Skip to main content
sharethis

สรุปสัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการรัฐศาสตร์อาวุโส มองภาพการเมืองหลังเลือกตั้ง เมื่ออำนาจเก่าเปิดแนวรบสกัดก้าวไกล (ออกอากาศเมื่อ 5 มิ.ย. ทางมติชนทีวี)

  • กระแสพรรคก้าวไกล นำมาซึ่งการ “ปลุกกระแสขวา” ข่าวลือและทฤษฎีสมคบคิดแพร่กระจายในมวลชนขั้วอนุรักษนิยมสุดโต่ง เช่น อเมริกาจะมาตั้งฐานทัพในไทย สุรชาติมองว่ากระแสความกลัวของปีกขวานั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง และมีความคล้ายกับช่วงปี 2518-2519 ซึ่งจบลงด้วยเหตุการณ์สังหารหมู่ธรรมศาสตร์
  • แม้ผลเลือกตั้งจะชี้ว่าคนส่วนใหญ่ไม่เอาทหารแล้ว อย่างไรก็ตาม ปีกขวาไม่เคยตาย สุรชาติเสนอ 2 ทางออกให้ปีกขวาหากต้องการยืนระยะในการเมืองไทย ข้อแรกคือตั้งพรรคการเมืองให้เหมือนฝั่งขวาในยุโรป และสองคือเลิกข้องเกี่ยวพึ่งพาอำนาจจากการรัฐประหาร
  • สุรชาติ ยังกล่าวถึงปัญหาที่ตามมาเมื่อมองการเมืองไทยเป็นเรื่อง 2 เฉดเหมือนอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งตนมองว่าไม่เวิร์ค ควรมองให้เป็นสเปกตรัมหลายเฉดแบบยุโรปจะเหมาะกว่า เพราะไทยยังมีระบบมุ้งการเมืองอยู่ 
  • ประเด็น 250 ส.ว. และกรณีหุ้นสื่อไอทีวี ทำให้เราเห็นว่าตัวรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาในตัวเอง นำมาซึ่งภาวะติดล็อกทางการเมืองและความไม่สบายใจของโหวตเตอร์
  • หลายคำถามของโหวตเตอร์ก็สะท้อนให้เห็นปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองไทย เช่น เลือกตั้งแล้วแต่จะตั้งรัฐบาลได้ไหม เสียงข้างมากวัดกันที่ตัวเลขไหน ทำไม กกต. ใช้เวลานานขนาดนี้กว่าจะรับรองผล และ มี ส.ว. กี่คนจะโหวตให้พิธาเป็นนายกฯ
  • เมื่อระบบการเมืองติดล็อก ทางเดียวที่อาจเกิดคือปฏิกิริยาของมวลชน และอารมณ์ทางการเมืองของคนเป็นอะไรที่น่ากลัวที่สุด 
  • สำหรับประเด็นกระบวนการต่อรองหลังการเลือกตั้ง สุรชาติมองว่าเป็นเรื่องปกติมาก ใครจะต่อรองกันอย่างไรเป็นเงื่อนไขในระบบรัฐสภา บวกกับเงื่อนไขของพรรคที่ชนะเองก็ไม่ได้ชนะแบบขาด เพราะฉะนั้นการต่อรองยังไงก็ต้องเกิด อันจริงตอนตั้งรัฐบาลหลังรัฐประหารก็มีการต่อรองบางอย่าง เพียงแต่ว่าข่าวพวกนั้นเรามักไม่ค่อยได้ยิน  

เมื่ออำนาจเก่าเปิดแนวรบสกัดก้าวไกล

สุรชาติ ให้มุมมองเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับสภาวะทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ที่แม้พรรคก้าวไกลจะชนะการเลือกตั้ง แต่ยังต้องลุ้นว่าจะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ อาจเรียกภาวะนี้ได้ว่า “มีชัย แต่ไม่ชนะ” เนื่องด้วยระยะเวลากว่า กกต.จะประกาศรับรองผลนั้นนานพอสมควร ทำให้โหวตเตอร์ก็รออย่าง “ใจตุ๊มๆ ต่อมๆ” ว่าจะมีอะไรพลิกผันหรือไม่ นำมาซึ่งข่าวลือสารพัด ทั้งเรื่องการวิเคราะห์สถานการณ์โดยใช้ทฤษฎีสมคิด รวมถึงข่าวลือตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งเรื่องการแจกใบเหลือง ใบส้ม เป็นต้น 

