Skip to main content
sharethis

สปสช. เปิดเกณฑ์เข้ารับบริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิบัตรทอง หวังลดความเสี่ยงเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมที่เกิดจากยีนกลายพันธุ์

สปสช. เปิดเกณฑ์เข้ารับบริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิบัตรทอง หวังลดความเสี่ยงเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมที่เกิดจากยีนกลายพันธุ์

23 ส.ค.2566 ฝ่ายสื่อสารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานถึงเกณฑ์ในการเข้ารับการตรวจหายีนกลายพันธุ์ที่ส่งผลต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านม และการเปิดอบรมเสริมศักยภาพให้แก่แพทย์ในการตรวจหาโรคมะเร็งเต้านม

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า แม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะครอบคลุมการรักษาโรคมะเร็ง แต่การป้องกันก็เป็นนโยบายที่ สปสช. ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกับโรคมะเร็งที่ป้องกันได้ ซึ่งในส่วนของมะเร็งเต้านมพบว่า ผู้ที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 เป็นผู้มีความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมสูง ดังนั้นเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเพิ่ม “บริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2” เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มอบให้กับคนไทยอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง และญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ 

สำหรับในปีงบประมาณ 2566 นี้ สปสช. ยังคงดำเนินการสิทธิประโยชน์นี้ต่อเนื่องเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม โดยผู้ที่ได้รับสิทธิบริการ คือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมตามเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ 

1. ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมเมื่ออายุไม่เกิน 45 ปี 

2. ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมที่อายุ 46-50 ปี ร่วมกับ มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งซ้ำหลายครั้ง หรือ มีญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือ บุตรของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม) อย่างน้อย 1 คน ที่มีประวัติโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก

3. ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมเมื่ออายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี ร่วมกับข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้ 

          3.1 มีประวัติญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คน ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมที่ได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุไม่เกิน 50 ปี หรือ มะเร็งเต้านมในผู้ชาย หรือ มะเร็งรังไข่ หรือ มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก 

          3.2 มีประวัติผู้ป่วยในครอบครัวอย่างน้อย 3 คนที่เป็นมะเร็งเต้านม 

          3.3 มีประวัติในครอบครัวสายตรงอย่างน้อย 2 คนที่เป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก 

4.ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกช่วงอายุ ที่เป็นมะเร็งเต้านมแบบ triple negative หรือเป็นมะเร็งเต้านมในผู้ชาย

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จากการดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 ข้อมูลล่าสุด (8 สิงหาคม 2566) มีผู้ที่ได้รับบริการตรวจคัดกรองทั่วประเทศจำนวน 420 คน ใน กทม. มีผู้รับบริการมากที่สุด 197 คน รองลงมาคือนครราชสีมาและอุบลราชธานี เขตละ 55 คน อุดรธานี 54 คน และเขต 4 สระบุรี 22 คน 

“จากข้อมูลข้างต้นนี้เป็นการให้บริการในช่วงของแรกของการให้บริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2  ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ในปี 2566 จึงทำให้มีจำนวนผู้รับบริการไม่มากนัก ซึ่งต้องย้ำว่าบริการตรวจคัดกรองนี้ เป็นสิทธิประโยขน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กองทุนบัตรทอง ที่มอบให้กับคนไทยทุกคนทุกสิทธิ ดังนั้นหากใครที่เข้าหลักเกณฑ์บริการข้างต้นนี้ ไม่ว่าจะมีสิทธิการรักษาพยาบาลใดก็ตาม ก็สามารถรับบริการได้ รวมถึงหน่วยบริการที่หากพบผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงก็สามารถให้บริการกับผู้ป่วยได้เช่นกัน โดยเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายจาก สปสช. โดยตรง” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว  

ทพ.อรรถพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังรับบริการตรวจคัดกรองฯ ในกรณีที่ผลตรวจพบว่ามีภาวะการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาลโดยใช้สิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย ซึ่งภายใต้กองทุนบัตรทองครอบคลุมสิทธิประโยชน์ดูแล ส่วนแนวทางของการลดความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดมะเร็งเต้านมนั้น มีทั้งการผ่าตัดและการใช้ยาป้องกัน ซึ่งวิธีการผ่าตัดเต้านมทั้งสองข้างและการกินยาต้านฮอร์โมนสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ แต่ทั้งนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยและให้คำแนะนำประกอบกับสภาวจิตใจและการติดสินใจของผู้ป่วยเอง 

สำหรับในด้านของการเพิ่มศักยภาพการให้บริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 ให้กับหน่วยบริการ ที่เป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับผู้ป่วยนั้น เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย และชมรมศัลยแพทย์เต้านมแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดการฝึกอบรม "Genetic counseling for Physician" เพื่อเป็นแนวทางในการให้คำปรึกษา และดูแลผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังการตรวจ ซึ่งเตรียมจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 7 ก.ย. 2566 นี้ ทั้งในรูปแบบ online และ onsite ณ ห้องประชุม อาคารสันทนาการชั้น 3 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดยเปิดให้แพทย์ที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ลงทะเบียนผ่านทาง QR code หรือที่ https://forms.gle/yDpmQCzi81yGhYkV8 จำกัดเฉพาะผู้ทีลงทะเบียนล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้ถึง 5 ก.ย. 66 เท่านั้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net