Skip to main content
sharethis

กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเสริมแกร่งท่องเที่ยวภูเก็ต

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้ภาคธุรกิจ ท่องเที่ยวและบริการประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงต้องเร่งแก้ไขเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน ผมได้มอบหมายให้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่จัดประชุมหารือกับผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวและบริการ เพื่อรับทราบจำนวนและทักษะที่ต้องการว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของประเทศ

โดยนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อมาประชุมรับฟังความคิดเห็นกับผู้ประกอบการ สมาคมชมรมภาคธุรกิจด้านท่องเที่ยวและบริการ อาทิ นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กรรมการบริหารสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ประธานชมรมบริหารงานบุคคลจังหวัดภูเก็ต เพื่อรับทราบถึงตำแหน่งที่ต้องการแรงงานและทักษะที่จำเป็น

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้มีการจัดประชุม รับฟังความคิดเห็น ในลักษณะดังกล่าวไปแล้ว 1 ครั้ง แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทำให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการจึงมีความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

ได้ดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่แรงงานทุกช่วงวัยอย่างต่อเนื่อง ในส่วนภาคท่องเที่ยวและบริการได้ฝึกอบรมภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีเป้าหมายจำนวน 4,900 คน ดำเนินการแล้ว 3,992 คน โดยการหารือในครั้งนี้ จะสามารถนำไปสู่การยกระดับทักษะแรงงานให้มีความพร้อมและป้อนเข้าสู่ตลาดภาคท่องเที่ยวและบริการได้อย่างเพียงพอ เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวโดยเร็วต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 8/7/2566

ประกันสังคมโชว์ยอดผู้ประกันตนทำฟัน มิ.ย.66 ใช้สิทธิกว่า 2.6 แสนครั้ง จ่ายแล้ว 239 ล.

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานด้านสิทธิประโยชน์ในกรณีทันตกรรม อุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน ผ่าฟันคุดโดยไม่ต้องสำรองจ่ายในวงเงินไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี ว่า เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงสิทธิในการเข้ารับบริการทางการแพทย์กรณีทันตกรรม ลดขั้นตอนในการยื่นเอกสารขอรับประโยชน์ทดแทน ลดระยะเวลา รอคอย ลดภาระค่าใช้จ่ายเดินทางของผู้ประกันตน โดยยอดล่าสุดเดือนมิถุนายน 2566 มีผู้ประกันตนใช้บริการแล้วกว่า 265,817 ครั้ง สปส.จ่ายประโยชน์ทดแทนไปแล้ว 239,485,328.19 บาท

เลขาธิการ สปส. กล่าวต่อไปว่า ผู้ประกันตนที่จะไปใช้สิทธิประโยชน์ในกรณีทันตกรรม อุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ในการเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมกับสถานพยาบาล โดยสังเกตป้ายสติ๊กเกอร์ที่ระบุว่า สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม “ทำฟัน” ไม่ต้องสำรองจ่าย

“กรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการในสถานพยาบาลที่ไม่ได้ทำความตกลงเรื่องการเบิกจ่าย ผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับประโยชน์ทดแทน ผ่านออนไลน์ได้ เพียงแนบไฟล์ผ่าน www.sso.go.th พร้อมหลักฐานประกอบด้วย ใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ พร้อมสำเนาสมุดบัญชีธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ หน้าแรกที่มีชื่อ และเลขบัญชีของผู้ประกันตน หรือยื่นต่อสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ / จังหวัด / สาขา ทั่วประเทศ ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่เข้ารับบริการที่ระบุไว้ในใบเสร็จรับเงิน และใบรับรองแพทย์ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการตลอด 24 ชั่วโมง” นายบุญสงค์ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 7/7/2566

พนักงาน “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” 300 ชีวิต บุก ก.ล.ต. เคลียร์ปมอายัดทรัพย์ฯ คดี STARK

7 ก.ค. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า มีพนักงานกว่า 300 คน ของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตสายไฟฟ้าและเคเบิ้ลรายใหญ่ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ STARK ได้เดินทางมาบุกสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อขอความชัดเจนหลังจากมีคำสั่งอายัดทรัพย์สิน

โดยตัวแทนพนักงานรายหนึ่ง ได้ออกมาชี้แจงหลังจากมีการพูดคุยกับตัวแทน ก.ล.ต. ว่า คำสั่งกฎหมายตามมาตรา 267 ของพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ที่มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินนั้น ไม่ได้หมายถึงการระงับการทำธุรกรรมที่ปกติ นั่นหมายความว่าการทำงานของเรายังเป็นไปตามปกติ เพียงแต่นิยามคำว่าปกติหรือไม่ปกตินั้น จะต้องนำข้อมูลมาหารือกับ ก.ล.ต. ซึ่งได้มีการนัดหมายกันในวันจันทร์ที่ 10 ก.ค.นี้