9 ปีผ่านไปนี้ เราอยากเห็นการเมืองที่เดินในระบบ เดินภายใต้กติกา ถึงแม้จะเป็นกติกาที่เขียนขึ้นจากรัฐประหาร แต่ปัญหาก็คือว่ากติกานี้มันก็สร้างเงื่อนไขที่ทำให้การเมืองมีปัญหาในตัวเอง ตัวรัฐธรรมนูญสุดท้ายกลายเป็นชนวนของปัญหาในตัวของมันเอง แต่ตนว่าวันนี้พวกเราก็เริ่มเห็นแล้วแหละว่ามันส่งผลอย่างไร พอเป็นอย่างนี้ มันก็มีข่าวลือสารพัดข่าว สถานการณ์ตอนนี้มันเหมือนเราวิเคราะห์การเมืองแบบทฤษฎีสมคบคิดค่อนข้างมาก คือเอาฝ่ายโน้นจับใส่ฝ่ายนี้ เอาฝ่ายนี้จับใส่ฝ่ายโน้น แล้วก็มีข่าวทุกอย่างเอามาประกอบ แต่คำถามคือแล้วตกลงความเป็นจริงของข้อมูลมีมากน้อยเพียงไร เรามักตอบไม่ค่อยได้ อาจต้องตั้งหลักคิดกันนิดหนึ่ง

“ถ้าสมมติเราเป็นคนดูการเมือง ผมว่ากระบวนการการต่อรองหลังการเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติมาก ใครจะต่อรองกันอย่างไรอันนี้ต้องยอมรับ เพราะมันเป็นเงื่อนไขในระบบรัฐสภา บวกกับเงื่อนไขของพรรคที่ชนะเองก็ไม่ได้ชนะแบบขาด เพราะฉะนั้นการต่อรองยังไงก็ต้องเกิด เพราะที่จริงตอนตั้งรัฐบาลหลังรัฐประหารผมว่าก็มีการต่อรองบางอย่าง เพียงแต่ว่าข่าวพวกนั้นเราไม่ค่อยได้ยิน”

พอเป็นอย่างนี้ เราจะเห็นว่าก่อนเลือกตั้งคนก็กลัวว่าจะมีการเลือกตั้งไหม สิ่งที่เรากลัวก็คือใบประกาศเลือกตั้งมันจะออกจากสภาแล้วแวะเข้ากรมทหารตรงข้ามสภาแล้วค่อยออกมาอีกรอบไหม อย่างนั้นเป็นต้น พอเลือกตั้งเสร็จเราก็หวั่นใจอีก จะมีรัฐบาลไหม มีรัฐบาลเสร็จเราก็หวั่นใจอีก จะอยู่ได้นานเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนเสถียรภาพของการเมืองไทยว่ามันเป็นปัญหาค่อนข้างมาก แปลว่าในกระบวนการการเมืองไทยที่เราเห็นมันไม่สามารถทำให้เรามั่นใจได้

สุรชาติ กล่าวด้วยว่า จากกรณีดังกล่าว ความหวั่นใจของโหวตเตอร์จึงเกิดขึ้นตลอดเวลา นำมาซึ่งข่าวลือและสมมติฐานมากมาย รวมถึงไปถึงทฤษฎีสมคบคิดที่เชื่อกันแพร่หลายในฝั่งอนุรักษนิยมสุดโต่ง เรื่องที่ว่าอเมริกาจะมาตั้งฐานทัพในไทยและรัฐบาลก้าวไกลจะพาไทยเข้าสู่สงครามยูเครน

สุรชาติ กล่าวว่า เป็นปัญหาอย่างที่ทุกคนรู้ ขณะที่รวมเสียงได้ 312 ล่าสุด แต่เสียงข้างมากวัดด้วยตัวเลขอะไร เรามีตัวเลขสองชุดคือ 500 กับ 750 ถ้าจะปิดสวิตช์ ส.ว. รัฐบาลและพรรคร่วมต้องได้ 376 เสียง ซึ่งก็ยุ่งอีก จะเอาจากจากตรงไหนมาเติม และโอกาสเติมเป็นไปได้ไหม นี่คือภาวะ 60 วันอันตราย

