Skip to main content
sharethis
  • 2 พี่น้อง ส.ส.พลังประชารัฐ ปฏิเสธมีเอี่ยวผู้ประกอบการโกดังพลุมูโนะ พรรคก้าวไกลเสนอ 4 ข้อ ป้องกันปัญหาซ้ำรอย ตำรวจมาเลเซียคุมตัว 2 ผัวเมียเจ้าของโกดังพลุระเบิด แจ้ง 4 ข้อหาหนัก
  • คาร์บอมบ์สุไหงโก-ลก วิจารณ์กลบกระแสมูโนะ เริ่มเคลียร์พื้นที่ซ่อมสร้างที่พักผู้ประสบภัย แนะนำการช่วยเหลือให้บริจาคโดยตรง 

สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ รัฐ และอามินทร์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐ (ภาพจากเว็บไซต์ข่าวสหายชายแดนใต้)

สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ และอามินทร์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาและคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและอยู่เบื้องหลังผู้ประกอบการโกดังพลุดอกไม้ไฟที่เกิดระเบิดขึ้นที่ตลาดมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

โดยเว็บไซต์ข่าวสหายชายแดนใต้ รายงานการให้สัมภาษณ์ของสัมพันธ์ว่า มูโนะเป็นพื้นที่ค้าขายตะเข็บชายแดนมาเป็น 100 ปีมาแล้ว การที่สื่อบางสำนักระบุว่าเป็นพื้นที่สีเทา สีดำนั้น ความเป็นจริงมันไม่ใช่ ตนเป็น ส.ส.ในพื้นที่รู้ว่าอะไรบ้าง มีบ้างคนดีกับคนไม่ดี

 “จากข้อกล่าวหาตรงนี้ ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ผู้ประกอบการผมก็ไม่รู้จักเขา ถามว่ารู้ไหมมีดอกไม้ไฟ ตามปกติทั่วไปที่ไหนก็มีขายดอกไม้ไฟ แต่ไม่คิดว่ามันจะมีเยอะถึงขนาดนี้ เท่าที่สอบถามท่านนายก อ.บ.ต.มูโนะเองว่า มีการขอเป็นโกดังเก็บพลุหรือเปล่า เขาว่าไม่ได้ขอเป็นโกดังเก็บพลุ แต่ขายพวกวัสดุก่อสร้าง แต่มีการลักลอบเอาเข้ามา แต่ทั้งนี้ก็เป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องติดตามจับกุม” สัมพันธ์ กล่าว

สัมพันธ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนเจ้จูเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายโชว์ห่วย เขาก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการทางมูโนะเลย เป็นเรื่องการเมืองเข้ามาใส่ร้าย จริงๆ แล้วในเรื่องของเฟสบุ๊ค ผมก็ได้ติดตามดูทั้งหมดนี้เป็นอวตารทั้งหมด เป็นขบวนการ ไอ.โอ.ที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ผมให้ทีมงานติดตามดูว่าอะไรคือปัญหา

“ผมเองเป็น ส.ส.ในนามพรรคพลังประชารัฐ ที่ดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน ผมเองเกิดเหตุการณ์วันแรกผมมาทันทีรู้ข่าวผมมาดูแลพี่น้องประชาชน ผมเองก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรทั้งสิ้น หน้าที่ของผมคือต้องดูแลพี่น้องของผม ใครมาทำร้ายแบบนี้ผมรับไม่ได้ ในเรื่องของการเก็บส่วยก็ไม่ใช่หน้าที่ อันนี้เป็นเรื่องระหว่างตำรวจกับชาวบ้าน ตำรวจเองชาวบ้านเองก็ไม่เคยมาร้องเรียนกับผม แต่ถ้ามีการร้องเรียนขึ้นมา ถ้ามีการรังแกผมก็ไม่ยอม” สัมพันธ์ กล่าว

ด้านอามินทร์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ตนกลับมาลงพื้นที่หลังจากมีการอภิปรายเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอร้องพวกเราทุกคนเสพสื่ออย่างมีสติ อย่าฟังเพียงข้างเดียว พวกเราอยู่ในพื้นที่ พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ท่านนายกฯ โต๊ะอิหม่าม ย่อมรู้เรื่องราวดีและขอร้องอย่าซ้ำเติม ขาวบ้านที่นี่เขาเดือดร้อนมาพอแล้ว

อามินทร์ กล่าวต่อไปว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินคดีอย่างสูงที่สุด ฝากรัฐดูแลเยียวยาให้เท่าเทียมเหมาะแต่ละบ้าน ไม่อยากให้เกิดปัญหาเช่นนี้

“เรื่องที่เป็นประเด็นในขณะนี้คือเรื่องส่วย ต้องบอกให้รู้ว่า ขอร้องอย่างมาโยงเกี่ยวข้องกับการเมือง เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองใดๆทั้งสิ้น ผมเองก็พูดกลางสภามาแล้ว ถ้าผมหรือพี่ชายผมครอบครัวมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วย ทำให้เกิดเหตุการณ์ในวันนี้พร้อมจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างสูงสุดเช่นกัน” อามินทร์ กล่าว