เพราะฉะนั้นหากมีงานที่ต้องผลิตหรือจะต้องทำในโรงงาน ในบริษัท หรือในออฟฟิศ ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์-จันทร์ ก็ดำเนินการไปตามปกติ เพียงแต่ว่าสิ่งของไม่ว่าจะเป็นสินค้าสำเร็จรูปที่จะต้องส่งออกไปให้ลูกค้าในวันเสาร์-อาทิตย์-จันทร์ ถ้ามีความจำเป็นจะต้องส่ง จะต้องรีบทำข้อมูลเพื่อส่งมาขออนุมัติ ก.ล.ต. ก่อนจะดำเนินการได้

ส่วนเรื่องต่อมาเป็นเรื่องของข้อมูลในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ระบุว่าเป็นกิจกรรมตามปกติ เช่น ต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานทุกวันที่ 13, ต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานทุกวันที่ 28 และถ้าเป็นพนักงานของบริษัทอดิศรสงขลาต้องจ่ายเงินทุกวัน หรือมีการจ่ายเงินให้ซัพพลายเออร์อย่างไร แต่ละแผนกจะต้องรีบรวบรวมเรื่องของกระบวนการทำงาน และเอกสารที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง เพื่อรวบรวมส่งให้ ก.ล.ต. ภายในวันเสาร์-อาทิตย์นี้

เพื่อให้ทีม ก.ล.ต.มีเวลาศึกษาดูรายละเอียดก่อนในวันจันทร์ที่จะเข้ามาพบ เพื่อให้การดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว ถ้าเราช้า ในวันจันทร์ก็อาจพูดคุยกันไม่จบ ฉะนั้นต่างคนต้องรีบกลับไปทำงานในพื้นที่ของตัวเองเพื่อรวบรวมคำเสนอมา เพื่อปลดล็อกเรื่องต่าง ๆ ให้เราสามารถทำงานกันได้อย่างปกติ

ที่มา: 7/6/2566, ประชาชาติธุรกิจ

กกจ.แจงแนวทางส่งแรงงานไทยทำงานภาคเกษตรเกาหลีใต้ เผยรอนายจ้างแจ้งยอด

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ความสำเร็จในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ด้านการจัดส่งแรงงานภาคเกษตรตามฤดูกาล (Seasonal Worker) กับทางการเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 เป็นการขยายตลาดแรงงานให้เกษตรกรไทยเข้าไปทำงานภาคเกษตรตามฤดูกาล ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรไทยที่ว่างงานในระหว่างรอถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างนายจ้างในเมืองจินอันแจ้งความต้องการจ้างแรงงาน เพื่อส่งให้กรมการจัดหางานประกาศรับสมัคร จึงขอแนะนำให้ผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารและประกาศรับสมัครจาก กกจ. ที่เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas โดยคุณสมบัติเบื้องต้น ต้องเป็นคนไทย อายุระหว่าง 25-45 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่กำหนด ประกอบอาชีพเกษตรกรหรือมีประสบการณ์งานเกษตรอย่างน้อย 1 ปี ไม่ต้องสอบวัดระดับภาษาเกาหลี และผู้ที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์จะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรกในการรับสมัครปีถัดไป

นายไพโรจน์กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานตามเอ็มโอยู ด้านการจัดส่งแรงงานภาคเกษตรตามฤดูกาล ปี 2566 มี 4 ขั้นตอน ดังนี้

1.นายจ้างแจ้งความต้องการจ้างแรงงาน ณ อ.จินอัน โดย อ.จินอัน จะดำเนินการตรวจรับรองเอกสารจากนายจ้าง และอนุญาตการจ้างแรงงานไทย

2.ฝ่ายแรงงานประจำ สอท. ณ กรุงโซล ตรวจรับรองเอกสารประกอบด้วยหนังสือมอบอำนาจ (Power of Attorney) หนังสือแจ้งความต้องการแรงงาน (Demand Letter) และสัญญาจ้าง (Employment Contract) เพื่อส่งให้กรมการจัดหางาน ประเทศไทย