ช่วงนี้ข่าวลือสารพัด สื่อเขียนข่าวได้ทุกวันโดยข่าวต่างๆ ที่ออกมา ตนว่าเราไม่เคยสามารถที่จะตรวจสอบหรือยืนยันว่าตกลงอันไหนที่ไม่จริง สื่อช่วยตอบเราได้ไหมว่าอันนี้ไม่จริง พูดอย่างนี้ไม่ได้บอกว่าสื่อในโลกตะวันตกดีกว่าเรา แต่ในโลกตะวันตกมันจะมีส่วนงานในสื่อหลักๆ ทั้งหลาย เขาจะมีหน้าที่บอกเลยว่าอันนี้เฟค แล้วก็สแตมป์บนตัวโพสต์เวลาเราโพสต์อะไร แต่อันนี้เราเริ่มมีข้อมูลหลายอย่างที่เราไม่รู้ บางอันเรากลับไปที่ประเด็นการตั้งฐานทัพ คิดว่าโอกาสเกิดคงไม่ง่าย ที่สหรัฐฯ จะมาเปิดฐานทัพในไทย ตนว่ามันคงไมง่ายขนาดนั้น เผอิญเป็นหัวข้อที่เขียนวิทยานิพนธ์ตั้งแต่ปริญญาโท

เพราะว่าการปิดฐานทัพอเมริกาในไทยหลังจากสงครามเวียดนามจบ แทบจะเหมือนกับเป็นสัญญาณว่าโอกาสที่อเมริกาจะกลับมาใช้เต็มรูปเหมือนอย่างสงครามเวียดนาม มันคงไม่ง่ายเหมือนกันนะครับ

“ผมคิดว่าโอกาสที่อเมริกาจะกลับมาใช้ไทยเป็นฐานทัพ มันถูกสร้างเป็นจินตนาการในหลายช่วง แม้ช่วงที่เรามีภัยคุกคามทางทหารขนาดใหญ่ ในช่วงที่มีสงครามกลางเมืองในกัมพูชา ช่วงที่เวียดนามเข้าไปยึดกัมพูชา เราก็ไม่ได้เห็นโอกาสอย่างนั้น”

ที่จริงวันนี้ถ้ามองในภูมิภาค ถ้ามองในความเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหาร ฐานทัพอาจไม่ได้อยู่ที่ไทย ความน่าสนใจของอเมริกาจริงๆ แล้วฐานทัพอยู่ที่เวียดนาม 

เราไม่คุ้นกับฐานทัพอย่าง ‘คัมราน’ ที่เวียดนาม อเมริกาเคยใช้ในยุคสงครามเวียดนาม แล้วพออเมริกาถอนตัวออกจากคัมราน หลังปี 2518 ต้องไม่ลืมว่ากองเรือโซเวียตเข้าไปใช้ เพราะว่ากองทัพเรือโซเวียตต้องการทะเลน้ำอุ่น กองทัพเรือด้านตะวันออกของโซเวียตจึงเข้ามา

เพราะฉะนั้นหลังสงครามยุติไปนานๆ ว่าที่จริงหลายปี เราจะเห็นเรือบรรทุกเครื่องบินของอเมริกันเวลาเข้าสู่ภูมิภาค บางครั้งแวะที่คัมราน บ้านเก่าเขาเคยใช้เดิม อาจจะมาแวะสัตหีบก็แวะเป็นสัญลักษณ์ แต่แวะที่เวียดนามเป็นนัยยะสำคัญ เพราะว่าพื้นที่ตรงนั้นถัดขึ้นไปก็คือพื้นที่ทีมีการอ้างกรรมสิทธิ์ระหว่างรัฐในภูมิภาคกับจีน คือหมู่เกาะสแปลชลีย์กับพาราเซลล์ หรือที่เราเรียกในภาพรวมว่าหมู่เกาะในทะเลจีนใต้

ของพวกนี้ตนคิดว่าเป็นตัวอย่างพอสมควร ถ้าเราจะบอกว่าสถานกงสุลอเมริกันที่เชียงใหม่เป็นฐานทัพตนว่ายิ่งไปกันใหญ่ ต้องเรียนว่าตนไม่ได้มาดีเฟนต์ให้อเมริกัน เพราะจริงๆ แล้วตนคือผู้นำนักศึกษาในการต่อต้านฐานทัพ

