Skip to main content
sharethis

สภา นศ.ธรรมศาสตร์จัดงานครบรอบ 3 ปี การเสนอ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นักกิจกรรมที่ร่วมในเหตุการณ์มาบอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากวันนั้นว่าแม้ข้อเสนอจะยังไม่เป็นจริง แต่คนก็กล้าวิจารณ์สถาบันกษัตริย์มากขึ้น “ณัฐชนนท์” หวังมีคนจากทุกฝ่ายที่เห็นปัญหาร่วมกันออกแบบข้อเสนอ “บิ๊ก เกียรติชัย” หวังเห็นสถาบันกษัตริย์ไทยเหมือนญี่ปุ่น อังกฤษ

10 ส.ค.2566 ที่ตลาดเชียงราก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีงานครบรอบ 3 ปี 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่จัดโดยสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในชื่อกิจกรรมกิจกรรม ‘10 สิงหา ประชาชนต้องไป (ลุ้น) ต่อ’ ที่มีนักกิจกรรมที่อยู่ในเหตุการณ์วันนี้เมื่อ  3 ปีก่อนมา บอกเล่าประสบการณ์การชุมนุม '#ธรรมศาสตร์จะไม่ทน “เราไม่ต้องการปฏิรูปเราต้องการปฏิวัติ” โดยนักกิจกรรมนักศึกษาและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ “บิ๊ก”  นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่าถึงที่มาที่ไปของการชุมนุมที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ส.ค.63 เป็นเหตุผลต่อเนื่องมาจากการยุบพรรคอนาคตใหม่เพราะเหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จะสู้ในกันระบบรัฐสภาแล้ว เมื่อเกิดการุบพรรคทำให้คนมาลงถนน และการที่มีสิบ ส.ค.ก็ต้องขอบคุณอานนท์ ที่เปิดประเด็นเรื่องปฏิรูปสถาบัน เพราะก่อนหน้านั้นเป็นการพูดกันลับหลัง แต่พออานนท์เปิดก็มีคนตามอีกเยอะ แล้วก็กลายเป็นเรื่องไม่แปลกที่มีการวิพากษ์สถาบัน ซึ่งตอนนั้นยังเกิดแฮชแท็กในทวิตเตอร์ตอนต้นปีหกสามที่ตอนนี้เขาเองก็ไม่กล้าจะพูดถึง ซึ่งเรื่องเหล่านี้เชื่อมโยงต่อกันมาจนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์

“ผมคิดว่าคนอัดอั้นมานานอยู่ในระบอบเผด็จการ จุดเริ่มต้นมาจากประยุทธ์ คนกลัวประยุทธ์แต่ว่าถ้าเราดูสายสัมพพันเชิงอำนาจคือต้องบอกว่าในรัฐบาลประยุทธ์มีการเพิ่มอำนาจให้แก่สถาบันกษัตริย์ในหลายสว่นอันนี้เราต้องพูดความจริงกัน แล้วทำให้เกิดส่วนเชื่อมโยง แล้วผู้ชุมนุมก็รู้สึกว่าไม่พอใจไปทั้งสองอย่างเลย มันก็เลยกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เราเริ่มคุยกันจริงจังในเรื่องของการปฏิรูปสถาบันกษัติรย์” เกียรติชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม เกียรติชัยก็บอกว่าการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ก็เริ่มมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้วเรื่องพระราชอำนาจต่างๆ แต่ไม่ชัดเจนเท่ายุคนี้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็ร้อยเรียงกันมาแต่จุดสำคัญจริงๆ คือการยุบพรรคอนาคตใหม่

เกียรติชัยมองว่าหลังจากการชุมนุม 10 ส.ค.63 วันนั้นเป็นเหมือนช่วงที่เพิ่งมีการเสนอข้อเสนอโดยที่ยังไม่รู้ว่าทิศทางการเมืองหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร แต่เสียงตอบรับที่ได้กลับมาตอนนั้นก็ดีเกินคาดมากๆ เพราะก่อนหน้าวันที่สิบยังเป็นการเสนอไล่ประยุทธ์แก้รัฐธรรมนูญแต่ไม่มีการแตะตรงๆ ว่าอยากให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ ณ วันนั้นยังไม่ได้มีความคาดหวังอะไรเลยเป็นเพียงความฝันว่าจะเกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์แล้วก้เสนอไปอย่างนั้น

