Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากโรงเรียนออกแลงการณ์ว่าหยก “ไม่มีสภาพการเป็นนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ” ต่อมาหยกได้โพสเฟสบุ๊คชี้แจง 5 ข้อ 1 ใน 5 คือ “ไม่ได้เลือกเรียนเฉพาะวิชาที่ชอบ แต่เห็นว่าวิชาจริยธรรม เป็นวิชาที่ไม่มีประโยชน์ คิดว่าสอนกันมาแบบนี้ก็ไม่มีใครเป็นคนดีขึ้น จากการต้องฟังว่าเราต้องเป็นคนดี” (ดู https://www.thairath.co.th/news/society/2702731

จากข้อความดังกล่าว ผู้ใหญ่บางคนเข้าใจผิดว่าหยกปฏิเสธที่จะเรียนวิชา “จริยศาสตร์” หรือ Ethics ที่เรียนกันในหลายประเทศ แต่ที่จริงหยกปฏิเสธการเรียน “วิชาพระพุทธศาสนา” หรือ “วิชาศีลธรรม” ที่เน้นสอนให้เป็น "คนดีแบบไทย" ครับ ไม่ใช่ปฏิเสธ Ethics หรือ moral philosophy ที่เป็นวิชาที่ศึกษาปัญหาว่าศีลธรรมคืออะไร บรรทัดฐานถูกผิดทางศีลธรรมคืออะไร ถ้าเราบอกว่าการกระทำหนึ่งใด “ถูก” หรือ “ดี” เรามีเกณฑ์ตัดสินอย่างไร คุณค่า ความหมาย หรือเป้าหมายของการมี “ชีวิตที่ดี” คืออะไร เป็นต้น 

วิชา Ethics หรือ moral philosophy ไม่มีเรียนในโรงเรียนประถมและมัธยมของบ้านเราครับ (ขณะที่ประเทศเสรีประชาธิปไตยเขามีเรียน Ethics และห้ามบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนรัฐบาล) ถ้ามีเรียน Ethics ในโรงเรียนประถมและมัธยมในบ้านเรา เชื่อว่าคนรุ่นใหม่แบบหยกน่าจะชอบ เพราะได้เปิดโลกทัศน์ต่อมุมมองที่แตกต่างและหลากหลายเกี่ยวกับเรื่องดี ชั่ว ถูก ผิด คุณค่า ความหมาย และเป้าหมายชีวิต รวมถึงหลักการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพความเป็นมนุษย์ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดที่เป็นเจ้าของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการมีส่วนร่วมสร้างกติกาที่เป็นธรรมทางสังคมและการเมืองร่วมกัน 

เป้าหมายการเรียน Ethics หรือ moral philosophy มุ่งให้ผู้เรียนมี "อิสรภาพทางศีลธรรม" (moral autonomy) คือมีอิสรภาพในการตัดสินดี ชั่ว ถูก ผิด ด้วยวิจารณญาณของตนเอง และสามารถบัญญัติกฎศีลธรรมและกติกาทางสังคมการเมืองขึ้นใช้กับตัวเองและใช้ร่วมกันกับทุกคนได้อย่างมีหลักการและเหตุผล

แต่บ้านเราบังคับเรียนวิชาศาสนาที่เน้นการปลูกฝังยัดเยียด ซึ่งขัดหลักเสรีภาพภาพแห่งมโนธรรม (freedom of conscience) และเสรีภาพทางศาสนา (freedom of religion) ของนักเรียน
 
พูดอีกอย่าง Ethics หรือ moral philosophy มุ่งปลดปล่อยผู้เรียนให้มีอิสรภาพทางความคิดและเป็นตัวของตัวเอง ทำให้ผู้เรียนรู้ว่ารัฐเป็นเครื่องมือรับใช้พลเมือง หรือรัฐเป็นเครื่องมือปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นคนและความยุติธรรมเพื่อพลเมืองทุกคน แต่การบังคับเรียนศาสนา มุ่งครอบงำให้พลเมืองเป็นเครื่องมือรับใช้รัฐ (กลุ่มผู้มีอำนาจรัฐที่เป็นคนส่วนน้อย) มันจึงละเมิดความเป็นคนของพลเมืองทุกคน

เนื่องจาก Ethics เป็นปรัชญาสาขาหนึ่ง กระบวนการเรียนจึงใช้  “วิธีการทางปรัชญา” ซึ่งต่างจาก “วิชาศาสนา” หรือ “วิชาศีลธรรม” ที่เน้นการสอนว่า “จงทำสิ่งนั้นสิ่งนี้เพื่อให้เป็นคนดีหรือได้รับผลตอบแทนที่ดี” สิ่งที่เราต้องทำตามก็คือหลักศีลธรรมตามความเชื่อทางศาสนนั้นๆ แต่การเรียน Ethics จะตั้ง “คำถามเชิงปรัชญา” ที่ทำให้เกิดการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ และข้อสรุปหรือข้อเสนอที่มีหลักการและเหตุผลสนับสนุน

เช่น คำถามเชิงปรัชญาที่เข้ากับข้อเรียกร้องของหยกและฝ่ายที่โต้แย้งหยกในเวลานี้ ก็คือคำถามที่ว่า “การทำตามกฎเป็นสิ่งที่ดีเสมอไปไหม?” 