พรรคก้าวไกลเสนอ 4 ข้อ ป้องกันปัญหาซ้ำรอย

ขณะที่ เพจ พรรคก้าวไกล - Move Forward Party ได้โพสต์บทความ เรื่อง โกดังพลุระเบิดในพื้นที่ความมั่นคง สรุปใครมั่นคง? ใครปลอดภัย? อีกครั้ง ซึ่งเป็นเนื้อหาเดียวกับที่รอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.ของพรรคได้อภิปรายในสภาก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 66 โดยระบุว่า โศกนาฏกรรมที่มูโนะครั้งนี้ คือการเปิดโปงให้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของ ‘กิจกรรมสีเทา’ ที่ซุกซ่อนใต้พรม ในเมืองชายแดนและพื้นที่ความมั่นคงสูง และเพียง 4 วันก่อนเหตุการณ์ที่มูโนะ เกิดเหตุคล้ายกันที่ดอยสะเก็ดเชียงใหม่ ถึงเวลาหรือยัง ทำให้ปัญหาพลุระเบิดจบในรุ่นเรา! ผ่าน 4 ข้อเสนอเบื้องต้น

โดยทั้ง 4 ข้อเป็นของ ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ ได้แก่

1. ปรับปรุงกฎหมาย โดยขอฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน ปรับบทลงโทษกรณีไม่มีการขอใบอนุญาตอย่างถูกต้อง ซึ่งเดิมโทษคือจำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท ขอให้ปรับให้สูงขึ้น ให้ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

2. การกำกับดูแล ทุกวันนี้ผู้ให้อนุญาตคือเจ้าหน้าที่ในท้องที่ ได้แก่ นายอำเภอ ผู้ว่าฯ โดยใบอนุญาตมีอายุ 1 ปี แต่การตรวจสอบปีละ 1 ครั้งในวันขออนุญาตนั้น ทำให้ไม่สามารถทราบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างปีได้เลย

3. กำหนดหน่วยงานเพื่อผลัดกันเข้าไปตรวจสอบพื้นที่เป็นระยะและเป็นระบบ เช่น ทุก 3 เดือน

4. ใช้เทคโนโลยีพัฒนาระบบช่วยในการตรวจสอบสารเคมีวัตถุอันตราย ตั้งแต่ต้นทางการนำเข้า การขนส่ง บันทึกและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนทราบว่าบริเวณชุมชนที่อยู่อาศัย มีสถานที่ที่อาจก่ออันตรายหรือไม่

ตำรวจมาเลเซียคุมตัว 2 ผัวเมียเจ้าของโกดังพลุระเบิด

ก่อนหน้านี้เมื่อ 5 ส.ค.66 ตำรวจได้ควบคุมตัวสมปอง ณะกูล อายุ 42 ปี และ ปิยะนุช พึ่งวิรวัฒน์ อายุ 42 ปี สองสามีภรรยาเจ้าของโกดังเก็บพลุดอกไม้ไฟ ม.1 ต.มูโนะ ที่เกิดระเบิดเมื่อ 29 ส.ค. 66 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงบ้านเรือนประชาชนเสียหายจนราบนั้น ได้ถูกตำรวจของประเทศมาเลเซียควบคุมตัวมาส่งให้ทางการไทย ก่อนจะนำตัวไปสอบสวนที่ สภ.สะเดา จ.สงขลา ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง

มีรายงานว่า ระหว่างถูกควบคุมตัว น.ส.ปิยะนุช เล่าว่า เริ่มขายพลุประทัดเมื่อปี 57 เดิมตนเป็นเซลขายประทัดของบริษัทแห่งหนึ่งใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และแต่งงานกับสมปอง จึงย้ายไปอยู่ที่บ้านมูโนะ จากนั้นเริ่มลองสั่งพลุประทัดไปขายเล็กๆหน้าร้าน และกิจการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

จากนั้นเวลาประมาณ 21.00 น. ตำรวจได้ควบคุมตัวทั้ง 2 คน ไปที่กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธร จ.นราธิวาส แทนที่จะไปควบคุมตัวที่ สภ.มูโนะ เพื่อป้องกันความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบและโกธรแค้น

แจ้ง 4 ข้อหาหนัก

ทั้ง 2 คนเป็นบุคคลตามหมายจับศาลจังหวัดนราธิวาส ที่ 692-693 /2566 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2566 ในข้อหา กระทำความผิดฐาน

  1. กระทำการโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส และได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ
  2. ร่วมกันทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าดอกไม้เพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาต
  3. ร่วมกันฝ่าฝืนในคำสั่งเจ้าพนักงานตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ
  4. ร่วมกันก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต

โดยมีอัตราโทษปรับสูงสุด 200,000 บาท และจำคุกสูงสุด 10 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 

