมาโดยตลอดว่า กระบวนการพิจารณาไม่ชอบ จึงแจ้งต่อศาลว่า ไม่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิ์ตรงนี้  สำหรับการยื่นหนังสือถึง ก.ต.เพื่อขอให้ตรวจสอบการพิจารณาคดีขององค์คณะผู้พิพากษา นั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และถือเป็นเรื่องปกติ ที่ว่า หากคู่ความคนใด  เห็นว่า ตนเองอาจจะไม่ได้รับการปฏิบัติที่ เหมาะสม ก็ ยื่นเรื่องให้พิจารณาได้อยู่แล้ว แต่ว่าสุดท้าย การพิจารณา จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในคดีที่เกิดขึ้น 

ส่วนประเด็นเรื่องของการตั้งคำถามว่า ศาลเร่งรัดพิจารณาคดี เฉพาะว่าที่ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล นั้น โฆษกศาลยุติธรรม ระบุว่า คงไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นว่าที่ ส.ส. เพราะการเร่งรัดคดีตรงนี้  ก็ไม่ใช่เฉพาะคดีนี้ ซึ่งการปรับปรุงวันนัด ก็มีการปรับปรุงในหลายๆคดี ให้เร็วขึ้น ตามกฎหมายที่ออกมา และคดีของ น.ส.ชลธิชา ก็ฟ้องมานานแล้ว  ไม่ใช่เพิ่งฟ้อง ส่วนคดีที่มีการอ้างถึงว่า พิจารณาคดีล่าช้านั้น เป็นคดีที่เพิ่งเกิดขึ้น ด้วยซ้ำ ดังนั้นคงนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2566 นรเศรษฐ์ นาหนองตูม หนึ่งในทนายความของ ชลธิชา แจ้งเร็ว คดี ม.112 ได้ชี้แจงผ่านเฟสบุ๊ค ดังนี้

ข้อเท็จจริงในคดีของลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว ข้อหาความผิดตามมาตรา 112 ทนายความติดว่าความทั้งสองคนและลูกเกด ในฐานะจำเลยได้แถลงแจ้งต่อศาลแล้ว

1. สำหรับเหตุการณ์วันที่ 1 มิ.ย. 2566 เดิมศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 27 มิถุนายน 2565 โจทก์-จำเลย ได้ตกลงกำหนดวันนัดสืบพยานไว้แล้วตามที่โจทก์-จำเลย ทั้งสองฝ่ายมีวันว่างตรงกัน ตามระบบการนัดพิจารณาคดีของศาล ศูนย์นัดความก็จะถามโจทก์-จำเลย ว่าช่วงวันที่เท่าไหร่ว่างหรือไม่ว่าง ถ้าไม่ว่างติดคดีอะไร ผมก็แสดงหลักฐานไปทั้งหมดว่า ช่วงวันที่ 1,2,6 มิ.ย. 2566 ผมติดนัดพิจารณาคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ1180/2564 โดยผมได้ยื่นคำร้องเป็นหนังสือเอาไว้อย่างชัดเจน ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 27 มิ.ย. 2565

ต่อมารองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาโดยนายอรรถการ ฟูเจริญ ได้มีคำสั่งให้นัดสืบพยานใหม่เร็วขึ้น “โดยฝ่ายจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในการกำหนดวันนัดสืบพยานด้วย”  มีคำสั่งให้นัดสืบพยานในวันที่ 1-2,6 มิ.ย. 2566 และวันที่ 8,10,11 ส.ค. 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ผมติดนัดสืบพยานที่ศาลอื่นโดยได้แจ้งไว้ล่วงหน้าไปแล้วตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. 2565 และในวันที่ 5 ก.ค. 2565 ผมก็ได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์นัดความไว้แล้วว่าไม่สามารถนัดสืบพยานช่วงเดือนมิถุนายนได้ หลักฐานนี้ก็ปรากฏในรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 5 ก.ค. 2565 (หลักฐานหมายนัดปรากฏตามภาพถ่ายหมายเลข 1)

คดีนี้จึงเริ่มต้นที่ ศาลมีคำสั่งให้นัดสืบพยานใหม่ โดยที่ฝ่ายจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย และวันที่นัดสืบพยานใหม่ทนายจำเลยติดนัดสืบพยานที่ศาลอื่น ซึ่งได้แจ้งล่วงหน้าไปแล้วตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. 2565 ผมคงต้องย้ำให้ชัดว่า คดีนี้ศาลออกหมายนัดสืบพยานมาใหม่ ในวันที่ทนายความจำเลยไม่ว่าง ถ้านัดสืบพยานตามที่โจทก์-จำเลย นัดกันไว้ตามเดิม ก็ไม่มีปัญหาต้องขอเลื่อนคดี (โจทก์ซึ่งเป็นคนฟ้องจำเลย ก็ไม่คัดค้านการเลื่อนคดี)

