Skip to main content
sharethis

พนักงาน ขสมก.วอนผู้บริหาร เร่งแก้ปัญหารถเมล์ NGV สีฟ้า จอดเสียในอู่หลายคัน

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. เพจ "รถเมล์ไทยแฟนคลับ Rotmaethai" ได้ออกมาโพสต์ร้องเรียนจากพนักงาน ขสมก. กรณีรถเมล์ NGV สีฟ้า 489 คัน วิ่งให้บริการมา 5 ปีแล้ว

รถจอดเสียที่อู่หลายคัน บางอู่จอดเสียมากถึง 20 คัน เพราะจอดรออะไหล่มาเปลี่ยน จึงส่งผลกระทบถึงการเดินรถ ที่รถออกวิ่งในเส้นทางน้อยลง ผู้โดยสารรอรถนานขึ้น พอผู้โดยสารขึ้นแล้ว มาลุ้นว่าจะเสียกลางทางไหม

จึงฝากถึงผู้บริหาร ขสมก. ผ่านเพจรถเมล์ไทย ดูในเรื่องการบำรุงรักษารถเมล์รุ่นนี้ ให้รถกลับมาวิ่งตามปกติด้วย

หากมีพนักงาน ขสมก. คนไหนออกมาโวยวายว่า นี่คือเรื่องข้างใน ไม่ควรเอามาให้คนนอกหรือสังคมรับรู้ ก็ต้องย้อนถามกลับไปว่า

1. ต้องการปล่อยให้รถจอดอู่นานๆ ระหว่างรออะไหล่โดยไม่สนใจผลประโยชน์ของ ขสมก. , พนักงานในสายปฏิบัติการเดินรถ และผู้โดยสารใช่หรือไม่ ?

2. หากไม่ออกมาพูดผ่านสื่อหรือโซเชียลมีเดีย แล้วเมื่อไหร่จะแก้ไข ?

เสียงสะท้อนนี้ เกิดขึ้นจาก มีพนักงาน ขสมก. หลายคน เข้ามาพูดคุยกับแอดมิน อยากให้ช่วยสะท้อนปัญหานี้ ให้สังคม/ผู้บริหารได้รับรู้ เพราะไม่รู้จะพึ่งพาใครได้ ไม่รู้จะบอกกับใครดี จึงฝากเพจช่วยสะท้อนเรื่องนี้ครับ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 1/7/2566

รมว.ส่งที่ปรึกษาไกล่เกลี่ยแรงงานยานยนต์แหลมฉบัง นายจ้างตกลงจ่ายโบนัส-ปรับค่าจ้าง

30 มิ.ย. 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง กรณีข้อพิพาทแรงงานระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงานยานยนต์ในนิคมฯ แหลมฉบัง จ.ชลบุรี ว่าไม่ได้นิ่งนอนใจและติดตามสถานการณ์มาตลอด ได้มอบหมายให้ นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงพื้นที่เจรจาไกล่เกลี่ยเหตุพิพาทดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยตนได้ให้แนวทางในการการเจรจาระหว่างนายจ้างที่มีอำนาจตัดสินใจกับสหภาพแรงงานในครั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้หลักแรงงานสัมพันธ์ที่ดี เพื่อให้เกิดข้อตกลงด้วยการประสานประโยชน์ร่วมกัน ทำให้สามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาจนเป็นที่ยุติและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างร่วมกัน ซึ่งตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสานสัมพันธ์ให้ทั้งสองฝ่ายก้าวข้ามอุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นต่อไปในอนาคต

ด้าน นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การเจรจาทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องร่วมกันที่จะหาทางออกที่ดีอย่างครอบคลุม โดยได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน มีสาระสำคัญ ได้แก่ นายจ้างตกลงจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2566 พร้อมเงินช่วยเหลือค่าเดินทางกลับบ้านสงกรานต์, ปรับค่าจ้างประจำปี 2566, ปรับเพิ่มค่าเช่าบ้าน, เพิ่มค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD), ปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานที่อายุงาน 20 ปี ขึ้นไป โดยข้อตกลงดังกล่าว มีผลใช้บังคับ 1 ปี นับแต่วันที่ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ผมขอฝากไปยังนายจ้าง ลูกจ้างให้ใช้หลักแรงงานสัมพันธ์ในรูปแบบทวิภาคีบนพื้นฐานของหลักสุจริตใจ ในการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย หากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร 10 พื้นที่ หรือสำนักสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด

ที่มา: มติชนออนไลน์, 30/6/2566

ประกันสังคม เพิ่มช่องทางรับสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม ได้พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มช่องทางการให้บริการรับสมัคร และขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 39 ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th โดยสามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปติดต่อที่สำนักงานประกันสังคม โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่มีความประสงค์จะสมัครและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา39 ต้องเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน

ส่วนขั้นตอนการสมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 สมัครผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th ผู้ประกันตนสามารถเข้าสู่ระบบสมาชิกผู้ประกันตน โดยเลือกหัวข้อ “สมัครมาตรา 39” เพื่อเข้าสู่หน้าจอระบบสมัคร ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครตามเงื่อนไขที่กำหนด กรอกข้อมูลการสมัคร ยืนยันการสมัคร สำนักงานประกันสังคมจะแจ้งผลการยื่นคำขอสมัคร โดยสามารถตรวจสอบได้ที่หัวข้อ “สถานะผู้ประกันตน” ภายหลังจากการยื่นคำขอได้ 2 – 4 วันทำการ โดยสามารถดาวน์โหลดคู่มือและวิธีการใช้งานผ่านระบบ e-Service ได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 30/6/2566

สสส.-สอศ. ร่วมลงนาม MOU เสริมศักยภาพครู-แกนนำนักเรียนอาชีวศึกษา ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง เหล้า-บุหรี่-อุบัติเหตุ

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2566  ที่โรงแรม เบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำผู้เรียนอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า-บุหรี่-อุบัติเหตุ) ในสถานศึกษา

โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับมูลนิธิหยุดพนัน ดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษามาตั้งแต่ปี 2563 โดยดำเนินงานร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา 25 แห่ง และปัจจุบันกำลังดำเนินการในระยะที่ 2 โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ขยายไปยังวิทยาลัยอาชีวศึกษา 45 แห่งทั่วประเทศ ร่วมขับเคลื่อนการสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง ประกอบด้วย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นต้นเหตุไปยังปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ยาเสพติด ทั้งนี้ สสส. จะทำหน้าที่ในการเชื่อม สาน และเสริมพลังให้หน่วยงานต่าง ๆ ในการดำเนินงานควบคุมปัจจัยเสี่ยง เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่เยาวชน

“เยาวชนไทยเผชิญกับปัญหารอบด้าน โดยเฉพาะการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ตั้งแต่ปี 2554-2564 กลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 20-24 ปี เพศชายเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิง 4-5 เท่า ส่วนใหญ่เกิดจากดื่มแล้วขับ ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด และไม่สวมหมวกนิรภัย ขณะที่สถิติการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2564 พบกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี มากถึง 84.1% ส่วนสถิติบุหรี่ยังน่าเป็นห่วงเยาวชนไทยหันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น กลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีสัดส่วนการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากที่สุด 30.5% จากผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด 78,742 ราย” ดร.สุปรีดา กล่าว

ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าพยายามออกแบบผลิภัณฑ์ สร้างภาพลักษณ์ใหม่เรียนกว่าบุหรี่ไฟฟ้า gen 5 หรือ toy pod ใช้ตัวการ์ตูนชื่อดัง ทำให้ดูน่ารัก น่าลอง มีกลิ่นหอม ที่สำคัญประชาชนมีความเชื่อผิด ๆ ว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย สสส. และภาคีเครือข่ายพยายามให้ข้อมูลที่ถูกต้องว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย มีสารนิโคตินเป็นสารเสพติดที่มีผลทำลายสมองของเด็กและเยาวชนที่ยังเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้เสี่ยงต่อการเสพติดนิโคตินมากขึ้น และมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปอด ทำให้เกิด “โรคปอดข้าวโพดคั่ว” (Popcorn Lung) ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

เรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า สอศ. มุ่งผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงเพื่อการพัฒนาประเทศ ให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถและทักษะวิชาชีพ และยังจำเป็นต้องมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีด้วยเช่นกัน จึงได้กำหนดให้มีการขับเคลื่อนศูนย์ความปลอดภัย สอศ. เป็นนโยบายเร่งด่วน รวมทั้งการเสริมสร้างอาชีวศึกษาปลอดภัย (safety) เพื่อมุ่งสู่การเป็นสถานศึกษาแห่งความสุข

“การที่บุคลากร ผู้เรียนมีความรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน ประกอบกับวัยรุ่น เป็นช่วงวัยที่ให้ความสำคัญกับเพื่อน เพราะสื่อสารง่ายและเข้าใจกันมากกว่า การจัดกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำผู้เรียนอาชีวศึกษา ที่ส่งเสริมให้มีการทำกิจกรรมที่สอดแทรกองค์ความรู้ไปด้วยกัน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ช่วยป้องกันปัจจัยเสี่ยงและส่งผลต่อผู้เรียนในหลายด้าน ทั้งผลการเรียน สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ และการสูญเสียจากอุบัติเหตุลดลง” รองเลขาธิการ สอศ. กล่าว

ที่มา: MCOT News FM 100.5, 30/6/2566

ห่วงแรงงานไทยถูกหลอกทำงานเกาหลีใต้ สั่ง กกจ.เร่งช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณี นายธมะนันท์ แตงทิม แอดมินเพจ “จ่าคิงส์ สะพานใหม่” พาชาว จ.อุบลราชธานี กว่า 10 คน ซึ่งถูกสายนายหน้าเถื่อนหลอกลวงว่าสามารถจัดส่งไปทำงานเป็นคนงานเกษตร สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สูญเงินกว่า 1 ล้านบาท สุดท้ายไม่ได้เดินทางไปทำงานตามที่ตกลงกันไว้ ตนรับทราบเรื่องแล้วไม่นิ่งนอนใจ เร่งสั่งการกรมการจัดหางาน (กกจ.) ช่วยเหลือผู้เสียหายดำเนินคดีกับนายหน้ารายดังกล่าว ความคืบหน้าล่าสุด กกจ.ตรวจสอบพบว่า ผู้เสียหายมีจำนวนทั้งหมด 4 ราย ประกอบด้วย 1.น.ส.จันทจร สืบวงศ์ 2.น.ส.วิลัยพร สืบวงศ์ 3.นายณัฐพงศ์ พ่อขันชาย และ 4.น.ส.กัณธิมา ขันคำ

ซึ่งทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.อุบลราชธานี สำนักงานจัดหางานจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏไม่พบคนหางานทั้ง 4 ราย ทราบว่าปัจจุบันทำงานและอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ จ.ระยอง พบเพียงญาติที่อาศัยตามที่อยู่ดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงชี้แจงรายละเอียดข้อกฎหมาย วิธีการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกวิธี แนะนำขั้นตอนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่คนหางานในการติดตามเงินคืนตลอดจนการดำเนินคดีแก่ผู้หลอกลวง และโทรศัพท์ประสานไปยังคนหางานทั้ง 4 ราย เพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือในการร้องทุกข์กล่าวโทษ และดำเนินคดีกับผู้หลอกลวงตามกฎหมายต่อไป

