Skip to main content
sharethis

รพ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด ใช้โมเดลจัดบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ยึดหลัก 'ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง' โดยเป็น รพ.นำร่องกระจายชุดเก็บสิ่งส่งตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง (HPV DNA Self Collection) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

27 ส.ค. 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานว่า “โรคมะเร็ง” แม้ว่าเป็นภัยเงียบทางสุขภาพและมีสาเหตุที่ยากจะสรุปได้ แต่ไม่ใช่กับ “มะเร็งปากมดลูก” ที่มีการค้นพบต้นเหตุที่ชัดเจนแล้วว่าเกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) จนนำไปสู่การวิจัยด้านการป้องกันและการคัดกรองโรค เพื่อลดภาวะความเจ็บป่วยและเสียชีวิต   

โรงพยาบาลพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นโรงพยาบาลที่มีผลงานเด่นในการดำเนินงานเชิงรุกด้านการคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกให้กับผู้หญิงไทยในพื้นที่ ด้วยผลงานที่ปรากฏนี้ เป็นส่วนทำให้ปี 2565 จังหวัดร้อยเอ็ดมีการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมากที่สุดในประเทศ จำนวน 40,000 ราย และในปี 2566 ยังเป็นโรงพยาบาลนำร่องกระจายชุดเก็บสิ่งส่งตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง  “HPV DNA Self Collection” (เอชพีวี ดีเอ็น เซล คอลเลคชัน) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ที่เพิ่มการเข้าถึงบริการด้วยรูปแบบต่างๆ 

นพ.วัชระ เอี่ยมรัศมีกุล. ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพนมไพร กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการให้ความสำคัญบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ว่า เริ่มจาก 22 ปีที่แล้ว ด้วยมะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่สูงเป็นอันดับต้นของหญิงไทย ทำให้ทีมคณะวิจัยจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นำโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ แพทย์หญิง คุณหญิงกอบจิตต์ ลิมปพยอม ที่ต้องการหาวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิผล ขณะนั้นมีนวัตกรรมการตรวจด้วยน้ำส้มสายชู (Visual inspection with acetic acid: VIA) ที่เป็นวิธีการตรวจคัดกรองรอยโรคและนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา จึงได้ลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อดำเนินการโครงการนำร่องตรวจคัดกรองในพื้นที่ 4 อำเภอ รวมถึงที่อำเภอพนมไพรนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ต่อมาจึงจะได้มีการขยายผลโครงการไปยังพื้นที่อื่นๆ อีก 30 จังหวัดทั่วประเทศ   

จากการดำเนินงานที่เป็นระบบและต่อเนื่องนี้ เน้นผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง ส่งผลให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดได้รับรางวัลที่ 1 ประเภทบริการสาธารณะขององค์กรภาครัฐจากองค์การสหประชาชาติ เมื่อปี 2561 ณ ประเทศโมรอคโค จากผลงาน “การดำเนินงานป้องกันควบคุมมะเร็งปากมดลูกแบบบูรณาการ โดยวิธีการคัดกรองด้วยน้ำส้มสายชูและการรักษาด้วยการจี้เย็น” และได้รับ “รางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ” จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) 

ในปีเดียวกันนี้ ด้วยมะเร็งปากมดลูกยังเป็นภัยร้ายที่คุกคามสุขภาพผู้หญิงทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การกำจัดมะเร็งปากมดลูก (Elimination of Cervical Cancer) เป็นวาระสำคัญขององค์การอนามัยโลก มีเป้าหมายสำคัญ คือลดอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกจากอัตรา 13.3 ต่อแสนประชากรในปัจจุบัน ให้เหลือไม่เกิน 4 คนต่อแสนประชากร ภายในปี 2573 โดยใช้กลยุทธสำคัญ 3 ประการ คือ 1) ฉีดวัคซีนให้กับเด็กผู้หญิงไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 2) คัดกรองสตรีกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และ 3) รักษารอยโรคผิดปกติ รวมถึงการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามอย่างมีคุณภาพ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 