3.กกจ.ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการรับสมัครและจัดส่งแรงงานตามฤดู จะประกาศรับสมัครคนงานจากการคัดเลือกโดยการสอบสัมภาษณ์ และทดสอบสมรรถนะ/ศักยภาพ รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้นายจ้าง/ผู้แทนนายจ้างเข้าร่วมกระบวนการรับสมัคร จากนั้นจึงประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องเตรียมความพร้อมตนเอง อาทิ การตรวจสอบประวัติอาชญากรรม (CID) และจัดทำหนังสือเดินทาง (Passport)

4.กกจ.ดำเนินการจัดเตรียมเอกสารที่จำเป็นเพื่อจัดส่งแรงงาน อาทิ การเตรียมเอกสารยื่นขออนุมัติวีซ่า การตรวจสุขภาพก่อนเดินทางตามที่สาธารณสุขสาธารณรัฐเกาหลีกำหนด จัดทำประกันการเดินทางของแรงงานทุกราย โดยจะมีการอบรมแรงงานก่อนเดินทาง รับสมัครสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทํางานในต่างประเทศ จัดหาบัตรโดยสารเครื่องบินไป-กลับ รถไปสนามบิน รวมทั้งรับแจ้งการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ณ ด่านตรวจคนหางาน ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่แรงงานจะเดินทางออกไปทำงานต่างประเทศ

“การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานเกษตรในเกาหลีใต้นั้น ทางการเกาหลีใต้ระบุอย่างชัดเจนให้ กกจ.เป็นหน่วยงานผู้ดำเนินการ ซึ่งเป็นการจัดส่งคนไทยไปทำงานต่างประเทศโดยรัฐ แรงงานจะไม่เสียค่าบริการใดๆ นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่จําเป็นในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายจัดส่งแรงงานขั้นพื้นฐานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างงาน ทั้งนี้ ห้ามบริษัทจัดหางานเข้าแทรกแซงและทำสัญญาซ้อนกับแรงงาน จึงขอย้ำเตือนประชาชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจไปทำงานเกษตรตามฤดูกาลเกาหลีใต้ อย่าหลงเชื่อหากมีองค์กร หรือบุคคลใดแอบอ้างว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกในการขอวีซ่านี้ หรือมีช่องทางพิเศษในการอำนวยความสะดวกเพื่อไปทำงานต่างประเทศได้” นายไพโรจน์กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารจากกรมการจัดหางานได้ที่เว็บไซต์ doe.go.th หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 6/7/2566

ครม.ขยายเวลาต่างด้าว 4 สัญชาติที่สถานะไม่ถูกต้อง ทำงานในไทยได้ถึง 31 ก.ค.66

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการออกประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป

การพิจารณาของ ครม. ครั้งนี้สืบเนื่องจาก ครม.เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 66 ได้เห็นชอบให้คนต่างด้าวตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 65 (คนต่างด้าว 4 สัญชาติ ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 ก.พ. 66) ที่ประสงค์จะทำงานต่อในประเทศไทย จะต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตภายใน 13 ก.พ. 66 และให้ไปดำเนินการเพื่อให้ได้เอกสารหลักฐานต่างๆ แล้วนำมายื่นกับกรมการจัดหางานภายใน 15 พ.ค. 66

ซึ่งภายหลังสิ้นสุดช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว ปรากฎว่ามีคนต่างด้าวประมาณ 5 แสนคน ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่กำหนด จึงจำเป็นต้องผ่อนผันให้กับคนต่างด้าวที่สถานะไม่ถูกกฎหมาย เพื่อให้นายจ้าง ผู้ประกอบการ สามารถบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวได้อย่างเหมาะสม และไม่ให้กระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ในขณะนี้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับแนวทางการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ จะครอบคลุมแรงงานเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่

1) คนต่างด้าว 4 สัญชาติ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารแทนหนังสือเดินทางที่มีอายุหรือหมดอายุ และมีรอยตราประทับซึ่งการอนุญาตทำงาน หรืออนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลงโดยกฎหมาย เช่น กรณีคนต่างด้าวออกจากนายจ้างรายเดิมแล้ว ไม่สามารถหานายจ้างรายใหม่ได้ภายในเวลากำหนด หรือกรณีไม่สามารถทำงานต่อไปได้ เนื่องจากดำเนินการตามมติ ครม. ที่ผ่านมาไม่ครอบคลุมทุกขั้นตอน

2) คนต่างด้าว 4 สัญชาติฯ ที่ระยะเวลาการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง แต่ไม่ได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร (Over Stay) และ 3) คนต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายหรือการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง และทำงานกับนายจ้างก่อนที่ ครม. มีมติให้ความเห็นชอบ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า วิธีดำเนินการบริหารจัดการ ประกอบด้วย

1) ผ่อนผันให้คนต่างด้าวเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่ม อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานได้ถึง 31 ก.ค. 66

