Skip to main content
sharethis

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ จัดราชดำเนินเสวนา 'การบ้าน ครม.เศรษฐา 1 แก้วิกฤตประเทศ' ทีดีอาร์ไอ แนะให้สร้างสมดุล แกนการเมือง 3 รูปแบบ 'เสรีนิยม-รัฐสวัสดิการ-อนุรักษ์นิยม' พัฒนาประเทศ 'ธนิต โสรัตน์' เสนอนโยบายเร่งด่วนที่ควรทำให้เห็นผล 3 เดือนคืออัดฉีดเงินในรูปแบบต่างๆ เพื่อพยุงการจ้างงาน แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ธุรกิจ และมีก้อนใหม่มาให้มีเงินหมุนเวียน ด้าน 'ดร.เกียรติอนันต์' ชี้ต้องระวังเรื่องการศึกษา ทำให้กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ความเหลื่อมล้ำ ด้าน 'We Fair' คลี่ค่าใช้จ่ายสวัสดิการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่แพ้เงินดิจิทัล ตัดงบกองทัพ-เรือดำน้ำ จ่ายคนแก่ได้สบาย  

3 ก.ย. 2566 เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รายงานว่าสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 1/2566 หัวข้อ "การบ้าน ครม.เศรษฐา 1 แก้วิกฤตประเทศ" โดยมี ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ดร.นณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair ร่วมเสวนา

ดร.นณริฎ กล่าวว่า แกนการเมืองจะมี 3 มุม คือ เสรีนิยม รัฐสวัสดิการ และอนุรักษ์นิยม ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากอนุรักษ์นิยมมาเป็นเสรีนิยม และเกินโยบายใหม่ ๆ ที่ต้องมาตกผลึกว่าจะเหมาะสม เกิดผลดีหรือผลเสียกับประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลเศรษฐา 1 รวมกับ 2 ลุง ก็จะมีทั้งฝ่ายของเสรีนิยม สวัสดิการ และอนุรักษ์นิยมด้วย ในแง่วิชาการไม่มีถูกผิด แต่ไม่ว่าจะอยู่ตรงจุดไหนก็ตาม จะขึ้นอยู่กับว่าเรามีรัฐบาลที่ดีหรือไม่ เช่น เสรีนิยม หากเป็นการเมืองที่ดีก็อยากจะเห็นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีนวัตกรรม ผลักดันประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม  แต่ไม่อยากเห็นทุนผูกขาด กระจุกตัว ขณะที่รัฐสวัสดิการ อยากให้ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาส มีสวัสดิการที่เป็นธรรม มีนโยบายช่วยกลุ่มเปราะบาง แต่ไม่อยากเห็นการแจกเงินโดยไร้ความรับผิดชอบ ไร้จำเป็น และเป็นภาระการคลัง ส่วนสุดท้ายคือสมดุลอนุรักษ์นิยม ซึ่งไทยมีวัฒนธรรมที่ดี แต่ก็อยากเติบโตแบบโลกยุคใหม่ จึงอยากที่จะอยู่ร่วมกันได้ของสังคม ไม่อยากเห็นการเกรงกลัวต่างชาติเกินไป ปกป้องไม่ลืมหูลืมตา ดังนั้น นับว่าเป็นความท้าทายใหม่ขอรัฐบางที่จะสร้างสมดุลทั้ง 3 รูปแบบนี้ให้อยู่ในรูปแบบการเมืองที่ดี 