ต่อคำถามเช่นนี้ เราสามารถนำแนวคิดทางปรัชญามากกว่าหนึ่งมาอภิปรายถกเถียง ตัวอย่างเช่น แนวคิดของอิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) มองว่าการทำตามกฎที่กำหนดให้เราทำตาม เช่น กฎทางศาสนา กฎทางสังคมต่างๆ (ที่ไม่เคารพเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเรา) ย่อมไม่ใช่การกระทำที่มีคุณค่าเป็น "ความดีทางศีลธรรม" เพราะภายใต้กฎเช่นนั้น เราไม่มีเสรีภาพในการทำตามเหตุผลของตนเอง

การกระทำตามกฎที่มีคุณค่าเป็นความดีทางศีลธรรม ต้องเป็นการทำตาม "กฎที่เราบัญญัติขึ้นเอง" (หรือมีส่วนร่วมบัญญัติขึ้น) บนพื้นฐานของการเคารพความเป็นมนุษย์ของเรา (และทุกคน) ในฐานะที่เราเป็น being ที่มีเหตุผล เสรีภาพ ความเสมอภาค และมีจุดหมาย (หรือศักดิ์ศรี) ในตัวเอง

ดังนั้น จึงไม่ใช่จะพูดเป็นสูตรสำเร็จว่า "คนเราต้องทำตามกฎเพราะสังคมมีกฎของสังคม" ก็แปลว่า "ถูกต้อง" อย่างเถียงไม่ได้แล้ว เพราะเราจำเป็นต้องถามต่อว่า "กฎที่เราควรทำตามคือกฎแบบไหน" ถ้าเพียงแต่ต้องก้มหน้าก้มตาทำตามกฎอย่างเชื่องๆ ก็ย่อมไม่ใช่การกระทำของมนุษย์ผู้มีเสรีภาพและศักดิ์ศรีในตัวเอง

ความคิดทำนองนี้เห็นได้มากมาย เช่น การประท้วงในหนังเรื่อง "Suffragette" ที่บรรดาผู้ประท้วงหญิงตระโกนว่า "เราไม่ต้องการเป็นเพียงผู้ทำตามกฎ แต่ต้องการเป็นผู้บัญญัติกฎ" และตามไอเดียคานท์ กฎจะเป็นกฎที่น่าเคารพก็เพราะมันเป็นกฎที่เราบัญญัติขึ้นจากการใช้เสรีภาพและเหตุผลของเราเอง

 

(ดู 13 things you didn't know about the suffragettes, https://www.goodhousekeeping.com/uk/news/a557094/13-things-you-didnt-know-about-the-suffragettes/)


เงื่อนไขของ “การเป็นกฎที่ควรเคารพ” ตามไอเดียแบบคานท์คือ กฎนั้นต้องเป็นกฎที่เรามีเสรีภาพใช้เหตุผลของตนเองบัญญัติขึ้น หรือเราต่างมีส่วนร่วมบัญญัติขึ้น และต้องเป็นกฎที่ปกป้องความเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผล เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีในตัวเองของเราทุกคน 

ดังนั้น ที่หยกต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎด้วยเหตุผลที่ว่า “กฎเหล่านั้นนักเรียนไม่ได้มีส่วนร่วมในการบัญญัติขึ้นอย่างแท้จริง และขัดกับสิทธิในร่างกายของเรา” จึงเป็น “เหตุผลที่ฟังขึ้น” เมื่อมองจากไอเดียทางปรัชญาหรือ Ethics แบบคานท์

แต่ยังมีไอเดียแบบประโยชน์นิยม (utilitarianism) ของจอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ที่มองว่า “แค่ทำตามกฎไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป ต้องดูด้วยว่าผลของการทำตามกฎนั้นๆ มีประโยชน์หรือไม่” หลักการนี้เราเข้าใจง่ายๆ จากตัวอย่างมากมาย เช่น ทหาร ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำตามกฎของนาซีหรือคำสั่งของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ผลก็คือความเลวร้ายอย่างที่เห็นในประวัติศาสตร์

