Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บางคนมองว่าปัญหาการเมืองไทยปัจจุบัน คนส่วนมากรู้อยู่แล้วว่า “ต้นตอ” ของปัญหาคืออะไร เช่น อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ หรือเครือข่ายอำนาจ “นายทุน ขุนศึก ศักดินา” ที่มี “อำนาจนำทางการเมือง” (political hegemony) เหนืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน, รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (ซึ่งเป็นเครื่องมือของเครือข่ายอำนาจเหนือ รธน.), ที่มาและอำนาจ สว. ที่ขัดหลักการประชาธิปไตย เป็นต้น 

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเราจะมี “วิธีการอย่างไร” ในการเอาชนะเครือข่ายอำนาจพวกนั้น ซึ่งเป็นปัญหาเชิงปฏิบัติ ไม่ใช่ปัญหาเชิงทฤษฎี

แต่ผมเห็นว่า ปัญหาเชิงปฏิบัติและทฤษฎีไม่อาจแยกขาดจากกันได้จริง เช่น ทำไมฝ่ายที่เชียร์ก้าวไกล (หรือไม่เชียร์แต่ยืนยันหลักการประชาธิปไตย) ถึงวิจารณ์ โกรธหรือด่าเพื่อไทยที่แยกตัวจากก้าวไกลไปตั้งรัฐบาลโดยยอมรับเงื่อนไขของ สว. และพรรคการเมืองฝ่ายเผด็จการ ก็เพราะพวกเขาเห็นว่าการกระทำของเพื่อไทยขัดหลักการ อุดมการณ์ประชาธิปไตย หรือแนวทางเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยใช่หรือไม่ ขณะที่ฝ่ายเชียร์เพื่อไทย ถ้ายืนยันว่าเพื่อไทย “ทำถูกต้องแล้ว” ก็ต้องอ้างหลักการประชาธิปไตยมายืนยันว่าถูกต้องอย่างไร หรือถูกต้องภายใต้ข้อจำกัดอะไรบ้าง

ดังนั้น “ความชอบธรรม” ของปฏิบัติการทางการเมืองจึงไม่ขึ้นอยู่กับ “ตัวบทกฎหมาย” ที่มีอยู่เท่านั้น โดยเฉพาะภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยว ยิ่งไม่มีความชอบธรรมในตัวมันเองอยู่แล้ว การแสวงหาแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องชอบธรรมตามหลักการ หรืออุดมการณ์ประชาธิปไตยจึงสัมพันธ์กับทฤษฎีอยู่ดี และตัวทฤษฎีเองก็ไม่ใช่เพียงเสนออุดมคติเพ้อฝัน แต่เสนอทางแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมด้วย

ในงานชื่อ “เสรีนิยมทางการเมือง” (Political Liberalism) ของจอห์น รอลส์ (John Rawls) เสนอว่าในสังคมเสรีประชาธิปไตยพลเมืองต่างสมาทานระบบความเชื่อหรือคำสอนที่ครอบคลุม (comprehensive doctrines) หลากหลาย เช่น ความเชื่อทางศาสนาต่างๆ หรืออเทวนิยม โลกทัศน์หรือแนวคิดปรัชญาต่างๆ อุดมการณ์ทางการเมืองต่างๆ ซึ่งความเชื่อเหล่านั้นมีทั้งด้านที่ขัดแย้งกันและสอดคล้องกัน ขณะเดียวกันก็มีทั้งด้านที่ขัดแย้งและสอดคล้องกับ “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” (public principles of justice) ของระบอบเสรีประชาธิปไตยด้วย 

