Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์ชี้ว่าการที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาจำคุก “เอกชัย” 1 ปีเพียงเพราะเล่าประสบการณ์เพศสัมพันธ์ในเรือนจำถือเป็นการคุกคามสิทธิโดยการใช้กฎหมายมากลั่นแกล้งเพื่อลดบทบาทของนักกิจกรรมทางการเมือง

7 ก.ค.2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่เมื่อวานนี้(6 ก.ค.) ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุก 1 ปี เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรม เพราะโพสต์เล่าเรื่องประสบการณ์เพศสัมพันธ์ในเรือนจำ โดยเห็นว่าเนื้อหาเป็นการยั่วยุกามารมณ์ ผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (4) ทำให้เขาต้องถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำทันที

ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 1 ปี 'เอกชัย' เหตุโพสต์เล่าประสบการณ์ทางเพศ ในเรือนจำ

แถลงการณ์ระบุว่า ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย เผยว่า สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ได้รับการรับรองในหลักการและกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงข้อบทที่ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

"การตัดสินจำคุก 1 ปี 'เอกชัย หงส์กังวาน' ถือว่าเป็นการข่มขู่ คุกคาม เพื่อลดบทบาทนักกิจกรรมในเมืองไทย การใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือปิดปาก กลั่นแกล้ง และเลือกปฏิบัติโดยพุ่งเป้าไปที่นักกิจกรรมมีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ ‘สิทธิในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก’ เป็นสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย"

ในปี 2557 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและสมัชชาสหประชาชาติได้รับรองว่าสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก หมายความรวมถึงการแสวงหา รับ และนำเข้าข้อมูลในรูปแบบออนไลน์ด้วย

หลักการข้างต้นยังได้รับการรับรองและขยายความในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 31 และ 34 ถึงพันธกรณีของรัฐในทุกองคาพยพ ในการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมการใช้สิทธิดังกล่าว อีกทั้งยังระบุให้รัฐประกันว่าบุคคลนั้นย่อมได้รับความคุ้มครองจากการกระทำของเอกชนที่อาจแทรกแซงการใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก รัฐเองยังมีหน้าที่ไม่เข้าไปแทรกแซงและดำเนินการเพื่อรับรองความเป็นกลางของผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้บุคคลสามารถเข้าถึงและแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างไม่ถูกปิดกั้น

ในปี 2565 บนเวทีรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รอบที่ 3 ของประเทศไทย ประเทศไทยรับข้อเสนอแนะทั้งหมด 218 ข้อจากทั้งหมด 278 ข้อ โดยรัฐบาลไทยปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกใน 7 ข้อจาก 18 ข้อ รวมถึงข้อเสนอแนะที่ให้แก้ไขพ.ร.บ.คอมฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกอีกด้วย

ทั้งนี้ ถ้อยคำในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อกังวลถึงความคลุมเครือในการตีความ มาตราดังกล่าวยังนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีเอาผิดกับเนื้อหาบนโลกออนไลน์ แม้เจตนารมณ์ของกฎหมายมีขึ้นเพื่อการเอาผิดการกระทำต่อ "ระบบ" คอมพิวเตอร์และนำมาสู่การบังคับใช้อย่างพลการและอาจละเมิดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกอย่างร้ายแรงนั้น ขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมายและความชัดเจนแน่นอนของกฎหมาย

เอกชัยเริ่มออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 ตลอดการเคลื่อนไหวทางการเมือง เอกชัยถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 30 คดี ถูกคุมขังในเรือนจำเป็นครั้งที่ 4 รวมถึงถูกทำร้ายถึง 6 ครั้ง ถูกเผารถยนต์ 2 ครั้ง และถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คดีครั้งนี้เริ่มมาตั้งแต่เขารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อมีนาคมปี 2561 ในช่วงเดียวกับที่เขาออกมารณรงค์ให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของพล.อ.ประวิตร วงสุวรรณ ที่ขณะนั้นยังเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลทหาร คสช. หลังจากมีประชาชนในสื่อสังคมออนไลน์เปิดข้อมูลราคาของนาฬิกาหลายเรือนที่พล.อ.ประวิตรใส่และปรากฏอยู่ในภาพข่าวต่างกรรมต่างวาระ โดยที่ตัวเอกชัยเองก็โพสต์เล่าประสบการณ์ชีวิตในเรือนจำมาตั้งแต่ 23 เม.ย. 2560 แล้วโดยมีจำนวนตอนทั้งหมด 14 ตอน

นอกจากนั้นการคุกคามถึงเนื้อถึงตัวไปจนถึงเกิดการทำร้ายร่างกายที่กล่าวถึงข้างต้นมีถึง 4 ครั้งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2561 และในจำนวนนี้มีถึง 3 ครั้งที่เกิดขึ้นเพราะเอกชัยไปทำกิจกรรมเกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินของพล.อ.ประวิตรด้วย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net