กลยุทธ์ของฝ่ายขวามีผลมากน้อยแค่ไหน 

สุรชาติ อธิบายว่า ปรากฏการณ์ข่าวลือสารพัดที่เกิดขึ้นคือ “ความกลัวของปีกขวา” ในฐานะคนเดือนตุลามองว่าคล้ายกับเหตุการณ์ในปี 2519 ที่ปัจจัยภายนอกอย่างหนึ่งคือ โดมิโน่มาทยอยล้มในเวียดนาม ลาว และกัมพูชาในช่วงปี 2518 และ 2519 

ส่วนปัจจัยภายในประเทศคือการเคลื่อนตัวของกลุ่มนักศึกษา ตนไม่ปฏิเสธตอนนั้นพวกตนเป็นปีกซ้าย เพราะฉะนั้นด้วยความกลัวของปีกขวาจึงจบด้วยเหตุการณ์สังหารหมู่ธรรมศาสตร์ หรือที่เรียกกันว่า 6 ตุลา

2 ทางรอดฝ่ายขวาในการเมืองไทย

กลับมาที่สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน สุรชาติมองว่า พอย้อนกลับไปดูโพลก็ไม่คิดว่าก้าวไกลจะชนะมาก ถ้าอ้างอิงจากนิด้าโพล ตนว่าโพลนิด้าตอบถูกโดยรวม 70:30 แต่เปลี่ยนในส่วน 70 ก็คือไม่ใช่ตัวเลขใหญ่เป็นตัวเลขของฝั่งเพื่อไทย แต่กลับเป็นตัวเลขของฝั่งก้าวไกล ทั้งนี้สัดส่วนภาพรวมตนว่าไม่ต่าง ซึ่งพอกลายเป็นว่าก้าวไกลชนะและมีข้อเสนอหลายอย่างที่คนอาจจะไม่คุ้น เป็นข้อเสนอที่คนยังรู้สึกว่า “รับไม่ได้” และก็แน่นอนก็ต้องมีปฏิกิริยาของฝ่ายขวา ปฏิกิริยาดังกล่าว ถ้าใช้ภาษาเดิมก็คือ “ปลุกกระแสขวา” 

“ผมมักจะเจอคำถามเวลาออกรายการ หรือบางทีมีคนถามมา ตกลงเลือกตั้ง 70:30 แบบนี้ ถ้าปีกขวาเหลือ 30 ตกลงฝ่ายขวาตายแล้วหรือไม่ ผมว่าไม่จริงนะ อันที่จริงคือฝ่ายขวาไม่เคยตาย ฝ่ายซ้ายตายต่างหากที่เรามักจะล้อกัน” 

สุรชาติ เสนอ 2 ทางออกให้ปีกขวาถ้าต้องการยืนระยะในการเมืองไทย ข้อแรกคือตั้งพรรคการเมืองให้เหมือนฝั่งขวาในยุโรป และสองคือเลิกข้องเกี่ยวพึ่งพาอำนาจจากการรัฐประหาร

“ผมคิดทางออก ผมเสนอให้ปีกขวาตั้งพรรคเป็นเรื่องเป็นราวเลย คือเลิกคิดตั้งพรรคทหารซะเถอะ แล้วก็เลิกคิดที่จะเกาะทหารเข้าสภา ทำตัวเป็นปีกขวาแบบยุโรปเลยครับ”

“เพราะการเมืองยุโรปแบ่งเป็น 4 โซนใหญ่ๆ ขวาจัด ซ้ายจัด ขวากลาง แล้วก็ซ้ายกลาง คล้ายเหมือนฟุตบอล เพราะฉะนั้นถ้าปีกขวาตัดสินใจเล่นการเมือง ผมว่าเล่นในระบบ แล้วการเล่นในระบบที่ดีที่สุด คืออย่าไปพึ่งรถถัง แต่พึ่งรถหาเสียง”

“ผมคิดว่าถ้าคุณเชื่อประชาธิปไตย ต้องยอมรับคือ เราต้องยอมรับสิทธิในการนำเสนอของทุกฝ่าย แปลว่าวันนี้ปีกขวาเองก็มีสิทธิในทางการเมืองที่จะนำเสนอความคิดของพวกเขา แต่วิธีที่ดีที่สุดในการนำเสนอเพื่อไม่ให้นำไปสู่เงื่อนไขความรุนแรงหรืออะไรก็ตาม ผมว่าตั้งพรรคปีกขวาให้เป็นพรรคถาวร”

