Skip to main content
sharethis

พรรคก้าวไกล อภิปรายเห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ปรามอาชญากรรมเทคโนโลยี แต่ รบ.เข็นกฎหมายช้า ชี้ช่องโหว่ ข้าราชการทุจริต เสนอบังคับใช้ กม.จริงจัง เพิ่มประสิทธิภาพ อุดหนุนงบประมาณสำหรับ ตร.ป้องกันภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์

 

3 ส.ค. 2566 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานวันนี้ (3 ส.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระการประชุมสำคัญ ว่าด้วยการพิจารณาพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ที่ตราขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบัน และบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 2566 เพื่อป้องกันและปราบปรามขบวนการคอลเซ็นเตอร์ โดยเฉพาะในการใช้ 'บัญชีม้า' เพื่อการฉ้อโกง

หลังการชี้แจงโดยรักษาการคณะรัฐมนตรี ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ร่วมอภิปรายต่อการตรา พ.ร.ก.ดังกล่าวหลายคน โดยในส่วนของพรรคก้าวไกล มีผู้อภิปรายสำคัญ 2 คน ประกอบด้วย ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล (ที่มา: TPTV)

สำหรับชัยวัฒน์ ได้อภิปรายว่า กว่า 5 เดือนที่ พ.ร.ก.ฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ มีความจำเป็นต้องพูดถึงเป้าหมายและมาตรการที่ พ.ร.ก. นี้ให้อำนาจหน้าที่ไว้ ซึ่งมีหัวใจสำคัญ คือ 1. การเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการถูกหลอกลวงให้โอนเงินมักเกิดขึ้นเป็นทอดๆ เกี่ยวข้องกับหลายธนาคาร ผ่านบัญชีม้าหลายชื่อ และเกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนบัญชีซึ่งผูกกับเบอร์โทรศัพท์หลายเบอร์ การสืบสวนและติดตามอายัดธุรกรรมแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธนาคารและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ

แม้ว่าตาม ม.4 ของ พ.ร.ก.ฉบับนี้จะกำหนดให้ผู้ให้บริการทั้งธนาคาร และเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และเท่าที่ตนทราบมา มีความคืบหน้าในการดำเนินการของภาคธนาคารบ้างแล้ว ในการพัฒนาระบบ "Central Fraud Registry" ซึ่งตนขอชื่นชมมาในที่นี้

ชัยวัฒน์ ระบุต่อไปว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธนาคารมีความสำคัญมาก เพราะเมื่อธนาคารได้รับข้อมูลธุรกรรมจากระบบหรือการรับแจ้งมาแล้ว ธนาคารสามารถระงับธุรกรรมชั่วคราว พร้อมกับแจ้งธนาคารที่รับโอนทอดต่อไป และแจ้งข้อมูลเข้าสู่ระบบเพื่อระงับธุรกรรมดังกล่าว หยุดการโอนเงินต่อเป็นทอดๆ ของบัญชีม้าได้ ซึ่งระบบที่ทำขึ้นนั้นต้องเท่าทัน จำเป็นต้องมีระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เชื่อมต่อได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถระงับความเสียหายได้ทันท่วงที

ทว่าจากสถิติการอายัดธุรกรรมในเดือน มิ.ย. 2566 กลับพบว่าอายัดไว้ได้ทัน 0 บาท หรือแม้ตัวเลขที่ผู้ชี้แจงระบุว่าตั้งแต่การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้มา สามารถอายัดได้ 10 เปอร์เซ็นต์ ของความเสียหาย ก็ยังห่างไกลจากวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก.ดังกล่าว ดังนั้น ตนจึงขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันพัฒนาระบบและการบูรณาการให้สามารถป้องกันการโอนเงินเป็นทอดๆ ได้จริง

2. การแจ้งข้อมูลหลักฐาน ตามมาตรา 7 และมาตรา 8 ของ พ.ร.ก.ดังกล่าว ซึ่งมีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ได้รับความเสียหายในการแจ้งความ ทว่าปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีระบบแจ้งความออนไลน์ ซึ่งจากสถิติพบว่ามีการแจ้งความเข้ามาถึง 522 คดีต่อวัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 74 ล้านบาทต่อวัน ปัจจุบันมีคดีค้างอยู่เป็นหลักแสนที่คลี่คลายไม่ทัน

ดังนั้น ตนจึงมีข้อเสนอว่าควรมีการเชื่อมต่อกัน ระหว่างการร้องเรียนไปทางธนาคาร กับระบบร้องทุกข์และแจ้งข้อมูลหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ของตำรวจ โดยนำมาตรา 4 ของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลมาใช้ เพื่อไม่ต้องให้ผู้เสียหายแจ้งธนาคารแล้วต้องไปแจ้งความกับตำรวจ แล้วนำใบแจ้งความกลับมาธนาคารอีกที ซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้น เงินโอนหายไปหมดแล้ว

ชัยวัฒน์ ยังกล่าวต่อไปว่า ตนเห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ฉบับนี้ และขอให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พ.ร.ก.นี้ ตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแลทั้งสถาบันทางการเงินและผู้ให้บริการเครือข่าย ปฏิบัติตาม พ.ร.ก.นี้อย่างเต็มที่ พร้อมพัฒนาให้การบังคับใช้เกิดประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

ในส่วนของวิโรจน์ ระบุว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ และที่จริงควรเร่งดำเนินการให้เร็วกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะปัญหานี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานานแล้ว ขบวนการฉ้อโกงเช่นนี้เริ่มระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2550 ด้วยการให้โอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม (ATM) และมีพัฒนาการเรื่อยมาผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งเอสเอ็มเอส อีเมล หรือเฟซบุ๊ก และระบาดหนักหลังจากที่มีพร้อมเพย์ ในปี 2559 และแอปพลิเคชัน 'เป๋าตัง' ในปี 2561 เมื่อประชาชนเข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากการที่รัฐบาลไม่ได้ตระหนักว่าโจรไซเบอร์จะใช้ช่องทางเหล่านี้ในการเข้ามาหลอกลวงประชาชน