ดร.นณริฎ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจย้อนหลังปี 1997 เศรษฐกิจเราโตเฉลี่ย 7.27% หลังจากนั้นก็ตกลงมา 4.8% และตกลงมาเรื่อยๆ กระทั่งหลังโรคโควิด เหลืออยู่ที่ 3% สะท้อนว่า หลังวิกฤต เศรษฐกิจไทยต่ำลงแปลว่าเราไม่สามารถปรับโครงสร้างเพื่อรับกับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้เลย นั่นแปลว่าการทำอะไรแบบเดิมไม่สามารถไปได้ไกล จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่ที่ต้องมีมาตรการเสริมเข้ามา มองไปข้างข้า โดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ วางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นประเทศพัฒนาแล้ว เป็นประเทศร่ำรวยประมาณปี 2035 แต่เมื่อดูตัวเลขหลังพ้นวิกฤติ จะกลายเป็นปี 2043-2048 เรียกว่าดี เข้าใกล้กับการวางเป้าหมายของเวียดนาม ดังนั้นนี่เป็นเรื่องสำคัญที่ท้าทายที่ภาครัฐต้องหาช่องทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเริ่มคิดใหม่ทำใหม่ จะทำแบบเดิมไม่ได้ เช่นภาคการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยว 2019 มี 40ล้านคน ตอนนี้ยังดันกลับมาไม่ได้ ส่วนหนึ่งคือการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาเพียง 30-40%อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามีทรัพยากรเท่าเดิมจึงต้องพัฒนาในส่วนของเราเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ  ดังนั้นต้องเปลี่ยนแปลงที่อุตสาหกรรมอาหาร ถ้าเป็นครัวโลก

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายระยะสั้นคือต่อสู้ระหว่างแรงกดดันที่อยากให้รัฐบาลทำตามที่หาเสียง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน จึงควรคัดนโยบายที่สำคัญ เหมาะสมกับช่วงระยะเวลา บางนโยบายอาจจะไม่จำเป็นต้องทำแล้ว บางนโยบายอาจจะปรับขนาด เช่น เงินดิจิตอล 10,000  บาท ที่เป็นเรือธงของพรรคเพื่อไทย แต่ต้องดูว่าในปัจจุบันว่าเราจะเป็นต้องกระตุ้นระดับไหน โดยเปรียบเทียบกับการเติมโตของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจไทยที่ควรจะเป็น  ซึ่งหากประมาณการณ์ว่าควรโต 3.7-3.8 % แต่แบงค์ชาติระบุว่า เศรษฐกิจไทยโตเพียง 2.8% เท่านั้น แปลว่าหายไป 1% หรือราวๆ 1-2 แสนล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น การให้งบ 5.6 แสนล้าน อาจจะเยอะเกินไป เสี่ยงเกิดภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้นหากตัดบางส่วนมาใช้สำหรับรัฐสวัสดิการก็เป็นทางออกได้ 

อีกเรื่องคือแก้ปัญหาหนี้สิน ที่ไม่ใช่การยกหนี้ แต่ต้องมีการจัดกลุ่มหนี้หนี้ แล้วแก้ปัญหาหนี้นั้นให้ตรงจุด โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีข้อมูลมาร่วมวางแผนแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่าง ครัวเรือนของไทยที่สูงถึง 90% ต่อจีดีพี คนที่มีปัญหามากที่สุด คือ คนที่ไม่มีเงินออมเลย ขณะที่ในทางเศรษฐศาสตร์บอกว่าคนเราควรมีเงินออมอย่างน้อย 3 -6 เดือน  แต่คนรุ่นใหม่อาจจะน้อยกว่านี้อีก ดังนั้นเป็นโจทย์ที่จะต้องปลูกฝังการออม ลดการเติบโตผ่านการจับจ่ายใช้ นอกจากนี้ต้องพูดถึงการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจการกระจายทรัพยากรเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง ตลอดจนการต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เข้าถึงคนจนจริง  แต่เพิ่มให้มีการเข้าถึงมากขึ้น ที่สำคัญคือเนื่องจากเรามีการแจกมาระยะหนึ่งแล้ว จากนี้ต้องเป็นการเสริมให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้  

ดร.ธนิต กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นตัวเลือกที่เราไม่มีทางเลือก แต่ดีที่สุดในแคนดิเดตทั้งหลาย แต่นายเศรษฐา คงไม่ต้องเรียนรู้งานมากเพราะมาจากภาคเศรษฐกิจอยู่แล้ว ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพที่บอบช้ำต่อเนื่องมาหลายปี จากรัฐประหาร ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้การลงทุนลดลงอย่างต่อเนื่อง วันนี้ก็ยังไม่ฟื้น จากนั้นก็มีรัฐบาลเดิมมานาน 9 ปี ที่เน้นความมั่นคง จากนั้นก็มาเจอวิกฤติโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นทั้งโลก พอกำลังจะฟื้นก็เจอเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่พุ่งกระฉูด แล้วดึงราคาพลังงาน และสินค้าต่างๆ ให้เพิ่มตามไปด้วย เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง 8% วันนี้ไม่ลดลงเลย แม้จะขึ้นมาก 0.38% ปีนี้จะทำให้ได้ 1% แต่ก็ไม่ถือว่าลดลง กลับมาเจอวิกฤติโลกที่มีแนวโน้มว่าปี้หน้าจะยิ่งหนัก

