Skip to main content
sharethis

กต.ยันไทยไทยให้ความสำคัญกับแรงงานเพื่อนบ้าน ชี้เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำไทยให้ความสำคัญกับแรงงานต่างด้าวในไทย โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมา ไทยได้มุ่งพัฒนามาตรฐานและระเบียบการจัดหางานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและแรงงานอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ได้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า หลังจากวันที่ 1 มิ.ย. 2566 จะไม่มีการจ้างแรงงานจากกัมพูชาและลาว ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

โดยทางกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้ออกมาชี้แจงให้ข้อมูลแล้วว่า เพียงแค่ปรับขั้นตอนการจัดจ้างแรงงานแบบถูกกฎหมาย ที่เข้ามาทำงานผ่าน MOU จากกัมพูชาและลาว เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นความต้องการแรงงานต่างด้าวกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักงานจัดหางาน กทม. พื้นที่ 1-10 โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่ส่วนกลาง (กรมการจัดหางาน) เพื่อความสะดวกรวดเร็ว แต่ในส่วนของแรงงานจากเมียนมา ยังจำเป็นต้องติดต่อผ่านกรมการจัดหางานอยู่

อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้กล่าวเสริมเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการแรงงานต่างด้าวในไทยว่า ไทยได้พยายามดำเนินมาตรการดูแลคุ้มครองแรงงานต่างด้าวอย่างไม่เลือกปฏิบัติมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมา แรงงานต่างด้าวสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขในไทยได้ โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับสิทธิเข้าถึงประกันสังคมและประกันสุขภาพด้วย นอกจากนี้ ไทยยังได้ให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวและป้องกันการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานบังคับ และการใช้แรงงานเด็ก

โดยการจัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวตามจังหวัดต่าง ๆ การตรวจสอบกิจการอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการพัฒนากฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2565 ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น หรือแม้แต่ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ไทยยังช่วยส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวเข้าถึงวัคซีนและการตรวจคัดกรองอย่างเท่าเทียมกับคนไทยด้วย

ทั้งนี้ จากสถิติในไตรมาสที่ 1/2566 ของกระทรวงแรงงาน มีแรงงานต่างชาติในไทยจำนวน 2,743,673 คน ถือเป็นร้อยละ 6.92 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในไทย มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 10/6/2566

ก.แรงงาน ยันไร้ส่งแรงงานกัมพูชากลับประเทศ เพียงปรับสถานที่ยื่น Demand

9 มิ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีเกิดข่าวลือว่า พรรคก้าวไกล มีนโยบายส่งแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ ทำให้นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชาไม่เห็นด้วย ก่อนที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะออกมายืนยันว่าไม่มีนโยบายดังกล่าวตามข่าวลือนั้น

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า สื่อโซเชียลเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เรื่องการปรับขั้นตอนการยื่นความต้องการจ้างคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา (Demand) หลังวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ว่าประเทศไทยจะไม่รับยื่นความต้องการจ้างคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และลาว นั้นไม่เป็นความจริง กรมการจัดหางานขอยืนยันว่า หลังวันที่ 1 มิถุนายน 2566 หากนายจ้าง สถานประกอบการประสงค์จะนำคนต่างด้าวสัญชาติลาว กัมพูชา และเมียนมา เข้ามาทำงานในประเทศอย่างถูกกฎหมาย (MOU) ยังคงสามารถยื่นความต้องการจ้างคนต่างด้าวได้ โดยกำหนดให้นายจ้างผู้ประกอบการยื่นความต้องการจ้างคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และสัญชาติลาว ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการ ขณะที่กรมการจัดหางาน (ส่วนกลาง) จะไม่รับคำร้องขอนำเข้าฯ ของแรงงานทั้ง 2 สัญชาติดังกล่าวแล้ว ในส่วนของแรงงานสัญชาติเมียนมากำหนดให้นายจ้างผู้ประกอบการยื่นความต้องการจ้างคนต่างด้าว (Demand) ได้ที่กรมการจัดหางาน (ส่วนกลาง) ต่อไป

“ปัจจุบันสถานการณ์โควิดคลี่คลาย กรมการจัดหางาน จึงปรับเปลี่ยนขั้นตอนการยื่น Demand เพื่อให้กระบวนการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย มีความสะดวก รวดเร็ว ทันต่อความต้องการของนายจ้างผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตามสำหรับการยื่น Demand ของคนสัญชาติเมียนมายังคงต้องปฏิบัติตามแนวทางเดิมต่อไปก่อน เนื่องจากทางการเมียนมาได้ร้องขอให้การลงนามในหนังสือถึงกรมแรงงานเมียนมา ต้องมีอธิบดีเป็นผู้ลงนาม” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ทั้งนี้ นายจ้าง สถานประกอบการ และคนต่างด้าว สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 9/10/2566

กต.ยันข่าวเท็จ ไทยไม่จ้างแรงงานเพื่อนบ้าน ย้ำเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อน ศก.ไทย

นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำไทยให้ความสำคัญกับแรงงานต่างด้าวในไทย โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด

นางกาญจนากล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยได้มุ่งพัฒนามาตรฐานและระเบียบการจัดหางานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและแรงงานอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีได้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า หลังจากวันที่ 1 มิถุนายน 2566 จะไม่มีการจ้างแรงงานจากกัมพูชาและลาว ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยทางกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้ออกมาชี้แจงให้ข้อมูลแล้วว่า เพียงแค่ปรับขั้นตอนการจัดจ้างแรงงานแบบถูกกฎหมาย ที่เข้ามาทำงานผ่านเอ็มโอยูจากกัมพูชาและลาว เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นความต้องการแรงงานต่างด้าวกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักงานจัดหางาน กทม. พื้นที่ 1-10 โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่ส่วนกลางยังกรมการจัดหางานเพื่อความสะดวกรวดเร็ว แต่ในส่วนของแรงงานจากเมียนมา ยังจำเป็นต้องติดต่อผ่านกรมการจัดหางานอยู่