เกียรติชัยมองว่าแต่หลังจากอานนท์เปิดเรื่องนี้ขึ้นมาแล้วก็ทำให้ “เพดานพัง” ไปเลย แม้กระทั่งทุกวันนี้ก้ยังวิจารณ์เหมือนเดิมแม้จะเบาลงไปแต่เรื่องนี้ก็ปิดต่อไปไม่ได้อีกแล้ว เขาเปรียบเปรยว่าเหมือนกับ “ช้างที่อยู่ในห้อง” และวันนั้นได้ทำให้ช้างที่อยู่ในห้องนี้มีความชัดเจนขึ้นมากๆ

ณัฐชนน ไพโรจน์ สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมกล่าวว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนมีมานานและต่อเนื่องหากนับตั้งแต่ปี 2557 มีคนออกไปต้านรัฐประหารมีคนโดนจับเข้าคุกโดนยัดข้อหาด้วยมาตรา 112 ทำให้มีคนออกมาเรียกร้องปล่อยตัวเพื่อนก็มี เมื่อตอนที่จะมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญคนเริ่มมีความหวังจะได้เลือกตั้งแต่ก็ต้องฝ่าฝันกับเรื่องรัฐธรรมนูญก่อนเพราะยังมีความขัดแย้งกันอยู่ว่าควรจะต้องรับหรือไม่รับดี เพราะถ้ารับก็จะเกิดปัญหาอย่างทุกวันนี้แต่ถ้าไม่รับก็อาจจะไม่ได้เลือกตั้งตอนนั้นก็มีคนถูกจับเหมือนเดิม จนกระทั่งกำลังจะมีการเลือกตั้งคนก็คิดว่าอาจจะได้ประชาธิปไตยมาสักหน่อยก็ยังดี แต่ก็ยังมีการเลื่อนเลือกตั้งอีก มีเหตุที่ทำให้พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ แล้วถึงได้เลือกตั้งแล้วกว่าจะมีรัฐบาลก็อีกหลายเดือน ต่อมาในปี 2563 ก็เกิดเหตุการณ์อีกหลายอย่างก็ทำให้คนออกมาชุมนุมกันเรื่อยๆ

ณัฐชนนท์กล่าวต่อว่าช่วงเวลานั้นเท่าที่เขาจำได้นักศึกษา มธ.ก็มีคนออกมาต่อต้านกันเนืองๆ จนมาถึงตอนยุบพรรคอนาคตใหม่คนก็รู้สึกว่ามันหักความหวังกันเยอะเกินไป แล้วพอผ่านช่วงนั้นมาได้ก็เกิดโควิดตามมาทำให้ทุกอย่างถูกหยุดไปจนหายไปนานมาก จนกระทั่ง มิ.ย.เกิดเรื่องวันเฉลิม ทำให้มีคนกลับออกมาชุมนุมกันอีกหรือการชุมนุมรำลึก 24 มิ.ย. จนมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วก็ไปสู่การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 18 ก.ค. ตอนนั้นคนที่มาร่วมก็คือมีการเขียนป้ายที่เป็นการวิจารณ์สถาบันกันในการชุมนุมหลายงาน พอดูป้ายของผู้ที่มาชุมนุมกันในเวลานั้นแล้วก็ทำให้มานั่งคุยกันว่าการจัดงานในวันที่ 10 ส.ค.คงจะต้องมีการพูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์และจะมีการวิจารณ์ว่าเกี่ยวกับปัญหาการเมืองไทยอย่างไร