สองคือเลิกคิดที่จะพึ่งผู้นำทหาร เอาตัวเองเข้ามาเป็นพรรคการเมืองในระบบเหมือนกับโลกตะวันตก ช่วงนี้จริงๆ ใครติดตามการเมืองอเมริกัน คำถามใหญ่ที่สุด เลือกตั้งรอบใหม่ทรัมป์จะกลับมาไหม และคำถามใหญ่กว่านั้นคือ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าทรัมป์ชนะ การเมืองโลกจะเปลี่ยนอีกอย่างไร โหวตเตอร์ในระดับโลกก็มีความตุ๊มๆ ต่อมๆ

ถ้าปีกขวาเล่นการเมืองแล้วถอนตัวออกจากเงื่อนไขการผูกพันกับรัฐประหาร แล้วลดความเป็นจารีตนิยมลงบ้าง พูดภาษาวิชาการคือเป็นทำตัวเองให้เป็น “ปีกขวาที่เป็นกระแสหลัก” อาจดูเป็นทฤษฎี แต่ระบอบประชาธิปไตยจะอยู่รอดได้ก็ต้องอาศัยปีกขวาที่เป็นกระแสหลัก

ไม่ได้บอกว่าประชาธิปไตยมีฝ่ายเดียว เมื่อไหร่ประชาธิปไตยมีฝ่ายเดียวก็พังกันไปอีกแบบหนึ่ง หาทางออกด้วยกันทุกฝ่าย หนทางข้างหน้าคือการออกแบบระบบการเมืองที่ทุกฝ่ายที่มีความเห็นทางการเมือง แต่ละส่วนจะมีพื้นที่ของตัวเอง

สำหรับการจัดสเปกตรัมของฝักฝ่ายพรรคการเมืองต่างๆ สุรชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ใช้โมเดลหลายพรรคแบบยุโรปจะเหมาะสมกับไทยมากกว่าระบบสองพรรคแบบอังกฤษหรืออเมริกัน เนื่องจากประเทศไทยมีระบบมุ้งการเมือง เพราะฉะนั้นการเมืองแบบสองพรรคมันใช้กับระบบที่มีมุ้งไม่ได้ และระบบมุ้งมันเข้มแข็งกว่าระบบพรรค ย้ายมุ้งไปอยู่พรรค แต่มุ้งก็ยังอยู่ในพรรค

ส่วนชุดวิธีคิดที่เชื่อว่าต้องทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทิ้งทั้งหมด ตนมองว่าสุดโต่งเกินและไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายใด จากประวัติศาสตร์การเมืองโลกในศตวรรษที่ 20 การก่อสงครามเย็นที่มุ่งทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามให้บทเรียนเราอย่างดีว่ามันจบลงด้วยความรุนแรงขนานใหญ่ แล้วสุดท้ายผู้ชนะก็กลายเป็นตัวปัญหาอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่เกิดประโยชน์ในระยะยาว

พรรคการเมืองในไทยยังขวาไม่พออีกหรือ

ต้องใช้คำว่าน่าแปลกใจที่ระยะเวลาของของฝ่ายขวาที่อยู่ในการเมืองไทยมาอย่างเข้มแข็งมาถึงจุดปัจจุบัน มันเหมือนไม่สรุปบทเรียน เราคุยกับเรื่องฝ่ายขวานี่เยอะ คุยกันเรื่องฝ่ายซ้ายไม่สนุก ตนว่าคุยฝ่ายขวาดีกว่า ถ้าฝ่ายขวาสรุปบทเรียนได้ เอาล่ะ เลิกคิดแบบพรรคทหารอย่างที่ตนเสนอ เลิกคิดที่จะพึ่งรถทหารเข้าสภา แต่เข้าสภาด้วยรถหาเสียง

ถ้าคิดเข้าสภาด้วยรถหาเสียง ทางพรรคจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือ รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อะไรพวกนี้ สองพรรคนี้รวมกันตัวเลขก็ไม่น้อยนะ พรรคลุง 2 พรรคถ้าเขาไม่เกิดมีอะไรขบกันไปขบกันมา ตนว่าตัวเลขที่เขาได้ก็ถือว่าไม่น้อย เป็นแต่เพียงวันนี้การเมืองไทยคงต้องเริ่มคิดพื้นที่ที่จะให้การเมืองของทุกฝ่ายอยู่ด้วยกันได้ แล้วอยู่บนเงื่อนไขของการหาเสียงเพื่อนำเสนอนโยบายว่านโยบายอย่างไรที่ประชาชนตอบรับ