นายสุชาติกล่าวต่อไปว่า กระทรวงแรงงาน โดย กกจ.ได้ลงนามเอ็มโอยู (MOU) ร่วมกับ อ.จินอัน สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรตามฤดูกาล (วีซ่า E-8) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อขยายตลาดแรงงานไทย สนับสนุนให้แรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานเกาหลีใต้มีโอกาสไปทำงานภาคเกษตรโดยไม่ต้องลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอนายจ้างใน อ.จินอัน แจ้งความต้องการไปที่ กกจ.ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าแรงงานภาคเกษตรชาวไทยจะไปทำงานได้มากขึ้น เพราะวีซ่า E-8 ไม่ต้องทดสอบทักษะภาษาเกาหลี และสามารถเดินทางไปทำงานซ้ำในปีถัดไปได้

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดี กกจ. กล่าวว่า ขอให้ผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมี 5 วิธี ได้แก่ บริษัทจัดหางานจัดส่ง กกจ.จัดส่ง เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน เพราะการลักลอบไปทำงานนอกจากต้องอยู่อย่างหลบซ่อนแล้ว ยังเสี่ยงถูกสาย-นายหน้าเถื่อนหลอกลวง เสียเงินฟรี ได้หนี้เพิ่ม หากสาย-นายหน้าชักชวนไปทำงานผิดกฎหมาย ลักลอบเข้าประเทศ ใช้วีซ่าท่องเที่ยวไปทำงาน หรือไปทำงานต่างประเทศโดยไม่แจ้งการทำงานกับ กกจ. ให้สันนิษฐานเป็นลำดับแรกว่ากำลังถูกหลอกลวง และโปรดอย่าหลงเชื่อ

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวงผ่านระบบ e-Service กรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์ doe.go.th หรือเว็บไซต์กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน doe.go.th/ipd หรือที่ Facebook : กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 29/6/2566

เวที THAILAND Future Careers ชี้ชัดแรงงานดิจิทัลขาดแคลนสุด

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

จัดงาน THAILAND Future Careers  เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ที่โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

จัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของภาคธุรกิจ พัฒนาตลาดแรงงานของประเทศในทุกมิติ ทั้งการสำรวจและศึกษาความต้องการของภาคธุรกิจ

รวมทั้งเพื่อให้สถาบันการศึกษานำไปพัฒนาหลักสูตรผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน ตอบโจทย์โลกและสร้างทักษะแห่งอนาคต

ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จของประเทศ และถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ที่ภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง

นายดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการ รมว.กระทรวง อว. เป็นประธาน พร้อมกล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ "จะปรับการศึกษาไทยให้ตอบโจทย์ยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างไร" ว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นกระทรวง อว. จะต้องมีแผนและนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของภาคธุรกิจ

โดยมุ่งพัฒนาบัณฑิตที่ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของภาคเอกชนให้มากขึ้น ยกตัวอย่าง การจัดทำ Skill Mapping โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นผู้ดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1.เกษตรสมัยใหม่ 2.Smart SMEs และ 3. การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่

เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษานำไปปรับใช้ เพราะหมุดหมายของเยาวชนในทุกวันนี้ การจบปริญญาตรีไม่ใช่หมุดหมายสำคัญของชีวิตแล้ว แต่เป็นการเรียนพร้อมฝึกทักษะเพื่อไปประกอบอาชีพได้ทันที

ขณะเดียวกัน กระทรวง อว.ก็ทำโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่เพื่อตอบโจทย์ 9 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ

อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

เช่น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ผลิตนักฉุกเฉินการแพทย์ให้ได้ 65,000 คนภายใน 10 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผลิตวิศวกรคอมพิวเตอร์ให้ได้ 1,200 คนภายใน 7 ปี เป็นต้น

นี่คือรูปธรรมที่กระทรวง อว. พร้อมพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของภาคธุรกิจ และเราพยายามฝ่าคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงไปให้ราบรื่นที่สุด

ด้านนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า เรื่องของคนคือเรื่องของ กกร. วันนี้โลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ชีวิตของผู้คนเปลี่ยน แต่ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนแปลงก็ตาม คนก็ยังคือศูนย์กลางและอนาคตที่ กกร. จะร่วมกับกระทรวง อว. ทำหน้าที่สร้างคนต่อไป