สำหรับมิลล์ กฎใดๆ ที่จะก่อประโยชน์สุขแก่ปัจเจกบุคคลและสังคมส่วนรวมได้จริง จะต้องเป็นกฎที่ปกป้องเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมือง 

ที่หยกมองว่าวิชาจริยธรรมแบบที่สอนกันในบ้านเรา “ไม่มีประโยชน์” ถ้ามองจากไอเดียแบบมิลล์ก็จะพบว่า การบังคับเรียนศีลธรรมศาสนาในบ้านเราขัดหลักเสรีภาพแห่งมโนธรรมและเสรีภาพทางศาสนาดังกล่าวแล้ว จึงไม่ใช่การเรียนที่เกิดประโยชน์ได้จริง ตรงกันข้ามการบังคับเรียนเช่นนั้นเป็นการนำศาสนามาใช้ในการ “ครอบงำ” เพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครองและองค์กรศาสนามากกว่าที่จะเกิดประโยชน์ในแง่สนับสนุนอิสรภาพทางปัญญาของผู้เรียน

อีกหนึ่งปัญหาที่ “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” วิจารณ์คือ คนรุ่นใหม่แบบหยก “เอาแต่ใจตัวเอง” อะไรๆ ก็เรียกร้องจะเอาแต่ “สิทธิเสรีภาพ” เท่านั้น อย่างนี้ก็ได้หรือ ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ดีอื่นๆ บ้างหรือ เช่น “หน้าที่” ต้องทำตามกฎของสังคมเป็นต้น

นี่เป็นความเข้าใจผิด หรือ “พยายามทำให้เกิดความเข้าใจผิด” เพราะจริงๆ แล้วคนรุ่นใหม่ไม่ได้เรียกร้องจะเอาแค่สิทธิเสรีภาพ พวกเขายังเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมการเมือง รัฐสวัสดิการ การพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา และอื่นๆ เช่นเดียวกันปรัชญาที่เสนอแนวคิดสิทธิเสรีภาพ ก็ไม่ได้เสนอสิทธิเสรีภาพเพียวๆ แต่เสนออย่างเชื่อมโยงกับคุณค่าพื้นฐานอื่นๆ เช่น ความเสมอภาค ภราดรภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประโยชน์สุขของปัจเจกบุคคลและส่วนรวม หลักความยุติธรรมสาธารณะ เป็นต้น

คำถามที่ย้อนกลับมาหาผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อนอย่างเราๆ คือ ก่อนจะ “เกรี้ยวกราด” กับการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพแบบหยก เรา “ฟัง” ข้อเรียกร้อง หลักการ และเหตุผลของหยกหรือคนรุ่นใหม่บ้างหรือยัง หรือว่าฟังแล้วแต่ “ไม่เก็ต” หรือเก็ตแล้วแต่ “เถียงไม่ได้” และกลัววัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยมที่หล่อหลอมเป็นตัวตนของเราจะแหลกหลายไปต่อหน้า เลยต้องเกี้ยวกราดและหาแง่จับผิดและลงโทษให้จงได้

ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ชัดเจนว่าข้อเรียกร้องของหยกได้ท้าทายพวกเรา หรือท้าทายว่าครูอาจารย์ ผู้บริหารโรงเรียน กลุ่มผู้ปกครองนักเรียน ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการสามารถปฏิบัติตามหลักจริยธรรมตามที่นำมา "สอนนักเรียน" ได้หรือไม่

หนึ่ง คือ ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมพุทธ ที่นำมาสอนในวิชาพระพุทธศาสนาได้หรือไม่ เช่น สามารถใช้ "ปัญญา" ทำความเข้าใจความคิด เหตุผลของเด็กรุ่นใหม่ตามเป็นจริงได้ไหม ใช้กรุณาหรือ empathy ความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจและโอบอุ้มคนรุ่นใหม่ที่คิดต่างจากเราได้หรือไม่ และ

สอง คือ ทำ “หน้าที่” ทางจริยธรรมสากล คือหน้าที่ในการเคารพและปกป้องสิทธิทางการศึกษาของนักเรียนที่รับรองไว้ในหลักสิทธิมนุษยชนสากลได้ไหม

ถ้า "ผู้ใหญ่" ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักจริยธรรมสากล และหลักจริยธรรมพุทธที่นำมาสอนนักเรียนได้ แล้วจะบังคับให้เด็กๆ เรียนจริยธรรมไปทำไม

ทางออกที่ควรจะเป็นคือ ต้องยกเลิกการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ ให้เรียน Ethics หรือ moral philosophy เหมือนประเทศเสรีประชาธิปไตยเขาเรียนกัน!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net