สุรชาติ กล่าวถึงปัญหาที่ตามมาเมื่อมองการเมืองเป็นเรื่อง 2 เฉด อย่างตอนที่ตนเป็นนักเรียนรัฐศาสตร์ในระดับปริญญาตรี ก็ถูกสอนให้เชื่อว่าระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ประเทศควรมีพรรคการเมืองเพียง 2 พรรค แต่ ณ วันที่โตแล้วเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็รู้ว่า 2 พรรคที่เวิร์คมีโอกาสอยู่ 2 ที่คือ อังกฤษกับสหรัฐฯ เนื่องจากการเมืองในประเทศอื่นๆ ส่วนมากมีความหลากหลาย 

ตัวอย่างคือช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านที่ระบบทหารถอยฉากออกจากละตินอเมริกา ประเทศละตินอเมริกาหลายประเทศมีลักษณะคล้ายกับอเมริกา ตัวประเทศใหญ่ คือเอาระบบการเมืองแบบ ประธานาธิบดี หรือระบบ 2 พรรคอย่างนี้ไปใช้และประสบปัญหามาก ตนจึงมองว่าการแบ่งเฉดสีแบบยุโรป ออกเป็น 4 เฉด พอไม่ใช่แค่ 2 มันเปิดพื้นที่มากขึ้น

“ผมว่าอันที่จริงระหว่างความเป็นซ้าย ความเป็นขวา คิดเหมือนโทนสี มันมีสเปกตรัม”

สุรชาติ ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราจะพิมพ์หน้าปกหนังสือกับโรงพิมพ์ ในการเลือกสีแดงก็มีหลายเฉด เขียวก็มีหลายเฉด แต่เรามักคุ้นกับเขียวเดียวในประเทศไทยคือ ‘เขียวขี้ม้า’ หรือเขียว ทบ. (ทหารบก) เราคุ้นกับแดงสมัยก่อน เป็นแดง พคท. (พรรคคอมมิวสต์ไทย) ตอนนี้กลายเป็นแดงของ ‘เสื้อแดง’ (นปช.) เรามองไม่เห็นความเป็นเฉด พอเรามองไม่เห็นเฉด ในความเป็นจริงความคิดคนในแต่ละปีก มันมีสเปกตรัม หรือมันมีแถบสี หรือความเข้มของสี มันพอจะแยกได้ มันอาจจะไม่ได้ตรงกันทั้งหมด 

“ถ้าเราบอกว่า ‘รีพับลิกัน’ เป็นขวา และ ‘เดโมแครต’ เป็นซ้าย มันจะมีคนตรงกลางบางเรื่อง คนที่เป็นปีกซ้ายของรีพับลิกันแต่หันไปจับมือกับปีกขวาของเดโมแครตและเสนอบางเรื่องเข้าสภา ถ้าในบริบทไทยจะถือว่าพวกเขาเป็น ‘งูเห่า’ หรือไม่ แต่ระบบอเมริกันเป็นอย่างนั้น แปลว่าเราอาจจะต้องคิดเรื่องพื้นที่ทางการเมืองในระบบรัฐสภาด้วย ไม่อย่างงั้นเราจะติดกับดักตัวเองมาก และติดมากขึ้น วันนี้ผมว่าเราติดกับดักด้วยตัวเลขที่เราเห็น ที่เราเปิดกันว่า ตกลง 312 มัน 312 ภายใต้อะไร ภายใต้ 750 ใช่ไหม มันก็เป็นปัญหาทันที” สุรชาติยกตัวอย่างการเมืองอเมริกัน

แต่ถ้าสมมติว่าพรรคฝ่ายขวาทำใจได้ ตัววุฒิสภาเล่นอีกบทหนึ่ง เราก็อาจจะเห็น “การจัดพื้นที่ทางการเมืองไทยในศตวรรษที่ 21” เพื่อรองรับโจทย์ที่จะไม่นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดของคนในสังคม สภาวะตอนนี้สิ่งที่ตนเห็นคือเรื่องสงครามความคิด ตนมี 3 คำ คือ สงครามความคิด สงครามความเชื่อ สงครามความศรัทธา ‘ความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา’ วันนี้เป็นแถบสีอีกแบบหนึ่ง แม้กระทั่งวันนี้เราอาจมีคำถามว่าแค่ไหนที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตย

