Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมชวนประชาชนทำโพล "ส.ว.ควรโหวตเลือกนายกฯ จากเสียงตัวเอง หรือเสียงประชาชน" ที่แยกปทุมวัน เนื่องในวาระที่ 13 ก.ค. 66 จะมีการโหวตเลือกนายกฯ พบผลโหวตเกือบทั้งหมดอยากให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ตามเสียงของประชาชน

 

"ร่วมกันทำโพลส่งเสียงถึง ส.ว. ได้นะคะ วันที่ 13 ก.ค.นี้ จะมีการเลือกนายกฯ แล้วนะคะ” ไฮยีนส์ นักกิจกรรมตัวแทนกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ กล่าว

11 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (11 ก.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ที่สกายวอล์กแยกปทุมวัน กลุ่มนักกิจกรรมนำโดย 'ไฮยีนส์' ตัวแทนโมกหลวงริมน้ำ กรกช แสงเย็นพันธ์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ทำกิจกรรมโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนกับคำถามที่ว่า "ส.ว.ควรโหวตเลือกนายกฯ จากเสียงตัวเอง หรือเสียงประชาชน" ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00-19.00 น. 

วิธีการร่วมกิจกรรมนั้นประชาชนที่สัญจรผ่านไปผ่านมาสามารถขอสติกเกอร์ที่ผู้จัดเตรียมไว้ให้ มาแปะลงบนแผ่นกระดาษ 2 ช่อง แบ่งเป็น "เสียงตัวเอง" และ "เสียงประชาชน" 

 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามกับทาง กรกช ถึงคำว่า "เสียงตัวเอง" หมายความว่าอย่างไร โดยกรกช ระบุว่า หมายถึง ส.ว. ที่โหวตโดยใช้ความเชื่อของตัวเอง หรือใช้เหตุผลของตัวเองที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้มาจากความต้องการส่วนใหญ่ของประชาชนคืออะไร

กรกช กล่าวว่า มาจากแรงบันดาลใจที่ช่วงที่ผ่านมามี ส.ว. (สมาชิกวุฒิสภา) หลายคนออกมาพูดว่าจะโหวตเลือกนายกฯ ที่ตัวเองอยากจะโหวต ซึ่งมันไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่มันเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดสุญญากาศ หรือวิกฤตทางการเมือง เรายืนยันว่า ส.ส.ที่หาเสียง ส.ว.ไม่ควรเลือกนายกฯ ตอนนี้เกินกึ่งหนึ่งแน่นอน หรือ 376 เสียง แต่ ส.ว.เอามาตีเป็นเงื่อนไขที่จะไม่ให้เกิดรัฐบาลที่มาจากประชาชนเลือก และไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย เลยออกมารณรงค์ และกลายเป็นว่าในที่เราไปโหวตแล้วเมื่อ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ต้องมาช่วยกันทำโพลว่า ส.ว. ไม่ได้อยู่ในสมการประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น คุณควรทำตามกติกาประชาธิปไตย 

"คุณ (ผู้สื่อข่าว - ส.ว.) ควรทำตามกติกาประชาธิปไตย และให้ประเทศไทยได้เดินหน้า ไม่งั้นจะเกิดสุญญากาศทางการเมือง หรือมีคำถามเกิดขึ้นมาว่า คุณทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองเพื่อใคร" กรกช กล่าว

 

นอกจากนี้ กรกช อยากฝากไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่เคยหาเสียงกันไว้ หรือสัญญาประชาชนว่าไม่เอา ส.ว.เลือกนายกฯ อันนี้เป็นเวทีพิสูจน์แล้วว่าตอนที่คุณหาเสียง คุณจะทำตามที่คุณบอกไหม มันไม่ใช่การเลือกนายกฯ อย่างเดียว มันคือการเลือกว่าจะเอากองทัพ ออกจากการเมืองรึเปล่า เพราะว่า ส.ว.ชุดปัจจุบัน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เป็นมรดกคณะรัฐประหาร เพราะฉะนั้น ถ้าคุณทำให้ ส.ว.ไม่มีความหมายแล้ว โดยที่ ส.ส.จัดการกระบวนการทุกอย่าง 