อธิบดีกรมสารนิเทศยังกล่าวเสริมเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการแรงงานต่างด้าวในไทยว่า ไทยได้พยายามดำเนินมาตรการดูแลคุ้มครองแรงงานต่างด้าวอย่างไม่เลือกปฏิบัติมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมา แรงงานต่างด้าวสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขในไทยได้ โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับสิทธิเข้าถึงประกันสังคมและประกันสุขภาพด้วย นอกจากนี้ ไทยยังได้ให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวและป้องกันการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานบังคับ และการใช้แรงงานเด็ก โดยการจัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวตามจังหวัดต่าง ๆ การตรวจสอบกิจการอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการพัฒนากฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2565 ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น หรือแม้แต่ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ไทยยังช่วยส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวเข้าถึงวัคซีนและการตรวจคัดกรองอย่างเท่าเทียมกับคนไทยด้วย

ทั้งนี้ จากสถิติในไตรมาสที่ 1/2566 ของกระทรวงแรงงาน มีแรงงานต่างชาติในไทยจำนวน 2,743,673 คน ถือเป็นร้อยละ 6.92 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในไทย มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยเฉพาะด้านกิจการก่อสร้าง เกษตรและปศุสัตว์ และกิจการให้บริการต่างๆ

ที่มา: มติชนออนไลน์, 9/6/2566

เร่งพัฒนาแรงงาน ตั้งเป้าปี 66 กว่า 8 แสนคน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 1/2566 โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานเข้าร่วมประชุม และมีผู้บริหารของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุม ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านระบบวิดิโอคอนเฟอเรนซ์

ที่ประชุมได้เสนอเรื่องเพื่อทราบ ประกอบด้วย ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด การฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565-2566 และพิจารณาร่างแผนการดำเนินงาน คำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการ กพร.ปจ.

พลเอก ประวิตร กล่าวว่า คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) มีภารกิจในการกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพของผู้อยู่ในกำลังแรงงาน ติดตามผลดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมสถานประกอบกิจการและองค์กรในภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังแรงงาน ตลอดจนเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการพัฒนาแรงงาน ซึ่งได้รับทราบผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2566 รองนายรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ขอให้คณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) ขับเคลื่อนงานตามแผนพัฒนากำลังคนระดับจังหวัดให้เดินหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมและใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลการพัฒนากำลังคนที่ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น เพื่อให้พื้นที่จังหวัดมีกำลังแรงงานเพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพ สามารถสนองต่อแผนพัฒนาจังหวัด อย่างเป็นรูปธรรม และสำหรับคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ขอให้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนากำลังแรงงาน ผลักดันให้แผนพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกในรายอุตสาหกรรมเป้าหมายบรรลุเป้าหมายเช่นเดียวกัน เพื่อให้ภารกิจดังกล่าว ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานทุกกลุ่ม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป

นายบุญชอบ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเสริมว่า กระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายให้ดำเนินการพัฒนาแรงงาน ประกอบด้วย การพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) การพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve การพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ ซึ่งปี 2565 มีเป้าหมายพัฒนากำลังคนระดับจังหวัด 870,073 คน ดำเนินการแล้ว 857,762 คน และปี 2566 มีเป้าหมาย 847,372 คน ดำเนินการแล้ว 194,075 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2566) สามารถพัฒนากำลังคนในกลุ่มของอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพได้มากที่สุด รองลงมาคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ทั้งนี้ ได้เสนอเรื่องพิจารณาประกอบด้วย (ร่าง) แผนพัฒนากำลังคนระดับจังหวัด พ.ศ. 2565 - 2570 ภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) (ร่าง) แผนพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve (พ.ศ. 2565 – 2570) และ (ร่าง) คำสั่ง แต่งตั้งอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 9/10/2566

"พรรคก้าวไกล" ตั้งคณะทำงานสาธารณสุข ชู "แก้ปัญหาภาระงานหมอล้น"

7 มิ.ย. 2566 เพจเฟสบุ๊ค พรรคก้าวไกล - Move Forward Party ได้โพสเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ของพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีกระแส “แพทย์ลาออกจากสธ.” ในวันที่ผ่านมานั้น โดยระบุข้อความข้างต้นว่า

แนวทางการแก้ปัญหาภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ของพรรคก้าวไกล

ปัจจุบัน บุคลากรทางการแพทย์มีชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป แพทย์จำนวนมากต้องทำงานถึงสัปดาห์ละกว่า 80 ชั่วโมง หรืออาจถึง 100 ชั่วโมง ระยะเวลาการทำงานที่มากเกินไปส่งผลต่อประสิทธิภาพในการให้บริการกับประชาชน เช่น ความแม่นยำในการตรวจรักษาต่ำลง ส่งผลให้ผู้ป่วยตกอยู่ในความเสี่ยงของการรักษาที่อาจผิดพลาดได้ บุคลากรทางการแพทย์ภาครัฐมีภาระงานและชั่วโมงการทำงานสูง แต่ค่าตอบแทนทั้งในและล่วงเวลากลับต่ำอย่างไม่สอดคล้องกัน โดยบางกรณีอาจไม่ได้รับค่าตอบแทนล่วงเวลาเลย แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญที่สุด

ภาระงานที่มากเกินไปนั้นทำให้บุคลากรทางการแพทย์สูญเสียสมดุลการใช้ชีวิต นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียม รวมไปถึงความก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่ไม่เหมาะสม ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ภาครัฐหมดขวัญและกำลังใจในการทำงาน ขาดความพึงพอใจในงาน และนำไปสู่การลาออก โดยส่วนหนึ่งเข้าไปสู่ภาคเอกชนที่ได้รับผลตอบแทนและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

จากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ที่ประชุมของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านอำนาจรัฐบาล (Transition Team) ซึ่งมี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นประธาน ได้ตั้งคณะทำงานเพิ่มขึ้นมา หนึ่งในนั้นคือคณะทำงานด้านสาธารณสุข ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ปัญหาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์เป็นวาระเร่งด่วน

คณะทำงานด้านสาธารณสุขของพรรคก้าวไกลเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาเชิงระบบ โดยต้นตอที่สำคัญ ได้แก่ ความจำกัดของบุคลากรและงบประมาณ การเพิ่มการผลิตแพทย์หรือบุคลากรเพียงอย่างเดียวแต่ไม่อุดรอยรั่ว ไม่สามารถขจัดปัญหาได้