เพราะการสร้างคนไม่ใช่หน้าที่เฉพาะของภาครัฐ แต่เป็นเรื่องของเอกชนที่ต้องลงมือทำร่วมกัน วันนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นของวิกฤตเรื่องคน เราขาดแคลนคนในหลายด้าน แต่ กกร.จะยืนเคียงข้างรัฐบาลและกระทรวง อว. ตลอดไป

ขณะที่ ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า ขณะนี้ กำลังคนที่ขาดแคลนมากที่สุด คือ ด้านดิจิทัล ซึ่งมีหลายสาขา ตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐานทั่วไปจนถึงระดับ 4

ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy)  การใช้ดิจิทัล (Digital Skill/ICT Skill) การแก้ปัญหาด้วยเครื่องมือดิจิทัล (Problem Solving with Digital Tools) และการปรับตัวการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล (Adaptive Digital Transform)

ปัจจุบันในตลาดแรงงานมีความต้องถึง 5-6 แสนคน แต่ปัจจุบันสามารถผลิตได้เพียง 2-3 หมื่นคนเท่านั้น นอกจากนี้ ยังขาดแคลนกำลังคนด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้และด้านเซมิคอนดักเตอร์

ขณะนี้กระทรวง อว. กำลังเร่งปฏิรูปและทลายข้อจำกัดและอุปสรรคของการพัฒนาอุดมศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/6/2566

“ไรเดอร์” ไม่ไหวจะทน เรียกร้องสิทธิแรงงาน โอดระบบ “งานพ่วง” กดค่าแรง

สมาคมไรเดอร์ฯได้ไปยื่นหนังสือที่ “พรรคก้าวไกล” โดยมี “นายเซีย จำปาทอง” และ “นาวสาววรรณวิภา ไม้สน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้รับเรื่อง

ตัวแทนจาก “สมาคมไรเดอร์ไทย” ระบุว่าประเทศไทยมีไรเดอร์กว่า 4 แสนคน แต่ทำงานกันอย่างไม่มีสวัสดิการทั้งค่ารอบหรือรายได้ยังต่ำลงเรื่อย ๆ รวมถึงเมื่อมีระบบงานซ้อนของบริษัททำให้ไรเดอร์รับงานลำบากขึ้น

“แพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ เอาเปรียบกลุ่มไรเดอร์ พวกเราทำงานแบบไม่มีสวัสดิการอะไรเลย ข้อเรียกร้องที่อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ช่วยเหลือ คือ การมีราคากลาง เพราะปัจจุบัน ค่ารอบของไรเดอร์ไม่ว่าจะในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดต่างกันราวฟ้ากับเหว ซึ่งค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายของไรเดอร์มีแต่สูงขึ้น แต่รายได้กลับต่ำลง”

อีกประเด็นคือเรื่อง “งานแบทช์” หรือระบบงานซ้อนที่หลาย ๆ บริษัทใช้กัน ซึ่งค่ารอบที่ให้บริษัทให้ไม่สมเหตุสมผลกับการทำงาน ทั้งที่เก็บจากร้านค้าถึง 35% และเก็บจากลูกค้าเต็มราคา ทั้งทำให้ไรเดอร์ส่งอาหารได้ช้าลง และกลายเป็น “สนามอารมณ์”ของลูกค้า

“พอลูกค้าแจ้งกลับทางบริษัท บริษัทติดแบนเรา ลงโทษเราทั้งที่สาเหตุมาจากระบบงานซ้อน ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังออกกฎมาว่า ถ้าปัดงาน หรือไม่รับงาน จะโดนพักงาน 10 นาที”

ก่อนหน้านี้ สมาคมไรเดอร์ฯ (23มิ.ย.) ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องต่อพรรคเพื่อไทยเช่นกัน โดยมี “นายประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเพื่อไทยเป็นผู้รับเรื่อง

