Skip to main content
sharethis

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการเผยผลสำรวจเมื่อเดือนเมษาที่ผ่านมา พบ 43.7% เห็นว่านายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ด้วย ขณะที่ 28.39% เห็นว่าไม่ต้องเป็น ส.ส. 

21 ส.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์' ของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รายงานว่า งานวิจัยส่วนบุคคลของตน เเก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคนทั้งประเทศ (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52.32 ล้านคน) จำนวน 4,588 คน ใน 57 จังหวัด เรื่อง ทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งและสังคมการเมืองไทย 2566

ข้อคำถาม “ท่านคิดว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น สส. ด้วยหรือไม่”

ผลการวิจัยพบว่า

1. ผู้ที่เห็นว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ด้วย ร้อยละ 43.73 (1,993 คน) ส่วนผู้ที่เห็นว่านายกรัฐมนตรี ไม่ต้องเป็น ส.ส. ร้อยละ 28.39 (1,294 คน) ผู้ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 27.88 (1,271 คน)

2. ผู้ที่เห็นว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ร้อยละ 43.73 มีจำนวนน้อยกว่า ผู้ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ คสช. 2560 เป็นเผด็จการ ที่มีร้อยละ 56.80

3. พิจารณารายภาคที่เห็นว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ด้วย มากที่สุด คือภาคอีสาน ร้อยละ 47.01 รองลงมาเป็นภาคกลางและกรุงเทพ ร้อยละ 45.67 ตามด้วย ภาคใต้ ร้อยละ 42.16 น้อยที่สุดเป็นภาคเหนือ ร้อยละ 33.50

4. ผู้ที่เห็นว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ให้คำอธิบายว่า เป็นไปตามหลักการระบอบประชาธิปไตย, เมื่อ ส.ส. มาจากเลือกตั้งของประชาชน นายกรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง, นายกรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. จะมีประชาชนอยู่ในใจเสมอเป็นอันดับแรกๆ, นายกรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. จะเข้าหาประชาชนตลอดเวลา ไม่กบดานในทำเนียบรัฐบาล ในค่ายทหาร ไม่นั่งนึกเองเออเองแบบคุณพ่อเผด็จการที่คิดว่าตนรู้ดี, นายกรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. จะเป็นคนรุ่นใหม่ มีศักยภาพที่ทันโลกทันสมัย พร้อมแก้ไขปัญหาด้วยวิธีคิดใหม่และเทคโนโลยีใหม่ๆ, นายกรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. จะมุ่งเน้นความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประชาชน, นายกรัฐมนตรีที่เป็น สส. จะทำให้ความเจริญกระจายไปยังท้องถิ่นทุกจังหวัด ไม่กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพ หรือรวยกระจุกแบบนายกรัฐมนตรีรัฐประหาร, นายกรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. จะให้ความสำคัญกับการประชุมสภา, นายกรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. จะตั้งรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส. เป็นหลักทำให้เชื่อมโยงต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างจริงจังทั้งทีม

ผู้ที่เห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส. ส่วนใหญ่อธิบายว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้, นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส. เปิดโอกาสให้คนดีมีฝีมือได้เข้ามาทำงานเพื่อชาติ, นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส. ทำให้บริหารประเทศโดยมุ่งรักษาประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่ามุ่งรักษาผลประโยชน์ของพวกพ้องเครือญาติ, นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องเป็น ส.ส. ทำให้ไม่ต้องเอาใจประชาชนในทางที่ไม่ถูกไม่ควรไปทุกเรื่อง, นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส. ทำให้พิทักษ์รักษาสถาบันสำคัญของชาติไว้ได้ดีที่สุด

5. บทวิเคราะห์ของผู้วิจัย ระบอบประชาธิปไตยแบบสภา จะต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันสภากับสถาบันรัฐบาล โดยสร้างความเชื่อมโยงทางอำนาจของประชาชนด้วยนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. ที่ประชาชนเลือกตั้ง ซึ่งโดยทั่วไปก็จะเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มี ส.ส. มากสุดเป็นอันดับแรก