ดังนั้นเศรษฐกิจบอบช้ำมากถึงจะบอกว่ากลับมาได้แต่ก็ไม่มาก ส่งผลให้สภาพคล่องทั้งธุรกิจและครัวเรือนแรงมาก หนี้สินต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งหนี้ NPL หนี้ระยะยาว ต่างๆ เกือบ 9 แสนล้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไข หนี้ NPL รายไหนปล่อยเงินได้ก็ต้องปล่อย  และที่แทรกซ้อนเข้ามา คือกาส่งออกซึ่งหดตัว 6.2% ในเดือนกรกฎาคม เพราะเป็นภาคส่วนที่มีการอุ้มแรงงานถึง 3 ใน 4 ของประเทศ จากนี้ต้องส่งออก 9% จากที่ติดลบเฉลี่ยทุกเดือน 5% แต่เป็นไปไม่ได้ พยากรณ์ว่าปีนี้พยากรณ์ว่าจะติดลบมากกว่า 3%  ทั้งหมดทำให้กำลังซื้ออ่อน กำลังการผลิตต่ำ ข้อสุดท้ายคือความเชื่อมั่นของการค้า การลงทุน ดัชนีชี้วัดต่างๆ ติดลบหมดทุกเรื่อง

ดร.ธนิต กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่ควรทำให้เห็นผล 3 เดือน ไม่ใช่ออกมานโยบายมา 24-25ข้อ แต่เป็นเรื่องไกลตัว ดังนั้น ที่ต้องเร่งสุดคืออัดฉีดเงินในรูปแบบต่างๆ เพื่อพยุงการจ้างงาน เพราะขณะนี้เริ่มมีการเลิกจ้าง แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ธุรกิจ และมีก้อนใหม่มา ส่วนกระเป๋าเงินดิจิตอล แค่อยากถามว่าจะให้ครั้งเดียวหรือตลอดไป เพราะประชาชนหวังว่าจะได้ทุกปี ต้องตอบให้ชัด ส่วนแรงงาน โดยเฉพาะค่าแรง 600 บาทนั้น ถือว่าหนักแม้จะใช้กรอบ 4 ปี ถ้าเป็นโรงงานใหญ่ไม่สะเทือน แต่เอสเอ็มอีเจ๊งหมด ดังนั้นควรพิจารณาอย่างพอเหมาะ ส่วนเงินเดือนปริญญาตรี ที่เพิ่มขึ้นมาอีก 10,000 บาท ซึ่งกลุ่มปริญญาตรี รวมเกษตรกร 30% แล้วจะทำให้เด็กตกงาน แล้วดันเด็กอาชีวะเข้าเรียนปริญญาตรีหมด สุดท้ายเรื่องพลังงาน  ดีเซลลต้องลด หรือตรึงราคาไม่เกิน 32 บาท เพราะราคาน้ำมันเพิ่ม ราคาสินค้าก็จะเพิ่มขึ้นด้วย อนาคตถ้าน้ำมันลง ราคาของก็ไม่ลง  แล้วถ้ายาวกว่านั้นน้ำมันขึ้น 3 -4 บาทราคาของก็ขึ้นอีก อย่างก็ได้ตาม ตนเข้าใจ “รัฐบาลเศรษฐา” ซึ่งเข้ามากับความท้าทาย และมาภายใต้ความคาดหวัง แต่อย่างน้อยที่เห็นขั้วทั้งหลายมีการจับมือกันแล้ว