อะไรคือ worst-case ของการเมืองหลังจากนี้

“ถ้าใช้คำว่า worst-case ผมว่ามัน worst-case ตั้งแต่ต้นแล้วล่ะ พอตัวรัฐธรรมนูญมันเป็น worst-case ของตัวมัน ก็คือมันกลายเป็น จุดที่มันเป็นปัญหาตรงตั้งแต่ต้น ทุกคนก็รู้ว่าไม่ต้องพูดว่าพรรคไหนชนะ แต่ทุกคนรู้ว่าพรรคฝ่ายค้านชนะ และไม่ชนะถึงขั้นจะได้เสียงเกิน 376 เนี่ย ที่เหลือไม่ต้องมาพูดกัน อย่างไรก็มีปัญหา ผมว่าเราไม่ต้องวิเคราะห์เกินกว่านี้เลย”

สุรชาติ กล่าวถึงสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้น โดยบอกว่าตัวรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหามาตั้งแต่ต้นกลายเป็น worst-case ในตัวของมันเอง นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่เพื่อไทยทำแคมเปญเรื่องแลนด์สไลด์ เพราะฉะนั้นพอเป็นอย่างนี้มันก็เหมือนกับเกมเดาใจ ตกลง ส.ว. คนไหนจะโหวตให้ เสียง 312 กับ 376 มันเท่ากับขาดอยู่พอสมควร ขาดไปอีกประมาณ 60 กว่าเสียง เพราะงั้นในบริบทอย่างนี้ เราเดาไม่ออกว่าถ้ามัน worst-case จะเกิดอะไรขึ้น

“เราไม่มี worst-case หรือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในการเมืองไทยมาระยะหนึ่งแล้ว ผมคิดว่า worst-case ที่สุดในการเมืองไทย คือวันที่ประชุมแล้วก็บอก “ผมตัดสินใจยึดอำนาจ” นั่นละผมว่า worst-case ที่สุด ก็คือรัฐประหารในเดือนพฤษภา ของปี 57” 

หลังจากนั้น มันก็พอกล้อมแกล้มไป มีเลือกตั้งมีอะไร ถูลู่ถูกังกันไป และก็มามีเลือกตั้งปี 66 ปัจจุบัน เราก็มีความหวังนิดๆ แต่ในความหวังนั้น ตัวรัฐธรรมนูญจะเป็นตัววิกฤตในตัวของมันเอง และจะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเมืองไทย เพราะยังไงก็เดินไม่ได้ ถ้าไม่ได้ 376 ในขณะเดียวกัน วิเคราะห์ให้ตายก็มองออกว่าไม่ได้เสียงถึง 376  ได้ 70-30 ตนว่าก็มโหฬารแล้วถ้ามองสัดส่วนโดยรวม

อย่าง ณ ขณะนี้ ที่เลือกตั้งมาแล้วแต่ก็มีอะไรมากมายที่ทำให้คนกังวลกลัวจะตั้งรัฐบาลไม่ได้ การเมืองออกอาการเหมือนเดธล็อก เพราะฉะนั้น ในความจริงเราก็คงตอบอะไรไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่า worst-case ในจุดสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดมันคือจุดใด 

ด้านนึงรัฐธรรมนูญเป็นปัญหา แต่อีกด้านนึงมติของประชาชนมันก็ค่อนข้างเอกฉันท์แล้ว เพราะถ้าท้ายที่สุดถ้ามันหาทางออกกันไม่ได้ในระบบปกติ worst-case ก็อาจเกิดสิ่งที่เราคาดเดาไม่ได้ เช่น การเคลื่อนไหวที่ไร้รูปแบบ 

“ผมถึงบอก ตัวเลข 376 มันโหดร้ายมาก คือทุกคนที่นั่งดูการเมืองไทยโอกาสที่จะชนะครึ่งสภาเป็นไปได้ แต่โอกาสชนะต้องใช้คำว่าครึ่งของครึ่ง ไปเอาเสียงอีกสภามาด้วย ผมว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่แยบยลมาก คือมันกลายเป็น Deadlock ในตัวมันเองตั้งแต่ต้น”