2) ให้นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อ พร้อมรูปถ่าย เพื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Name list) ต่อกรมการจัดหางานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ณ สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว สำนักงานจัดหางานจังหวังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ เป็นเวลา 15 วัน ตามที่กรมการจัดหางานกำหนด

3) เมื่อ Name list ได้รับการอนุมัติแล้ว คนต่างด้าวจะใช้ Name List ดังกล่าวเป็นเอกสารหลักฐาน แสดงว่าคนต่างด้าวได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานได้ถึง 31 ก.ค. 66

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ติดตาม ซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมาย ที่มีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรตามสิทธิของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นบิดา-มารดา โดยดำเนินการตามแนวทางที่กระทรวงแรงงานกำหนดต่อไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้ประเมินผลที่คาดว่าจะได้รับจากการออกแนวทางบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวฯ ครั้งนี้ว่า จะเป็นการผ่อนผันให้คนต่างด้าวเป้าหมาย สามารถอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อทำงานต่อไปได้ เพื่อรอระยะเวลาดำเนินการเอกสารให้ถูกต้อง และสามารถทำงานในประเทศไทยได้ตามกำหนดอย่างถูกต้องต่อไป และคนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าว เป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย การผ่อนผันดังกล่าว จะช่วยแก้ไขการขาดแคลนแรงงานของผู้ประกอบการ และยังคงคำนึงถึงความสมดุลของเศรษฐกิจประเทศและความมั่นคง

นอกจากนี้ การบริหารจัดการที่เหมาะสม จะเป็นการช่วยคุ้มครองให้คนต่างด้าวได้รับการจ้างงานโดยถูกกฎหมาย มีสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ คุ้มครองสิทธิที่พึงได้ และจะมีให้ภาครัฐมีข้อมูลการทำงานของคนต่างด้าวที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน เพื่อให้สำหรับการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวในระยะต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 6/7/2566

มธบ. เผย ‘สายการบิน’ ต้องการ ‘แรงงาน’ พุ่งกว่า 100,000 ตำแหน่ง

น.ต.ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT: College of Aviation Development and Training ) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. ที่รายงานว่า อุตสาหกรรมการบินของไทยปี 2565 เริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของ COVID-19

โดยมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 75,815,455 คน และมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็น 570,360 เที่ยวบิน

ทั้งนี้ กพท.คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจากทั่วโลกจะฟื้นตัวเท่ากับปี 2562 ในปี 2567–2568 จากข้อมูลดังกล่าวนับเป็นสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมการบินที่เริ่มกลับมาเหมือนเดิม

แต่เนื่องจากการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ ทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมการบินที่หายออกไปจากระบบบางส่วนไม่กลับเข้ามา และในส่วนที่กลับเข้ามาก็มีปริมาณไม่พอกับตามความต้องการ เพราะบางสายงานต้องใช้ทักษะในการทำงาน ต้องผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐานด้านต่าง ๆ ก่อนเข้าทำงานด้วย

และหนึ่งในความต้องการแรงงานจำนวนมากในอุตสาหกรรมการบินขณะนี้ คือ พนักงานสนับสนุนการบริการภาคพื้นดิน (Ground Support) ซึ่งต้องดูแลผู้โดยสารตั้งแต่เช็คอิน โหลดกระเป๋า ตรวจบอร์ดดิ้งพาส สื่อสารระหว่างภาคพื้นกับลูกเรือ ฯลฯ

ด้วยอุตสาหกรรมการบินมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน อาทิ การท่องเที่ยว การขนส่งสินค้า การบริการ ฯลฯ เมื่อภาคธุรกิจเหล่านี้ฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์ระบาดของโควิด-19

โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ด้วยประเทศไทยมีเสน่ห์ทั้งจากแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และยังมีอาหารไทยที่เป็น Soft Power ดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง

ที่สำคัญประเทศไทยมีการบริหารจัดการในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้ดีในระดับต้น ๆ ของโลก ความปลอดภัยด้านนี้ค่อนข้างสูง จึงทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น ปริมาณการให้บริการภาคพื้นสนามบินจึงมากขึ้นตามไปด้วย

“ปัญหาของฝั่งที่ทำงานด้านภาคพื้นดิน คือ ปริมาณงานมีมากกว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ เพราะการทำงานในภาคส่วนนี้ จำเป็นต้องมีการฝึกอบรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยด้านต่าง ๆ ซึ่งต้องเข้มข้นมาก ๆ ไม่ใช่ว่ารับเข้าทำงานแล้วจะทำงานได้เลย ปริมาณเจ้าหน้าที่ให้บริการภาคพื้นดินจึงไม่เพียงพอต่อภาระงาน