ณัฐชนนท์กล่าวต่อว่า ถ้าจะบอกว่ามาถึงวันนี้จะวัดว่าประสบผลสำเร็จหรือไม่อย่างไรนั้น สำหรับเขาเองมองว่าตอนที่ยังเรียนพอจะคุยกันเรื่องสถาบันกษัตริย์กันยังเห็นว่าเป็นเรื่องอันตรายแต่กลายเป็นว่าพอผ่านเหตุการณ์เมื่อ 10 ส.ค.63 มาแล้วคนก็อยากรู้อยากเข้าใจเหตุการณ์วันนั้นมากขึ้น พอได้ไปคุยกับคนรุ่นที่ผ่านเหตุการณ์เมื่อ 30-40 ปีก่อนก็บอกว่าเรื่องพวกนี้ต้องคุยกันในป่าจะจัดตั้งกันก็ต้องพากันไปคุยกันในป่าจะไปคุยกันในโรงงานไม่ได้แต่ ณ วันนี้เรื่องพวกนี้กลับถูกพูดถึงบนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กแล้วยิ่งไปกว่านั้นคือคนพูดก็เปิดหน้าพูดกันจนโดนฟ้องเป็นคดีกันเป็นจำนวนมากแต่ทุกคนก็ยังพูดกัน แม้ถึงว่าวันนี้จะลดลงบ้างแต่ทุกคนก็กล้าพูดมากขึ้น

“แม้ว่าจะไม่มีข้อไหนไปไกลนักหรอก 10 ข้อ แต่ถ้าให้วัดกลับไปหนึ่งเรื่องก็คือรวบรวมรายชื่อยื่นเรื่องเสนอแก้ไขมาตรา 112 ผมได้ฟังประสบการณ์ของคนที่ได้ทำเมื่อช่วงสิบปีที่แล้วเขาก็บอกว่ากว่าจะรวบรวมได้หมื่นชื่อเลือดตาแทบกระเด็น แต่เมื่อปีที่ผ่านมามีการรวบรวมรายชื่อเหมือนกันได้ประมาณสองแสน อันนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมว่ามันง่ายขึ้น ถ้าทำประชามติสักทีก็อาจจะเห็นผลเหมือนกันถึงจะไม่สำเร็จแต่ตัวเลขที่ออกมาคงกระเทือนความรู้สึกของทุกคนแน่นอน” ณัฐชนนท์กล่าว

อันนา อันนานนท์ จากกลุ่มนักเรียนเลว กล่าวว่าก่อนหน้า 10 ส.ค.63 จัดม็อบคนก็ยังไม่ได้มากันเยอะแต่พอหลังจากวันนั้นพอมีการจัดม็อบคนกลับมาร่วมกันเยอะมากแล้วก็ตื่นตัวขึ้นเยอะหลังจากนั้นมาได้เห็นการเคลื่อนไหวอื่นๆ ตามมาทั้งทะลุแก๊ส ทะลุวัง หรือมีเด็กที่อายุน้อยลงโดนคดีการเมืองทำให้เห็นว่ามีคนตื่นตัวเยอะขึ้นจริงๆ

ทั้งนี้เมื่อวิทยากรบนเวทีถามถึงความคาดหวังว่าจะได้เห็นสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

อันนาตอบในประเด็นนี้ว่าก็อยากให้เป็นระบอบที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจริงๆ สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง แล้วก็อยากเห็นการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และเห็นข้อเรียกร้องที่ถูกประกาศไว้เมื่อ 10 ส.ค.63 เกิดขึ้นจริงด้วย ทั้งการถอดถอนสิ่งที่รัฐบาล คสช.ทำไว้เช่นการเพิ่มพระราชอำนาจ มีการสืบสวนว่าทำไมประยุทธ์ถึงมีการอ้างสถาบันฯ ในการทำรัฐประหารของ คสช.

