Skip to main content
sharethis

กพร. โชว์ผลงานศูนย์ฝึกเฉพาะทาง 7 แห่ง ปั้นแรงงานสู้ AI กว่า 2.7 หมื่นคน ได้งานทำกว่า 90%

17 มิ.ย. 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ข้อมูลจาก World Economic Forum (WEF) คาดว่าความฉลาดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) จะทำให้การจ้างงานทั่วโลกลดลงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง ประกอบกับบริษัทต่างๆ มีการส่งเสริมการนำ AI มาใช้ในการทำงานมากขึ้น หุ่นยนต์มีแนวโน้มที่จะถูกนำมาใช้แทนแรงงานคน จะทำให้ตลาดงานทั่วโลกสั่นคลอนในอีก 5 ปีข้างหน้า รัฐบาลมีความห่วงใยและต้องการให้แรงงานไทยมีทักษะรู้เท่าทันเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพราะหากขาดทักษะ ความรู้ในด้านเทคโนโลยีจะส่งผลกระทบต่อการทำงาน ซึ่งอาจนำไปสู่การเลิกจ้างได้ กระทรวงแรงงาน จึงเร่งให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลให้แก่แรงงานไทย รวมไปถึงพนักงานของสถานประกอบกิจการ ให้มีความพร้อมในการทำงานเมื่อมีการนำ AI เข้ามาใช้มากขึ้น อีกทั้งเป็นการลดปัญหาการถูกเลิกจ้างได้อีกด้วย

น.ส.บุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการพัฒนาทักษะให้กับแรงงานไทยให้มีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะทางเรียกว่า ศูนย์ Exellence Training Center ประกอบด้วย 7 หน่วย ได้แก่ 1.สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) 2.ศูนย์ฝึกอบรมงานเชื่อมมาตรฐานสากล (TCIW) ตั้งอยู่ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ 3.สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) 4.สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและเมคคาทรอนิกส์ (AMA) ตั้งอยู่ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี 5.สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ (Wellness Industry) ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ 6.สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย และ 7.สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (DISDA) ตั้งอยู่ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

น.ส.บุปผา กล่าวต่อว่า หน่วยงานทั้ง 7 หน่วย ได้พัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติและทักษะดิจิทัล เพื่อ Upskill และ Reskill แรงงานใหม่ แรงงานในสถานประกอบกิจการ ผ่านกระบวนการฝึกอบรมทั้งในรูปแบบของออฟไลน์ และออนไลน์ โดยระหว่างปี 2563-2566 ดำเนินการพัฒนาทักษะแรงงานจำนวน 27,463 คน มีงานทำร้อยละ 92.90 ซึ่งแรงงานเหล่านี้เมื่อได้รับการพัฒนาทักษะแล้ว จะทำให้มีความรู้ในการทำงานเพิ่มมากขึ้น ทั้งใด้านเทคโนโลยี ดิจิทัลและทักษะด้านการบริการ อีกทั้ง เป็นกำลังแรงงานที่จำเป็นและต้องการในตลาดแรงงาน เพราะการทำงานมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามา ดังนั้นแรงงานที่มีความรู้ด้านนี้จะเป็นเครื่องมือการันตีในการจ้างงาน ลดปัญหาการเลิกจ้างได้

“สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล หรือภาคบริการ สามารถติดต่อกับหน่วยงานเฉพาะทางทั้ง 7 หน่วย หรือติดตามข่าวสารการฝึกอบรมผ่านเว็ปไซต์กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” น.ส.บุปผา กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 17/6/2566

ก.แรงงาน เผย สหรัฐฯ ยังคงสถานะการจัดอันดับ สถานการณ์การค้ามนุษย์ ของไทยไว้ที่ "Tier 2"

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง กรณีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี ค.ศ. 2023 หรือ Trafficking In Person (TIP) Report 2023 โดยรายงานดังกล่าวรวบรวมข้อมูลด้านการค้ามนุษย์จาก 188 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ โดยในปีนี้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน "Tier 2" เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา

ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการสำคัญ ที่รัฐบาลไทยและภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง โดยในส่วนของกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก ที่ดูแลรับผิดชอบด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยในปีที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อน การดําเนินการป้องกัน และ แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในหลายๆ ด้าน

อาทิ มีพัฒนาการที่สำคัญด้านป้องกัน ยกระดับสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชา การป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ให้เป็นหน่วยงานระดับกอง สามารถสั่งการให้การปฏิบัติงานเกิดความคล่องตัว เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย การป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ของกระทรวงแรงงาน บังคับใช้มาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ

เพิ่มขีดความสามารถ ของเจ้าหน้าที่ ในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการค้ามนุษย์ เพิ่มพนักงานตรวจแรงงานในแรงงานกลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานต่างด้าว แรงงานเด็ก แรงงานภาคประมง ให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน และได้รับสภาพการจ้างตามหลักสากล

ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ได้แก่ การตรวจแรงงานที่ศูนย์ PIPO ในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล ตรวจแรงงานเชิงคุณภาพในสถานประกอบการทั่วไปและการตรวจสถานประกอบกิจการที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็กแรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ส่งเสริมให้สถานประกอบการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices) ไปใช้ ดำเนินงานโครงการความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาด้านการป้องกัน เป็นต้น

“แม้ว่าในปีนี้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ จากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐให้อยู่ในระดับ Tier 2 เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ต้องขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ได้บูรณาการและมีความพยายามสกัดการค้ามนุษย์ในทุกมิติ ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานที่รับผิดชอบด้านการป้องกัน จะยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ปัญหาการค้ามนุษย์หมดไปจากประเทศไทยโดยเร็วต่อไป”นายสุชาติ กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 16/6/2566

สรุปประเด็นตัวแทนจากประเทศไทยร่วมประชุมใหญ่ ILC สมัยที่ 111

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำทัพผู้แทนไตรภาคีไทย ร่วมร่วมการประชุมประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ 111 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ได้เดินทางเยือนนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 12-15 มิถุนายน 2566 เพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ 111

การประชุมมีระเบียบวาระประจำ 3 วาระ ได้แก่

- การรายงานของผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอ

- การรายงานของประธานคณะประศาสน์การ แผนงาน งบประมาณ

- การรายงานการอนุวัติการอนุสัญญาและข้อแนะ และระเบียบวาระจรอีก 6 วาระ ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานแรงงาน เรื่องการฝึกงาน การอภิปรายหมุนเวียนเรื่องวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ของการคุ้มครองทางสังคม การอภิปรายทั่วไป การเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม การพิจารณาด้านเทคโนโลยีและนโยบายอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. 2462 (ค.ศ.1919) และสำหรับสาระสำคัญของการประชุม ILC สมัยที่ 111 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ต้องการที่จะเน้นย้ำและผลักดันประเด็นความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งเป็นหัวใจของ ILO มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และส่งเสริมจัดตั้งการรวมกลุ่มระดับโลกเพื่อความยุติธรรมทางสังคม หรือ Global Coaltion for Social Justice โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เข้าพบนายกิลเบิร์ต เอฟ โฮงโบ ผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอ เพื่อหารือข้อราชการด้านแรงงานด้วย

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนไตรภาคี ต่อที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 13 มิถุนายน 2566 กิจกรรม World of Work Summit การรับรองมติที่ประชุมคณะกรรมการและข้อสรุป รวมถึงการลงคะแนนเสียง

โดยกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ประกอบด้วย การยกเลิกอนุสัญญาจำนวน 1 ฉบับ การเพิกถอนอนุสัญญา จำนวน 4 ฉบับ พิธีสาร 1 ฉบับ ข้อแนะนำ จำนวน 18 ฉบับ ร่างอนุสัญญาและข้อแนะว่าด้วยการแก้ไขบางส่วนของตราสารแรงงานระหว่างประเทศ จำนวน 15 ฉบับ เพื่อให้การตอบรับกับประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเข้าไว้ในกรอบงาน ILO ด้านหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน และมาตรการต่าง ๆ ภายใต้มาตรา 33 ของธรรมนูญ ILO เพื่อให้รัฐบาลเบลารุสปฏิบัติตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวน

ถ้อยแถลง รมว.แรงงาน บนเวทีโลก

วันที่ 13 มิถุนายน 2566 (ตามเวลาท้องถิ่น) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมใหญ่ประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ มีเนื้อความว่า ขอแสดงความยินดีกับ ILO ในการจัดการประชุมครั้งนี้ ซึ่งในนามรัฐบาลไทยเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมในครั้งนี้

โดยขอสนับสนุนแนวคิดของคุณกิลเบิร์ต เอฟ ฮองโบ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศคนใหม่ ที่ว่าการรวมกลุ่มระดับโลกเพื่อความยุติธรรมทางสังคม (Global Coalition for Social Justice) จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและเสริมสร้างความสามารถของรัฐสมาชิกในการบรรลุ “ความยุติธรรมทางสังคม” ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันของทุกคน

ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นและมีบทบาทเชิงรุกในการยกระดับความยุติธรรมทางสังคม และส่งเสริมงานที่มีคุณค่าทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ รวมทั้งตระหนักถึงความจำเป็นในการสนับสนุนหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน การขจัดความไม่เท่าเทียมโดยใช้กลไกการเจรจาทางสังคม การสร้างความยืดหยุ่นในช่วงเวลาวิกฤติ โดยการส่งเสริมการจ้างงาน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันตลาดแรงงาน การขจัดช่องว่างระหว่างเพศในโลกแห่งการทำงาน การส่งเสริมนโยบายการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงาน และการขยายขอบเขตการคุ้มครองทางสังคม

