Skip to main content
sharethis

ตม.รับคำขอชะลอ ไม่บังคับส่งกลับ 'ธล สัมนัง' อดีตสมาชิกพรรคแสงเทียน ฝ่ายค้านกัมพูชา ซึ่งกำลังถูกฝ่าย รบ.ไล่จับกุม ด้าน UNHCR จะเข้ารับช่วงต่อ เพื่อทำสถานะผู้ลี้ภัย หลังก่อนหน้านี้ 'ทูเดย์' รายงานว่า เจ้าตัวถูกจับกุมเมื่อ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา 

 

10 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (10 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.34 น. กรณีเมื่อ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานการจับกุม ธล สัมนัง อดีตสมาชิกพรรคแสงเทียน ฝ่ายค้านกัมพูชา ด้านพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองรับคำขอชะลอผลักดันกลับแล้ว วันนี้ (10 ก.ค.) ตัวของธล สัมนัง ยังอยู่ในห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) แต่ยังคงมีความกังวลการผลักดันกลับ    

สืบเนื่องจากเว็บไซต์ 'ทูเดย์' รายงานเมื่อ 8 ก.ค. 2566 มีรายงานจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า นายธล สัมนัง (Thol Samnang) อดีตนักการเมืองพรรคฝ่ายค้านจากประเทศกัมพูชา เดินทางออกจากที่พัก เพื่อไปที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในกรุงเทพฯ แต่ปรากฏว่า ตัวของธล หายไป

ทูเดย์ รายงานต่อว่า พยานแจ้งว่าระหว่างทางบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ธลถูกกลุ่มบุคคลพาตัวไป ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเจ้าหน้าที่หรือไม่ และสัญชาติใด

ขณะที่สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชน 'ฮิวแมนไรท์วอตช์' ชี้ว่ารายงานข่าวการอุ้มหาย เป็นความผิดทั้งตามกฎหมาย และกติการะหว่างประเทศ ทางการไทยควรเร่งตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น "อย่าให้ดูเหมือนกับว่าบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป"

ต่อมา ผู้สื่อข่าวทูเดย์ ติดต่อสอบถามพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้​บัญชาการ​ตำรวจ​แห่งชาติ​ เขาระบุว่ายังไม่ทราบข้อมูลแน่ชัด ต้องดำเนินการตรวจสอบก่อน

ผู้สื่อข่าวทูเดย์ ติดต่อไปยัง สน.พญาไท ตามเบอร์โทรศัพท์ที่ปรากฏบนหน้าเฟซบุ๊กเพจ "สน.พญาไท" ยืนยันว่า ตามขั้นตอนปกติหากมีการจับกุมภายในพื้นที่จะมีชื่อปรากฏอยู่บนกระดานใน สน. วันที่ผ่านมายังไม่มีชาวต่างชาติเลย 

ด้านเครือข่ายนักสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา ระบุว่า เรามีความเป็นห่วงว่าเขา (ธล สัมนัง) อาจจะถูกส่งตัวกลับไปประเทศกัมพูชา เนื่องจากก่อนเกิดเหตุที่ไทย ตำรวจของจังหวัดกันดาว จังหวัดกัมพูชา ได้ติดตามและล้อมบ้านเขาแล้วเป็นเวลา 2 วัน ทำให้เจ้าตัวไม่สามารถเดินทางกลับไปทางชายแดนได้ 

ธล สัมนัง เป็นอดีตนักกิจกรรมหัวหน้าเยาวชนของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดกันดาว ประเทศกัมพูชา และสมาชิกพรรคแสงเทียน ซึ่งเป็นพรรคของ สม รังษี อดีตผู้นำฝ่ายค้านรัฐบาลฮุนเซน ซึ่งต่อมาถูกยุบ สม รังษี หัวหน้าพรรคต้องลี้ภัยเป็นเวลานานในฝรั่งเศส และเคยมีความพยายามกลับกัมพูชาในเวลาไม่นานมานี้ ขณะที่สมาชิกพรรคอื่นๆ ถูกจับตาโดยรัฐบาลฮุนเซน อย่างใกล้ชิด และบางคนถูกจับกุมดำเนินคดี

ล่าสุด ผู้สื่อข่าว 'ทูเดย์' รายงานวันนี้ (8 ก.ค.) เมื่อเวลา 11.40 น. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่าพบตัว ธล สัมนัง ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกังวลว่าจะมีการส่งกลับ

ตม. รับเรื่องชะลอ ไม่บังคับผลักดันกลับประเทศต้นทาง

8 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวติดต่อไปยัง พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยืนยันว่า เจอตัวธล ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) แล้ว โดยมีกำหนดการผลักดันกลับประเทศตามข้อตกลงร่วม (MOU) ภายในช่วงเย็นของวันนี้

