Skip to main content
sharethis

กสม. แนะ สพฐ. แก้ไขระเบียบที่อาจลิดรอนสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวและศูนย์การเรียน ย้ำเด็กเรียนนอกระบบต้องเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม - ประชุมหารือระดับภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนฯ เตรียมจัดทำข้อเสนอแนะแก้รัฐธรรมนูญเพิ่มประเด็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งข่าวว่า เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2566 กสม. โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และ นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 21/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1. กสม. แนะ สพฐ. แก้ไขระเบียบที่สุ่มเสี่ยงต่อการลิดรอนสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวและศูนย์การเรียน ย้ำเด็กเรียนนอกระบบต้องเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปลายปี 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิเด็ก อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยศูนย์การเรียนและครอบครัว ซึ่งเป็นการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนปกติ อันมีประเด็นปัญหาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการออกกฎและระเบียบหลายประการที่เป็นการจำกัดสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกระบบ ทั้งการกำหนดคุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียนว่า ต้องเป็นผู้ซึ่งขาดโอกาสในการเข้ารับการศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ และต้องเป็นผู้ที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 7 จนถึงอายุ 18 ปีบริบูรณ์ การแก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในส่วนคุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียนว่า “ต้องเป็นผู้ขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ” ส่งผลให้ศูนย์การเรียนที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งมาก่อนตามคู่มือฉบับเดิม ไม่สามารถรับเด็กทั่วไปเข้าเรียนได้

และยังมีกรณีที่ศูนย์การเรียนที่จัดตั้งขึ้นโดยบุคคล องค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน จำนวน 60 แห่ง ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนจากรัฐ และสิทธิประโยชน์ทางด้านการศึกษา ตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 รวมทั้งไม่มีฐานข้อมูลของเด็กนักเรียนในศูนย์การเรียนอยู่ในระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center: DMC) จึงไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบการศึกษา และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐทุกประเภทได้

นอกจากนี้ ยังมีกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว ซึ่งประสบปัญหา เช่น แผนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวรูปแบบกลุ่มประสบการณ์ไม่ได้รับการยอมรับ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนขาดการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง (ครู) หรือผู้จัดการศึกษา โดยที่กลไกของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขาดความพร้อมในการพิจารณาอนุญาตและส่งเสริมให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวเป็นระบบและมีคุณภาพ รวมทั้งขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาทางเลือกของภาคประชาสังคม

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นปัญหาตามคำร้องทั้งสาม มีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่หนึ่ง กรณี สพฐ. เปลี่ยนแปลงแก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในส่วนคุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียน เห็นว่า สพฐ. เปลี่ยนแปลงแก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในส่วนของคุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียนจาก “ผู้เรียนในศูนย์การเรียนต้องเป็นผู้ซึ่งขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ หรือผู้ที่ต้องการเข้าเรียนที่ศูนย์การเรียน” เป็น “ผู้เรียนในศูนย์การเรียนต้องเป็นผู้ขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ” เท่านั้น เนื่องจากคู่มือฉบับเดิมกำหนดคุณสมบัติของผู้เรียนเกินกว่าที่กฎกระทรวงกำหนด ดังนั้น การที่ สพฐ. เปลี่ยนแปลงแก้ไขคุณสมบัติของผู้เรียนเป็นการแก้ไขคู่มือที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ส่วนการที่ สพฐ. ออกประกาศเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยบุคคลและโดยองค์กรเอกชนเป็นนิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ที่กำหนดคุณสมบัติผู้เรียนว่าต้องเป็นผู้ที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 7 จนถึงอายุ 18 ปีบริบูรณ์ และเป็นเด็กซึ่งขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ และมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดใน 12 กลุ่มได้แก่ (1) เด็กยากจน (2) เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด (3) เด็กที่ถูกทอดทิ้ง (4) เด็กที่ถูกทำร้ายทารุณ (5) เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ หรือโรคติดต่อร้ายแรงที่สังคมรังเกียจ (6) เด็กในชนกลุ่มน้อย (7) เด็กเร่ร่อน (8) เด็กถูกบังคับให้ขายแรงงานหรือแรงงานเด็ก (9) เด็กที่อยู่ในธุรกิจทางเพศหรือโสเภณีเด็ก (10) เด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (11) เด็กพิการ และ (12) เด็กซึ่งขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติกรณีอื่น ๆ นั้น อาจนำไปสู่การตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อเด็ก ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่สอง กรณี สพฐ. ไม่จัดสรรสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนให้แก่ศูนย์การเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยบุคคล องค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน และองค์กรวิชาชีพ เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ กสม. เห็นว่า ตามกฎกระทรวงเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน กำหนดว่า “ศูนย์การเรียนอาจได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรเอกชนสำหรับการจัดการศึกษาได้” ทำให้เกิดปัญหาการตีความว่ารัฐอาจจะให้หรือไม่ให้เงินอุดหนุนก็ได้ซึ่งไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 14 ที่บัญญัติให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ซึ่งสนับสนุนหรือจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก กสม. เคยตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะในประเด็นการไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนลักษณะดังกล่าวแล้ว เมื่อเดือนมกราคม 2562 โดยเสนอให้เร่งแก้ไขกฎกระทรวง คำว่า “อาจได้รับ” เป็น “มีสิทธิได้รับ” ซึ่งต่อมา สพฐ. ได้แก้ไขกฎกระทรวงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็น “ศูนย์การเรียนมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรเอกชนสำหรับการจัดการศึกษาได้” และได้ส่งร่างกฎกระทรวงฉบับแก้ไขให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ในประเด็นนี้จึงเห็นควรเร่งรัดการติดตามผลดำเนินการตามรายงานผลการตรวจสอบฉบับดังกล่าว