โอกาสเดียวกันนี้ นายสุชาติยังได้นำเสนอการดำเนินการของประเทศไทยในการสนับสนุนธุรกิจและแรงงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อสร้างความยุติธรรมทางสังคม ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่

- การรณรงค์ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม

- การช่วยส่งเสริมสุขภาวะในการทำงาน และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งสนับสนุนสังคมยั่งยืนในประเทศไทย

- การส่งเสริมการจ้างงานและป้องกันการเลิกจ้าง

- การจัดมหกรรมจัดหางานระดับชาติ “Job Expo Thailand” เพื่อสนับสนุนแรงงานทุกคนในการหางานที่มั่นคงและปลอดภัย ในตำแหน่งงานที่เหมาะสม

- การฝึกงานที่มีคุณภาพสู่การจ้างงานอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล

- การคุ้มครองแรงงานและการคุ้มครองสังคม

- การมีรายได้ที่มั่นคง สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ของแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ ตลอดจนแรงงานที่เปราะบาง และแรงงานข้ามชาติ

- การริเริ่มการเปลี่ยนรูปแบบเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสังคมให้หลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการออมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณอายุของลูกจ้าง

“ผมขอยืนยันความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับ ILO และประชาคมระหว่างประเทศว่า เราไม่สามารถสร้างความยุติธรรมทางสังคมได้จากความพยายามของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว ระบบไตรภาคีและการบูรณาการระหว่างทุกภาคส่วน รวมถึงนายจ้างและลูกจ้างเป็นสิ่งจำเป็น เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อโลกแห่งการทำงานที่ดีขึ้น และจะสำเร็จได้ด้วยการร่วมมือกัน ซึ่งประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมร่วมกันต่อไป”นายสุชาติ กล่าว

อินโดนีเซียเจ้าภาพ ประชุม รมว. แรงงานอาเซียน

วันที่ 13 มิถุนายน 2566 (ตามเวลาท้องถิ่น) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน โดยมีนางสาวอิดา เฟาซิยะ (H.E.Ms.Ida Fauziyah) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของอินโดนีเซีย เป็นประธานการประชุม ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

นายบุญชอบกล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนที่นครเจนีวาในครั้งนี้ มีประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ ที่ประชุมได้มีวาระสำคัญที่ นายกิลเบิร์ต เอฟ ฮองโบ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศคนใหม่ ได้ขอความร่วมมือจากประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อให้ความร่วมมือในการสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่มีความร่วมมือกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอยังได้ชื่นชมประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความแข็งแกร่งในการทำงานร่วมกันมาโดยตลอดอยู่แล้ว

ผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอยังได้หยิบยกประเด็นการรวมกลุ่มระดับโลก เพื่อความยุติธรรมทางสังคม (Global Coalition for Social Justice) ซึ่งเป็นประเด็นแนวคิดหลักที่ได้ให้ความสำคัญในการประชุมใหญ่ประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 111 ในปีนี้ และได้เน้นย้ำถึงความสำคัญอีกครั้งเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมต่อไปอีกด้วย

ปลัดแรงงานลงคะแนนเสียงรับรองร่างฯ

วันที่ 14 มิถุนายน 2566 (ตามเวลาท้องถิ่น) นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทำการลงคะแนนเสียงรับรองในวาระร่างแผนงานและงบประมาณสำหรับปี 2567-2568

รับรองการยกเลิกอนุสัญญาจำนวน 1 ฉบับ และการเพิกถอนอนุสัญญา จำนวน 4 ฉบับ พิธีสารจำนวน 1 ฉบับ และข้อแนะ จำนวน 18 ฉบับ รับรองอนุสัญญาและข้อแนะว่าด้วยสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดี รวมทั้งรับรองร่างข้อแนะว่าด้วยการฝึกงานอย่างมีคุณภาพ เพื่อกำหนดมาตรฐานแรงงานเรื่องการฝึกงาน

นายบุญชอบกล่าวว่า ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศสมาชิกของไอแอลโอ ได้ทำการลงคะแนนเสียงรับรองในวาระต่าง ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะร่างข้อแนะว่าด้วยการฝึกงานอย่างมีคุณภาพ ก่อนพิธีปิดการประชุมใหญ่ประจำปีของไอแอลโอ สมัยที่ 111 ที่นครเจนีวา

ซึ่งสาระสำคัญของร่างข้อแนะฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปกำหนดกรอบมาตรฐานแรงงานเพื่อให้การฝึกงานเป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีข้อตกลงการฝึกงานที่เป็นธรรม สร้างความเสมอภาคและความหลากหลายในการฝึกงาน รวมทั้งริเริ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับชาติ

นายบุญชอบกล่าวต่อว่า ร่างข้อแนะนี้จะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการฝึกงานของประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันการฝึกงานในสถานประกอบการมีผลต่อตลาดแรงงานไทยในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้เยาวชนได้มีประสบการณ์จริงในโลกของการทำงานแล้ว ยังช่วยให้ได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวและพัฒนาทักษะให้ตอบสนองตลาดแรงงานในอนาคตได้

แต่ในขณะเดียวกัน เยาวชนเหล่านี้ยังไม่ได้รับการคุ้มครองเช่นแรงงานทั่วไป ทั้งการได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม มีเวลาพัก ได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ใกล้เคียงกับผู้ที่เป็นพนักงานจริง นอกจากนี้ การฝึกงานนั้น เยาวชนควรจะได้เรียนรู้จากงานจริง ๆ โดยมีวิทยากรที่มีทักษะในการถ่ายทอด มาทำหน้าที่ให้ความรู้ ซึ่งในเรื่องนี้มีความสำคัญมาก

“ภายหลังจากการประชุมเสร็จสิ้น กระทรวงแรงงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะเร่งทำความเข้าใจสร้างการรับรู้ในข้อเสนอแนะจากที่ได้ประชุมในครั้งนี้ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้แก่สถานประกอบการได้ใช้เป็นแนวทางที่ดีในการแก้ไขปัญหาการฝึกงานที่ไม่ได้คุณภาพและการคุ้มครองสิทธิเด็กฝึกงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์อันสมควรต่อไป” นายบุญชอบ กล่าวท้ายสุด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 16/6/2566

ปลัดแรงงานนำทีมโหวตรับร่างข้อแนะว่าด้วยสภาพการทำงานที่ปลอดภัยฯ เวทีใหญ่ไอแอลโอ

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย น.ส.บุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ทำการลงคะแนนเสียงรับรองในวาระร่างแผนงานและงบประมาณสำหรับปี 2024 – 2025 รับรองการยกเลิกอนุสัญญาจำนวน 1 ฉบับ และการเพิกถอนอนุสัญญา จำนวน 4 ฉบับ พิธีสารจำนวน 1 ฉบับ และข้อแนะ จำนวน 18 ฉบับ รับรองอนุสัญญาและข้อแนะว่าด้วยสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดี รวมทั้งรับรองร่างข้อแนะว่าด้วยการฝึกงานอย่างมีคุณภาพ เพื่อกำหนดมาตรฐานแรงงานเรื่อง การฝึกงาน ในการประชุมใหญ่ประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 111 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

นายบุญชอบ กล่าวว่า ในวันนี้ ตนพร้อมด้วย อธิบดี กพร. อธิบดี กสร. ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศสมาชิกของไอแอลโอ ได้ทำการลงคะแนนเสียงรับรองในวาระต่างๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะร่างข้อแนะว่าด้วยการฝึกงานอย่างมีคุณภาพ ก่อนพิธีปิดการประชุมใหญ่ประจำปีของไอแอลโอ สมัยที่ 111 ที่นครเจนีวา ซึ่งสาระสำคัญของร่างข้อแนะฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อนำไปกำหนดกรอบมาตรฐานแรงงานเพื่อให้การฝึกงานเป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีข้อตกลงการฝึกงานที่เป็นธรรม สร้างความเสมอภาคและความหลากหลายในการฝึกงาน รวมทั้งริเริ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับชาติ

นายบุญชอบ กล่าวว่า ร่างข้อแนะนี้จะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการฝึกงานของประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันการฝึกงานในสถานประกอบการมีผลต่อตลาดแรงงานไทยในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้เด็กได้มีประสบการณ์จริงในโลกของการทำงานแล้ว ยังช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวและพัฒนาทักษะให้ตอบสนองตลาดแรงงานในอนาคตได้ แต่ขณะเดียวกัน เด็กเหล่านี้ยังไม่ได้รับการคุ้มครองเช่นแรงงานทั่วไป ทั้งการได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม มีเวลาพัก ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ใกล้เคียงกับผู้ที่เป็นพนักงานจริง นอกจากนี้ การฝึกงานนั้นเด็กๆ ควรจะได้เรียนรู้จากงานจริงๆ โดยมีวิทยากรที่มีทักษะในการถ่ายทอด มาทำหน้าที่ให้ความรู้ ซึ่งในเรื่องนี้มีความสำคัญมาก

“ภายหลังจากการประชุมเสร็จสิ้น กระทรวงแรงงานโดย กสร. จะเร่งทำความเข้าใจสร้างการรับรู้ในข้อเสนอแนะจากที่ได้ประชุมในครั้งนี้ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้แก่สถานประกอบการได้ใช้เป็นแนวทางที่ดีในการแก้ไขปัญหาการฝึกงานที่ไม่ได้คุณภาพและการคุ้มครองสิทธิเด็กฝึกงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์อันสมควรต่อไป” นายบุญชอบ กล่าว

