Skip to main content
sharethis

ปิยบุตร เลขาฯ ก้าวหน้าเรียกร้องให้รัฐบาลเศรษฐาเร่งผลักดันการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมืองย้อนหลังถึงปี 48 ถึงปัจจุบันทุกฝ่ายการเมืองนับตั้งแต่ พธม. นปช. กปปส. และราษฎร เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งและความปรองดอง

5 ก.ย.2566 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ในเฟซบุ๊กทางการของตนที่ฝากถึงรัฐบาลใหม่ที่เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีให้ผลักดันการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการแสดงออกทางการเมืองย้อนหลังไปไกลถึงการชุมนมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ด้วย

ปิยบุตรก็ได้ระบุถึงกรณีที่มีคนตั้งคำถามและแสดงความไม่เห็นด้วยในกรณีของทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหารไปเมื่อ 19 ก.ย.2549 ได้เดินทางเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 22 ส.ค.2566 อีกทั้งยังได้รับพระมหากรุณาอภัยลดโทษในคดีเหลือจำคุก 1 ปี จากทั้งหมด 8 ปีไปเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมาและเตรียมเข้าสู่กระบวนการพักโทษหรือได้รับอภัยโทษตามวโรกาสสำคัญต่อไปนั้น

เลขาธิการพรรคก้าวไกลได้เสนอถึงรัฐบาลเศรษฐาและพรรคการเมืองในสภาว่าเพื่อลดทอนการตั้งคำถามเรื่องความไม่เสมอภาค และเพื่อความปรองดองอย่างแท้จริงและเท่าเทียมแล้ว ควรเร่งผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนนับตั้งแต่ปี 2548  จนถึงปัจจุบัน ทุกฝักฝ่ายทั้ง พธม., แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช., คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. และกลุ่มเยาวชน และ “ราษฎร” ด้วย

“นี่ต่างหากที่จะเป็นก้าวแรกของการก้าวข้ามขัดแย้งที่แท้จริง สร้างความปรองดองสมานฉันท์ และเกิดประโยชน์ตกแก่ประชาชนคนธรรมดา นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนลดข้อครหาที่มีต่อรัฐบาลเศรษฐา และพรรคเพื่อไทยในประเด็นเกี่ยวกับบ่อเกิดของการตั้งรัฐบาลชุดนี้ได้อีกด้วย” ปิยบุตรระบุ

ทั้งนี้การผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ไม่ได้มีเพียงปิยบุตรเท่านั้น องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่างศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังเคยเรียกร้องถึงพรรคการเมืองต่างๆ ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งแล้วเนื่องจากนับตั้งแต่เกิดขบวนการเยาวชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาล่าสุดมี 1,241 คดีและมีประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 1,925 คนแล้ว รวมถึงมีเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะถูกดำเนินคดีอีก 286 คน ใน 215 คดี (ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ณ วันที่ 5 ก.ย.2566)

ทั้งนี้ในช่วงหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา ขณะที่สถานการณ์การจับขั้วรวมพรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาลในช่วงแรกพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมและพรรคการเมืองหน้าใหม่รวม 8 พรรคมีข้อตกลงร่วมกันในการผลักดันนโยบายของพรรคต่างๆ เมื่อได้เป็นรัฐบาลจะไม่มีประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองอยู่ด้วย แต่เมื่อสถานการณ์ในช่วงที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยกำลังตกลงกันเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรจะมีการออกข้อตกลงร่วมกันออกมาอีกฉบับที่มีการบรรจุเรื่องนิรโทษกรรมเอาไว้

อย่างไรก็ตามเมื่อสุดท้ายแล้วพรรคก้าวไกลที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดในสภาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ทำให้ข้อตกลงทั้งสองฉบับมีอันตกไป ทำให้ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนนักว่ารัฐบาลใหม่ที่เกิดจากการรวมกันของพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองในฝ่ายรัฐบาลสมัยประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีจะเป็นอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้ในวันนี้องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (International Federation for Human Rights-FIDH) ร่วมกับอีก 3 องค์กรในไทยคือ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLaw), และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกันออกจดหมายเปิดผนึกจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเศรษฐาเพื่อเรียกร้องให้แก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนใน 10 ประเด็น ซึ่งมีข้อเรียกร้องในประเด็นการยกเลิกคดีการแสดงออกทางการเมืองอยู่ด้วยเช่นกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net