การลดภาระงาน การกระจายปริมาณและสถานที่ของงาน รวมไปถึงการเพิ่มตัวช่วยอื่น ๆ ที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระงานนั้นมีความจำเป็น นอกจากนี้ การส่งเสริมสุขภาพของประชาชนให้แข็งแรง ลดความแออัดที่สถานพยาบาลนั้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องกระทำไปควบคู่กัน คณะทำงานฯ จึงมีวาระต่าง ๆ ที่ต้องการเข้าไปผลักดัน ได้แก่

1. ลดการลาออกของบุคลากรทางการแพทย์

ตั้งเป้าหมายลดชั่วโมงการทำงานและเพิ่มชั่วโมงการพักผ่อนให้เหมาะสม พรรคก้าวไกลเห็นว่า ชั่วโมงการทำงานแพทย์อย่างแย่ที่สุดไม่ควรเกิน 80 ชั่วโมง/สัปดาห์ พยาบาลไม่ควรเกิน 60 ชั่วโมง/สัปดาห์ และต้องมีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ โดยหากทำงานติดต่อกัน 24 ชั่วโมง หรือทำงานในกะดึก (0.00-8.00 น.) จะต้องได้พักผ่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนที่จะกลับมาเริ่มทำงานกะต่อไป

ทบทวนค่าตอบแทนใหม่อย่างเป็นธรรม เนื่องจากอัตราค่าตอบแทนของบุคลากรทางการแพทย์ไม่มีการปรับขึ้นมาเป็นเวลากว่า 4 ปี มีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์บางกลุ่มต้องการให้มีการปรับเพิ่มขึ้นโดยไม่น้อยไปกว่าอัตราเงินเฟ้อ และสำหรับบุคลากรทางการแพทย์บางกลุ่ม เช่น บุคลากรในห้องฉุกเฉิน ซึ่งปัจจุบันได้รับค่าตอบแทนล่วงเวลา 8 ชั่วโมง ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน สมควรมีการพิจารณาปรับเพิ่มค่าตอบแทนให้เหมาะสม โดยค่าตอบแทนต้องวางเกณฑ์ที่คำนึงถึงหลัก “ทำมากได้มาก” ค่าตอบแทนแปรผันตามปริมาณงาน

แก้ไขระเบียบบางอย่างเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน เช่น ระเบียบเครื่องแต่งกาย ที่อนุญาตให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถใส่ชุดสครับในการทำงาน สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น สิทธิการรวมตัวของบุคลากรทางการแพทย์ การเปิดช่องทางร้องเรียนของบุคลากรทางการแพทย์ต่อผู้บริหาร ความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่ดีของบ้านพักบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น

2. ลดภาระงานบุคลากรทางการแพทย์

เพิ่มการทำงานเชิงป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ทำให้คนไทยสุขภาพดี ลดจำนวนการเข้าโรงพยาบาล ด้วยการยกระดับสิทธิตรวจสุขภาพประจำปีฟรีโดยมีค่าเดินทางให้, ยกระดับสิทธิวัคซีน, ยกระดับการตรวจหามะเร็งสำหรับกลุ่มเสี่ยง, การจัดทำฐานคะแนนสุขภาพโดยมีแรงจูงใจ (Personal Health Scoring) และการพัฒนาอบรม อสม. ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ผ่านการฝึกอบรมและให้ได้รับมาตรฐาน เพื่อช่วยปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ของระบบสุขภาพในชุมชน และลดภาระงานของแพทย์

กระจายผู้ป่วยในด้านปริมาณและสถานที่ ไม่ให้แออัดที่โรงพยาบาล โดยการ

- ยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทั้ง Telemedicine และ Telephamarcy เพื่อให้บริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานและทำการจ่ายยาที่สถานบริการใกล้บ้านได้ โดยเฉพาะในกลุ่มโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (NCDs)

- พัฒนาศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยระยะประคับประคองที่ติดเตียงสามารถกลับไปอยู่ใกล้บ้านของตัวเองมากขึ้น ลดความแออัดที่โรงพยาบาล กระจายผู้ป่วยด้านเวลาให้บริการ ด้วยการให้ใช้ระบบ Telemedicine คัดกรองผู้ป่วย และ Smart Queing เพื่อจัดคิวผู้ป่วยในช่วงเวลาต่าง ๆ และสงวนห้องฉุกเฉิน (ER) ไว้สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่แท้จริง

- ลดภาระงานเอกสาร ปรับฐานข้อมูลดิจิทัล ปรับระบบข้อมูลส่วนหนึ่งจาก Intranet เป็น Internet เพื่อให้โรงพยาบาลปลายทางสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลผู้ป่วยและทำการส่งตัวได้โดยสะดวก ร่วมกับ ศูนย์บริหารจัดการเตียงกลาง (Central Referal Center) สงวนเตียงจำนวนหนึ่งจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพื่อเข้าศูนย์บริหารจัดการ ทำให้การส่งตัวผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลมีความสะดวกมากขึ้น

3. เพิ่มการผลิตบุคลากรทางการแพทย์จากทั้งภาครัฐและเอกชน

-ต่อยอดการผลิตและส่งเสริมให้เพิ่มขึ้น เน้นสนับสนุนโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) สนับสนุนสถาบันการผลิตแพทย์เพิ่มจากฝั่งเอกชน แต่เพิ่มการควบคุมมาตรฐานให้รัดกุมสูงขึ้น

-เลิกเป่าลมลงในถุงก้นรั่ว แต่อุดรูรั่วด้วยความเข้าใจ เห็นใจ และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง การทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีความพร้อมในการทำงาน มีกำลังกายและกำลังใจที่ดีในการทำงาน ย่อมส่งผลต่อผลิตภาพและคุณภาพในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน

ที่มา: Hfocus, 7/6/2566

‘ก้าวไกล’ แจงไม่มีนโยบายดัน ‘แรงงานข้ามชาติ’ กลับประเทศตัวเอง

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2566 พรรคก้าวไกล ชี้แจงกรณีมีข้อมูลปรากฏในสื่อต่างประเทศว่า พรรคก้าวไกลมีนโยบายจะผลักดันแรงงานข้ามชาติกลับประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อพี่น้องประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านนั้น พรรคก้าวไกล ยืนยันไม่มีนโยบายผลักดันแรงงานข้ามชาติกลับประเทศ

นโยบายของพรรคก้าวไกล ไม่เคยมีการระบุถึงการผลักดันแรงงานข้ามชาติกลับประเทศ จุดยืนของพรรคคือการคุ้มครองสวัสดิการแรงงานทุกคนที่ทำงานในประเทศไทยอย่างเสมอภาค ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และเราต้องการอำนวยความสะดวกให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้ามาทำงานในไทยได้อย่างสะดวกขึ้น ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ปราศจากการเก็บส่วย เรียกเงินใต้โต๊ะ หรือการเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ว่าจ้างในขณะเดียวกัน ก็เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้ได้รับความสะดวกในการจ้างงานด้วย

พรรคก้าวไกล ตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ในฐานะพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงแรงงานสูง เนื่องจากไทยอยู่ในภาวะสังคมสูงวัย ขาดแคลนแรงงาน การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นไปไม่ได้ หากขาดแรงงานกลุ่มนี้

นโยบายของพรรคก้าวไกลในด้านการต่างประเทศ ยังให้ความสำคัญอย่างสูงกับการส่งเสริมความร่วมมือในทุกๆ ด้านกับชาติพันธมิตรอาเซียน เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในภูมิภาคร่วมกัน

เพราะเศรษฐกิจที่เติบโต การเมืองที่มีเสถียรภาพ และสังคมที่เท่าเทียมเป็นธรรม ในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน ย่อมนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของอาเซียนทั้งภูมิภาค

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 7/6/2566

รมว.สั่ง กสร.เร่งช่วยเหลือสิทธิตามกฎหมาย ลูกจ้างนิติบุคคลอาคารชุดถูกค้างจ่ายค่าจ้างกว่า 500 คน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง กรณีสื่อออนไลน์นำเสนอข่าวนายจ้างรับบริหารจัดการงานด้านอสังหาริมทรัพย์ค้างจ่ายค่าจ้างลูกจ้างกว่า 500 คน ว่า ผมรู้สึกห่วงใยลูกจ้างกลุ่มนี้จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที เบื้องต้นได้รับรายงานจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 (สรพ.3) ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของนายจ้างว่า มีลูกจ้างรวมทั้งหมด 60 คน ได้มายื่นคำร้อง (คร.7) ต่อพนักงานตรวจแรงงานถูกนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างงวดเดือนพฤษภาคม 2566 (วันที่ 26 เม.ย.-25 พ.ค.66) รวมเป็นเงินค่าจ้าง 1,279,225 บาท ค่าล่วงเวลา 11,259.38 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,290,484.38 บาท และทราบว่าในวันนี้ (7 มิ.ย.66) จะมีลูกจ้างกว่า 100 คน มาขอให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือที่กระทรวงแรงงาน ผมได้มอบหมายให้นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายวิสุทธิ์ คงสุจริต ผู้ตรวจราชการกรม กสร.รับหนังสือจากตัวแทนลูกจ้าง และให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินการตามอำนาจหน้าที่รวมถึงเฝ้าติดตามสถานการณ์การจ้างงานของนายจ้างรายนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า หลังจากรับคำร้อง (คร.7) แล้ว พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 (สรพ.3) จะเชิญนายจ้างมาพบเพื่อสอบข้อเท็จจริงเพิ่ม หากพบว่านายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะเร่งดำเนินการออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป สำหรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบกรณีนายจ้างรายนี้ สามารถติดต่อขอคำปรึกษา หรือยื่นคำร้อง (คร.7) ได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานท้องที่ที่ลูกจ้างทำงาน หรือโทรสอบถามได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือโทร. 1546

ที่มา: สยามรัฐ, 7/6/2566

ผีน้อยไม่อยากกลับบ้าน เกาหลีใต้อ่วมเผชิญปัญหาหมอนวดไทยแพร่เชื้อเอดส์ - แรงงานค้ายานรก

"ผีน้อย"คือคำเรียกขานแรงงานผิดกฎหมายที่หนีชีวิตแร้นแค้นจากบ้านเกิดเมืองนอนไปขุดทองที่ประเทศเกาหลีใต้ ด้วยค่าแรงที่สูงกว่าบ้านเราเกือบ 5 เท่า หรือตกเดือนละ 5-6 หมื่นบาท ทำให้แรงงานนับแสนชีวิตยอมกู้หนี้ยืมสินหวังไปตายเอาดาบหน้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายจากเมืองไทยแสนกว่าคนค่อยๆ สะสมจนกลายเป็นปัญหาหนักอกแก่ประเทศเกาหลีใต้ในขณะนี้ ทั้งการลักลอบค้าประเวณีจนแพร่เชื้อเอดส์และปัญหายาเสพติดที่แรงงานบางส่วนซุกซ่อนเข้ามาจำหน่าย

ด้วยเหตุนี้ทาง กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ผบก.ปคม.) พ.ต.อ.สุรพงษ์ ชาติสุทธิ์, พ.ต.อ.มารุต กาญจนขันธกุล รอง ผบก.ปคม. พ.ต.อ.ทนงศักดิ์ ปันไชย ผกก.1 ปคม. พ.ต.อ.กึกก้อง ดิศวัฒน์ ผกก.5 บก.ปคม. พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางเดินทางไปประเทศเกาหลีใต้เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเพื่อแลกเปลี่ยนประสานความร่วมมือและสอบถามข้อมูลแรงงานไทยในประเทศเกาหลีใต้เนื่องจากมีความเป็นห่วงบ่วงใยว่าผีน้อยเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติได้

น.ส.อาภรณ์ อุปการรอด รอง ผู้ช่วยทูตฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า "จริงๆ แล้วอาชีพหมอนวดในประเทศเกาหลีใต้นั้น ถือเป็นอาชีพที่สงวนให้กับชาวเกาหลีที่พิการทางสายตาเท่านั้น หากคนชาติอื่นมาทำงานนี้ก็จะต้องถูกจับกุมดำเนินคดี"