ที่มา: มติชน, 15/6/2566

“พิธา” เยือนขอบคุณชาวลำพูน ปราศรัยคนล้นๆ ย้ำนโยบายแรงงาน เด็กเล็ก เกษตรกร มั่นใจเปลี่ยนประเทศได้แน่ขอแค่ทุกคนเดินเคียงข้างกันไป

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย กรุณพล เทียนสุวรรณ รองโฆษกพรรคก้าวไกล และ นิติพล ผิวเหมาะ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร่วมกิจกรรมเดินสายขอบคุณประชาชนในจังหวัดภาคเหนือต่อเนื่อง โดยได้เดินทางออกจาก จ.ลำปาง มายัง จ.ลำพูน ซึ่งพรรคก้าวไกลได้ ส.ส. 1 ที่นั่งจากทั้งหมด 2 ที่นั่ง คือ วิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก จากเขต 1

ในช่วงหนึ่งของการปราศรัย พิธา ได้เริ่มต้นด้วยการกล่าวขอบคุณชาวลำพูน สำหรับความไว้วางใจที่มอบให้กับพรรคก้าวไกล ตอนเป็นพรรคอนาคตใหม่ชาวลำพูนให้ความไว้วางใจเรา 25% ไม่ได้ ส.ส. สักที่นั่ง สี่ปีผ่านไปชาวลำพูนให้ความไว้ใจเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า คิดเป็นกว่า 40% ทั้งจังหวัด เลือกตั้ง 14 ครั้งที่ผ่านมาชาวลำพูนออกไปใช้สิทธิมากที่สุดในประเทศไทยเสมอ มารอบนี้ให้ความไว้วางใจพรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับหนึ่งในเขต 1 ได้มากว่า 6 หมื่นคะแนน ส่วนเขต 2 ได้มา 4.3 หมื่นคะแนน มาเป็นอันดับที่สอง ซึ่งตนขอสัญญาว่าจะไม่ทำให้ทุกคนผิดหวังแน่นอน

รัฐบาลก้าวไกลจะทำให้ชาวลำพูนไม่ลำบากอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นแรงงานจำนวนมากที่อยู่นอกระบบประกันสังคม เข้าไม่ถึงสวัสดิการ ได้รับค่าแรงน้อยเกินไป หรือจะเป็นลูกเล็กเด็กแดงที่ต้องอยู่โดยลำพัง เข้าไม่ถึงสวัสดิการถ้วนหน้า เราจะผลักดันเบี้ยเด็กเล็ก 0-6 ขวบ 1,200 บาทให้สำเร็จ รวมถึงพี่น้องเกษตรกร หากพิธาจัดตั้งรัฐบาลได้เมื่อไหร่สุราก้าวหน้ามาแน่นอน อีกหน่อยลำใยจะราคาแพง วันไหนที่ราคาถูกลงก็เอาลงขวดขายเป็นสุราส่งออกทั่วโลกได้

พิธายังกล่าวต่อไปว่า แม้วันนี้เราจะมาเฉลิมฉลองชัยชนะของเรา แต่เรายังมีงานต้องทำกันอีกเยอะ เราต้องทำให้ลำพูนเป็นเมืองที่ไม่มีใครต้องอยู่อย่างลำบาก ไม่มีใครต้องอยู่อย่างลำพัง เราจะทำให้ลำพูนเป็นมากกว่าเมืองลำใยอันดับหนึ่งของภาคเหนือ และสิ่งเดียวที่เราอยากขอจากทุกคน คือการเดินเคียงข้างกันไปกับเราเท่านั้น

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 15/6/2566

ผู้ประกอบการร่วม ก.แรงงาน หนุนช่างแอร์ก้าวทันเทคโนโลยี-เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีสาเหตุและปัจจัยหลายด้านที่ส่งผลให้เกิดสภาวะดังกล่าว รวมถึงสุขภาพของประชาชนด้วย ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาวะโลกร้อน ด้วยการนำวัสดุต่างๆ ที่ใช้หรือที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงแรงงาน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันที่เราพบเห็นบ่อยๆ นั่นคือการใช้เครื่องปรับอากาศ ซึ่งจะมีสารทำความเย็นเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมได้ ดังนั้นการถอดประกอบ การติดตั้ง รวมไปถึงการรื้อถอนของเดิมเพื่อย้ายไปติดตั้งใหม่ ตลอดจนการยกเลิกใช้งานของเครื่องปรับอากาศ ทุกขั้นตอนส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ช่างติดตั้งเครื่องปรับอากาศต้องมีความรู้ ความเข้าใจเพื่อช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่กำลังแรงงานของประเทศ เร่งพัฒนาทักษะให้ความรู้แก่ผู้ประกอบอาชีพและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันส่งเสริมและแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมให้วางแผนการดำเนินงานในระยะยาวในการลดภาวะโลกร้อนและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