คำถามคือ เรามีวิธีจัดการกับเรื่องความเชื่อที่แตกต่างหลากหลายเหล่านนั้นอย่างไร แน่นอนว่าไม่ใช่การขจัดความเชื่อใดความเชื่อหนึ่ง หรือขจัดบุคคลหรือกลุ่มคนที่สมาทานความเชื่อนั้นๆ เพราะหลักความยุติธรรมสาธารณะของระบอบเสรีประชาธิปไตยรับรอง “เสรีภาพทางความคิดเห็น” อยู่แล้ว ทางที่ถูกคือ ต้องยอมรับ “ตลาดเสรีทางความคิด” ปล่อยให้ความคิดความเชื่อที่แตกต่างเป็นเสรีภาพปัจเจกบุคคล ใครจะคิดจะเชื่ออะไรก็ได้ ตราบที่ไม่ทำอันตรายต่อคนอื่น หรือละเมิดสิทธิคนอื่น แต่เมื่อจะนำความเชื่อเหล่านั้นมาอภิปรายสาธารณะที่นำไปสู่การบัญญัตติกฎหมาย ซึ่งกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของพลเมืองทุกคน และความยุติธรรมด้านต่างๆ จำเป็นต้องตีความหรือปรับความเชื่อนั้นๆ ให้สามารถใช้เป็น “เหตุผลสาธารณะ” (public reason) อันเป็นเหตุผลที่สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมสาธารณะที่ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” (free and equal citizens) ทุกคนสามารถยอมรับร่วมกันได้ “อย่างสมเหตุสมผล” เพราะมันเป็นเหตุผลที่ “แฟร์” กับทุกคนในฐานะคนเท่ากัน

ตัวอย่างเช่น นโยบายแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการนิรโทษกรรมคดี 112 ของก้าวไกลย่อมใช้เป็น “เหตุผลสาธารณะ” ได้ เพราะสอดคล้องกับหลักความยุติธรรมสาธารณะ คือ “หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม” (equal liberty) ที่พลเมืองทุกคนต้องมี แต่การที่เพื่อไทยปฏิเสธการบรรจุนโยบายแก้ 112 และการนิรโทษกรรม 112 ใน MOU ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเดิม แล้วต่อมาแยกทางจากก้าวไกลเพื่อจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคฝ่ายเผด็จการ โดยยอมรับเงื่อนไข “ต้องไม่แก้ 112” และ “ต้องไม่มีก้าวไกลร่วมรัฐบาล” ตามการ “ยื่นคำขาด” ของ สว. และพรรคการเมืองฝ่ายเผด็จการ ย่อมเท่ากับเพื่อไทยปฏิเสธเหตุผลสาธารณะ และหลักความยุติธรรมสาธารณะของระบอบเสรีประชาธิปไตย

จริงที่ว่าธรรมชาติของการต่อรองทางการเมือง ต้อง “แสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่าง” แต่ปัญหาคือ แสวงและสงวนบน “หลักการที่ชอบธรรม” ของระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

เมื่อมองโดยภาพรวม จะเห็นว่านโยบายเพื่อไทยกับก้าวไกลต่างกัน แต่ “ส่วนใหญ่” มีนัยสำคัญแบบที่รอลส์เรียกว่า “เหลื่อมซ้อนกัน” (overlap) หรือ “สอดคล้องไปกันได้” (compatible) อยู่แล้ว ทว่า “ส่วนที่ขัดกัน” กลับเป็นเรื่อง “หลักการพื้นฐาน” ของระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ยืนยัน “เสรีภาพทางการเมือง” (political liberty) อันเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ต้องมีความเป็น “เสรีนิยมทางการเมือง” (political liberalism) ที่ถือว่าต้องมี “เสรีภาพในการอภิปรายสาธารณะทางการเมืองได้ทุกเรื่อง” ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไข 112 (เป็นอย่างน้อย) เพื่อให้มีเสรีภาพดังกล่าวได้จริง ความเป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ หรือเสรีประชาธิปไตยจึงจะเกิดขึ้นได้จริง และมีหลักประกันการแข่งขันเชิงนโยบายที่ “เสรีและเป็นธรรม” ระหว่างพรรคการเมือง หรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ได้จริง