ดร.ธนิต กล่าวต่อว่า เข้าใจว่าทุกคนอยากมีรายได้สูง แต่ก็จะตามมาด้วยค้าครองชีพที่สูงขึ้น เหมือนที่ญี่ปุ่นเงินเดือน 5 หมื่นบาท แต่น้ำเปล่าขวดละ 100 บาท ราเมงชามละ 300 บาท ค่าเช่าบ้านเดือนละ 30,000-40,000 บาท อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาตัวอย่างรัฐที่ล้มเหลว อย่างฟิลิปปินส์ และอาร์เจนตินา ซึ่งเราเองก็เดินตามเขาเป๊ะๆ คือ การเอาใจรากหญ้า ค่าจ้างเท่าสหรัฐอเมริกา แต่อุตสาหกรรมอยู่ไม่ได้ ย้ายฐานการผลิต เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ทั้งๆ ที่ประเทศเราไม่ได้ร่ำรวย มีคนเสียภาษี 4 ล้านคน เพื่อเลียงคน 66.5 ล้านคน ดังนั้นเรื่องค่าจ้างต้องเหมาะสม อยู่ได้ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง  ส่วนเรื่องของฝีมือแรงงานนั้นประเทศไทยมีความไม่สมดุลในเรื่องของจำนวนการพัฒนาแรงงานมีฝีมือ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้นเรื่องนี้ตนเตรียมที่จะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาที่การ กระทรวงแรงงานในเรื่องหลักสูตรพัฒนาฝีมือแรงงานที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเชิญนายจ้างมาช่วยสะท้อนปัญหาและความต้องการ และสิ่งที่ต้องทำด้วยกันคือการพัฒนาเจ้าของธุรกิจ ส่งเสริมเทคโนโลยีในการทำงาน มีกองทุนเรื่องนี้ชัดเจนสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอี กระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็ต้องหลุดจากกรอบ 2.0

ด้านดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า วิกฤติที่เข้ามาจะมี 3 แบบคือ วิกฤติที่มาจากอดีต วิกฤติในอนาคต  และที่รัฐบาลจะสร้างเอง  เมื่อดูการศึกษากับแรงางาน ต้องทำทั้งกลุ่มวัยเรียน และกลุ่มวัยทำงานที่ต้องทำไปพร้อมๆ กันโดยเฉพาะคนที่ทำงานแล้ว 12 ล้านคน ต้องมีการอัพสกิลให้สูงขึ้น ทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ไม่อย่างนั้นคนจะตกงานเยอะ แต่ยังไม่เห็นนโยบายพรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหนที่ชัดเจนในการเพิ่มสกิลให้คนทำงาน ที่ตนมองว่าต้องทำในกลุ่มนี้ก่อนเพราะเป็นกลุ่มที่จะทำให้เกิดการขยายจีดีพี ทำให้รัฐบาลมีงบฯ ในการสร้างคน ใช้ในด้านต่างๆ  ถ้า 1 ปียังไม่เป็นรูปธรรมเกรงว่าจะไม่ทัน ส่วนกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งโลกหลังจากนี้ทุกๆ 3-5 ปี จะไม่เหมือนเดิม เทรนด์ทักษะการทำงานจะเปลี่ยนไป จึงต้องระวังเรื่องการศึกษา นอกจากนี้ยังต้องระวังเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะเวลาคนลำบาก พ่อแม่ต้อทำงานเยอะ ไม่มีเวลาดูแลลูก  ค่าใช้จ่ายไม่พอ ทุพโภชนาการ (กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ความเหลื่อมล้ำ) ในขณะที่ตลาดแรงานที่ต้องการคนเก่ง คนที่ได้เปรียบคือคนมีฐานะดี ดังนั้นหากไม่ได้แก้เรื่องการศึกษาที่ดี อีก 6-7 ปีจะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างใหม่ มีคน 20 % ไปต่อได้ แต่จะมีกำลังไม่พออุ้มคน 80% ดังนั้น หากไม่แก้ด้วยอัพสกิล รีสกิลแรงงาน ช่วยเหลือผู้ประกอบการ อีก 2 ปีได้เรื่อง 4 ปีเลือกตั้งใหม่ได้เรื่อง  อย่างไรก็ตามก็ต้องรอดูการแถลงนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นทางการอีกครั้ง 

ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวถ้าให้ตั้ง เคพีไอของรัฐบาลแบบผ่านโปร คือ เพิ่มจีดีพีโตอย่างน้อย 5% ยากมาก ปีต่อไป 7-8% และถ้าตั้งเคพีไอตัวที่ 2 คือการเติบโตในปีต่อๆ ไป ขอให้เติบโตแบบที่คนตัวเล็กตัวน้อยได้มากขึ้น เพราะเข้าใจว่าถ้าจะเอาปีแรกแล้วทุกคนได้ทันทีนั้นเป็นเรื่องยากมาก แต่หากเลือกแก้แบบนี้ปีแรกๆ อาจจะโดนด่าไมสนใจคนรากหญ้า แต่เราต้องประคองโครงสร้าง เป็นการถางทางเพื่ออนาคต ทั้งนี้เมื่อมองเรื่องการศึกษาซึ่งเป็นสายพานในการพัฒนาคนตลอดชีวิต โดยกระทรวงอว. ที่ผ่านมามีการใช้นวัตกรรมแบบหัวแตก ดังนั้นต้องกำหนดทิศทางของประเทศว่า จะไปสายไหน เอาให้ชัดเจน 1-2 เรื่อง แล้วขับเคลื่อนจริงจัง

 ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวมองว่า คือ การทำเรื่องอาหารอย่างจริงจัง ไปให้สุด เป็นการกินเพื่อชาติ ซึ่งจะไปส่งเสริมเรื่องของการท่องเที่ยวด้วย ขณะที่มหาวิทยาลัยต้องกลับไปเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อคนทั้งมวล ปรับตัวและสื่อสารเป็นหลักสูตรระยะสั้น พอดีสำหรับการทำงาน เพื่อสะสมความรู้แล้วค่อยรับใบปริญญาในภายหลังก็ได้ เพราะถ้ารอจบ 4 ปีนั้นนานเกินไป ควรดึงคนเก่งมาสร้างคลังสมอง สร้างแพลตฟอร์มการเรียนกลาง กระทรวงศึกษาตรึงเด็กกลุ้มเปราะบางให้อยู่ในระบบการศึกษาให้ได้ ในส่วนของอาชีวะศึกษา ต้องถูกอัพเกรดให้มีความรู้ความสามารถที่ทันกับโลกอนาคต เรียนต้นแบบเครื่องจักรยุคใหม่ สภาพการทำงานใหม่ เพราะมองว่าหลังจากนี้หลังเด็กจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะไม่ได้เรียนต่อเยอะ หากไม่เตรียมพร้อมคนไทยจะวนอยู่กับการเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ลูกหลานก็จนต่อเนื่อง และพยายามอย่าใช้คำว่า “10 อาชีพดาวรุ่ง” เพราะทำให้คนแห่เรียนเยอะ กลายเป็นตกงานแทน ทั้งนี้การศึกษาจะช่วยได้มากในการแก้ไขความยากจนซึ่งความจนนี้หากอยู่กับคนแล้วจะอยู่ไป 3 รุ่น หาดแก้ความจนคน 1 รุ่นก็จะแก้ไปได้ 100-200 ปี ดร.เกียรติอนันต์

“ถ้าพูดถึงแผนการปฏิรูปการศึกษา ผมยกมือไหว้เลย ทุกกระทรวงอย่าทำ เพราะที่ผ่านมาเรามีแผนที่ดีอยู่ กรุณาทำงาน อย่าทำแผน ถ้าทุกวันทำแผน คือ การไม่ทำงาน ดังนั้นทุกกระทรวงมีของดีอยู่แล้ว วางทุกอย่างไว้ เราต้องการคนทำงาน วันแรก ก็ต้องทำงานเลย เวลาของประเทศไม่มีแล้ว ช่วงฮันนิมูนจบไปตั้งแต่เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว”  ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว และมองว่า ตนมองหน้าตารัฐบาลนี้แล้วเห็นว่า มีความเสี่ยง ซึ่งหลายคนก็ตั้งคำถาม แต่เมื่อคัดสรรกันมาแล้วก็ต้องการสิ่งที่ดีที่สุด นโยบายที่ดี ซึ่งภาคประชาชน วิชาการ สื่อ ต้องร่วมกันตั้งคำถาม ตรวจสอบ ส่งเสียง อย่าหวังว่าเขาจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ไม่ดีก็เตือน ขาดก็เสริม สื่อช่วยส่งเสียง และขอย้ำด้วยว่า เรื่องการตรวจสอบต่างๆ นั้นควรใช้ไม้บรรทัดอันเดียวกันสำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน  นักการเมืองทุกคนแบบเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติหรือให้เอกสิทธิ์กับนักการเมืองคนไหน หากเราใช้ไม้บรรทัดเดียวกัน จะส่งผลให้คนมีอำนาจเกิดการละอายใจ และเปลี่ยนมาใช้ไม้บรรทัดเดียวกันได้ เราต้องโลกสวย ต้องมีความหวังและกล้าที่จะเปลี่ยน