ด้านของนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีการบูรณาการร่วมกับภาคเอกชนและผู้ประกอบกิจการหลายแห่งที่ให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาทักษะฝีมือ ด้วยการนำวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการฝึกอบรมให้แก่แรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มของเทคโนโลยีด้านเครื่องปรับอากาศ ได้ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ รวมถึงกลุ่มองค์กรระหว่างประเทศเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ล่าสุดได้ร่วมหารือกับบริษัท สยามไดกิ้นเซลล์ จำกัด เตรียมจัดอบรมให้ความรู้แก่ช่างแอร์ทั่วประเทศ ในหลักสูตร การกู้คืนสารทำความเย็นในระบบเครื่องปรับอากาศ ใน 4 จังหวัดได้แก่ สมุทรปราการ ปทุมธานี ชนบุรีและนครราชสีมา รวม 120 คน ในเบื้องต้นจะนำร่องจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 20 คน เพื่อขยายผลการฝึกไปอีก 4 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการกู้คืนสารทำความเย็นนั้น คือการกักเก็บสารทำความเย็นที่เลิกใช้งานแล้วหรือกักเก็บเพื่อนำไปใช้ใหม่ ซึ่งการกู้คืนสารทำความเย็นจะเกิดขึ้นในกรณีที่มีการลื้อถอนเปลี่ยนที่ติดตั้งแอร์ไปยังสถานที่อื่น จำเป็นต้องมีการนำสารทำความเย็นออกจากเครื่องปรับอากาศไปใส่ในถังกักเก็บโดยไม่ปล่อยสารนั้นออกมาภายนอก ซึ่งอาจส่งผลต่อชั้นบรรยากาศและมีผลต่อสุขภาพของประชาชนได้ ดังนั้น กรมจึงร่วมกับบริษัทในการให้ความรู้แก่ช่างผู้ปฏิบัติงาน

นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า ในครั้งนี้ บริษัทได้มอบ เครื่องกู้สารทำความเย็น จำนวน 16 ถัง และถังบรรจุสารทำความเย็น อีกจำนวน 32 ถัง รวมมูลค่า 569,600 บาท เพื่อส่งมอบให้แก่หน่วยงานของกรมนำไปจัดฝึกอบรมต่อไป ที่ผ่านมากกรมและบริษัท ได้ร่วมกันพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ประกอบกิจการที่เป็นตัวแทนจำหน่าย ช่างเครื่องปรับอากาศไปแล้วหลายหลักสูตร อาทิ การติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนที่ใช้สารทำความเย็น R 32 การติดตั้งเครื่องปรับอากาศภายในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก การซ่อมบำรุงและการแก้ไขปัญหาเครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ และการติดตั้งเครื่องปรับอากาศระบบ VRV มีผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 1,143 คน นอกจากนี้ ยังร่วมกันจัดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเครื่องปรับอากาศภายในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ระดับ 1 มีผู้ผ่าน จำนวน 1,112 คน การจัดฝึกอบรมจะเน้นให้ความรู้ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศที่เป็นมิตรต่อสิงแวดล้อม และร่วมกันเร่งแก้ปัญหาด้านนิเวศน์และมลพิษในอากาศ

"ช่างเครื่องปรับอากาศเป็นอีกหนึ่งสาขาอาชีพตลาดแรงงานต้องการ เป็นแหล่งสร้างรายได้ที่ดีให้แก่ช่างฝีมือ โดยช่างต้องมีการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงพร้อมสนับสนุนการพัฒนาช่างให้มีทักษะฝีมือความรู้ดังกล่าว และบริการประชาชนแบบครบวงจร ดังนั้น ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าฝึกอบรมได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 "นางสาวบุปผา กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 14/6/2566

ลูกจ้างโรงงานปั่นฝ้าย ร้องกระทรวงแรงงาน ถูกนายจ้างเบี้ยวเงินเดือน สั่งให้หยุดงาน ค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เม.ย.66 ไม่ชัดเจนผลิตต่อหรือปิดกิจการ

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.66 ที่กระทรวงแรงงาน นายเซีย จำปาทอง ว่าที่ สส. พรรคก้าวไกล นำนายวัชรินทร์ กล่ำภาภรณ์ นางบังอร ศรีวงค์แสง พร้อมกลุ่มลูกจ้างของบริษัท แอลฟ่า สปินนิ่ง ซึ่งประกอบธุรกิจปั่นฝ้าย ในจ.สมุทรปราการ ประมาณ 60 คน ที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน บังคับใช้กฎหมายกับกรรมการผู้จัดการของ บริษัทแอลฟ่า สปินนิ่ง ซึ่งประกอบธุรกิจสิ่งทอ เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการถูกลดค่าจ้าง 50 เปอร์เซนต์ มาตั้งแต่ปี 2563

