Skip to main content
sharethis

มูลนิธิอาจารย์ฮัจยีสุหลง เผยกำหนดการจัดงานรำลึก 69 ปี หะยีสุหลง โต๊ะมีนา โชว์จดหมายจากเรือนจำเมื่อครั้งอดีต บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยและปาตานี เน้นนำเสนอในมุมมองคนธรรมดา ชิมอาหารสุดพิเศษถอดรหัสจากบันทึกของหะยีสุหลง ฟังมุมมองการเมืองจากลูกหลานผู้ร่วมเหตุการณ์หะยีสุหลง

 

เนื่องในโอกาสครบรอบ 69 ปีการถูกบังคับสูญหายของ หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ ผู้นำทางศาสนา และทางการเมืองคนสำคัญของปาตานี ในวันที่ 13 ส.ค. 2566 มูลนิธิอาจารย์ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา กำหนดจัดกิจกรรม 2 งานในวันที่ 12 และ 13 ส.ค. 2566 เพื่อร่วมรำลึกถึง 69 ปี การถูกบังคับสูญหายของหะยีสุหลง และคณะรวม 4 คน เมื่อ 13 ส.ค. 2497

งานแรก เสวนาหัวข้อ "อดีต I ปัจจุบัน I อนาคต การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนปาตานี" วันที่ 12 ส.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 16.00-18.30 ณ Patani Art Space (ปาตานีอาร์ตสเปซ) ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งจัดร่วมกับสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 

โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และ อาทิตย์ ทองอินทร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ดำเนินรายการโดย รอมซี ดอฆอ สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ

รำลึก 69 ปีการถูกบังคับสูญหายของหะยีสุหลง

งานที่สอง "งานรำลึก 69 ปีการถูกบังคับสูญหายของหะยีสุหลง" ในวันที่ 13 ส.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 16.30 เป็นต้นไป ณ บ้านหะยีสุหลง อ.เมือง จ.ปัตตานี ภายใต้แนวคิด "The Memoirs of HAJI SULONG" ร่องรอยความทรงจำต่อหะยีสุหลง ผ่านบันทึกและจดหมาย โดยจัดแสดงจดหมายจากเรือนจำบางขวางขณะที่หะยีสุหลง ถูกคุมขัง รวม 13 ฉบับ  

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสำคัญๆ เช่น การเปิดสารคดี "ร่องรอยความทรงจำของหะยีสุหลง" บรรยายเรื่อง "หะยีสุหลงในความทรงจำของสังคมไทย" จากมุมมองของ ธงชัย วินิจจะกูล และเวทีเสวนาหัวข้อ "The Memoirs of Haji Sulong" ร่องรอยความทรงจำต่อหะยีสุหลงผ่านบันทึกและจดหมาย มีนายณายิบ อาแวบือซา, ซะการีย์ยา อมตยา, อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเต๊ะ และ ยัสมิน โต๊ะมีนา รวมเสวนา ดำเนินรายการโดยนวลน้อย ธรรมเสถียร

มื้ออาหารสุดพิเศษถอดรหัสจากบันทึกของหะยีสุหลง

ต่อมา ทางมูลนิธิยังเปิดจอง Chef's Table สุดพิเศษ มื้ออาหารสุดพิเศษถอดรหัสจากบันทึกของหะยีสุหลง พร้อมลิ้มรสชาติอาหารที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นของครอบครัวโต๊ะมีนา รังสรรค์โดยเชฟชั้นเยี่ยมจากครัวลูกเหรียง ในวันที่ 13 ส.ค. 2566 เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป ณ บ้านหะยีสุหลง โดยเปิดจองเฉพาะ 20 ท่านเท่านั้น เพียงท่านละ 2,000 บาท (รายละเอียดดูได้ในเพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิ "ฮัจยีสุหลง")

ย้อนประวัติ การหายตัวของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์

หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ หรือ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา เป็นผู้นำศาสนาอิสลามเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีชื่อเสียงในอดีตเกิดปี พ.ศ. 2438 บิดาได้ส่งไปเรียนศาสนาที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย และเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2470 แล้วพบว่าชาวมุสลิมมีสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นและนับถือภูตผีซึ่งขัดหลักศาสนาอิสลาม จึงก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนาหรือปอเนาะด้วยเงินบริจาค 3,500 บาท ต่อมา ได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลได้มาอีก 3,500 บาท