ขณะที่ นายนิติรัตน์ กล่าวว่า หากเอางบประมาณ 5.6 แสนล้านบาทมาเป็นตัวตั้ง เดิมเราเดินสายคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ มี9 เรื่อง ประกอบด้วยเงินอุดหนุนเด็ก การศึกษาฟรี ระบบสุขภาพ 3 กองทุน ที่อยู่อาศัย แรงงานมีคุณค่า ประกันสังคมครอบคลุม บำนาญถ้วนหน้า สวัสดิการเสมอหน้าเท่าเทียมและการปฏิรูปภาษี อย่างไรก็ตามแม้หัวหน้าพรรคเพื่อไทยซึ่งตอนนี้เป็นอดีตไปแล้ว จะบอกว่าเป็นเทคนิคหาเสียง แต่ก็เป็นที่จดจำแน่นอน ซึ่งเรายื่นกกต.แล้ว เพราะการทำตามที่หาเสียงไว้เป็นเรื่องสำคัญ ที่สำคัญคือถ้ามองรัฐมนตรีที่นั่งคุมกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการแล้วกลับไม่มีนโยบายด้านนี้เลย  แต่โดยภาพรวมสวัสดิการที่มีนั้นมุ่งไปสู่รัฐสวัสดิการแน่นอน อย่างเช่นตอนหาเสียงไม่มีพรรคการเมืองไหนจะตัดเบี้ยยังชีพ แต่กระทรวงมหาดไทยกลับจะตัดให้เฉพาะคนจนเท่านั้น 

นายนิติรัตน์ กล่าวอีกว่า เส้นความยากจน คือ มีรายได้เดือนละ 2,803 บาท ซึ่งมีราวๆ 4.4 ล้านคน เกือบคน 4.8 ล้านคน ดังนั้นรวมแล้ว 9.2 ล้านคน หนี้สินครัวเรือนแตะ 90% ของจีดีพี ประเทศไทยมีคนจนมากในอันดับ 55 ของโลก แต่อันดับความคุ้มครองทางสังคมอยู่ที่ 69 การศึกษา 62 จาก 82 ประเทศ เรียกว่าอยู่อันดับเกือบท้าย ลูกคนรวบมีโอกาสร่ำรวยต่อ คนจนก็มีโอกาสจนต่อ เรียกว่าเราตกอยู่ในสถานการณ์ส่งต่อความจน ขณะที่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยติด 1 ใน 5 ของโลก ปี 2564 ครัวเรือน มีทรัพย์สินรวม 31% ของจีดีพีประเทศ ส่วนสถานการณ์ความเปราะบาง เด็กเยาวชน ว่างงาน เข้าไม่ถึงสวัสดิการประกันสังคม ผู้สูงอายุ พิการ ขณะที่ILO ระบุว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองทางสังคมของไทยต่ำมากเมื่อเทียบค่าเฉลี่ยในเอเชีย และระดับโลก   