มีอยู่ครั้งหนึ่งคนพิการทางสายตาชาวเกาหลีถึงกับแห่ออกมาประท้วงให้รัฐบาลกวดขันจับกุมผีน้อยชาวไทยที่มาแย่งอาชีพสงวนของชาติ จนส่งผลกระทบกับรายได้ของหมอนวดท้องถิ่นที่ลดน้อยลงเป็นอย่างมาก

เส้นทางของผีน้อยจากไทยส่วนใหญ่ปะปนมากับนักท่องเที่ยว จากนั้นก็กระโจนเข้าสู่วงจรแรงงานผิดกฎหมายทั้งงานบริการ งานในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในกลุ่มอาชีพ 3D ได้แก่ Difficult (งานหนัก) Dirty (งานสกปรก) และ Dangerous (งานอันตราย) ที่คนเกาหลีไม่นิยมทำกัน

แต่บางส่วนก็เป็นแรงงานที่มาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เลือกหนีออกมาเป็นผีน้อยโดยสมัครใจ ซึ่งในกลุ่มนี้ช่วงหลังๆ ได้เพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ เนื่องจากบริษัทที่รับแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้นจะถูกกวดขันอย่างเข้มงวดตามกฎหมายแรงงานของที่นี่ ทั้งเรื่องวันหยุด เวลาทำโอที และหักเงินเดือนบางส่วนเป็นค่าประกันไว้ดูแลกรณีเจ็บไข้ได้ป่วยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่เมื่อออกมาเป็นผีน้อยก็ตัดเรื่องกฎทำโอทีหรือหักเงินประกันออกไป ทำให้มีรายได้มากกว่าบริษัทที่อยู่ภายใต้กฎระเบียบของรัฐ

"ค่ารักษาพยาบาลที่นี่แพงมากๆ ยิ่งมาทำงานผิดกฎหมายก็จะเข้าถึงการรักษายากมาก แรงงานไทยส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะซื้อยาในตลาดมืดมารักษากันเอง" น.ส.อาภรณ์ กล่าว

ที่ผ่านมาทางสถานทูตฯ เองมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยกลับไปรักษาที่ประเทศไทยกว่า 2,000 คน และดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นับเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าแรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้เมื่อเกิดปัญหาก็มักจะไม่ได้รับการเหลียวแลหรือเอาใจใส่เท่าที่ควร จำเป็นต้องดิ้นรนด้วยตัวเองโดยมีทางสถานทูตฯ เป็นที่พึ่งสำคัญคอยให้ความช่วยเหลือ

ด้าน นางปาลิตา ชอง เจ้าหน้าที่ตัวแทนคนไทยของศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างชาติในเกาหลีใต้ซึ่งคลุกคลีกับแรงงานผิดกฎหมายชาวไทยมานานนับสิบปีเปิดเผยว่า หลังโควิด- 19 มีแรงงานไทยในเกาหลีเพิ่มขึ้นถึง 2 แสนคน ที่หลบหนีเข้ามาทำงานผิดกฎหมายเสีย 1.6 แสนคน ส่วนที่ถูกกฎหมายมีไม่กี่หมื่นคน ซึ่งเป็นตัวเลขแตกต่างกันอย่างมาก

นางปาลิตา เปิดเผยต่อว่า จากการสอบถามสาวไทยที่มาเป็นผีน้อยในร้านนวดส่วนใหญ่พบว่า สมัครใจทำงานนวดแลกค่าจ้างชั่วโมงประมาณ 500 บาท แต่ระหว่างนั้นก็ถูกนายจ้างชาวเกาหลีเกลี้ยกล่อมให้ค้าประเวณี โดยใช้รายได้นับหมื่นบาทต่อวันมาล่อตาล่อใจ ทำให้สาวไทยส่วนใหญ่เข้าสู่กระบวนการค้ากามอย่างเต็มอกเต็มใจ

"หญิงไทยบางคนมีลูกมีสามีอยู่แล้วที่เมืองไทย ช่วงแรกๆ ก็คิดจะทำงานนวดอย่างเดียว แต่ทนกลิ่นเย้ายวนของเงินสกุลวอนไม่ไหว เลยกระโจนลงในธุรกิจน้ำกามอย่างเต็มใจ เพราะรายได้แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว" นางปาลิตา กล่าว

ส่วนเรื่องที่ตำรวจ บช.ก.เป็นห่วงว่าผีน้อยจะถูกหลอกลวงบังคับให้ค้าประเวณีนั้น ที่ผ่านมาไม่เคยได้ยินข่าวหรือมีการร้องเรียนมาที่ศูนย์ว่าถูกนายจ้างกักขัง บังคับขู่เข็ญ หรือทุบตีให้ค้าประเวณี พวกเธอต่างหากที่เต็มใจขายนาผืนน้อยของตัวเอง เนื่องจากมองว่าคุ้มเพราะหากถูก ตม.ที่นี่จับก็ไม่ต้องติดคุก แค่ถูกปรับประมาณ 8 แสนบาท และถูกขึ้นแบล็กลิสต์ห้ามเข้าเกาหลีแค่นั้น

นอกจากนี้ทราบว่าปัญหาที่พบบ่อยคือถูกนายหน้าคนไทยกับนายจ้างชาวเกาหลีร่วมมือกันหลอกทำงานโดยไม่ได้รับค่าแรง โดยเขาจะโพสต์ประกาศรับสมัครคนงาน แต่พอทำงานใกล้ครบเดือน นายจ้างก็จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจับกุมทันที

นางปาลิตา ยังฝากเตือนหญิงไทยที่จะมาค้าประเวณีว่า "อยากบอกหญิงไทยที่จะมาขุดทองที่เกาหลีใต้ ว่า ชีวิตของผีน้อยที่นี่ไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด หมอนวดแฝงค้าประเวณีหลายคนต้องยอมทนรับแขกวันละ 20-30 คนต่อวัน หลายคนป่วยจากการใช้ร่างกายอย่างหนัก ก็เอาเงินที่หาได้มารักษาตัวเอง ส่วนตัวมองว่ามันไม่คุ้มกัน ความเป็นอยู่ก็ลำบากต้องหลบๆ ซ่อนๆ ถูกดูถูกเหยียดหยาม และปัญหาที่หนักสุดในตอนนี้คือ หมอนวดไทยมาแพร่เชื้อเอดส์จนเป็นปัญหาใหญ่ของที่นี่แล้วในตอนนี้"

พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) กล่าวว่า ที่ต้องเดินทางมาประสานงานกับเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้และทางการไทยที่นั่นเพื่อต้องการทราบว่าปัญหาปัจจุบันของผีน้อยคืออะไร ที่ตำรวจไทยกังวลหลักๆ คือปัญหาแรงงานไทยที่ไปทำงานโดยผิดกฎหมาย และปัญหาการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ซึ่งทั้งสองปัญหานี้มีความทับซ้อนกันอยู่พอสมควรและเป็นปัญหาที่ตำรวจสอบสวนกลางให้ความสำคัญมาโดยตลอด ทางเราเป็นห่วงเรื่องของความปลอดภัยเกรงว่าจะถูกบังคับ ถูกหลอกลวง หรือถูกทรมานหรือไม่? ซึ่งจะได้หาทางช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาได้ทันท่วงที อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่พบว่ามีปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด

พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวต่อว่า จริงๆ แล้ว เกาหลีใต้ต้องการแรงงานไทยจำนวนมาก แต่หลายคนไม่ยอมมาแบบถูกกฎหมาย ทำให้มีความเสี่ยง ถ้าเจอนายจ้างดีก็ดีไป แต่ถ้าเจอนายจ้างไม่ดี ก็จะถูกเขาเอาเปรียบ ถูกกดขี่ข่มเหง หลอกลวง ทำงานจนหนักเกินกำลัง สภาพความเป็นอยู่ไม่ดี หรือแม้แต่การถูกบังคับให้ใช้แรงงานทาส หรือเข้าไปพัวพันกับการค้าประเวณี ก็ไม่กล้าไปโวยวายที่ไหน เพราะเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย

พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวอีกว่า จากการพูดคุยกับตำรวจและอัยการของที่นี่ทราบว่า ปัญหาที่หนักสุดของแรงงานไทยในตอนนี้เป็นเรื่องยาเสพติด โดยแรงงานมักซุกซ่อนยาเสพติดจากเมืองไทยมาจำหน่ายให้แรงงานด้วยกันในเกาหลีใต้ ที่ผ่านมาได้ถูกจับกุมดำเนินคดีมาแล้วหลายราย ติดคุกอยู่ที่เกาหลีเยอะมาก ซึ่งตอนนี้ก็ร่วมมือกันอยู่ ทั้งตรวจสอบที่ประเทศไทย หรือตอนเข้าประเทศเขา

ส่วนด้านการป้องกันปราบปรามนั้น พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า จากนี้ไปจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทางการเกาหลีใต้มากยิ่งขึ้น เช่น เมื่อทางการเกาหลีใต้จับกุมแรงงานผิดกฎหมายได้ก็จะส่งข้อมูลมาให้ตำรวจสอบสวนกลางในการขยายผลไปถึงเอเย่นต์หรือนายหน้าที่ส่งคนไทยไปทำงานในเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมาย หรือหากมีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับขบวนการเหล่านี้ก็จะส่งไปยังทางการเกาหลีใต้เพื่อเฝ้าระวังหรือดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการยกระดับการทำงานของทั้งสองประเทศในการจัดการกับปัญหาแรงงานผิดกฎหมายได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

"อยากฝากประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทยทุกคนทราบว่าการมาทำงานที่เกาหลีใต้นั้น ถึงแม้จะมีรายได้มากกว่าที่ประเทศไทย แต่แท้จริงแล้วก็มีปัญหาอีกเป็นมากมายที่อาจต้องเผชิญ มันไม่ได้สวยหรูเหมือนที่คิดเอาไว้"

"ขอเตือนคนไทยที่จะมาทำงานที่เกาหลีใต้ให้ศึกษาข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียดรอบด้าน  อย่าไปหลงเชื่อข่าวสารหรือสื่อสังคมออนไลน์โดยปราศจากการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และอย่าคิดแต่เพียงว่าจะไปแสวงหารายได้ที่สูงกว่าในประเทศไทย มิเช่นนั้นอาจต้องเจอสภาพปัญหาตามที่ได้ยกตัวอย่างเอาไว้ข้างต้น ทั้งนี้ขอให้แรงงานไทยมาให้ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วก็จะถูกคุ้มครองด้วยกฎหมาย ด้วยกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการมาทำงานที่นี่" ผบช.ก.กล่าว

ส่วน พ.ต.อ.มารุต กาญจนขันธกุล รอง ผบก.ปคม. กล่าวว่า เรามาในครั้งนี้จริงๆ อยากไปพูดคุยสอบถามข้อมูลปัญหากับสาวไทยที่มาค้าประเวณีที่นี่ว่า จะให้เราช่วยอะไรบ้าง แต่เขาไม่อยากมาพบตำรวจไทย เขาแจ้งกับผู้ประสานมาว่า เต็มใจมาทำงานเพราะรายได้ดี สามารถหาเงินได้มากมายส่งกลับไปเลี้ยงดูครอบครัวที่เมืองไทยให้อยู่สุขสบาย อย่างไรก็ตามทางตำรวจ ก็เป็นห่วงเรื่องที่อาจมีบางคนถูกบังคับขู่เข็ญให้ค้าประเวณีหรือถูกหลอกลวงเอาทรัพย์สินเงินทอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ได้ให้ช่องทางการติดต่อเพื่อจะได้ประสานทางการเกาหลีใต้เข้าช่วยเหลือทันท่วงทีหากตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์

"ความจริงเราอยากเจอเขามาก อยากถามเขาว่ามีอะไรให้ตำรวจสอบสวนกลาง โดยเฉพาะตำรวจ ปคม.ช่วยเหลือบ้างในฐานะคนไทยด้วยกัน แต่เขาปฏิเสธที่จะมาพบเจอ บางทีเขาอาจกลัวว่าจะถูกจับส่งกลับประเทศไทยก็เป็นได้" รอง ผบก.ปคม.กล่าวทิ้งท้าย