สุรชาติบอกว่าเห็นด้วยที่ว่ามติของประชาชนไปทางหนึ่ง แต่ตัวบทกฎหมายไปอีกทางหนึ่ง แต่อะไรคือจุดกึ่งกลางระหว่างเสียงจากการเลือกตั้งกับตัวบทกฎหมายที่ล็อคอยู่ อะไรคือเครื่องมือที่จะทำให้สองส่วนนี้ไปด้วยกันจริงๆ ได้ โดยไม่นำไปสู่ความรุนแรง

ตนไม่มีคำตอบ ระหว่างเสียงของประชาชนกับตัวบทกฎหมายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญ แม้กระทั้งหุ้นสื่อก็เป็นปัญหาเดียวกัน ตกลงถือหุ้นสื่อแค่ไหนผิด ถ้าตีด้วยตัวบทกฎหมายถือหุ้นสื่ออย่างไรก็ต้องผิด แต่ในทางกลับกัน ตกลงสื่อไอทีวี ยังดำเนินการไหม หรือจำนวนหุ้นขนาดนี้มีอิทธิพลต่อสื่อได้ไหม มันก็กลายเป็นปัญหาระหว่างตัวกฎหมายกับความเป็นจริง แปลว่าวันนี้กลับมา ตนคิดว่าพอการเมืองติดล็อคอย่างนี้ ผมนึกไม่ออกนะต้องเรียนตรง ๆ ว่า ข้อที่ 1 ใครจะแก้ และ 2 แก้ตัววิธีอะไร

อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ไม่ใช่คำตอบ ซึ่งหากทำได้ก็เป็นปัญหาในตัวเองอีกเช่นกัน ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็อาจจะสะดุดล้มลงโครม ตนเคยพูดไว้ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์แล้ว ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งรัฐบาลโดยเสียงของตัวเองไม่ได้ชนะจริงจัง การประท้วงจะเริ่มตั้งแต่วันแรกของการตั้งรัฐบาล ก็มีปัญหาอีก แปลว่าวันนี้ เรามีอาการติดหล่มทางการเมือง

เมื่อการเมืองติดหล่มด้วยเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ

โหวตเตอร์ควรตั้งหลักอย่างไร

สุรชาติ ตอบง่ายๆ ว่า ไม่มีคำแนะนำอะไรเลย เมื่อความเป็นจริงสวนทางกับลายลักษณ์อักษรของข้อกฎหมายที่เขียนค่อนข้างจะตึง มันไม่มีทางขยับออก ดูอย่างเรื่องหุ้นสื่อไอทีวีก็ได้

ตนไม่เคยเชื่อว่าไม่มีทางตันหรือซอยตันในระบอบประชาธิปไตย แต่ตอนนี้สิ่งที่ค่อนข้างกังวลคืออาการติดหล่มหรืออาการล็อคตัวเองของการเมืองไทย

ถ้าในระบบมันล็อกอย่างนี้

ทางเดียวที่อาจเกิดคือปฏิกิริยาของมวลชน

สุรชาติ กล่าวว่า อารมณ์ทางการเมืองของคนเป็นอะไรที่น่ากลัวที่สุด ไม่ได้จะพูดให้คนฟังรู้สึกหมดหวัง แต่ต้องยอมรับว่าใน 60 วันหลังเลือกตั้ง เราเห็นข้อเท็จจริงที่ใหญ่ที่สุดว่าฝั่งที่ออกแบบกลไกทางการเมืองพร้อมจะเล่นแง่ตลอดเวลา

เขาออกแบบมาอย่างนี้ รอบที่แล้วเมื่อปี 62 ฝั่งออกแบบชนะ แต่เลือกตั้งครั้งนี้ฝั่งออกแบบไม่ชนะ ทุกคนก็เดาได้ ถ้าฝั่งที่เป็นฝ่ายค้านซึ่งไม่ใช่คนที่ออกแบบจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ จะชนะได้ จะรวมเสียงให้ถึง 376 แล้วฝ่ากระแส ส.ว. มันคงไม่ง่ายหรอก

“ผมถึงยังเชื่อว่าตอนเพื่อไทยแคมเปญ มันจริงในตัวของมันเองคือถ้าไม่ได้แลนด์สไลด์ยังไงก็ติดล็อคก็แค่นั้นเอง”

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net