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบรัฐมนตรี เรื่องการพัฒนาเด็ก และศูนย์เด็กเล็ก เงินอุดหนุนเดก ข้อเสนอของเราไม่ปรากฏนโยบายหาเสียงของชาติไทยพัฒนา และพรรคเพื่อไทย ส่วนเรื่องการศึกษา ในช่วงท้ายของพรรคภูมิใจไทยที่ดูลกระทรวงศึกษา และกระทรวงอุดมศึกษา ช่วงท้ายมาพูดถึงการฟรีปริญญาตรี แต่ไม่มีในเอกสารที่ส่ง กกต. มีการสร้างระบบการเรียนออนไลน์ ไม่มีนโยบายหลักที่พูดถึงการพัฒนาเรียนฟรี เงินอุดหนุนการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย ขณะที่พรรคเพื่อไทยยังมีพูด ขณะที่เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งพรรคเพื่อไทยเข้ามาดูก็บอกว่าจะยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ประเทศไทยมีมี 3 กองทุน  ซึ่งบัตรทอง และประกันสังคมมีงบรายหัวอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท แต่สิทธิข้าราชการอยู่ที่ 15,000 บาท ดังนั้นจะทำอย่างไรให้มีสิทธิเท่ากัน รวมถึงเรื่องที่อยู่อาศัยของพม. ก็ไม่มีนโยบายด้านนี้ แต่เราเสนอให้ปรับลดดอกเบี้ย ให้มีบ้านเช้าที่มีมาตรฐาน ราคาถูก สำหรับคนทั้งสังคม ด้านการทำงานและรายได้ ตรวจสอบแล้วไม่พบว่าพรรคภูมิใจไทยไม่มีนโยบายด้านแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างพื้นฐาน ลดชั่วโมงการทำงาน สิทธิลาคลอด 180 วัน การรับรองอนุสัญญา ILO เป็นต้น 

ย้ำว่า สวัสดิการของประชาชนไม่ควรจะตัดไปมากกว่านี้ แล้วถ้าเอางบ  5.6 แสนล้านบาท สำหรับนโยบายเงินดิจิทัลนั้น คิดว่าสามารถนำมาใช้ขับเคลื่อนนโยบายรัฐสวัสดิการด้านต่างๆ ได้ 20 % และควรพูดถึงการปฏิรูปภาษีต่างๆ การปฏิรูปกองทัพ ซึ่งมีงบฯ กว่าแสนล้านล้านบาท หากลดลง 20% เท่ากับว่าจะได้เงินงบฯกว่า 4  หมื่นล้านบาท ถ้าลดเงินซื้อเรือดำน้ำอีก 3 หมื่นล้านบาทก็จะมีเงินในเป็นสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุได้นานถึง 1 ปี ทันที แล้วถ้ามองว่านโยบายเงินดิจิทัล เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วคราว แต่ถ้ามองใหม่เงินสำหรับผู้สูงอายุ 3,000 บาท แต่ปรับการให้ปีแรกเป็น 1 พันบาท จากเดิม 600 บาท เท่ากับว่าปรับเพิ่ม 400 บาท แล้วธรรมชาติของผู้สูงอายุเมื่อได้รับเงินแล้วก็มีการใช้จ่ายเลย จึงสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เช่นกัน ที่สำคัญตนมองส่า เรื่องสวัสดิการประชาชนนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจริงๆ ทะลายกำแพงระหว่างคนรวย คนจนลงได้  

นอกจากนี้ยังมีเรื่องสำคัญคือกู้วิกฤติข้ามขั้ว ครม.หน้าเดิมบวกเพื่อไทย เรื่องเร่งด่วนเลยคือ เราไปโฟกัสนโญบายนโยบายรัฐบางว่าจะดูดีกว่า MOU 8 พรรคเดิมหรือไม่ก็ต้องดูต่อไป ตนให้โอกาสเพื่อไทยได้ แต่รัฐมนตรีที่อยู่มา 4 ปี แล้วเราคงไม่ได้โอกาสนั้น แต่จะเร่งในการตรวจสอบมากกว่า สุดท้ายเวลาพูดเรื่องรัฐสวัสดิการ คงแยกไม่ได้ขาด กับการแก้โครงสร้าง คือรัฐธรรมนูญ เรื่องกระจายอำนาจ การรวมตัวอย่างๆ ดังนั้น เรื่องเร่งด่วนเหมือนกันคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายเศรษฐาบอกว่าเป็น 1  เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ และในมาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญ 2489 ระบุว่า บุคคลย่อมมีสถานะเสมอกัน ตามกฎหมายฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประการอื่นใดก็ดี ไม่ทำให้เกิดเอกสิทธิ์อย่างใดเลย ซึ่งพออ่านแล้วนึกถึงโรงพยาบาลชั้น 14

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net