ประเทศไทยแม้ว่ามีบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้กับผู้หญิงไทยแล้ว เป็นสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่จำนวนอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูก ปัจจุบันยังอยู่ที่ 11.1 รายต่อแสนประชากร มากกว่าเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก 3 เท่า แต่หากทุกฝ่ายร่วมกันดำเนินการเร่งรัดก็มีความเป็นไปได้ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก  

นพ.วัชระ กล่าวต่อว่า การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เริ่มแรกเราใช้การตรวจวิธี VIA ที่ใช้น้ำส้มสายชู แต่ก็มีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ เพราะขึ้นอยู่กับการแปลผลของผู้ให้บริการ แต่ต่อมามีการพัฒนาการตรวจด้วยวิธี HPV DNA testing (เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทส) ที่มีความแม่นยำ โดยเป็นผลมาจากการศึกษาวิจัยของ ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่พบว่า Human Papillomavirus (HPV) สายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด โดยได้รับพระราชทานรางวัลรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2548 และต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์เช่นกันในปี 2551 โดย สปสช. ได้บรรจุการตรวจด้วยวิธี HPV DNA testing เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี 2563 และด้วยองค์ความรู้นี้ยังนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกัน ซึ่งประเทศไทยได้มีการฉีด “วัคซีนป้องกันเอชพีวี” ให้กับเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมปีที่ 5 ทั่วประเทศแล้ว โดยเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเช่นกัน 

สำหรับเป้าหมายของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อให้เกิดประสิทธิผลจะต้องดำเนินการคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย (หญิงไทย อายุ 30-59 ปี) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 แต่ที่ผ่านมาด้วยวัฒนธรรมและความรู้สึกอายที่จะเข้ารับการตรวจคัดกรองที่หน่วยบริการ ทำให้หญิงไทยส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึงบริการ ดังนั้นการปรับวิธีการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยการใช้ “ชุดเก็บสิ่งส่งตรวจปากมดลูกด้วยตัวเอง”  (HPV DNA Self Collection) จึงเป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการได้ และได้เพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   

นพ.วัชระ กล่าวว่า จากสิทธิประโยชน์บริการมะเร็งปากมดลูกข้างต้นนี้ ประกอบกับในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดที่ทำให้จำนวนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกลดลง จึงเกิดบริการรูปแบบวิถีใหม่ ด้วยการกระจายชุดเก็บสิ่งส่งตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองให้กับกลุ่มเป้าหมาย และเพื่อให้เกิดความมั่นใจในประสิทธิผลชุดเก็บสิ่งส่งตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองนี้ ที่ผ่านมา รพ.พนมไพร จึงได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบการเก็บสิ่งส่งตรวจโดยเจ้าหน้าที่และการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง จำนวน 500 ตัวอย่าง ปรากฏว่าผลของการเก็บสิ่งส่งตรวจไม่แตกต่างกัน ทำให้ความแม่นยำของการตรวจไม่แตกต่างกัน  

จากผลการดำเนินการนี้จึงได้นำมาเสนอต่อที่ประชุมการดำเนินงานและแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ทำให้มีการขยายรูปแบบบริการไปในระดับเขต โดยได้รับการติดต่อจากศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น นอกจากนี้ยังได้นำเสนอในงานวิชาการราชวิทยาสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ผลงานนี้ทำให้โรงพยาบาลพนมไพรได้รับรางวัลที่ 1 ได้รับการยอมรับทางวิชาการมากขึ้น  