สาเหตุจากนายจ้างสั่งให้หยุดงานไม่จ่ายค่าจ้าง และค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือนเม.ย.66 โดยนายจ้างไม่ดำเนินการเรื่องใดๆ ให้เกิดความชัดเจนว่า จะผลิตต่อหรือจะปิดกิจการ ตั้งแต่เดือนเม.ย.66 ถึงปัจจุบัน ทำให้ลูกจ้างได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนอย่างมาก ในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆในการดำรงชีวิต จึงรวมตัวกันมาเพื่อให้ช่วยดำเนินการในข้อเรียกร้องดังนี้

1.ให้รัฐติดตามนายจ้างมาประชุมเพื่อแก้ไขปัญหา ความชัดเจนของลูกจ้างแอลฟ่า สปินนิ่ง 2.ให้รัฐนำเงินมาสำรองจ่ายให้กับลูกจ้าง ตามจำนวนที่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับทั้งหมด แล้วให้รัฐไปเรียกเก็บคืนจากนายจ้าง 3.ให้รัฐจัดหางานให้ลูกจ้างระหว่างที่ยังไม่มีงานทำ 4.ให้รัฐดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา โดยเด็ดขาดและทันทีกับนายจ้าง เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับนายจ้างรายอื่นๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมา นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) มอบหมายให้ นายสมพงษ์ คล้อยแคล้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม กสร. เป็นผู้แทนกระทรวงแรงงาน รับมอบหนังสือขอความช่วยเหลือกรณีลูกจ้างโรงงานสิ่งทอ จ.สมุทรปราการ ถูกค้างจ่ายค่าจ้าง จากผู้นำแรงงานและลูกจ้าง

โดยประชุมหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาของลูกจ้างกลุ่มนี้ ที่ห้องประชุมคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ชั้น 1 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีเจ้าหน้าที่กองคุ้มครองแรงงาน สำนักแรงงานสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน สสค.สมุทรปราการ เข้าร่วมประชุม

และสั่งการให้กองคุ้มครองแรงงานดำเนินการรับคำร้อง (คร.7) บันทึกข้อเท็จจริงจากตัวแทนลูกจ้าง รวมถึงเตรียมเอกสารเพื่อยื่นคำขอรับเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างว่า ด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เบื้องต้น กรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และส่งให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยกลุ่มพนักงานบางส่วนยังคงพักรออยู่ที่ห้องโถงชั้นล่างของกระทรวงแรงงาน

ต่อมาเวลา 12.00 น. การหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาของลูกจ้าง บจก.แอลฟ่า สปินนิ่ง ที่ห้องประชุม ครส. นายสมพงษ์ คล้อยแคล้ว หน.ผต.กสร. เป็นผู้แทนกระทรวงแรงงาน เข้าหารือกับตัวแทนลูกจ้างเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา พร้อมรับข้อเสนอจากตัวแทนลูกจ้างไปดำเนินการต่อไป

1.ติดตามตัวนายจ้างให้เข้าร่วมหารือเพื่อแก้ไขปัญหา มอบ กคร. และ สสค.สมุทรปราการ ประสานนายจ้างให้เข้าร่วมหารือ ภายในวันที่ 19 มิ.ย. 66 เวลา 13.30 น.

2.ขอให้ตรวจสอบข้อมูลผลการประกอบกิจการจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และการตรวจสอบทรัพย์สินของนายจ้างเพื่อป้องกันการหลบหนี ผวจ.สมุทรปราการ มีหนังสือสั่งการให้ จนท.ตำรวจท้องที่ เข้าตรวจสอบการมีอยู่ของทรัพย์สิน เครื่องจักรต่างๆ ของนายจ้างในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งตามมาตรา 139 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 66 เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด หากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินคดีกับนสยจ้างต่อไป มอบหมายให้ สสค.สมุทรปราการ สืบทรัพย์สินและหนี้สินของนายจ้าง แล้วรายงานให้ทราบ

3.การขอให้พิจารณาให้ความช่วยจากเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างโดยเร่งด่วน โดยกองทุนฯ จะประชุม คกก.กองทุนฯ ในวันที่ 19 ก.ค.66 ทั้งนี้จะกำหนดนัดหมาย คกก. ให้เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาให้เร็วขึ้น โดยจะนำประเด็นเข้าหารือก่อนในการประชุมรอบวันที่ 22 มิ.ย. 66 เพื่อนัดหมายประชุมพิจารณาในรอบประชุมเดือนก.ค. 66

4.ขอให้กระทรวงแรงงาน จัดหาเงินงบประมาณมาช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อน

5.ขอให้จัดหางานให้กับลูกจ้าง ภายหลังการหารือเสร็จสิ้น นายเซีย จำปาทอง ขอให้เจ้าหน้าที่ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อติดตามความคืบหน้าต่อไป กลุ่มแรงงานจึงเดินทางกลับ

