Skip to main content
sharethis

ศาลแขวงดุสิตยกฟ้อง ‘พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ’ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกข้อหา ระบุ ไปเป็นวิทยากรงาน “คืน-ยุติธรรม รำลึกผู้ถูกบังคับสูญหาย” ไม่ผิด หลังถูกฟ้องข้อหาฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความสะอาด, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง ,พ.ร.บ.การจราจรทางบก และขัดคำสั่งเจ้าพนักงานในการพิมพ์ลายนิ้วมือ

 

8 ส.ค. 2566 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงานเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษายกฟ้อง พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน กรณีได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นวิทยากรในงาน “คืน-ยุติธรรม รำลึกผู้ถูกบังคับสูญหาย” ยกฟ้องทุกข้อหา

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564 กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ได้เชิญพรเพ็ญไปเป็นวิทยากรให้ความรู้ทางกฎหมายและร่วมเสวนาเกี่ยวกับ (ร่าง) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ซึ่งในเวลาดังกล่าวยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น

คดีนี้พรเพ็ญตกเป็นจำเลยคดีอาญา หมายเลขคดี อ.703/2565 ถูกพนักงานอัยการแจ้งข้อกล่าวหาสี่ข้อหาฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความสะอาด, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง และ พ.ร.บ.การจราจรทางบกและขัดคำสั่งเจ้าพนักงานในการพิมพ์ลายนิ้วมือ โดยพรเพ็ญได้ปฎิเสธตลอดข้อหาและได้ยืนยันถึงการใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นเพื่อต่อสู้คดีดังกล่ามาโดยตลอดในวันที่ 7 สค 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดอ่านคำพิพากษาและยกฟ้องทุกข้อหา

คำพิพากษามีความน่าสนใจโดยสรุปดังนี้

1.การได้รับเชิญเป็นวิทยากรไม่ต้องรับผิดหรือรับทราบเกี่ยวกับการจัดเวที เตรียมเครื่องเสียง และทำความสะอาดสถานที่ เป็นหน้าที่ของผู้จัดกิจกรรมที่เสียค่าปรับไปแล้ว

2.การที่ตำรวจจะบังคับให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือ10 นิ้วนั้นต้องมีเหตุผลเพียงพอว่าตำรวจไม่มีวิธีการอื่นที่จะยืนยันบุคคลได้เท่านั้น หากมีวิธีอื่น ขัดขืนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือไม่มีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ข้ออ้างที่ว่าถ้าไม่มีเอกสารพิมพ์ลายนิ้วมือ10 นิ้วแล้วอัยการไม่รับฟ้องไม่เป็นความจริง

รายละเอียดปรากฏในคำพิพากษาโดยละเอียดดังนี้

ประเด็นแรก ศาลวินิจฉัยในทำนองว่า พรเพ็ญ (จำเลยที่ 2 ) กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติความสะอาด พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และความผิดฐานร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ตามพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลย รับฟังได้ว่าพรเพ็ญเป็นเพียงวิทยากร ซึ่งได้รับเชิญมาให้ความรู้ด้านกฎหมาย ไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการชุมนุม โดยพรเพ็ญมี น.ส.ทานตะวัน สมาชิกกลุ่มโมกหลวงฯ มาเบิกความสนับสนุนว่า กลุ่มผู้ชุมนุมโมกหลวงฯ เป็นผู้จัดการชุมนุม โดยติดตั้งเวที เครื่องขยายเสียงพร้อมลำโพง และแผ่นป้ายโดยไม่ได้รับอนุญาตและยินยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจเปรียบเทียบปรับแล้ว พยานโจทก์ไม่มีพยาน ที่รู้เห็นว่า พรเพ็ญรู้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมโมกหลวงฯ ติดตั้งเวที เครื่องขยายเสียงพร้อมลำโพง และแผ่นป้ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้พรเพ็ญ