เราควรเข้าใจว่า รอลส์ไม่ได้เสนอแบบที่พูดกันทั่วไปว่า “แสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่าง” แต่เขาชี้ให้เราเห็นว่า บรรดาความคิดความเชื่อที่แตกต่างหลากหลายในสังคมเสรีประชาธิปไตย (หรือในโลกนี้) มันมีด้านที่เหลื่อมซ้อนกัน หรือสอดคล้องไปกันได้เป็นส่วนใหญ่ เพราะความคิดความเชื่อทั้งหลายบรรดามีต่างพูดถึงหรือใฝ่ฝันถึงการมีชีวิตที่ดี สังคมที่ดีในด้านต่างๆ แต่ที่สังคมมนุษย์ขัดแย้งเข่นฆ่ากัน เพราะต่าง “โฟกัส” ด้านที่ขัดแย้งกันของความความคิดความเชื่อหรืออุดมการณ์บางอย่างแล้วใช้มันเป็นเครื่องมือ หรือเป็นอาวุธทำลายล้างกัน แทนที่จะแสวงหา “คุณค่าแกนกลาง” (core values) ที่ทุกคนทุกฝ่ายยึดถือร่วมกันได้อย่างสมเหตุสมผล เพื่อรองรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิดความเชื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเคารพและอดกลั้นต่อเสรีภาพที่จะแตกต่างของปัจเจกบุคคลทั้งหลาย และมีภราดรภาพ หรือมี “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” (solidarity) ในการปกป้องรักษาคุณค่าแกนกลางร่วมกัน

ข้อเสนอของรอลส์ จึงเน้นไปที่การสร้าง “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” คือ หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม และการกระจายโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรมในทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อใช้เป็น “คุณค่าแกนกลาง” ของระบอบเสรีประชาธิปไตยที่สถาบันต่างๆ ทางสังคมการเมือง เช่น รัฐสภา รัฐบาล ประมุขของรัฐ กองทัพ ศาล หน่วยงานราชการทั้งหมด สถาบันทางเศษฐกิจและอื่นๆ รวมทั้งพลเมืองทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติร่วมกัน โดยการ “แสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่าง” จะต้องอยู่บนการยึดถือปฏิบัติตามหลักความยุติธรรมสาธาณะอันเป็นคุณค่าแกนกลางนี้เสมอ 

เห็นได้ว่าก้าวไกลคือพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายหาเสียงเพื่อสร้างหลักความยุติธรรมสาธารณะของระบอบเสรีประชาธิปไตยให้เป็นจริง พร้อมๆ กับนโยบายกระจายโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ขณะที่เพื่อไทยเน้นนโยบาย “แก้ปัญหาปากท้อง” แต่นโยบายส่วนใหญ่ของเพื่อไทยก็สอดคล้องไปกันได้กับนโยบายส่วนใหญ่ของก้าวไกล ต่างกัน “อย่างมีนัยสำคัญ” ตรงที่ก้าวไกลยึดแนวทางแสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่างบน “จุดยืน” ในการสร้างหลักความยุติธรรมสาธารณะให้เป็น “คุณค่าแกนกลาง” ของระบอบเสรีประชาธิปไตยได้จริง ขณะที่เพื่อไทยไม่ยึดจุดยืนนี้ โดยยอมรับ “เงื่อนไข” ตามการ “ยื่นคำขาด” ของ สว. และพรรคฝ่ายเผด็จการ อันเป็นเงื่อนไขที่ต่อต้านการสร้างหลักความยุติธรรมสาธารณะที่เป็นคุณค่าแกนกลางของระบอบเสรีประชาธิปไตยให้เป็นจริง

กระแสการวิจารณ์ หรือด่าเพื่อไทย จึงเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักทฤษฎีหรือหลักการประชาธิปไตยอย่างหนักแน่น ขณะที่เพื่อไทยเองและฝ่ายที่ปกป้องเพื่อไทยก็จำเป็นต้องหาหลักการ เหตุผลมาอธิบายเพื่อสนับสนุน “ความชอบธรรม” ในการเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาลเพื่อหักล้างข้อวิจารณ์ของอีกฝ่ายให้ได้ (ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย หรือาจหาไม่ได้เลย) 

ถ้าเราดูประวัติศาสตร์ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยได้ แน่นอนว่าความตื่นตัวของประชาชน หรือการเกิดขึ้นของมวลชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยคือสิ่งจำเป็น แต่จะสำเร็จได้จริงก็ต่อเมื่อเกิดพรรคการเมืองตัวแทนอุดมการณ์ประชาธิปไตยรับ “ไม้ต่อ” จากมวลชนไปขับเคลื่อนสู้ต่อในระบบรัฐสภา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้จริง