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพนมไพร กล่าวต่อว่า วันนี้เรามีสิทธิบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ดีแล้ว แต่ปัญหาสำคัญคือทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการได้ ซึ่งการบริการเราแบ่งประชากรเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและเจ้าตัวอยู่บ้าน 2.มีชื่อในทะเบียนบ้านแต่ตัวเองไม่อยู่ และ 3.ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน แต่เป็นคนที่มาอยู่ในพื้นที่ การให้บริการที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จึงเน้นประชากรกลุ่มที่ 1 และ 3 เป็นหลัก ทำให้กลุ่มที่ 2 ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไปทำงานต่างพื้นที่ไม่ได้รับบริการ ถือเป็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข 

ดังนั้นโรงพยาบาลพนมไพรจึงวางรูปแบบบริการ โดยลองให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลโทรติดตามประชากรกลุ่มที่ 2 เพื่อส่งชุดเก็บสิ่งส่งตรวจไปให้บริการ แต่คำตอบที่ได้คือ เกือบทุกคนปฏิเสธที่จะรับเพราะต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่มีที่อยู่จ่าหน้ารับพัสดุได้ และแม้จะเก็บสิ่งส่งตรวจได้แต่ก็ไม่สามารถไปไปรษณีย์เพื่อส่งคืน ถือเป็นข้อจำกัดทางสังคมที่กระทบต่อสุขภาพโดยตรง  

อย่างไรก็ตามด้วยหลักการบริการที่ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เราจึงพยายามหาวิธีเพื่อให้ประชากรกลุ่มนี้เข้าถึงบริการ โดยได้จัดบริการเชิงรุกเข้าไปที่สถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือ ซึ่งจากที่เข้าไปดำเนินการที่โรงงานแห่งหนึ่ง มีพนักงานกว่า 2,500 คน เป็นผู้หญิง 1,300 คน โดยเป็นผู้ที่มีอายุในเกณฑ์รับบริการฯ 1,200 คน ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 8.9 เท่านั้น ที่เคยรับการตรวจมาแล้ว ซึ่งเราได้แจกชุดเก็บสิ่งส่งตรวจให้กับพนักงานทุกสิทธิรักษาพยาบาล จำนวน 370 ชุด และรับคืนกลับมาร้อยละ 80 ซึ่งผลการตรวจพบความผิดปกติถึงร้อยละ 9 ขณะที่กลุ่มที่เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลอยู่ที่ร้อยละ 5 หรือสูงเป็น 2 เท่า สะท้อนถึงการการทำงานที่เดินมาถูกทาง 

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการกระจายชุดเก็บสิ่งส่งตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปที่คลินิกการพยาบาลและร้านยาในชุมชน เพื่อให้ผู้หญิงที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้รับชุดเก็บสิ่งส่งตรวจ โดยชุดอุปกรณ์จะมีไม้พันสำลี เท่านั้น เมื่อเก็บสิ่งส่งตรวจแล้วให้นำส่งมาที่โรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจหาเชื้อ ซึ่งโรงพยาบาลพนมไพรได้เปิดห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (Lab) เป็นแห่งที่ 2 ของ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อรองรับบริการนี้ ซึ่งหากในอนาคตมีคลินิกเวชกรรมและคลินิกเทคนิคการแพทย์เข้าร่วมเพิ่มเติม ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการ   

จากผลการดำเนินการจังหวัดร้อยเอ็ดนี้ วันนี้เขตสุขภาพที่ 7 ขอนแก่น เตรียมขยายรูปแบบบริการไปทั่วพื้นที่และจะนำเสนอต่อที่ประชุม Service Plan สาขามะเร็ง กระทรวงสาธารณสุขต่อไป เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  

นพ.วัชระ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า บริการมะเร็งปากมดลูกสร้างความเป็นธรรมในทางสุขภาพ ด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกไม่ใช่ปัญหาสุขภาพทั่วไป แต่ส่วนใหญ่จะพบในคนจนมากกว่า รวมถึงในประเทศยากจนที่มีอัตราผู้ป่วยมากกว่าประเทศร่ำรวยในอัตรา 80:20 ดังนั้นจึงเป็นการลงทุนเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งจึงเป็นการลงทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้กับทุกคน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net