รายงานข่าวระบุว่า พรรคเพื่อไทย เปิดเผยผ่านข้อความบนทวิตเตอร์ (Twitter) ว่า สมาคมไรเดอร์ไทยขอให้พรรคช่วยเรื่องสิทธิแรงงานและการยกเลิกกฎพักงาน 10 นาที จากกรณีลูกค้าได้รับอาหารช้า ซึ่งเกิดจากระบบงานซ้อนของบริษัทต้นสังกัด เช่น ไรเดอร์รับงานที่ห้างหนึ่ง ต้องรออาหาร 30 นาที ถ้าบริษัทส่งอีกงานมา ไรเดอร์ต้องไปรับสินค้าอีกแห่งในเวลาเดียวกัน ทำให้อาหารไปถึงมือลูกค้าช้า

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 26/6/2566

ไทย-เกาหลีใต้ลงนาม MOU จัดส่งแรงงานเกษตรตามฤดูกาล นำร่องก่อนขยายความร่วมมือประเภทอื่นๆต่อไป

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการจัดส่งแรงงานภาคเกษตรตามฤดูกาล ระหว่างกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ราชอาณาจักรไทย และอำเภอจินอัน จังหวัดซอลลาบุก สาธารณรัฐเกาหลีใต้ โดยนายสุชาติ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการเปิดตลาดอีกประเภทให้กับแรงงานไทย โดยนำร่องจัดส่งแรงงานภาคเกษตรของไทยเข้ามาทำงานภาคเกษตรและประมงตามฤดูกาล (วีซ่า E-8) ตามโครงการจัดส่งแรงงานเกษตรตามฤดูกาล ซึ่งดำเนินการภายใต้กระทรวงยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร

ซึ่งสืบเนื่องจากช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2565 ที่ตนได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงานเยือนสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อเจรจาขยายตลาดแรงงานไทย ซึ่งบรรยากาศระหว่างกันเต็มไปด้วยไมตรีจิต ทางการเกาหลีตอบรับเป็นอย่างดี จึงหารือร่วมกันมาโดยตลอด เพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคจนนำมาสู่ความสำเร็จในการบรรลุข้อตกร่วมกันในวันนี้

สำหรับสาระสำคัญของการลงนาม MOU ทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมกันขับเคลื่อนกระบวนการจัดส่ง-รับแรงงานไทย เพื่อไปทำงานภาคเกษตรตามฤดูกาล ณ อำเภอจินอัน จังหวัดซอลลาบุก สาธารณรัฐเกาหลี ให้เกิดประโยชน์ บนหลักการพื้นฐานของความไว้วางใจและความเท่าเทียม และกำหนดมาตรการคุ้มครองแรงงานที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าแรงงานตามฤดูกาลได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามความเหมาะสม

สร้างการป้องกัน และดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อต่อต้านการจัดส่งและรับแรงงานตามฤดูกาลโดยมิชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการจ้างแรงงานตามฤดูกาลอย่างผิดกฎหมาย สุดท้ายจัดหาแรงงานตามฤดูกาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ในอำเภอจินอัน จังหวัดซอลลาบุก สาธารณรัฐเกาหลี

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ข้อดีของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานด้วยวีซ่า E-8 คือไม่ต้องทดสอบทักษะภาษาเกาหลีซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของแรงงานไทย และผู้ที่เคยเดินทางไปทำงานแล้วยังสามารถไปซ้ำได้ในปีถัดไป โดยหลังจากนี้อำเภอจินอันจะรวบรวมความต้องการจ้างแรงงานจากนายจ้าง ตรวจสอบเอกสาร เพื่ออนุญาตการจ้างแรงงานไทย ก่อนส่งหนังสือแจ้งความต้องการแรงงาน (Demand letter) และสัญญาจ้าง (Employment contract) ให้กรมการจัดหางาน (ฝ่ายไทย)