จาตุรนต์ เอี่ยมโสภา เปิดบันทึกและจดหมาย

หะยีสุหลง เป็นผู้นำเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อต่อรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ขณะเป็นประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานีเมื่อปี พ.ศ.2490 แต่รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ก็ถูกรัฐประหาร จอมพล ป.พิบูลสงครามขึ้นมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลแทนซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างจากรัฐบาลเดิม และมองหะยีสุหลงเป็นกบฏกระด้างกระเดื่องต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร จนในที่สุดก็ถูกจับข้อหาปลุกระดมและก่อการกบฏแบ่งแยกดินแดน และถูกจัดสินให้จำคุก 4 ปี 8 เดือนโทษฐานกล่าวร้ายรัฐบาลในเอกสารที่แจกจ่ายยังประชาชนในท้องถิ่น ส่วนโทษแบ่งแยกดินแดนศาลยกฟ้อง

เมื่อพ้นโทษ หะยีสุหลงก็ยังถูกคุกคามจากอำนาจรัฐ กระทั่งเช้าวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2497 หะยีสุหลงพร้อมนายอาหมัด โต๊ะมีนา บุตรชายคนโตวัย 15 ปีซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาไทยให้หะยีสุหลงได้เดินทางไปยังกองบัญชาการตำรวจสันติบาลที่จังหวัดสงขลา พร้อมพรรคพวกอีก 2 คน ก่อนที่ทั้งหมดจะหายสาบสูญไป โดยชาวบ้านเชื่อว่าทั้งหมดถูกฆาตกรรมด้วยฝีมือของตำรวจภายใต้บัญชาการของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทางครอบครัว ภรรยาและนายเด่น โต๊ะมีนา บุตรชายของหะยีสุหลงได้พยายามติดตามคดีแต่ก็ไม่ได้ความคืบหน้าใดๆ 

กระทั่งเกิดรัฐประหารอีกครั้งในปี พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและการรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยมี พล.ต.ต.ฉัตร หนุนภักดี เป็นประธาน ในที่สุดนายตำรวจผู้ลงมือฆาตกรรมก็รับสารภาพว่าได้สังหารทั้ง 4 ในบังกะโลริมทะเลสาบสงขลาจากคำสั่งตรงของรัฐบาลในขณะนั้น และอำพรางศพด้วยการนำไปผูกไว้กับแท่งซีเมนต์ทิ้งในทะเลสาบสงขลา แต่ด้วยระยะเวลาที่ผ่านไปหลายปีทำให้งมไม่พบศพหรือเศษซากใดๆ

ข้อเสนอ 7 ประการของหะยีสุหลง

สำหรับข้อเสนอ 7 ประการของหะยีสุหลงนั้น จริง ๆ แล้วมาจากการประชุมร่วมกับผู้นำศาสนาในจังหวัดปัตตานีที่เสนอต่อรัฐบาลขณะนั้น ประกอบด้วย

1. ขอให้แต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งซึ่งมีอำนาจเต็มมาปกครองใน 4 จังหวัด คือจังหวัดปัตตานี ยะลานราธิวาส และสตูล ให้มีอำนาจที่จะปลด ระงับ หรือโยกย้ายข้าราชการได้ บุคคลผู้นี้จักต้องถือกำเนิดในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งของ 4 จังหวัดและจักต้องได้ รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนใน 4 จังหวัดนั้น

2. ข้าราชการใน 4 จังหวัด จักต้องเป็นมุสลิมจำนวน 80 เปอร์เซ็นต์

3. ให้ใช้ภาษามลายูและภาษาไทย เป็นภาษาราชการของ 4 จังหวัด

4. ให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษากลางของการสอนในโรงเรียนชั้นประถม

5. ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลศาสนา แยกออกไปจากศาลจังหวัด ซึ่งเคยมีผู้พิพากษาเป็นมุสลิม (Kathi) นั่งพิจารณาร่วมด้วย

6. ภาษีเงินได้และภาษีทั้งปวงที่เก็บจากประชาชนใน 4 จังหวัด จักต้องใช้จ่ายเฉพาะใน 4 จังหวัดเท่านั้น และ 

7. ให้จัดตั้งคณะกรรมการมุสลิม มีอำนาจเต็มในการดำเนินการเกี่ยวกับคนมุสลิมทุกเรื่องโดยให้อยู่ในอำนาจสูงสุดของผู้นำตามข้อ 1