ในการเมืองไทย เมื่อเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับแรก 27 มิถุนายน 2475 ก็ระบุให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. รวมทั้งรัฐมนตรีทุกคนด้วย และยังคงสืบเนื่องมาตรานายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. มายังรัฐธรรมนูญ

ฉบับที่สอง 10 ธันวาคม 2475 และฉบับที่สามปี 2489 อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมา ฝ่ายทหารก็ได้ยกเลิกมาตรานายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. รวมทั้งต้องไม่เป็นข้าราชการประจำออกไป เพื่อให้หัวหน้าคณะทหารเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลทหารได้ แต่การต่อสู้ของประชาชนเมื่อ 14 ตุลา 2516 ก็ได้ฟื้นมาตรานายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. อีกครั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 แต่ก็ถูกยกเลิกในการรัฐประหารปี 2519 แต่ประชาชนก็ได้ฟื้นมาตรานี้อีกครั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเป็นผลของการต่อสู้ที่ประชาชนเรียกร้องนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ถูกคณะทหารยกเลิกตั้งแต่รัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2559 ได้สร้างวิธีเบี่ยงเบนหลบเลี่ยงในรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ 3 คน จะเป็นใครก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็น สส. ในแง่นี้ ฝ่ายรัฐทหารสร้างกลยุทธ รวมทั้งให้อำนาจ 250 สว. แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ ทำให้รัฐบาลหลังเลือกตั้งมีแนวโน้มไม่ได้รัฐบาลของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ยังคงเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารต่อไป ดังเช่นที่เราได้เห็นรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. หลังเลือกตั้ง 2562 และปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

6. การที่ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็น ส.ส. เราเห็นปัญหาได้ทันทีว่า ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่สามารถเสนอตนเองและนำเสนอวิสัยทัศน์ในที่ประชุมรัฐสภาในวาระแรกได้ ขาดความเชื่อมโยงอย่างแท้จริงกับผู้แทนอำนาจของประชาชน

7. ข้อเสนอแนะของผู้วิจัย ควรได้มีการเก็บข้อมูลในประเด็นท่านคิดว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ด้วยหรือไม่ อีกครั้งทั้งประเทศ เพราะปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาแล้วกว่า 3 เดือน ยังไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งผลการวิจัยครั้งใหม่น่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เห็นความปรารถนาของประชาชนต่อทิศทางการเมืองไทยที่ควรจะเป็นในอนาคต นอกจากนี้ ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าฝ่ายประชาธิปไตยต้องเร่งปลูกฝังความคิดความเชื่อต่อหลักการนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ให้มั่นคงยิ่งขึ้นกับประชาชนทุกเพศกลุ่มอายุ เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงถาวรยิ่งขึ้นของไทย

ข้อมูลพื้นฐาน

งานวิจัยทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งและสังคมการเมืองไทย 2566 มีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 4,588 คน เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 6-17 เมษายน 2566

เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 2,439 คน (53.16%) ชาย 2,023 คน (44.09%) เพศหลากหลาย 126 คน (2.75%)

อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม Gen Z (18-26 ปี) 1,915 คน (41.74%) Gen Y (27-44 ปี) 1,016 คน (22.10%) Gen X (44-58 ปี) 1,046 คน (22.80%) Gen Baby Boomer ขึ้นไป (59 ปีขึ้นไป) 613 คน (13.36%)

การศึกษาของผู้ตอบแบบสอบถาม ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 492 คน (10.72%) มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า 971 คน (21.16%) อนุปริญญาหรือเทียบเท่า 542 คน (11.82%) ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 2,210 คน (48.17%) สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 373 คน (8.13%)

อาชีพหลักของผู้ตอบแบบสอบถาม: นักเรียนนักศึกษา 1,529 คน (33.33%) เกษตรกร 456 คน (9.94%) พนักงานเอกชน 431คน (9.39%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 471 คน (10.27%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 602 คน (13.12%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 600 คน (13.08%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 329 คน (7.17%) อื่นๆ 170 คน (3.70%)

รายได้ต่อเดือนของผู้ตอบแบบสอบถาม: ไม่มีรายได้ 939 คน (20.47%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 1,141 คน (24.87%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 1,170 คน (25.50%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 620 คน (13.51%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 302 คน (6.58%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 416 คน (9.07%)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net