ส่วนที่ศาลให้เหตุผลในการไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีทำนองว่า คดีนี้มีทนายความ 2 คน  ทนายนรเศรษฐ์ฯ ไม่ว่างก็สามารถให้ทนายความกฤษฎางค์ฯ มาว่าความได้ นั้น ข้อเท็จจริงในคดีนี้คือ

ผมและทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทั้งสองคนติดนัดสืบพยานในคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ1180/2564 ในคดีความผิดมาตรา 112 ซึ่งเป็นคดีที่มีจำเลยถึง 5 คน และได้นัดคดีนี้ไว้ก่อนแล้วที่ศาลจะกำหนดนัดใหม่ ลูกเกดในฐานะจำเลยแถลงข้อเท็จจริงต่อศาลเอาไว้แล้วรายละเอียดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาคดีของศาล (ภาพประกอบหมายเลข 2)

หลักฐานใบนัดว่าคดีหมายเลขดำที่ อ1180/2564 ได้มีนัดสืบพยานในวันที่ 1,2,6 มิ.ย. 2566 ผมก็ได้ยื่นต่อศาลไปแล้วเพื่อเป็นหลักฐานว่าติดสืบพยานจริง (หลักฐานใบนัดสืบพยานของศาลอาญากรุงเทพใต้ปรากฏตามภาพประกอบหมายเลข 3)

สรุปคือ ลูกเกดในฐานะจำเลยได้แถลงต่อศาลเอาไว้แล้วว่า “ทนายความทั้งสองคน” ไม่ว่างเพราะนัดพิจารณาคดีที่ศาลอื่น ย้ำว่าไม่ว่างทั้งสองคน ติดนัดพิจารณาคดีที่ศาลอื่นซึ่งได้นัดหมายไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว ก่อนศาลจะมีคำสั่งให้สืบพยานใหม่ แต่ศาลก็ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ให้โจทก์สืบพยานไปฝ่ายเดียวโดยที่จำเลยไม่มีทนายความอยู่ด้วยในห้องพิจารณาคดี

2. สำหรับเหตุการณ์วันที่ 2 มิ.ย. 2566 ซึ่งเป็นการสืบพยานวันที่สอง ลูกเกดในฐานะจำเลย ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและขอให้ยกเลิกนัดสืบพยานทั้งหมด เพราะทนายความจำเลยทั้งสองคนไม่ว่างติดนัดสืบพยานที่ศาลอื่นซึ่งได้นัดไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว โดยระบุชื่อศาลและหมายเลขคดีที่ทนายความติดว่าความเอาไว้อย่างชัดเจน พร้อมกับหลักฐานการติดสืบพยานซึ่งก็คือ ใบนัดความของศาลอาญากรุงเทพใต้ แต่ศาลก็ไม่ให้เลื่อนคดี และให้สืบพยานไปโดยที่ลูกเกดไม่มีทนายความ (หลักฐานคำร้องปรากกฏตามรูปภาพหมายเลข 4)

คดีนี้ อัยการซึ่งเป็นโจทก์ทนายแผ่นดินซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีก็ไม่ได้คัดค้านการเลื่อนคดีของจำเลย แต่ศาลก็ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและสืบไปฝ่ายโจทก์ไป โดยที่จำเลยไม่มีทนายความ 

3. คดีลักษณะเดียวกันนี้ คือ คดีของศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ2804/2564 ระหว่าง พนักงานอัยการ โจทก์ กับ นายอานนท์ นำภา จำเลย ข้อหา 112 ลักษณะข้อเท็จจริงเหมือนกับคดีนี้ โจทก์และจำเลยได้ตกลงนัดสืบพยานไว้แล้ว แต่ศาลออกหมายกำหนดนัดสืบพยานมาใหม่ให้เร็วขึ้น คดีนั้นก็มีผมและทนายกฤษฎางค์เป็นทนายความ แต่สำหรับวันนัดที่ศาลกำหนดมาใหม่ตรงกับคดีที่ทนายความจำเลยติดนัดพิจารณาคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้คดี อ1180/2564 ซึ่งนัดไว้ก่อนแล้ว ศาลก็อนุญาตให้เลื่อนคดี แต่พอมาเป็นคดีของลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี 

นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม
4 มิ.ย. 2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net