เพื่อประกาศรับสมัครคนหางานต่อไป เบื้องต้นทางการเกาหลีมีความต้องการจ้างแรงงาน ปีละไม่น้อยกว่า 5,000 คน เพื่อทำงานเพาะปลูก ปศุสัตว์ และประมง มีสัญญาจ้างไม่เกิน 5 เดือน รายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ซึ่งคาดว่าแรงงานไทยชุดแรกจะสามารถเดินทางไปทำงานได้ ภายใน 1 เดือน สำหรับคุณสมบัติเบื้องต้น ต้องอายุ 25 – 45 ปี มีการขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรหรือมีประสบการณ์งานเกษตร 1 ปีขึ้นไป ไม่มีประวัติอาชญากรรม หรือประวัติพำนักผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี หรือถูกห้ามเดินทางเข้าสาธารณรัฐเกาหลี ไม่เป็นโรคติดต่อรวมไปถึงวัณโรค ไม่ติดยาเสพติด ไม่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ หรือให้กำเนิดบุตรไม่เกินหนึ่งปีนับจากวันสมัคร

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 26/6/2566

จบด็อกเตอร์รายได้ลด เปิดรายได้แรงงานไทยเฉลี่ย 1.5 หมื่น/ด.

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยตัวเลขค่าจ้างแรงงานไทยเฉลี่ยจำแนกตามการศึกษา โดยตัวเลขล่าสุดที่รวบรวมได้ ค่าจ้างแรงงานไทยทุกการศึกษาเฉลี่ยอยู่ที่ 15,416.29 บาทต่อเดือน ณ ไตรมาสที่ 4 ของปี 65 เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 64 ที่อยู่ที่ 14,892.27 บาทต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้น 524.02 บาทต่อเดือน แสดงให้เห็นรายได้เฉลี่ย ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น จากการทยอยลดมาตรการเข้มงวด เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของแรงงานไทยค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ หากแยกรายละเอียดรายได้แรงงานไทยเฉลี่ยตามภาคการศึกษา พบว่ารายได้ของผู้ไม่มีการศึกษา ผู้มีการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมศึกษา มีรายได้เฉลี่ยใกล้เคียงกัน โดยผู้ไม่มีการศึกษา มีรายได้ 8,833.35 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นรายได้ระดับเดียวกันกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผู้มีการศึกษาต่ำกว่าประถมศึกษา มีรายได้เฉลี่ย 8,453.74 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนผู้จบระดับประถมศึกษา มีรายได้ เฉลี่ย 9,581.87 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 308.21 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 64

ขณะที่แรงงานที่จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น มีรายได้เฉลี่ย 10,855.08 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 506.45 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับระยะ เดียวกันของปีก่อน สำหรับแรงงานที่จบมัธยมศึกษาตอนปลาย มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 12,959.91 บาท โดยผู้ที่จบสายอาชีพ มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่า โดยผู้ที่จบสายอาชีวศึกษา มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 14,835.08 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 914.81 บาทต่อเดือน ส่วนสายสามัญมีรายได้เฉลี่ย 12,418.92 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 678.88 บาทต่อเดือน

ด้านแรงงานที่จบระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย (อนุปริญญา) มีรายได้เฉลี่ย 15,708.03 บาทต่อเดือน โดยแยกเป็นผู้ที่จบสายวิชาการศึกษา (งานที่ปฏิบัติเกี่ยวกับการวิเคราะห์ วิจัย พัฒนาหลักสูตร การส่งเสริมการศึกษา เทคโนโลยีการศึกษา เป็นต้น) มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ 16,667.02 บาท เพิ่มขึ้น 2,778.55 บาทต่อเดือน ขณะที่สายอาชีวศึกษา มีรายได้เฉลี่ย 15,700.85 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 498.80 บาท เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ สายสามัญ มีรายได้เฉลี่ย 15,665.01 บาท ลดลง 778.67 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน

สำหรับแรงงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีรายได้เฉลี่ย 23,554.30 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นเพียง 215 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แรงงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท มีรายได้เฉลี่ย 40,273.73 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 1,453.28 บาทต่อเดือน ขณะที่แรงงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 48,394.99 บาท ลดลง 1,450.94 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 64

ที่มา: ไทยรัฐมันนี, 26/6/2566

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net