ประเด็นที่สอง ศาลวินิจฉัยในทำนองว่า พรเพ็ญกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตามฟ้องหรือไม่ ศาลวินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า การกระทำความผิดตาม มาตรา 368 นั้น เป็นการกระทำที่บุคคลทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานที่สั่งตามหน้าที่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ ศาลจะวินิจฉัยเป็นรายคดีไปว่า การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าพนักงานหรือไม่หากไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เนื่องจากเจ้าพนักงานไม่มีทางแก้อื่นอีก ย่อมถือว่าไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันควร แต่หากการไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเนื่องจาก เจ้าพนักงานมีทางแก้อื่น ซึ่งตามกฎหมาย วิอาญา มาตรา 2 ประกอบมาตรา 131 และ 132(1) มีใจความสำคัญว่า เจ้าพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ความผิดในการเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเท่าที่สามารถทำได้ เพื่อทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆในการกระทำผิดของผู้กระทำผิด ผู้ต้องหารวมถึงพนักงานสอบสวนมีอำนาจให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อประโยชน์ในการรวบรวม พยานหลักฐานให้มีความแจ่มแจ้งมากขึ้น คดีนี้แม้ได้ความว่าพันตำรวจโทสำเนียง เป็นพนักงานสอบสวนมีอำนาจตาม ป.วิอาญา มาตรา 2 ประกอบ มาตรา 131 และ 132 (1) ดังกล่าว แต่ได้ความจากพรเพ็ญฯ ว่า เคยพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือไว้แล้วในคดีอื่น ไม่จำเป็นต้องบังคับให้พรเพ็ญต้องพิมพ์ลายนิ้วมือใหม่อีกครั้ง อีกทั้งได้ความจาก พ.ต.ท. สำเนียง ตอบทนายความจำเลยที่ 2 ถามค้านว่าในชั้นสอบสวน พ.ต.ท.สำเนียง มีรูปซึ่งพรเพ็ญขึ้นไปบนเวทีผู้ชุมนุมตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.4 และพรเพ็ญฯ มาพบ พ.ต.ท.สำเนียงตามหมายเรียกโดยพ.ต.ท.สำเนียงไม่มีเหตุสงสัยว่าบุคคลที่มาปรากฎตัวอยู่ต่อหน้าพ.ต.ท.สำเนียงเป็นบุคคลอื่นปลอมตัวเป็นพรเพ็ญมาพบ และพรเพ็ญยังได้รับมอบหมายเลขบัตรประชาชนให้พ.ต.ท.สำเนียง ใช้ในการตรวจสอบแสดงว่าพ.ต.ท.สำเนียงมั่นใจว่า บุคคลที่มาพบคือพรเพ็ญการพิมพ์ลายนิ้วมือไม่ได้ทำให้คดีมีความกระจ่างแจ้งมากขึ้น และไม่มีความจำเป็นต้องเก็บลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อพิสูจน์ทราบตัวบุคคลอีก

ส่วนที่ได้ความจากพ.ต.ท.สำเนียง ว่าการตรวจประวัติอาชญากรโดยวิธีใช้ชื่อและชื่อสกุล และหมายเลขบัตรประชาชนไม่สามารถยืนยันประวัติอาชญากรได้ดีเท่ากับวิธีลายพิมพ์นิ้วมือ อีกทั้งยังได้ความว่า เมื่อพรเพ็ญกรอกข้อมูลในเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรโดยไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ สามารถตรวจสอบพบว่า พรเพ็ญฯ มีประวัติเคยพิมพ์ลายนิ้วมือมาก่อน ตามหนังสือแจ้งการตรวจสอบประวัติอาชญากร เอกสารหมาย จ.26 ของโจทก์ กรณีจึงเป็นการกล่าวอ้างโดยปราศจากเหตุผลรองรับ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง

นอกจากนี้ปัจจุบันมีพรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 ใช้บังคับ และมาตรา 23(1) แห่งพรบ.ดังกล่าว สรุปมีใจความสำคัญว่าหน่วยงานของรัฐต้องจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน เท่าที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ ดังนั้นสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ย่อมจัดเก็บระบบข้อมูลเกี่ยวกับลายพิมพ์นิ้วมือของพรเพ็ญอันเป็นข้อมูลส่วนบุคคลเท่าที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินงานของหน่วยงานของตนบรรลุวัตถุประสงค์เท่านั้น

การที่ พ.ต.ท สำเนียงเจ้าพนักงานมีคำสั่งให้พรเพ็ญพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากร แต่พรเพ็ญฯ ปฎิเสธ จึงไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าพนักงาน เนื่องจากเจ้าพนักงานมีทางแก้อย่างอื่น กรณีไม่ใช่การที่บุคคลทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ แล้วไม่ปฎิบัติตามคำสั่งนั้นโดย ไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร การกระทำของพรเพ็ญ จึงไม่เป็นความผิดฐานดังกล่าวตามฟ้องโจทก์ พิพากษายกฟ้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net