"ผมคิดว่า ให้เอา ส.ว.ออกจากสมการ ซึ่งเอา ส.ว. ออกจากสมาการได้ ต้องให้ ส.ส.ผนึกกำลังร่วมกัน ยกมือให้เห็นว่ามันไม่ใช่เลือกใครเป็นนายกฯ อย่างเดียว มันคือการเลือกว่า ประเทศไทยจะไปกับระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีกองทัพ หรือจะไปกับระบอบเผด็จการ หรือประชาธิปไตยครึ่งใบที่มีกองทัพหนุนหลัง ส.ว.อยู่แบบนี้" กรกช กล่าว

กรกช แสงเย็นพันธ์ (ที่มา: สหภาพคทำงาน)

ต่อประเด็นที่ว่านอกจาก ส.ว. แล้ว ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน อาทิ พรรคชาติไทยพัฒนา หรือพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่เห็นด้วยกับอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ควรมีส่วนในการยกมือโหวตอย่างไร ตัวแทน DRG กล่าวว่า เขาเชื่อมั่นว่าตอนที่คนออกไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคชาติไทยพัฒนา ช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา ประชาชนเขาไม่เห็นด้วยกับที่ให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ เขาเลือกเพราะสิ่งนี้ด้วย เขาไม่ได้เลือกให้พรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ แต่เขาเลือกให้พรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกฯ และเขาเห็นด้วยกับนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ว่าไม่ควรให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ด้วย เพราะฉะนั้น ตอนนี้มันคือการยืนยันว่าประเทศไทยต้องกลับสู่ประชาธิปไตยได้แล้ว เงื่อนไขที่ ส.ว.ตั้งมา ต้องทำเหมือนมันไม่มีอยู่ ถ้า ส.ส. รวมพลังกัน และเรากลับเข้าสู่ภาวะปกติ เราก็จะเดินหน้า ส.ว.ก็จะไม่มีความหมาย 

สำหรับผลโหวตนี้จะนำไปทำอะไรต่อหรือไม่นั้น กรกช ระบุว่า ผลโหวตตรงนี้จะมีกิจกรรมต่อไป สมมติมีการชวนจับตาการโหวตเลือกนายกฯ ของ ส.ว.นี้ก็จะเอาโพลไปด้วย เพื่อไปแสดงให้เขาเห็นว่าประชาชนคิดยังไง และเอาไปให้ประชาชนร่วมทำกิจกรรม เพราะเชื่อว่ายังมีประชาชนที่ยังไม่ได้แสดงความเห็นอีก เราต้องยืนยันว่าการที่เราออกไปจับตา หรือการยืนยันเคลื่อนไหวที่ไหนก็ตาม เพื่อจับตาการโหวตของ ส.ว. ว่า ส.ว.จะเคารพเสียงประชาชนไหม เพราะเราคาดหวังว่าให้มันจบตั้งแต่ครั้งแรก เพราะว่าระบบปกติ ส.ส.มันไม่มีทางที่จะไม่มีเสียงข้างมากในสภาฯ เพราะงั้น ถ้ามันมีการโหวตครั้งที่ 2 แสดงว่ามันเกิดเงื่อนไขที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ก็อยากให้ประชาชนออกมาแสดงพลังก่อนที่มันจะนำไปสู่เงื่อนไขที่ไม่เป็นประชาธิปไตยดังกล่าว

สำหรับบรรยากาศการทำกิจกรรมนั้น มีประชาชนที่เดินผ่านมาร่วมแปะสติกเกอร์จนกระทั่งเมื่อเวลา 19.00 น. กิจกรรมจึงสิ้นสุดลง โดยผลโหวตปรากฏว่าประชาชนติดสติกเกอร์ที่ช่อง ส.ว.ควรเลือกนายกฯ โดยใช้ "เสียงตัวเอง" เพียงอันเดียว และที่เหลือที่ช่องเห็นด้วยกับการให้ ส.ว. เลือกนายกฯ โดยฟัง "เสียงประชาชน" 

ภาพผลโหวตเมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. ของวันที่ 11 ก.ค. 2566 (ที่มา สหภาพคนทำงาน)

นอกจากนี้ ระหว่างทำกิจกรรม ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ 'ไฮยีนส์' นักเคลื่อนไหวอิสระ แต่วันนี้มาเป็นตัวแทนโมกหลวงริมน้ำ ในประเด็นการทำกิจกรรมหน้ารัฐสภาในวันที่ 13 ก.ค. 2566 ซึ่งจะมีการเปิดประชุม 2 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และมีวาระเลือกนายกฯ 

