Skip to main content
sharethis

สปสช. ลงพื้นที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เยี่ยมชมร้านยา ‘โมเดล 3 พลัส’ ที่เพิ่มบริการ พบหมอออนไลน์ที่ร้านยา ‘ลดการเดินทางไปถึงโรงพยาบาล-รับยากลับบ้านได้เลย’ พร้อมลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เพื่อเยี่ยมชมการจัดบริการดูแลผู้ป่วยระยะกลางแบบครบวงจร  

2 ส.ค. 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นางมลุลี แสนใจ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี และ นายสุรพล สายพันธ์ ประธานอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตหรือพื้นที่ (อปสข.) เขต 10 ลงพื้นที่ไปยัง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และ จ.ศรีสะเกษ เพื่อเยี่ยมชมการจัดบริการสุขภาพรูปแบบใหม่ ร้านยาโมเดล 3 พลัส ที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลวารินชำราบ และการจัดบริการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง (IMC) สำหรับผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลศรีสะเกษ  

นพ.ปิยวัฒน์ อังควะนิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวารินชำราบ เปิดเผยว่า จากนโยบายรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ในปี 2566 โรงพยาบาลวารินชำราบได้ให้บริการกับผู้ป่วยเพื่อให้ไปรับยาที่ร้านยาแล้วถึง 8,416 ครั้ง ขณะเดียวกัน ยังต่อยอดพัฒนารูปแบบการให้บริการโดยนำร่องให้ร้านยาโมเดล 3 พลัส ในพื้นที่จำนวน 2 ร้าน คือ ร้านยาเมืองทอง และบ้านยาวาริน ซึ่งจัดพื้นที่เป็นสัดส่วนให้บริการพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ได้ที่ร้านยา  

ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถนัดหมายเวลาที่สะดวกได้เอง โดยจะมีทีมบุคลากรการแพทย์จากทีมเวชศาสตร์ครอบครัวของโรงพยาบาลวารินชำราบหมุนเวียนมาคอยพบกับผู้ป่วยผ่านระบบออนไลน์ และหากผู้ป่วยไม่สะดวกที่จะนัดหมายพบแพทย์ในวันธรรมดา ก็ยังสามารถนัดหมายในวันหยุดได้ด้วย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อพบแพทย์เสร็จ แพทย์จะออกใบสั่งยาให้และสามารถรับยาที่ร้านยาได้เลย  

"ระบบเทเลเมดิซีนจะช่วยแพทย์ให้มีเวลาสนทนา ซักถามอาการเจ็บป่วยกับคนไข้ได้นานมากขึ้น และขณะเดียวกันคนไข้ก็จะได้มีเวลาคุยกับหมอนานขึ้นเช่นกัน หมอจะแนะนำการปฏิบัติตัวที่มากกว่าการใช้ยาเพื่อรักษาอาการ พร้อมกับให้องค์ความรู้ด้านสุขภาพกับประชาชนในการดูแลตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้ลดการใช้ยาเพื่อรักษาอาการในที่สุด" นพ.ปิยวัฒน์ กล่าว  

นพ.ธีระพงษ์ แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี (สสจ.) กล่าวว่า จ. อุบลราชธานีมีร้านยาที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการของ สปสช.ทั้งหมด 67 ร้าน โดยเป็นร้านยาที่บริการกับประชาชนสิทธิบัตรทองที่เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ จำนวน 14 ร้านใน 3 อำเภอ ซึ่งมีโรงพยาบาลที่เป็นแม่ข่าย 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ และโรงพยาบาลวารินชำราบ เพื่อลดความแออัดและลดเวลารอคอยรับยาของผู้ป่วยในโรงพยาบาล 

อย่างไรก็ตาม ใน อ.วารินชำราบ มีแพทย์อายุรกรรมชำนาญการที่ให้บริการการแพทย์ทางไกลในร้านยา และได้นำร่อง 2 แห่ง คือร้านยาเมืองทอง และร้านบ้านยาวาริน เพื่อยกระดับการให้บริการพร้อมกับคอยติดตามผลการรักษา และให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด โดยอนาคตจะขยายผลไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ที่มีผู้มารับบริการหนาแน่น เพื่อลดความแออัด เพิ่มทางเลือกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาและพบแพทย์ได้อย่างสะดวกมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล  

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ กล่าวว่า นโยบายรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน เป็นหนึ่งในโครงการลดความแออัดและลดระยะเวลารอคอยในโรงพยาบาลที่ สปสช. ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 โดยร่วมกับเครือข่ายร้านยาที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยร่วมบริการด้านเภสัชกรรมในระบบบัตรทอง ในการร่วมดูแลกลุ่มผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคที่มีอาการคงที่ ให้สามารถไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน  

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า โดยเริ่มจากโมเดล 1 ที่จะเป็นการให้โรงพยาบาลจัดยารายรายบุคคลแล้วส่งไปที่ร้านยาใกล้บ้านผู้ป่วย จากนั้นมีการดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นโมเดล 2 โรงพยาบาลจัดสำรองยาไว้ที่ร้านยา และรูปแบบโมเดล 3 ร้านยาจัดซื้อและสำรองยาเพื่อจ่ายให้กับผู้ป่วยด้วยตัวเอง หรือการให้แพทย์ออกใบสั่งยาแล้วให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยาด้วยตัวเองเหมือนในต่างประเทศ ซึ่งใน อ.วารินชำราบ มีร้านยาที่เข้าร่วมโมเดล 3 จำนวน 13 แห่ง 

อย่างไรก็ตาม นอกจากโมเดล 3 แล้ว ที่ จ.อุบลราชธานี ยังมีต่อยอดการจัดบริการในรูปแบบพิเศษคือ โมเดล 3 พลัส ที่ประชาชนสามารถใช้บริการพบแพทย์ทางไกลได้จากร้านยา ซึ่งจะจัดพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วนให้กับประชาชนในการพบแพทย์ทางไกล ซึ่งนอกจากคนไข้จะได้เจอแพทย์และรับยาที่ร้านยาได้เลย แพทย์ยังให้ความรู้ด้านสุขภาพ หรือเรียกว่าเป็นโค้ชประจำตัว ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยด้วยองค์ความรู้สุขภาพที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้ลดการใช้ยาได้  

"ร้านยาโมเดล 3 พลัส ของโรงพยาบาลวารินชำราบ และร้านยาที่นำร่อง ถือเป็นระบบการให้บริการที่มีความล้ำหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะกับการเอาบริการสุขภาพออกไปนอกโรงพยาบาลเพื่อลดความแออัด และเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน แพทย์เองก็จะมีเวลาดูแลผู้ป่วยรายอื่นที่จำเป็น ซึ่งตรงกับแนวคิดของ สปสช. ที่พยายามเพิ่มบริการสุขภาพที่ออกไปจากโรงพยาบาล ไปยังหน่วยบริการที่เข้าร่วมภายนอกให้มากขึ้น" ทพ.อรรถพร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net