จะเห็นได้ว่า บริษัทต่าง ๆ มีความต้องการแรงงานด้านภาคพื้นจำนวนมาก บางบริษัทมีความต้องการพนักงานด้านนี้จำนวนกว่า 500 คน และหลายบริษัทต้องการนักศึกษาฝึกงานจำนวนมาก มีที่ติดต่อขอนักศึกษาฝึกงานกับทางวิทยาลัยแต่ก็ไม่สามารถป้อนให้ได้ตามจำนวนที่บริษัทต้องการ” น.ต.ดร.วัฒนา ระบุ

ทั้งนี้ วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มธบ. หรือ CADT DPU ในฐานะสถาบันการศึกษา ที่มุ่งมั่น สร้างมืออาชีพด้านธุรกิจการบิน ที่ต้องมีทั้งความรู้ ทักษะและประสบการณ์ และมีใจรักในงานบริการ (Knowledge, Skill and Service Mind)

โดยวิทยาลัยฯ มีความพร้อมทั้งหลักสูตรการเรียน การสอน บุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวก

โดยเปิดการสอนในระดับปริญญาตรี 2 หลักสูตร คือ ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาวิชาธุรกิจการบิน และ สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีการบิน (และการอำนวยการบิน)

และยังมีหลักสูตรฝึกอบรมด้านการบินสำหรับบุคคลทั่วไป ตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้นด้านการบินต่าง ๆ ที่เป็นหลักสูตรมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ DPU Aviation Academy (DAA) ของ CADT DPU ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินครบวงจรที่สำคัญของประเทศ และเป็นมหาวิทยาลัยเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจาก IATA ถึง 6 ปีซ้อน ตอบสนองนโยบายของรัฐในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของอาเซียน

“วิทยาลัยฯ มีความพร้อมในการผลิตบุคลากรคุณภาพป้อนสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งจากการสำรวจบัณฑิตที่จบออกไปพบว่า 92% มีงานทำ ส่วน 8% เรียนต่อและสานต่อธุรกิจของครอบครัว”

จากการคาดการ์ของ กพท.ที่ระบุว่าอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาเหมือนเดิมในปี 2567-2568 ดังนั้น จะมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นแน่นอน จึงนับเป็นโอกาสของผู้ที่สนใจศึกษาต่อด้านการบิน เพราะงานในอุตสาหกรรมการบิน มีมากถึง 9 ลักษณะงานด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น นักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เจ้าหน้าที่ภาคพื้น เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัย ฯลฯ

ทั้งนี้ เดิมลักษณะงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง(Direct) เช่นนี้ ช่วงก่อนโควิด-19 มีจำนวนแรงงานกว่า 300,000 คน แต่หายไปจากระบบช่วงโควิด-19 ประมาณ 100,000 คน คาดว่าเมื่ออุตสาหกรรมการบินกลับมาปกติ ความต้องการแรงงานด้านการบินน่าจะมีจำนวนกว่า 100,000 ตำแหน่งแน่นอน

ที่มา: คมชัดลึก, 5/7/2566

ก.แรงงาน ติวเข้มเจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หวังไทยขยับเทียร์ 1

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดและโฆษกกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับปี พ.ศ.2565) รุ่นที่ 6 (พนักงานเจ้าหน้าที่รุ่นที่ 65) ซึ่งฝึกอบรมระหว่างวันที่ 3 – 8 กรกฎาคม 2566 โดยมี น.ส.โสภณา บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การฝึกอบรม ณ โรงแรม ดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพมหานคร

นายวรรณรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นหน่วยงานหลักในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านความมั่นคง โดยรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดนโยบายกระทรวงแรงงาน “MOL พลิกโฉมตลาดแรงงานไทย” ได้กำหนดให้ “เร่งรัดการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและป้องกันการค้ามนุษย์ เพื่อมุ่งสู่การเป็น Tier 1” และได้มอบหมายให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนำมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ในการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงาน และการนำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM) นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งการปฏิบัติงานดังกล่าว มีความจำเป็นที่จะต้องมีการเพิ่มศักยภาพด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทีมสหวิชาชีพ ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงาน และได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

นายวรรณรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน พร้อมที่จะร่วมผนึกกำลังกับทีมสหวิชาชีพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการยกระดับการขับเคลื่อนการต่อต้านการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการค้ามนุษย์ในประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ และได้รับการจัดอันดับในรายงานการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier 1 ต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 3/7/2566

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net