การเยือนประเทศเกาหลีใต้ของตำรวจสอบสวนกลางในครั้งนี้ คือตั้งใจมารับทราบปัญหาของแรงงานผิดกฎหมายที่นี่ เนื่องจากเป็นห่วงว่าจะตกเป็นเหยื่อของแก๊งค้ามนุษย์ข้ามชาติหลอกมาบังคับค้าประเวณีหรือกลายเป็นแรงงานทาส แต่ตอนนี้ตำรวจ บช.ก.รู้แล้วว่า เพราะเหตุใด? เหล่าผีน้อยจึงไม่อยากกลับบ้าน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 7/6/2566

สธ.ปัญหาขาดแคลนแพทย์สะสมมานาน ต้องใช้เวลาแก้ไข มีแพทย์ในสังกัด 2.4 หมื่นคน ภาระงานดูแลประชากรยังสูงคิดเป็นสัดส่วน 1:2,000 คน ลาออกปีละ 455 คน เกษียณอีกปีละ 200 คน ความต้องการแพทย์ปีละประมาณ 2 พันกว่าคน

 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พญ.พิมพ์เพชร สุขุมาลไพบูลย์ ผอ.สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท แถลงข่าวปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุข หลังจากกระแสข่าวเรื่องแพทย์ลาออกจำนวนมาก ว่า ปัญหาเรื่องขาดแคลนกำลังคนในระบบสาธารณสุขเกิดขึ้นทั้งวิชาชีพแพทย์ และวิชาชีพอื่นๆ เช่น พยาบาล นักรังสีการแพทย์ ฯลฯ โดยในส่วนของแพทย์ อยู่ในระบบของกระทรวงสาธารณสุข  24,649 คน คิดเป็น 48% ของแพทย์ทั้งประเทศ ต้องดูแลประชากรประมาณ 75-80% คิดเป็น สัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 1: 2,000 คน ถือเป็นภาระงานที่ค่อนข้างหนัก

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า กำลังการผลิตแพทย์ภาครัฐและเอกชนรวมกันได้ปีละ 3,300 คน จำนวนนี้ 1 ใน 3 เป็นการผลิตของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนการจัดสรรจะมีคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรฯ (Consortium) และมีหน่วยงานรับจัดสรรหลายสังกัด ทั้งนี้ จากการศึกษาแผนปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 2561-2570 พบว่าต้องการแพทย์เข้าสู่ระบบปีละ 2,055 คน แต่ได้รับการจัดสรรประมาณปีละ 1,800 - 1,900 คน โดยปี 2566 มีผู้สำเร็จการศึกษา 2,759 คน ได้รับการจัดสรร 1,960 คน ที่เหลือจัดสรรให้กระทรวงกลาโหม คณะแพทยศาสตร์ 6 แห่งในภูมิภาคและส่วนราชการหน่วยงานต่างๆ สอดคล้องกับจำนวนแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์อินเทิร์นที่แพทยสภากำหนดให้ฝึกทักษะในโรงพยาบาล 117 แห่ง ซึ่งปี 2565 ศักยภาพในการรับอยู่ที่ 3,128 คน แต่ได้รับจัดสรร 2,150 คน คิดเป็น 68.7%

สำหรับเรื่องภาระงานมาก จากการสำรวจช่วงวันที่ 15-30 พฤศจิกายน 2565 โรงพยาบาลที่ปฏิบัติงานมากกว่า 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ มี 65 แห่ง แบ่งเป็น มากกว่า 64 ชั่วโมง/สัปดาห์ 9 แห่ง มากกว่า 59 ชั่วโมง/สัปดาห์ 4 แห่ง มากกว่า 52 ชั่วโมง/สัปดาห์ 11 แห่ง มากกว่า 46 ชั่วโมง/สัปดาห์ 18 แห่ง และมากกว่า 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ 23 แห่ง ได้มีการวางแผนแก้ไขเป็นระยะ 3, 6, 9, 12 เดือน สามารถลดชั่วโมงการทำงานได้แล้ว 20 แห่ง ส่วนข้อมูลการลาออกของแพทย์ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2556-2565) พบว่า มีการบรรจุแพทย์รวม 19,355 คน แพทย์ใช้ทุนปีแรกลาออก 226 คน คิดเป็น 1.2% เฉลี่ยปีละ 23 คน ซึ่งจำนวนค่อนข้างน้อยเนื่องจากมีข้อกำหนดให้แพทย์ต้องผ่านการเพิ่มพูนทักษะก่อนไปศึกษาต่อ, แพทย์ใช้ทุนปี 2 ลาออก 1,875 คน คิดเป็น 9.69% เฉลี่ยปีละ 188 คน กลุ่มนี้จะมากสุดเนื่องจากสามารถไปศึกษาต่อได้แล้ว, แพทย์ใช้ปี 3 ลาออก 858 คน คิดเป็น 4.4% เฉลี่ยปีละ 86 คน และแพทย์ลาออกหลังใช้ทุนครบ 1,578 คน คิดเป็น 8.1% เฉลี่ยปีละ 158 คน รวมแพทย์ลาออกปีละ 455 คน รวมกับแพทย์ที่เกษียณปีละ 150-200 คน จึงมีแพทย์ออกจากระบบปีละ 655 คน ซึ่งหากดูแพทย์ที่คงอยู่ในระบบพบว่า แพทย์ของโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) จะคงอยู่ในระบบได้มากถึง 80-90% เนื่องจากเป็นการคัดเลือกนักศึกษาแพทย์จากคนในพื้นที่