ส่วนณัฐชนนท์ตอบประเด็นนี้ว่าข้อเรียกร้องสิบข้อนั้นมีข้อเสนอที่ตรงตัวเช่นเรื่องยกเลิก 112 ซึ่งเป็นเรื่องเรียบง่าย แต่ก็ต้องมาคิดกันต่อว่าสำหรับสังคมไทยสิ่งที่จะมาแทนสิ่งนี้คืออะไร เช่น จะให้มาใช้กฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปหรือไม่ หรือจะไม่มีเลย หรือจะให้คุ้มครองด้วยสิ่งอื่นไปเลยแต่สิ่งนั้นคืออะไร วันนี้บางคนก็อาจจะบอกว่าแก้ไขเฉยๆ ดีหรือไม่

ณัฐชนนท์กล่าวต่อว่า แต่ในข้อเรียกร้องสิบข้อบางอย่างก็ยังไม่ได้มีการออกแบบที่ชัดเจนว่าควรจะเป็นอย่างไรเช่นเรื่องกำหนดงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลานั้น ปัญหาของข้อนี้คือถ้าจะให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจตามช่วงเวลาแล้วจะต้องเขียนในกฎหมายอย่างไร ก็ยังไม่แน่ใจก็ไม่มีใครตอบได้ พอไปปรึกษากับอาจารย์บางคนก็ยกตัวอย่างมาว่ากำหนดเป็นอัตราส่วนระหว่างรายได้ของรัฐบาลกับสถาบันกษัตริย์จะต้องอยู่ที่ประมาณเท่าใด หรือจะให้เป็นจำนวนเท่าไหร่ก็ได้แต่ต้องไม่มากกว่างบของกระทรวงที่ได้งบน้อยที่สุด

ณัฐชนนท์มองว่าข้อเสนอบางข้อก็ยังเป็นเรื่องที่รอถูกออกแบบหรือมีข้อเสนอใหม่ๆ จากคนที่กำลังค้นหาหรือกำลังสนใจการเมืองที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบเพื่อเติมเต็มให้แก่ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทั้งสิบข้อ ซึ่งการมีคนมาร่วมออกแบบให้ข้อเรียกร้องเกิดขึ้นมาเป็นรูปธรรมเหล่านี้คือสิ่งที่เขาให้ความสนใจและคาดหวังโดยที่ไม่ใช่แค่ใช้อำนาจของประชาชนแต่ต้องอาศัยทุกคนเข้ามาร่วมและเห็นพ้องต้องกันใช้ทั้งแรงกายแรงใจและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ

เกียรติชัยกล่าวว่าสำหรับเขาแล้วอยากเห็นสถาบันกษัตริย์ของไทยเหมือนในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ เช่น อังกฤษหรือญี่ปุ่น หรือก็คือเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วก็จบไม่มีองค์กรอื่นมาคอยยุบพรรค และมีสิทธิเสรีภาพในการวิจารณ์ซึ่งสถาบันกษัตริย์ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ในญี่ปุ่นไม่มีกฎหมายแบบมาตรา 112 อังกฤษหรือนอร์เวย์ก็ไม่มีกฎหมายลักษณะนี้ ซึ่งเรื่องนี้ฟังดูเป็นไปได้ง่ายมากในโลกที่เป็นประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์

“(ของไทย) เวลาพูดว่าจะเป็นประชาธิปไตย มันมีเลือกตั้งนะ แต่ทำไมเลือกตั้งมันดูเฮงซวยจังเลย เลือกตั้งแล้วทำไมมันมี 250 ส.ว.มายุ่ง เลือกตั้งแล้วทำไมมันมีศาลมาคอยยุบพรรควุ่นวายไปหมด”

เกียรติชัยยกสิ่งที่ธงชัย วินิจจะกูล เขียนไว้ในหนังสือ “รัฐราชาชาติ” ว่าในประวัติศาสตร์ของไทย ประชาธิปไตยเป็นแบบกษัตริย์นิยม ที่มีการเลือกตั้งแต่กลับมีกลุ่มคนที่อ้างชื่อสถาบันกษัตริย์อยู่เหนืออีกทีเช่นกองทัพอ้างเรื่องล้มเจ้าแล้วก็ทำรัฐประหาร หรือสามารถอ้างนามของสถาบันฯ เพื่อทำสิ่งต่างๆ ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน แล้วก็มีกองทัพที่เป็นกลุ่มบุคคลที่สำคัญที่สุดในโครงสร้างแบบนี้ที่คอยบอกว่าตัวเองคือทหารของพระราชา