คาร์บอมบ์สุไหงโก-ลก วิจารณ์กลบกระแสมูโนะ

ต่อมาเวลาประมาณ 20.07 น. วันเดียวกัน มีลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์บริเวณ 4 แยกอรกานต์ ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก เป็นรถเก๋งไม่ทราบยี่ห้อและเลขป้ายทะเบียน โดยคนร้าย 1 คนขับมาจอดแล้ววิ่งไปซ้อนรถจักรยานยนต์อีกคันหนีไป เหตุการณ์นี้ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ แต่คนในพื้นที่เชื่อว่า เป็นสร้างสร้างความวุ่นวายที่ไม่ได้มุ่งสังหารผู้ใด แต่เพื่อจะลดกระแสเหตุโกดังเก็บพลุที่ ต.มูโนะ ระเบิด

เริ่มเคลียร์พื้นที่ซ่อมสร้างที่พักผู้ประสบภัย

ส่วนที่ตลาดมูโนะพื้นที่ประสบเหตุ ประเสริฐ อาแว กำนัน ต.มูโนะ พร้อมชาวบ้านได้ประกาศรับอาสาสมัครจำนวนมากเพื่อเคลียร์พื้นที่หลังจากเหตุการณ์ผ่านมาแล้ว 8 วัน โดยที่ชาวบ้านบางส่วนได้ทยอยรื้อซากความเสียหายออกไปบ้างแล้ว ยกเว้นบริเวณใกล้ศูนย์กลางของจุดระเบิดที่ยังไม่มีการเคลียร์พื้นที่ใดๆ

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จ.นราธิวาส ณ วันที่ 4 ส.ค.66 สรุปว่า มีผู้เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บ 389 ราย บ้านเรือนเสียหาย 683 หลัง แยกเป็นเสียหายทั้งหลัง 88 หลัง นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนเอกชนเสียหาย 3 แห่ง รถจักรยานยนต์ 25 คัน รถยนต์ 39 คัน โดยมีเงินบริจาค 20,753,735 บาท เงินสกุลมาเลเซียประมาณ 20,000 เหรียญ

แนะนำให้บริจาคโดยตรง

สำหรับการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบนั้น ผู้ได้รับผลกระทบหลายคนระบุว่า ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐหรือรวมถึงจากองค์กรต่างๆ ที่ได้ระดมเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา โดยเฉพาะเพื่อนำมาใช้จ่ายและการซ่อมแซมบ้าน ยกเว้นเงินบริจาคที่ผู้มีจิตศรัทธานำมามอบให้โดยตรง

สำหรับเจ้าของบ้านหรือผู้พักอาศัยที่บ้านพังเสียหายทั้งหลังส่วนใหญ่อาศัยบ้านญาติเป็นที่พักชั่วคราว มีเพียง 6 ครอบครับที่ไปอาศัยที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวของ อบต.มูโนะ แต่ในช่วงกลางวันจะเข้ามาอยู่ที่บ้านทีเกิดเหตุ โดยชาวบ้านกลุ่มนี้ต้องการให้มีการสร้างบ้านพักชั่วคราวในจุดเดิมก่อน ไม่ต้องการบ้านพักชั่วคราวที่ทางมูลนิธิแชริทีเพื่อสังคมจะสร้างให้บนที่ดินบริจาค 15 ไร่ ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 2 กิโลเมตร

 มาหามะอัสมี อารง หนึ่งในผู้ประสบภัยกล่าวว่า การช่วยเหลือเป็นเงินดีที่สุดและให้ถึงมือผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุด ไม่ต้องรอทำยอด จะได้เคลียร์ที่ซ่อมบ้านไปพลางๆ เพราะไม่อยากย้ายไปไหน ส่วนสิ่งของอื่นๆ ถ้าจะช่วยก็ให้มาเลย ไม่ต้องมีขั้นตอนเยอะ ไม่ต้องเรื่องมาก ไม่ต้องจัดเหมือนอีเว้นท์ แต่ต้องยุติธรรมตามลำดับผลกระทบ

ผู้ประสบอีกราย กล่าวด้วยว่า ชาวบ้านที่นี่คงไม่ไปรุมแย่งของบริจาคแน่นอน แม้ว่าตัวเองจะไม่มีบ้านอยู่แล้ว แนวทางที่ดีคือถ้าเป็นสิ่งของให้จัดมาเป็นชุดมอบให้ผู้ประสบภัยเลยจะดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ซุ้มบริจาคหลายจุดที่ชาวบ้านตั้งขึ้นก็ดำเนินการแบบนี้อยู่ ส่วนการนำไปมอบให้ผู้ประสบภัยโดยตรงตรงที่หน้าบ้านก็ยังมีบางส่วนที่ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในซอยลึกหรือมีการกั้นทางหรือมีการกางเต๊นท์ขวางทางทำให้คนที่มาเยี่ยมไม่สามารถเดินเข้าไปถึง

ทั้งนี้เพื่อให้การช่วยเหลือถึงมือผู้ประสบภัยโดยเร็ว ทำให้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายคนได้รวบรวมหมายเลขบัญชีธนาคารของผู้ประสบภัยหลายรายเพื่อให้สามารถบริจาคเงินได้โดยตรง เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ นิอิลมี แวและ หรือ Ameenoh Arong เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net