เปิดโชว์จดหมายจากเรือนจำของหะยีสุหลง

จาตุรนต์ เอี่ยมโสภา กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิอาจารย์ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ซึ่งเป็นรุ่นหลานของหะยีสุหลง เปิดเผยว่า ทางมูลนิธิและครอบครัวจัดงานรำลึกครบรอบทุกปีตั้งแต่ปี 2557 ปีต่อมาเริ่มจัดงานใหญ่ขึ้น เนื่องจากมีการเปิดบ้านหะยีสุหลง จากนั้น ในวันครบรอบปีที่ 62 (ปี 2559) จัดเฉพาะภายในเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 (โคโรนาไวรัส 2019) ระบาด ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ได้มากล่าวขอโทษครอบครัวหะยีสุหลงเนื่องจากครอบครัวของท่านมีส่วนในเรื่องนี้

จาตุรนต์ เอี่ยมโสภา

"ปีนี้ทางครอบครัว กรรมการมูลนิธิและพี่ๆน้องๆในภาคประชาสังคมสรุปกันว่า ควรจัดงานเนื่องจากมีเอกสารเก่าๆ ของหะยีสุหลงจำพวกบันทึกและจดหมายหลายฉบับที่หลายคนไม่เคยเห็นมาก่อน แม้เป็นจดหมายจากเรือนจำบางขวางที่หะยีสุหลงเขียนถึงครอบครัว แต่เนื้อหาระหว่างบรรทัดบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง และสิ่งที่เป็นไปในอดีตในช่วงที่หะยีสุหลงยังมีชีวิตอยู่" จาตุรนต์ กล่าว

บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยและปาตานี

จาตุรนต์ กล่าวว่า ในจดหมายได้กล่าวถึงบุคคลสำคัญหลายๆ ท่าน เช่น นายแพทย์เจริญ สืบแสง หรือคุณอัศนี พลจันทร์ ที่เรารู้จักกันในนามนายผี ซึ่งจดหมายเหล่านี้ก็เป็นบันทึกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการเมืองไทยและปาตานี

จาตุรนต์ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการจัดงานจัดแบบสบายๆ ไม่พูดเรื่องหนักๆ เพราะคนคนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงหะยีสุหลงก็จะพูดถึงการต่อสู้ การต่อต้านรัฐ การเป็นกบฏหรือไม่เป็นกบฏ หรือข้อเสนอ 7 ข้อซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปแล้ว แต่คราวนี้จะเสนอมุมมองที่เป็นบุคคลธรรมดา ไม่ใช่บุคคลที่อยู่สูงจนหลายๆคนสัมผัสไม่ได้

เน้นนำเสนอในมุมมองคนธรรมดา

"ในครอบครัวคิดกันว่า ถ้าเราไม่ให้เป็นบุคคลธรรมดา ต่อไปในอนาคตคนรุ่นหลังๆ อาจจะนับถือและเทิดทูนหะยีสุหลงมากเกิน จนไม่รู้ว่าอากิดะห์ (หลักศรัทธา) หรือแนวคิดต่อไปของคนที่นี่จะมีความเข้มแข็งมากขนาดไหน เกิดคนยุคต่อไปสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมา ถามใครคือผู้ที่เจ็บปวดที่สุด" จาตุรนต์ กล่าว

จาตุรนต์  กล่าวต่อไปว่าธีมงานที่จัดครั้งนี้ นอกจากเรื่องจดหมายแล้ว ยังมีเรื่องอาหารที่หะยีสุหลง ชอบรับประทานมีอะไรบ้าง ที่สำคัญก็คือเราจะเห็นบริบทนักโทษการเมืองสมัยก่อนด้วย คือหะยีสุหลงสามารถปรุงอาหารจากในคุกได้ ทำให้คิดว่า นักโทษมุสลิมสมัยก่อนกินอาหารฮาลาลได้ไหม ใครปรุง แต่ในยุคหะยีสุหลงในจดหมายบอกว่าเป็นช่วงเดือนรอมฎอน หะยีสุหลงปรุงอาหารเลี้ยงนักโทษ 8 คนที่เป็นนักโทษมุสลิมในเรือนจำบางขวาง