ส่วนประเด็นการไม่มีฐานข้อมูลในระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (DMC) ของศูนย์การเรียน นั้น พบว่า ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำระบบดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นนี้แล้ว

จากเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตลอดจนข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายไปยัง สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ และสภาการศึกษา สรุปได้ดังนี้

ให้ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ และสภาการศึกษา ร่วมกันทบทวนปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวง ประกาศ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดคุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 โดยต้องไม่กำหนดลักษณะของเด็กซึ่งขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติที่อาจเป็นการตีตราหรือเลือกปฏิบัติต่อเด็ก เพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และร่วมกันพิจารณาทบทวนกลไกการกำกับดูแลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวและศูนย์การเรียน เนื่องจากปรัชญาแนวคิดของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวและศูนย์การเรียนแตกต่างจากการจัดการศึกษาในระบบ

ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก เห็นควรจัดให้มีหน่วยงานเฉพาะเพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหา ให้คำปรึกษาแนะนำ หรือรับเรื่องร้องเรียน ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนด้านวิชาการ ในด้านการบริหารจัดการ กรณีเกิดปัญหา อุปสรรค หรือข้อขัดข้องในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวหรือศูนย์การเรียน

นอกจากนี้ ให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554 ข้อ 12 กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2555 ข้อ 13 และ กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรวิชาชีพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554 ข้อ 9 จากคำว่า “อาจได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุน” เป็น “มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุน” เพื่อให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของศูนย์การเรียนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนจากรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ทั้งนี้ในระหว่างที่ยังปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงไม่แล้วเสร็จ ให้พิจารณาให้ศูนย์การเรียนที่จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนด้วย

2. กสม. ประชุมหารือระดับภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนฯ เตรียมจัดทำข้อเสนอแนะแก้รัฐธรรมนูญเพิ่มประเด็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี

เมื่อวันที่ 29-30 พ.ค. 2566 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าร่วมการประชุมหารือระดับภูมิภาคว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอาเซียน (AICHR Regional Consultation on Business and Human Rights, Environment and Climate Change in ASEAN) จัดโดย ผู้แทนมาเลเซียในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) ร่วมกับกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Forum of National Human Rights Institutions: APF) โดยการสนับสนุนของสหภาพยุโรป

การประชุมนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น ผู้แทน AICHR หน่วยงานภายใต้อาเซียน สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ประเทศสมาชิกอาเซียน ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงผู้แทนจากสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กสม. อินโดนีเซีย (Komnas HAM) กสม. มาเลเซีย (SUHAKAM) กสม. ฟิลิปปินส์ (CHRP) ผู้ตรวจการแผ่นดินของติมอร์-เลสเต (PDHJ) และกสม.ไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ในการดําเนินการตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) หรือ UNGPs เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างกระบวนการปรึกษาหารือรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนการพัฒนากรอบแนวคิดว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อมของอาเซียน (ASEAN Environmental Rights Framework) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของ AICHR

ในการนี้ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ในอาเซียน ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิดเห็น และแนวทางระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เกี่ยวกับการริเริ่มด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในอาเซียน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนวทางของอาเซียนในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน การรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านจากต้นแบบของกลุ่มประเทศยุโรปจากกลไกความตกลง Escazú หรือความตกลงระดับภูมิภาคว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมของประชาชนและการเข้าถึงความยุติธรรมในเรื่องสิ่งแวดล้อม ในลาตินอเมริกาและแคริบเบียนและการนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทของอาเซียน รวมถึงบทบาทการดำเนินงานของ AICHR ในฐานะกลไกสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นสำคัญคือ ที่ประชุมมีแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีกระบวนการปรึกษาหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อเป็นข้อมูลสําหรับการพัฒนากรอบแนวคิดว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อมของอาเซียน 3 เรื่อง ได้แก่ (1) การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (2) การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของสาธารณะ และ (3) การร้องเรียนและการเข้าถึงการเยียวยาในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดย กสม. ไทยได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการกรณีปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนให้ผ่านกลไกกลางของอาเซียน ตั้งแต่ชั้นการรับเรื่องร้องเรียน การไกล่เกลี่ย การเยียวยา ตลอดจนบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับ AICHR ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นการสร้างพื้นที่ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้สามารถปรึกษาหารือร่วมกัน และร่วมทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียน

ทั้งนี้ในเวทีดังกล่าวเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ยังได้นำเสนอผลการดำเนินโครงการเสริมสร้างความตระหนักรู้และการเรียนรู้จากประสบการณ์การจัดทำความตกลง Escazú และอนุสัญญา Aarhus (อนุสัญญาว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจและการเข้าถึงความยุติธรรมในเรื่องสิ่งแวดล้อม) และความเห็นในประเทศไทยที่มีต่อการพัฒนาตราสารระดับภูมิภาคว่าด้วยสิทธิในสิ่งแวดล้อม โดยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ร่วมแสดงความยินดีกับการแสดงบทบาทของศาสตราจารย์เกียรติคุณ อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทย AICHR ซึ่งสอดคล้องกับแผนการทำงานในประเด็นสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมของ กสม. ได้แก่ การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับสมัชชาสิ่งแวดล้อมใน 7 ภูมิภาคของไทย เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน และผู้แทนภาคประชาสังคมเกี่ยวกับกรอบแนวคิดที่ปรากฏในความตกลง Escazú และอนุสัญญา Aarhus รวมถึงแนวทางการนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทของประเทศไทย

“สำหรับบริบทของไทย กสม. มีแผนที่จะจัดทำข้อเสนอแนะในการปรับแก้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ให้มีบทบัญญัติที่พูดถึงสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี (Right to a healthy environment) ซึ่งเป็นแนวทางในการปกป้องคุณภาพของสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนในสังคมสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของพวกเขา” นางสาวศยามล กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net