ไฮยีนส์ เปิดเผยว่า การชุมนุมเมื่อ 13 ก.ค.นี้ มีที่มาที่ไปจากกิจกรรม #RespectMyVote หรือให้ ส.ว. และ ส.ส. เคารพเสียงของประชาชน และเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ จากการเลือกตั้งปี 66 เมื่อ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา 

ไฮยีนส์ ระบุต่อว่า ก่อนหน้านี้มีการทำโพลบนโลกออนไลน์ว่า "อยากไปลุ้นโหวตเลือกนายกฯ ที่ไหน" จริงๆ แล้ว เบื้องต้นจะไปที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีข้อกังวลว่าถ้าไปชุมนุมหน้ารัฐสภา วันที่ 13 ก.ค. 2566 อาจทำให้ ส.ว.อ้างว่ามีการชุมนุม และไม่ไปที่รัฐสภา แต่หลังจากประชุมภายใน และมีกระแสข่าวช่วงที่ผ่านมา ทางนักกิจกรรมจึงตัดสินใจว่าจะไปชุมนุมหน้ารัฐสภาแทน เพราะว่าเราถามตัวประชาชนด้วยว่าอยากไปตรงไหน ประชาชนก็บอกว่าถ้าให้เขาลุ้นนายกฯ ที่เขาเลือกมาด้วย เขาอยากไปเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิดกับรัฐสภา งั้นถ้าประชาชนเลือก เราก็เลือกตามเสียงประชาชน จึงกลายเป็นการชุมนุมหน้ารัฐสภา

อ้างอิงจากโพสต์เฟซบุ๊กเพจ "โมกหลวงริมน้ำ" มีการทำแบบสำรวจความเห็นของประชาชนบนเฟซบุ๊ก โดยมีคำถามว่า "ประชาชนอยากไปลุ้นคะแนนเสียงจาก ส.ว. และ ส.ส. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีไหม" วิธีการร่วมกิจกรรมคือ กด 'หัวใจ' เพื่อตอบว่าไปลุ้น "หน้ารัฐสภา" และกด 'ห่วงใย' เพื่อตอบว่า "ไม่ไปลุ้นหน้ารัฐสภา"

ก่อนหน้านี้ ส.ว.เคยออกมาวิจารณ์ขออย่าใช้ประชาชนกดดันการเลือกนายกฯ ของ ส.ว. ไฮยีนส์ กล่าวว่า ถ้าให้พูดตรงๆ เราไม่ใช่ "ด้อมส้ม" มันเป็นคำที่คนอื่นๆ ตั้งขึ้นมาเอง เราแค่ต้องการให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ตามหลักประชาธิปไตยเท่านั้น 

"แม้ว่าพรรคก้าวไกล ไม่ได้ชนะเลือกตั้ง หรือเสียงอันดับหนึ่ง ถ้าเป็นคนอื่นๆ หรือพรรคอื่นๆ ที่ได้ เราก็ต้องการให้ ส.ว. โหวตตามเสียงข้างมากประชาชนในประเทศเหมือนเดิม" ไฮยีนส์ กล่าว 

ไฮยีนส์ ทิ้งท้ายว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เธออยากให้ ส.ว.เลือกนายกฯ อยู่บนหลักการที่ฟังเสียงประชาชน อยากให้เขาเคารพเสียงของประชาชนอย่างแท้จริงจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา

"ให้ ส.ว.เลือกอยู่บนหลักการเสียงของประชาชน อยากให้เขาเคารพเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง การที่พรรคที่ได้อันดับ 1 ซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงถึง 14 ล้านเสียง ถ้า ส.ว.ไม่เลือกตามเสียงของประชาชนแล้วเมื่อไรเราจะมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อยากให้เขาเคารพเสียงประชาชนที่มาจากประชาชนจริงๆ

"สำหรับเรา ส.ว.ไม่มีสิทธิจะเลือกนายกฯ ด้วยซ้ำ ส.ว.เราไม่ได้เลือกมา เขามาในยุครัฐบาล คสช. ที่เป็นเผด็จการเข้ามาด้วยซ้ำ เขาไม่ได้มาจากเสียงประชาชน และเขาไม่มีสิทธิจะเลือก หรือมาตัดสินชะตาของประชาชนอย่างพวกเราด้วยซ้ำ" ไฮยีนส์ ทิ้งท้าย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net