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า สำหรับการดูแลบุคลากรในสังกัดทุกวิชาชีพเน้น 4 เรื่อง ซึ่งดำเนินการมาตลอด คือ 1.การเพิ่มค่าตอบแทน มีการหารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนต่างๆ ให้สอดคล้องกับภาระงานและเศรษฐกิจ 2.สวัสดิการ ทั้งเรื่องที่พัก สภาพแวดล้อม ความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ 3.ความก้าวหน้าในการทำงาน ได้หารือกับ ก.พ. เรื่องกรอบอัตรากำลัง การกำหนดตำแหน่งสูงขึ้น และ 4.เรื่องภาระงาน ยังต้องผลิตแพทย์และขอรับการจัดสรรเพิ่มเพื่อมาเติมในระบบ โดยกรอบอัตรากำลังใหม่ที่ประกาศใช้ปี 2565-2569 ในปี 2569 กำหนดอัตราแพทย์ 35,000 คน รวมทั้งมีการหารือกับ ก.พ. ในการบริหารกำลังคนรูปแบบใหม่ๆ และการจ้างงานที่หลากหลาย

ที่มา: เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล, 6/6/2566

เคาะแล้ว พนักงานราชการ ลาช่วยภรรยาที่คลอดบุตรได้ไม่เกิน 15 วัน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการบริหารพนักงานราชการ ได้ลงนามในประกาศ คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ เรื่อง สิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2566 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ให้ "พนักงานราชการ" มีสิทธิลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตรครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 15 วันทำการ โดยจะได้รับค่าตอบแทนได้ไม่เกิน 15 วันทำการ แต่ถ้าเป็นการลาเมื่อพ้น 30 วันนับแต่วันที่ภริยาคลอดบุตร ไม่ให้ได้รับค่าตอบแทนระหว่างลา โดยประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ตามประกาศระบุเนื้อหาว่า เพื่อให้การกำหนดสิทธิประโยชน์พนักงานราชการเป็นมาตรฐานให้ส่วนราชการถือปฏิบัติจึงอาศัยอำนาจตามความในข้อ 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยพนักงานราชการ พ.ศ. 2547 คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการจึงกำหนดสิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการไว้ดังนี้

ทั้งนี้ให้เพิ่มข้อความ (2/1) ในข้อ 4 ของประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ เรื่อง สิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการ พ.ศ. 2554 ดังนี้

“(2/1) การลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร พนักงานราชการซึ่งประสงค์ จะลาไปช่วยเหลือภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายที่คลอดบุตรให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ จนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อนหรือในวันที่ลาภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คลอดบุตร และให้มีสิทธิลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 15 วันทำการ โดยผู้มีอำนาจอนุญาตอาจให้แสดงหลักฐานประกอบการพิจารณาอนุญาตด้วยก็ได้”

รวมทั้งให้เพิ่มความ (2/1) ในข้อ 5 ของประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ เรื่อง สิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการ พ.ศ. 2554 ดังนี้

“(2/1) การลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ภริยาคลอดบุตร ให้ได้รับค่าตอบแทนระหว่างลาได้ไม่เกิน 15 วันทำการ แต่ถ้าเป็นการลาเมื่อพ้น 30 วัน นับแต่วันที่ภริยาคลอดบุตร ไม่ให้ได้รับค่าตอบแทนระหว่างลา เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ตำแหน่ง อธิบดีหรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป เห็นสมควรจะให้จ่ายค่าตอบแทนระหว่างลานั้นก็ได้ แต่ไม่เกิน 15 วันทำการ”

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 5/6/2566

ห้ามใช้นโยบาย ‘ขึ้นค่าแรง’ หาเสียง  ‘สภาองค์การนายจ้างฯ’ เสนอ ‘กกต.’ ชี้รัฐบาลไม่ได้จ่ายแต่เอกชนต้องจ่าย

“ธนิต” ชี้ค่าแรงขั้นต่ำขึ้น30% ใน 100 วัน เสี่ยงทำเศรษฐกิจเสียหาย แข่งเวียดนามยาก เล็งเสนอ กกต.ห้ามพรรคการเมืองใช้นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาหาเสียง เพราะเอกชนเป็นคนจ่าย ไม่ใช่รัฐบาล ชี้ค่าแรงต้องปรับขึ้นตามทักษะแรงงานที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่กำหนดจากฝ่ายการเมือง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย  เปิดเผยถึงกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคดดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้เดินสายหารือกับภาคเอกชน สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท และเป็นนโยบายของรัฐบาล ใน 100 วัน ว่าเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคการเมืองใช้ในการหาเสียงตนอยากเสนอไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ออกกฎห้ามพรรคการเมืองนำเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้หาเสียง เพราะคนจ่ายค่าจ้างไม่ใช่รัฐบาลแต่เป็นเอกชน

แต่เรื่องค่าแรงควรพิจารณาให้เป็นไปตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ หากไทยปรับขึ้นเป็น 450 บาท ตามที่พรรคก้าวไกลหาเสียงไว้ จะส่งผลให้ค่าแรงขั้นต่ำของไทยและเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ ในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ทิ้งห่างกันถึง 107 บาทต่อคน

จากปัจจุบันห่างกันประมาณ 11 บาทต่อคน ซึ่งตัวเลขนี้กำลังเป็นที่กังวลของผู้ประกอบการไทย ที่จะทำให้เวียดนามได้เปรียบไทยมากขึ้น และแรงงานเองก็กังวลว่า อาจต้องโดนคัดออกอีกครั้ง เนื่องจากผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ไหวเช่นกัน

“ในฝั่งของนายจ้าง หรือผู้ประกอบการก็ชัดเจน ว่า จ่ายไม่ไหวซึ่งอยากให้พรรคก้าวไกล พิจารณาผลกระทบ เพราะการปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 354 บาทต่อวัน เป็น 450 บาทต่อวัน เท่ากับปรับขึ้นทันที 30% ทั้งประเทศ จะเกิดผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องหาจุดลงตัว ที่ทำให้นโยบายเดินไปได้”

ทั้งนี้มองว่าแนวทางการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ควรเป็นแบบการเพิ่มค่าแรงตามทักษะของแรงงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้องผ่านการทดสอบวัดผล โดยให้แรงงานได้ฝึกเพิ่มทักษะแล้วไปสอบเพื่อปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้คือ pay by skill โดยจะทำให้นายจ้างมีเวลาในการปรับตัวได้มากขึ้นอีกด้วย ไม่ใช่การสั่งการจากฝ่ายการเมือง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 4/6/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net