เพื่อไทยถูกมองว่าเป็น “ความหวัง” ของประชาชนมานาน เพราะเป็นพรรคที่เคยมีผลงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และเริ่มวางระบบสวัสดิการ 30 บาทรักษาทุกโรค และอื่นๆ เคยถูกทำรัฐประหารสองครั้ง ถูกยุบพรรคสองครั้ง กระนั้นก็ยังเป็น “พรรคเดียว” ท่ามกลางพรรคการเมืองทั้งหมดที่เป็นฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยม เพราะมีเพื่อไทยพรรคเดียวที่ (พอจะ) เป็นความหวังได้ เราจึง “มองผ่าน” ปัญหาต่างๆ ของเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นกรณีคนตายในเหตุการณ์สงครามยาเสพติด, กรือเซะ, ตากใบ, การออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่ง, การปฏิเสธรับข้อเสนอแก้ไข 112 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นต้น 

เราพยายามเข้าใจ “ข้อจำกัด” ของเพื่อไทยในหลายๆ กรณีที่ควรจะทำแล้วไม่ทำ หรือกรณีที่ผิดพลาด จนกระทั่งปัจจุบันที่เพื่อไทยพูดหาเสียงก่อนเลือกตั้งว่าจะไม่จับมือตั้งรัฐบาลกับฝ่ายเผด็จการ แต่กลับมาจับมือ เราใช้คำว่า “ให้รอดูก่อน” หรือ “อย่าด่วนตัดสิน” เมื่อเพื่อไทยถูกตั้งข้อสังสัยหรือถูกกล่าวหา แต่หลังจากรอดูไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็มักจะเป็นไปตามที่ถูกกล่าวหาในหลายๆ กรณี กระทั่งเวลานี้ยังมีเสียงบอกว่า “ให้รอดูไปก่อน” ว่าตั้งรัฐบาลแล้วเพื่อไทยจะเร่งให้เกิดกระบวนการ “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ที่เป็นประชาธิปไตยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ทันทีจริงหรือไม่

ขณะที่การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ที่พัฒนาจากการต่อสู้แบบ “ตาสว่างทั้งแผ่นดิน” ของคนเสื้อแดงที่เกิดปรากฏการณ์ตาสว่างชัดแจ้งมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดข้อเสนอ “ปฎิรูปสถาบันกษัตริย์” และ “ยกเลิก 112” โดยเฉพาะเกิด “พรรคการเมืองตัวแทนอุดมการณ์ประชาธิปไตย” ชัดเจนมากขึ้นคือ “อนาคตใหม่-ก้าวไกล” ทว่าข้อเรียกร้องให้ “รอดูไปก่อน” ขณะที่เพื่อไทยแยกตัวออกจากก้าวไกลไปตั้งรัฐบาลร่วมกับฝ่ายเผด็จการ พร้อมกับออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อหา “เอาใจ” ศักดินาอย่างเห็นได้ชัด มันช่างเป็นข้อเรียกร้องที่ “เบาหวิว” เกินกว่าจะทำให้เกิด “ความหวัง” ใดๆ ได้ เพราะเพื่อไทยที่เราเห็นอยู่นี้ คือเพื่อไทยที่เมื่อวานพูดอย่าง วันนี้พูดอย่าง กระทั่งถูกเรียกว่า “เพื่อไทยการละคร” จึงยากที่เราจะเชื่อถือหรือคาดหวังอะไรได้

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าฝ่ายที่ยังมีความหวัง หรือสิ้นหวัง หรือกระทั่งโกรธเกลียดเพื่อไทย สิ่งที่เราควรทำคือการยึดมั่นในหลักความยุติธรรมสาธารณะอันเป็น “คุณค่าแกนกลาง” ของระบอบเสรีประชาธิปไตย และใช้หลักการนี้ในการตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบ และกดดันเพื่อไทยให้มากที่สุด เพื่อนำไปสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีกติกาการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม และคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่โดยเร็วที่สุด

 


ที่มาภาพ: https://news.harvard.edu/gazette/story/2019/01/a-new-look-at-john-rawls-nearly-50-years-later/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net