Skip to main content
sharethis

'เศรษฐา' ตอบสื่อ แสดงทัศนะส่วนตัว มองหากพรรคฯ ที่จะเสนอนายกฯ ครั้งต่อไป ยังมีการแก้ไข/ยกเลิก ม.112 จะหาเสียงสนับสนุนยาก ส่วนพรรคเพื่อไทย จะได้เสนอแคนดิเดตหรือไม่ ต้องมีการประชุม 8 พรรคร่วม-กก.บห.พรรคฯ ก่อน

 

20 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (20 ก.ค.) ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตอันดับ 2 พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ตอบกรณีเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล และการเสนอชื่อเป็นนายกฯ 

ต่อประเด็นที่สื่อถามว่า การโหวตนายกฯ ครั้งที่ผ่านมา เห็นว่าเรื่อง 112 เป็นเรื่องที่เป็นอุปสรรคสำคัญ หากครั้งนี้ พรรคเพื่อไทย ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และก็มีสิทธิเสนอแคนดิเดตนายกฯ คิดว่าทำยังไงที่จะไม่ให้ มาตรา 112 เป็นปัญหา  เศรษฐา กล่าวต่อว่า ผมว่าชัดเจนที่พรรคที่จะเสนอนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป เรื่องมาตรา 112 ต้องไม่อยู่ในการแก้ไข หรือการยกเลิก

"ผมว่าชัดเจน ถ้าเกิดมีพรรคที่จะเสนอนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป เรื่อง 112 ต้องไม่อยู่ในการแก้ไข หรือการยกเลิก …ไม่งั้นจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากทั้ง ส.ว. และอีกหลายๆ พรรค" เศรษฐา กล่าว 

เศรษฐา กล่าวต่อว่า จะใช้วิธีไหนนั้น ส่วนตัวคงไปหักแทนก้าวไกลไม่ได้ แต่ส่วนตัวต้องมีการพูดคุยกันในพรรคฯ เราจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องมีการพูดคุยกัน 

เศรษฐา กล่าวย้ำว่า ในความคิดเห็นส่วนตัว ถ้ายังมีการสนับสนุนมาตรา 112 อยู่ คงไม่มีการสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นๆ หลายพรรค

สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อว่า ยังไงเสียง ส.ว. 250 เสียง เป็นก็ถือว่าเป็นภาคส่วนที่สำคัญ ที่จะนำมาหนุนการโหวตได้เป็นนายกฯ เป็นภาคส่วนที่สำคัญมาก 

เศรษฐา กล่าวต่อว่า ผมไม่รู้จัก ส.ว.เลย แต่เชื่อว่าการโหวตสนับสนุนนายกฯ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของหลักการมากกว่า ถ้าหลักการตกลงกันได้ คุยกันรู้เรื่องก็ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. แต่ว่าเราอย่าเพิ่งข้ามขั้นดีกว่า

เศรษฐา กล่าวว่า ถ้าผมต้องตอบ ต้องคิดอยู่แล้ว (เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว) แต่คนที่มีอำนาจตัดสินใจคือคณะกรรมการบริหาร และคณะเจรจา ผมดำรงตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ ผมต้องเตรียมพร้อมเรื่องเศรษฐกิจตามที่ทางพรรคฯ มอบหมายว่า ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล หรือแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ตามที เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบที่ผมยังทำอยู่  ก็เป็นเหตุผลที่มาที่พรรคฯ แบบนี้ด้วยเหมือนกัน นอกเหนือจากต้องมาพูดคุยกับผู้ใหญ่ในเรื่องการเจรจา 

"ผมว่าใจเย็นดีกว่า เพราะว่าการที่จะมีการเปลี่ยนแปลง จะมีการการข้ามขั้ว จะมีการเอาพรรคอื่นมาเสริม อันนี้ก็ต้องให้เกียรติกับผู้ที่ได้รับการมอบหมายให้ไปเจรจา ใจเย็นๆ ดีกว่า ยังมีอีกหลายวันกว่าจะถึงวันที่ 27 คอยกันมานานขนาดนี้แล้ว อีกนิดหนึ่ง ก็เข้าใจว่าอยากจะทราบ ทำอะไรก็ต้องให้เกียรติพรรคร่วมที่ทำงานกันมาพอสมควรเหมือนกัน แต่เราก็ต้องยอมรับ และต้องเดินต่อไป" แคนดิเดตพรรคเพื่อไทย กล่าว

สมาชิกพรรคเพื่อไทย  กล่าวต่อว่า ขึ้นอยู่กับว่าสุดทางนี่คืออะไร การที่ก้าวไกลไม่สามารถเสนอชื่อนายกฯ ไม่ได้แล้ว ถือว่าสุดทางรึยัง อันนี้ต้องฝากไปที่คณะเจรจาทั้ง 8 พรรค ถ้าเกิดสุดทางแล้ว ต้องมาพิจารณาว่าพรรคที่มีคะแนนอันดับ 2 ต่อไป จะได้รับการมอบหมายให้เสนอแคนดิเดตนายกฯ หรือจะตกลงได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือเรื่องของจิตใจที่เป็นประชาธิปไตย ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า

"8 พรรคต้องตกลงกันให้ได้ก่อนว่าขั้นตอนต่อไปทำอะไร และถ้าเกิดมีมติออกมาให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ (จัดตั้งรัฐบาล) ก็ต้องประชุมกรรมการบริหารก่อน กรรมการบริหารก็ต้องเลือก 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ จากนั้นก็ต้องเลือกไปทีละสเตป ยังอีกหลายวัน เสาร์-อาทิตย์ไปพักกันก่อนให้สบายๆ" เศรษฐา กล่าว 

เศรษฐา กล่าวว่า เรื่องการโหวตครั้งเดียวก็เป็นบรรทัดฐานครั้งหนึ่ง การเสนอชื่อนายกฯ ครั้งต่อไป ก็ต้องคิดให้ดี ต้องมีการเจรจาให้เหมาะสม
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net