พรเพ็ญ ระบุต่อว่า อย่างไรก็ตาม ทางตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หรือ ตม. รอทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมอยู่ ยังไม่มีการเร่งรีบผลักดันกลับแต่อย่างใด 

ส่วนประเด็นที่ว่าตัวของธล จะได้ไปประเทศที่สามนั้น พรเพ็ญ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นต้องทำเรื่องชะลอการส่งกลับก่อน และต้องมีการสอบถามธล ต่อประเด็นเรื่องสถานะของตัวเขา และความยินยอมพร้อมใจของอดีตสมาชิกพรรคฝ่ายค้านกัมพูชาว่าต้องการไปประเทศที่สามหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ทางธล ต้องได้รับทราบข้อมูล และข้อปรึกษาทางกฎหมายกับเขาก่อน และให้เขาตัดสินใจอีกที 

"เชื่อมั่นว่าทางเจ้าหน้าที่ ตม. เข้าใจและเขายืนกรานว่าจะไม่ส่งตัวกลับตามกำหนดวันนี้ (8 ก.ค.) น่าจะชะลอให้ได้ เพราะว่าเราได้อาศัยตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ร้องเรียนไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว เพียงแต่ว่าขั้นตอนที่ ตม.จะให้การรับรองให้เขาอยู่ต่อในเมืองไทยตาม พ.ร.บ.ใหม่ ยังไม่แน่ใจ อย่างน้อยเขาให้โอกาสกับผู้ลี้ภัย" พรเพ็ญ กล่าว

ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การส่งกลับของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ยังคงเป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.เข้าเมือง และข้อตกลงร่วม (MOU) ที่รัฐบาลไทยเซ็นลงนามร่วมกับรัฐบาลกัมพูชา แต่สิ่งที่เราอยากให้ ตม.คิดถึงคือสถานะของธล ตอนนี้เขาอยู้ในสถานะ ‘ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย’ (Asylum Seeker) เพราะว่าข้อมูลที่เราได้รับ คือธล กำลังเดินทางไปพบข้าหลวงใหญ่ว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ แม้ว่าเขาจะยังไม่ได้สถานะฯ เมื่อเขายังไม่ได้สถานะเขาก็เป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยได้รับการคุ้มครอง 

พรเพ็ญ ระบุต่อว่า เรื่องระบบคัดกรองผู้ลี้ภัย แม้ว่าจะมีการประกาศมาหลายปีแล้ว ดังนั้นอาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองพิจารณาใช้ระบบคัดกรอง เป็นกรณีศึกษาได้ 

ส่วนเรื่องรายละเอียดการจับกุมธลนั้น พรเพ็ญ ระบุว่ายังไม่ชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่จับกุมอย่างไร แต่สุดท้ายแล้ว เขามาอยู่ในการจับกุมของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

ด้านสุณัย ผาสุข โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม 'ทวิตเตอร์' เรียกร้องให้ทางการไทย ไม่ผลักดันตัวธล สัมนัง กลับประเทศกัมพูชา เนื่องจากธล เป็นสมาชิกพรรคแสงเทียน ที่รัฐบาลฮุนเซน ไล่ล่าตัวอยู่ หากส่งตัวกลับไป ธล อาจต้องเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทาง นอกจากนี้ การส่งตัวธล กลับไปถือเป็นการละเมิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ และจารีตระหว่างประเทศ

เมื่อเวลา 18.14 น. ผู้อำนวยการของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ทาง ตม. อนุญาตให้ทนายความเข้าพูดคุยสอบถามความประสงค์ความตั้งใจ และให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับ ธล สัมนัง อดีตพรรคฝ่ายค้าน ประเทศกัมพูชาแล้ว ซึ่ง ธล ยืนยันว่า ไม่อยากกลับไปประเทศกัมพูชา เพราะถ้ากลับ อาจเผชิญกับอันตราย ซึ่ง ตม.ก็รับฟัง และไม่ส่งกลับ

พรเพ็ญ ระบุต่อว่า เรื่องการชะลอการส่งกลับจะยืดออกไปถึงเมื่อไรนั้น ทางสหประชาชาติ จะเข้ามาช่วยเหลือ เราก็ให้เขาช่วยเหลือ และให้เขาเข้าไปสัมภาษณ์ เพื่อทำสถานะ “ผู้ลี้ภัย” แต่อย่างน้อยยังไม่มีการบังคับผลักดันกลับประเทศต้นทาง

วันนี้ (10 ก.ค.) ผู้สื่อข่าว สอบถามพรเพ็ญ ถึงความคืบหน้ากรณีของธล สัมนัง ปัจจุบัน ยังอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สวนพลู และมีความกังวลเรื่องการถูกบังคับผลักดันกลับประเทศต้นทาง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net