"รับอาหารมาเท่าไหร่ วันนี้ทำแกงอะไรกินกัน พอไหม และในจดหมายก็ระบุไว้ว่าเบิกอาหารสดมาอาทิตย์ละครั้ง เราก็ต้องคิดต่อว่า นักโทษเบิกอาหารสดแล้วไปเก็บไว้ที่ไหน มันไม่เน่าไม่บุบหรือ คิดต่อแล้วมันสนุก" จาตุรนต์ กล่าว

ชิมอาหารสุดพิเศษถอดรหัสจากบันทึกของหะยีสุหลง

จาตุรนต์ กล่าวว่า ตรงนี่เองที่เรานำมาจัดนิทรรศการจดหมาย และจะจัดงาน chef Table ด้วยเพื่อเปิดให้คนเข้ามาลองชิมอาหารของครอบครัวและอาหารที่หะยีสุหลงชอบกิน แล้วก็ลองมาถกกันว่า เมื่อก่อนทำอาหารกันอย่างไร ซึ่งก็จะแตกย่อยเป็นอาหารทางวัฒนธรรมและสภาพความเป็นอยู่ของคนในเรือนจำที่สามารถประกอบอาหารได้

"อดีตมันบอกปัจจุบัน ถ้าเราศึกษาเรื่องอดีตแม้แต่เรื่องเล็กๆ แบบนี้ แล้วเราต่อยอดไปมันก็จะเห็นภาพและไกต์(แนวทาง)ต่อไปว่า มันควรจะเป็นอย่างไรในอนาคต" จาตุรนต์ กล่าว

"ยังมีจดหมายที่หะยีสุหลงเขียนถึงลูกศิษย์ที่ออกมาจากเรือนจำบางขวางแล้ว เนื่องจากรู้จักหะยีสุหลงและรับอิสลามกับหะยีสุหลง ซึ่งถ้าอ่านแล้วสนุกเพราะมีอะไรให้ตีความระหว่างบรรทัดเยอะ" 

"แล้วก็มีมีจดหมายที่เขียนถึงบาบอ (โต๊ะครูปอเนาะ) ร่วมสมัยของท่าน เช่น ฉบับหนึ่งที่เขียนถึงบาบออิดริส ปอเนาะชะเมา ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เนื้อหาในจุดหมายบอกถึงว่าความสัมพันธ์ของครอบครัวนี้กับปอเนาะนี้ที่มีมานานแล้ว"

ฟังมุมมองการเมืองจากลูกหลานร่วมเหตุหารณ์หะยีสุหลง

จาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า เอกสารส่วนใหญ่ที่จะนำเสนอในงาน ยังไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะ ยกเว้นที่ตนโพสต์เล็กๆน้อยๆ ในเฟซบุ๊ก แต่ไม่ได้โพสต์ทุกฉบับ แต่ในงานจะเปิดเผย 13 ฉบับที่เป็นภาษาไทย ซึ่งไม่ใช่ทุกฉบับเพราะบางฉบับเป็นเอกสารของทนายความเขียนถึงหะยีอามีนและอะหมัด โต๊ะมีนาที่ยังไม่เสียชีวิตตอนนั้นจะไม่เอามาเปิดเผย

จาตุรนต์ กล่าวว่า กิจกรรมทั้ง 2 วัน จัดแยกกัน เพราะงานแรกเป็นงานเชิงวิชาการ ที่ให้พูดถึงอดีตปัจจุบันอนาคตของการเมืองที่นี่ตั้งแต่หะยีสุหลงเป็นต้นมากับภาคการเมืองในปัจจุบัน มันเหมือนกันหรือแตกต่างอย่างไร คนที่นี่ควรก้าวไปในทิศทางใดในทางการเมือง ซึ่งคุณอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ก็เป็นเป็นลูกหลานของหนึ่งในผู้สูญหาย (แวสะมะแอ มูฮำมัด หรือ เปาะจิแม) ที่ไม่ค่อยมีคนทราบ

"ถึงบอกว่า คุณอาดิลัน กับหมอเพชรดาว โต๊ะมีนา ต่างเป็นลูกหลานรุ่นที่ 3 เหมือนกัน และได้มาทำงานด้วยกันตอนเป็น ส.ส. เช่น ร่วมกันที่ผลักดันกฎหมายป้องกันและปราบปรามการอุ้มหายและซ้อมทรมาน" จาตุรนต์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net