เกียรติชัยกล่าวว่าสิ่งที่เขาคิดว่าจะต้องแก้ไขกับการที่มีปัญหาในโครงสร้างแบบนี้คือทำให้กองทัพไม่สามารถอ้างพระราชาได้อีก และเมื่อดูถึงความสัมพันธ์ในช่วงนี้ของทหารกับสถาบันฯ สิ่งที่ทำให้เห็นถึงความใกล้ชิดกันก็คือคนที่ผ่านหลักสูตรทหารคอแดงก็ต้องไปทบทวนเรื่องปฏิรูปกองทัพก่อนเป็นอย่างแรกซึ่งเรื่องที่ง่ายที่สุดก็คือเอากองทัพออกจากการเมืองให้ได้ก่อนก็จะทำให้จัดการเรื่องอื่นง่ายขึ้น

“ทหารอยู่ในการเมืองไทยได้ปัจจัยไม่ใช่แค่การรัฐประหาร เราไปดูทหารมันไปยุ่งเกี่ยวสังคมอะไรเต็มไปหมดเลย ทหารทำธุรกิจมั้ยแค่เดินไปดูใกล้ๆ นี่ก็เห็นธุรกิจเต็มไปหมด สนามกอล์ฟ สนามมวย ทหารที่แทรกซึมการเมืองเต็มไปหมด ทหารมีหน้าที่อะไรปกป้องอาณาเขตใช่มั้ย แต่ไปดูพันธกิจของทหารอันดับแรกคืออะไร คือปกป้องสถาบันกษัตริย์ เชิดชูสถาบันกษัตริย์แล้วคำถามคือมันใช่หน้าที่ของทหารมั้ย” เกียรติชัยย้ำถึงความจำเป็นต้องเอาทหารออกจากเรื่องนี้ไม่ให้อ้างสถาบันกษัตริย์ได้แล้วก็ให้ทหารทำภารกิจที่ควรจะทำและไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการพลเรือนทั้งหมด

เกียรติชัยกล่าวทิ้งท้ายว่าจากสถานการณ์หลังการเลือกตั้งที่รอบนี้ที่ 8 พรรคร่วมรวมเสียงได้ถึง 312 แล้วแต่ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เขามองว่าฝ่ายตรงข้ามกำลังใช้วิธีเดิมคือทำให้ประชาชนต้องมาลงถนนเพราะมองว่าตอนนี้ม็อบก็เบาลงแล้ว แต่เขามองว่าตอนนี้ถูกทำให้ไม่เหลือทางเลือกแล้วเพราะสู้ในสภาพรรคการเมืองที่เคยคิดว่าอยู่ฝ่ายเดียวกับเราก็ย้ายไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามแล้ว พอสู้ในสภาไม่ได้แล้วทางเลือกสุดท้ายก็ต้องมาสู้บนถนนแต่การมาสู้บนถนนก็ยังมีประโยชน์เพราะเป็นการไปกดดันพรรคการเมืองที่ยอมให้กับฝ่ายตรงข้ามเพราะอาจจะกลัวจะโดนยุบพรรคไปกับก้าวไกล แล้วก็ยังเป็นการกดดันฝ่ายตรงข้ามที่คิดจะยุบพรรคมีความลังเลที่จะทำเพราะเห็นว่ามีประชาชนจะออกมาเยอะกว่านี้หรือไม่

“คนมักจะพูดว่าเวลาอยู่ข้างเรา แต่ถ้าคุณไม่ทำอะไรแล้วอยู่เฉยๆ เวลาจะไม่อยู่ข้างคุณแน่นอนแล้วก็ต้องอยู่วนๆ แบบนี้” เกียรติชัยกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net