Skip to main content
sharethis

ชาวพม่าในเชียงใหม่รวมตัวท่ามกลางสายฝนรำลึก 35 ปี เหตุการณ์ ‘8888 Uprising’ การลุกฮือประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารครั้งใหญ่ในพม่าที่ถูกปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมโดยนายพลเน วิน ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,000 คน ในการรำลึกครั้งนี้ผู้แสดง Performance Art มีการตะโกนถามว่า "ยิงประชาชนทำไม" และตะโกนคำว่า "ประชาธิปไตย"

 

9 ส.ค. 2566 เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2566 เวลา 19.30 น. ชาวพม่าและประชาชนในเชียงใหม่รวมตัวกันที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ท่ามกลางสายฝน เพื่อจัดกิจกรรมรำลึก 35 ปี เหตุการณ์ ‘8888 Uprising’ ในพม่า โดยมีการจุดเทียนรำลึกที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นผู้ร่วมกิจกรรมได้เดินขบวนไปยังบริเวณอ่างแก้ว เพื่อทำการกล่าวรำลึกและกระทำการ Performance Art แสดงออกถึงความสูญเสียของประชาชน มีการตะโกนถามว่า “ยิงประชาชนทำไม” และตะโกนคำว่า “ประชาธิปไตย” จากผู้แสดง Performance Art

"เข้มแข็งเข้าไว้ และต่อสู้ในสิ่งที่คุณเชื่อ วันหนึ่งคุณจะบรรลุเป้าหมายนั้น"

หนึ่งในผู้จัดงานให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ระบุว่า เธอจัดงานนี้ขึ้นมาเนื่องจากเมื่อวันที่ 8 เดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1988 เคยเกิดเหตุการณ์การลุกฮือประท้วงของชาวเมียนมาที่เรียกว่า “8888 Uprising” เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการประท้วงของประชาชน นักศึกษา และแรงงาน ต่อนายพลเนวิน ผู้นำคณะรัฐบาลทหาร จากการบริหารประเทศที่ล้มเหลว เศรษฐกิจตกต่ำ มีความเลวร้ายจากการใช้อำนาจในทางที่ผิด แม้ว่าประชาชนประท้วงอย่างสันติ แต่ว่าทหารกลับใช้กำลังปราบประชาชน จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก 

"นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราอยากแสดงความเคารพต่อฮีโรจากเหตุการณ์ 8888 Uprising ที่สู่เพื่อประชาธิปไตยเมียนมาในวันนั้น และตอนนี้เมียนมาก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย เลยเป็นเหตุผลที่ทำไมเราอยากจัดงานนี้ขึ้นมา" ผู้จัดงาน ระบุ 

ผู้จัดงาน ระบุต่อว่า สำหรับการใช้เทียนในกิจกรรมวันนี้ เธอมองว่าเทียน และแสงไฟ เป็นสัญลักษณ์ของความหวัง ความสามัคคี และยังเป็นสัญลักษณ์ของแสงที่ส่องนำทางในช่วงเวลาความมืดมิด แม้ว่าจะเป็นเพียงแสงไฟเล็กๆ ก็ตาม แต่ก็สามารถนำทางเราได้ 

"ฉันมีหลายอย่างที่จะบอกกับคนอื่นมากๆ มีหลายอย่างที่อยากจะบอกกับกองทัพเมียนมา แต่ฉันอยากพูดกับประชาชนเมียนมาว่า "เข้มแข็งเข้าไว้ และต่อสู้ในสิ่งที่คุณเชื่อ วันหนึ่งคุณจะบรรลุเป้าหมายนั้น" ฉันเชื่อในสิ่งนั้น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าเราจัดงานนี้ขึ้นมา" ผู้จัดงาน ‘นิรนาม’ ทิ้งท้าย 

อนึ่ง ผู้จัดงานไม่สะดวกเปิดเผยชื่อเนื่องจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยของตัวเธอ 

ได้โปรดอย่าลืมเหตุการณ์ '8888' เพราะการจดจำเรื่องเหล่านี้จะหยุดยั้งความเลวร้ายในอนาคตได้

สำหรับ เอ (นามสมมติ) ชาวเมียนมาที่มาร่วมกิจกรรมวันนี้ และร่วมแสดง Performance Arts สะท้อนเหตุการณ์ "8888 Uprising" กล่าวว่า เขาอยากมาร่วมงานวันนี้เพราะว่าเหตุการณ์การลุกขึ้นของประชาชนในเหตุการณ์ 8888 Uprising เป็นเรื่องที่เราไม่ควรลืม โดยเฉพาะประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าร่วมจัดงานขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนจดจำวันนี้ได้

เอ กล่าวว่า มันน่าท้อใจจริงๆ เพราะว่าเหตุการณ์ 8888 มันวนกลับมาอีกครั้ง และผมมองว่า เราต้องหยุดเรื่องนี้ให้ได้ มันต้องจบในรุ่นเรา เราไม่สามารถส่งต่อความโหดร้ายนี้ไปยังคนรุ่นหลังได้ ดังนั้น เราจึงต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เราต้องยืนหยัดสามัคคีกัน เพื่อหยุดยั้งความโหดร้าย เพื่อเพื่อนของเราทุกคน

"อย่างแรก ประชาชนในประเทศเมียนมาได้โปรดจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 8888 และก็สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2021 เราไม่ควรลืมมัน ได้โปรดสอนเรื่องเหล่านี้ให้กับลูกๆ ของคุณ และคนรุ่นหลัง มันจะเป็นทางเดียวที่จะขัดขวางพวกเราจากความเลวร้ายในอนาคต และสำหรับประชาคมโลกได้โปรดช่วยเรา สนับสนุนพวกเรา พวกเราไม่สามารถสู้ได้ด้วยตัวคนเดียว เราต้องการความช่วยเหลือจากพวกคุณ" เอ ทิ้งท้าย

ย้อนไปที่เหตุการณ์ ‘8888 Uprising’ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 1988 เกิดการลุกฮือประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารครั้งใหญ่ของนักศึกษา ประชาชนและพระสงฆ์นับล้านในพม่าออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยจากการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการของนายพลเน วิน หรือที่เรียกว่า 8888 uprising หลังจากนั้นเกิดการปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยอาวุธขึ้น เมื่อนายพลเน วิน มีคำสั่งว่า “ปืนไม่ได้มีไว้ยิงขึ้นฟ้า แต่จะยิงไปข้างหน้าเพื่อฆ่า” กองทัพพม่าจึงใช้ปืนยิงเพื่อฆ่าผู้ชุมนุมทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 3,000 คน เหตุการณ์สลายการชุมนุม 8888 จึงเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่คนพม่าไม่อาจลืมมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net