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล (ที่มา: TPTV)

เมื่อเดือน ส.ค. 2562 หลังจากรัฐบาลกัมพูชาภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาลจีน มีนโยบายปราบปรามกาสิโนออนไลน์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมอาชญากรจีนเทาที่หลอกลวงประชาชนเข้าด้วยกัน แทนที่รัฐบาลไทยจะเตรียมมาตรการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์จีนเทาที่กำลังจะหนีจากกัมพูชาเข้ามาประเทศไทย แต่กลับปล่อยให้ขบวนการเหล่านี้เข้ามาเหยียบจมูกถึงถิ่น ซ้ำร้ายด้วยความที่ขบวนการเหล่านี้มีเงินมหาศาลและรู้ดีว่าระบบราชการไทยภายใต้รัฐบาลนี้ซื้อได้ จึงมีข่าวปรากฏให้เห็นอย่างแพร่หลาย ว่ามีตำรวจ ทหาร และดีเอสไอ จำนวนไม่น้อยไปกินสินบนกลุ่มทุนจีนเทาเหล่านี้

เมื่อเดือน ส.ค. 2562 หลังจากรัฐบาลกัมพูชาภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาลจีน มีนโยบายปราบปรามกาสิโนออนไลน์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมอาชญากรจีนเทาที่หลอกลวงประชาชนเข้าด้วยกัน แทนที่รัฐบาลไทยจะเตรียมมาตรการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์จีนเทาที่กำลังจะหนีจากกัมพูชาเข้ามาประเทศไทย แต่กลับปล่อยให้ขบวนการเหล่านี้เข้ามาเหยียบจมูกถึงถิ่น ซ้ำร้ายด้วยความที่ขบวนการเหล่านี้มีเงินมหาศาลและรู้ดีว่าระบบราชการไทยภายใต้รัฐบาลนี้ซื้อได้ จึงมีข่าวปรากฏให้เห็นอย่างแพร่หลายว่ามีตำรวจ ทหาร และดีเอสไอ จำนวนไม่น้อยไปกินสินบนกลุ่มทุนจีนเทาเหล่านี้

วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาสถานทูตจีนพยายามประสานงานกับทางการไทยในการประสานงานปราบปราม แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร และยังมีการให้สัญชาติบุคคลในขบวนการเหล่านี้ด้วยซ้ำ หรือแม้แต่เมื่อมีการแฉเรื่องส่วยและขบวนการทุนจีนเทาที่มีความพัวพันกับนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลหลายคน ก็ปรากฏว่าต้องใช้เวลาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 จนถึงเดือน มิ.ย. 2566 กว่าที่จะจับอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน

ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่เคยมีมาตรการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน ปล่อยให้มีการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นประวัติคนไข้ 16 ล้านคนที่ถูกแฮ็ก หรือข้อมูลนักท่องเที่ยว 106 ล้านคนที่รั่วไหล และที่น่าเจ็บใจที่สุด คือกรณีที่ตำรวจยศพันตำรวจโทและข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ขายข้อมูลทะเบียนราษฎร์และข้อมูลทะเบียนการค้าให้ขบวนการคอลเซ็นเตอร์มาหลอกคนไทยด้วยกัน แลกกับรายได้เดือนละ 6 แสนบาท

วิโรจน์ ยังอภิปรายต่อไปว่า ทุกคนทราบว่าบัญชีม้าเป็นอาวุธสำคัญของโจรไซเบอร์เหล่านี้ แต่กว่าที่ พ.ร.ก. ฉบับนี้จะบังคับใช้ ต้องรอจนถึง 17 มีนาคม 2566 ซึ่งเกิดความเสียหายมหาศาลขึ้นแล้ว จากสถิติจะเห็นได้ว่าปี 2563 มีความเสียหายเกิดขึ้นถึง 700 ล้านบาท ปี 2564 ขยับขึ้นมาเป็น 1.6 พันล้านบาท ปี 2565 พุ่งขึ้นเป็น 3.2 หมื่นล้านบาท มีการแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ถึง 2 แสนกว่าคดี

สุดท้าย ตนไม่มีปัญหากับ พ.ร.ก.ฉบับนี้ แต่ขอตั้งคำถามว่าตาม ม.6 วรรค 3 ที่ระบุว่าเมื่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญา หากปรากฏพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นถูกใช้ในการกระทำความผิด ให้ดำเนินตามกฎหมายภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับแจ้งการระงับการทำธุรกรรม

ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ดี แต่คำถามคือรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณและโครงสร้างพื้นฐานให้สถานีตำรวจท้องที่อย่างเพียงพอแล้วหรือยัง เพราะที่ผ่านมาการแจ้งความจำนวนมากไม่ได้เกิดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ แต่เกิดขึ้นที่สถานีตำรวจท้องที่ ซึ่งไม่มีเครื่องมือ และงบประมาณสนับสนุน ได้แต่รับลงบันทึกประจำวันไปเท่านั้น

"ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการตรา พ.ร.ก.นี้ และหวังว่ามันจะไม่เป็นเพียงแค่กระดาษ แต่หวังว่าจะมีการสนับสนุนงบประมาณและโครงสร้างพื้นฐานให้กับตำรวจอย่างจริงจัง เพื่อคุ้มครองประชาชนจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทุนจีนสีเทาเหล่านี้อย่างจริงจัง" วิโรจน์ กล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net