ที่มา: ข่าวสด, 14/6/2566

‘ครู’ งานหนักมาก เร่งคืนอัตรา-บรรจุทดแทน-เพิ่มธุรการ ส่งต่อรัฐบาลใหม่บริหาร แก้ปัญหาต่อ

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กรณีที่นักวิชาการระบุถึงปัญหาครูที่ตั้งใจทำงานกำลังทยอยลาออก สาเหตุเพราะทนระบบไม่ไหว ต้องแบกภาระอื่น ทำให้ไม่มีเวลาทุ่มเทกับงานสอน โดยขอให้ ศธ.เร่งแก้ปัญหานั้น ซึ่งน.ส.ตรีนุช ก็ยอมรับว่าปัจจุบันครูทำงานค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ต้องทำทั้งเรื่องงานสอน แล้วยังต้องทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังไม่นับภัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ศธ.จึงพยายามแก้ไขปัญหา พยายามคืนครูกลับสู่ห้องเรียน เพิ่มอัตราธุรการ ภารโรง เข้ามาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานของครู โดยได้กำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เข้าไปดูแลความเหมาะสม โดยขอให้เร่งจัดสรรอัตราดังกล่าวให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนก่อนเป็นลำดับแรก

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวคงต้องใช้เวลา จากนี้คงเป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารงาน สิ่งที่ตนพยายามดำเนินการมาตลอดคือการคืนครูสู่ห้องเรียน เพราะเป้าหมายสำคัญคือคุณภาพของผู้เรียน ขณะที่ปัญหาสำคัญคือภาระงานของครูที่มาก ที่สำคัญคือเรื่องงบประมาณที่จะมาดูแลบุคลากร เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับครูในการทุ่มเททำงานดูแลนักเรียน และดูแลเรื่องการจัดสรรอัตราครูธุรการ ภารโรง มาช่วยแบ่งเบาภาระงานอื่นๆ ของครูให้น้อยลง โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 13/6/2566

โรงเรียนขนาดเล็กสะท้อนปัญหา พบ ขาดครูธุรการนักการภารโรง รวมถึง อุปกรณ์ในการเรียนผ่าน DLTV เสียหายจำนวนมาก

ด้าน สพฐ.กำหนดให้ มิ.ย. เป็นเดือนแห่งการเยี่ยมบ้านนักเรียน หวังเป็นจุดเริ่มต้นในการรับข้อมูลจากผู้ปกครองอย่างแท้จริง

 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการการกระทรวงศึกษาธิการ  เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ของส่วนราชการการศึกษาในจังหวัดพัทลุง พบว่า ทุกหน่วยงานต่างปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลัง มีผลการดำเนินงานที่ชัดเจน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้น

 “เรื่องที่ต้องดำเนินการสานต่อจากนี้ คือ การสร้างโอกาสทางการศึกษา จากโครงการ พาน้องกลับมาเรียนค้นหา ติดตามเด็กตกหล่นและออกกลางคันกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แล้วประสานเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ทั้ง สพฐ. ศึกษาธิการจังหวัด อาชีวศึกษา และกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อจัดการศึกษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และมีกระบวนการป้องกันการหลุดออกจากระบบ , ต้องลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนบ้านนักเรียน 100% ซึ่งทาง สพฐ.กำหนดให้ เดือนมิ.ย.เป็นเดือนแห่งการเยี่ยมบ้านนักเรียน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลช่วยเหลือเด็กในทุกๆเรื่องจากข้อมูลของนักเรียนที่ได้รับจากพ่อแม่ผู้ปกครองโดยตรง อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ในการออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม รวมถึงการส่งเสริม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาของความไม่ปลอดภัยร่วมกับผู้ปกครองที่ได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น” รมว.ศธ. กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการประชุม น.ส.ตรีนุช ได้เปิดโอกาสให้ผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่จังหวัดพัทลุงรายงานผลการจัดการศึกษา ซึ่งพบว่าสถานศึกษาส่วนใหญ่ต่างประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรผู้สอน หลายโรงเรียนครูเกษียณอายุราชการไปแล้วแต่ไม่ได้รับครูกลับคืนมาแม้จะเป็นไปตามเงื่อนไข ว 23 แต่ก็ยังติดปัญหา ขณะที่อีกหลายโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กประสบปัญหาขาดเจ้าหน้าที่ธุรการ นักการภารโรง และระบบรับสัญญาณ DLTV ชำรุด ไม่สามารถใช้งานได้ ไม่มีงบฯในการซ่อม ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กที่อาศัยการเรียนผ่ายระบบทางไกลประสบปัญหา จึงขอให้ รมว.ศธ.เร่งรัดแก้ไขปัญหาให้เร่งด่วน

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 11/6/2566

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net