Skip to main content
sharethis

"พิพัฒน์" ถกหอการค้าฯ เล็งเอ็มโอยู 4 กระทรวง เร่งอัพสกิลแรงงานไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมร่วมกับนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบายด้านแรงงานของประเทศไทย โดยมี นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการภาคเอกชน หอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายพิพัฒน์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จากการหารือกับสภาหอการค้าฯ ในวันนี้ได้สื่อสารกันในเรื่องการพัฒนาแรงงานอย่างไรให้แรงงานกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นแรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งในเรื่องนี้ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญและมีนโยบายที่จะผนึกกำลังความร่วมมือใน 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงแรงงาน เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานของคนไทย วันนี้เรานำแรงงานต่างด้าวเข้ามาเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันเราก็ส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและนำรายได้เข้าประเทศ เราจึงต้องนำแรงงานรุ่นใหม่ เด็กจบใหม่มา Up Skill เพื่อทดแทนแรงงานเดิม และเติมบุคลากรภาคแรงงานที่เป็นคนไทยให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีคุณภาพ และได้ค่าแรงที่สูงขึ้น ทั้งนี้ เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายกับสภาแล้วจะได้หารือกับภาคเอกชนเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาแรงงานต่อไป

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันนี้ภาคเอกชนขอชื่นชมและสบายใจที่เจ้ากระทรวงได้เปิดใจและทำงานในเชิงรุก และที่สำคัญทราบว่าท่านรัฐมนตรีพิพัฒน์มีแนวทางที่จะทำงานร่วมกันกับ 4 กระทรวง ทั้ง มหาดไทย ศึกษาธิการ อว. และแรงงาน ซึ่งเป็นนิมิตรที่ดีที่จะเห็นการทำงานร่วมกันในการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น และสนับสนุนการทำงานกับภาคเอกชน เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาแรงงานประเทศไทยนั้น วันนี้ภาคเอกชนได้เสนอไป 4 ประเด็น คือ ค่าจ้างขั้นต่ำ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว และเร่งเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ทั้งนี้ จะได้ประสานความร่วมมือในรายละเอียดต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 8/9/2566

‘ศาลแรงงาน’ สั่ง ‘การบินไทย’ จ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง‘ส่วนที่ขาด’ ให้อดีตพนักงาน 17 ราย

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2566 ศาลแรงงานภาค 1 (พระนครศรีอยุธยา) ได้มีคำพิพากษาในคดีที่อดีตพนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 17 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท การบินไทยฯ เพื่อขอให้ศาลฯบังคับให้บริษัท การบินไทยฯ จ่ายค่าตอบแทนในอัตราเทียบเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานในส่วนที่ขาด และจ่ายเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย 15% ต่อปี

โดย ศาลฯพิพากษาให้บริษัท การบินไทย จ่ายเงินตอบแทนในอัตราเทียบเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และจ่ายเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเฉพาะในส่วนที่ขาด ให้แก่อดีตพนักงานบริษัท การบินไทยฯ ทั้ง 17 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,555,362 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย 15% ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ประกอบด้วย จ่ายเงินตอบแทนในอัตราเทียบเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานให้แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 178,748 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 267,348 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 660,294 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 250,061 บาท

และจ่ายเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเฉพาะในส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 11,400 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 15,200 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 15,200 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 10,133 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 11,466 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 10,066 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 11,466 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 15 เป็นเงิน 11,466 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 16 เป็นเงิน 11,200 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 17 เป็นเงิน 11,600 บาท

ให้แก่โจทก์ที่ 19 เป็นเงิน 12,533 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 20 เป็นเงิน 11,466 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 21 เป็นเงิน 6,250 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 22 เป็นเงิน 12,133 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 23 เป็นเงิน 12,133 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 24 เป็นเงิน 12,666บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 26 เป็นเงิน 12,533 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 15% ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

“…ข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์ดังกล่าวนำสืบว่า ในช่วง 400 วัน ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย (บริษัท การบินไทยฯ) ในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ได้ออกไปทำการบิน และได้รับเบี้ยเลี้ยงจากการทำงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหรือนักบิน หรือ Flight per diem จากจำเลย ตามตารางปฏิบัติงานบนเครื่องบินเอกสารหมาย จ.5, จ.24, จ./26, จ.28 ใบสรุปยอดเงิน per diem และรายการเดินบัญชีเอกสารหมาย จ.6, จ.25, จ.27, จ.29

โดยโจทก์ที่ 3 ได้รับเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นเงิน 178,748 บาท โจทก์ที่ 4 ได้รับเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นเงิน 267,348 บาท โจทก์ที่ 5 ได้รับเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นเงิน 660,254 บาท โจทก์ที่ 6 ได้รับเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นเงิน 250,061 บาท ซึ่งจำเลยต้องนำเงินเบี้ยเลี้ยงนั้น มารวมเป็นฐานของค่าจ้างเพื่อคำนวณเป็นเงินตอบแทนในอัตราเทียบเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานเพื่อจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ด้วย ตามเงื่อนไขของโครงการที่โจทก์ดังกล่าวเข้าร่วม

แต่จำเลยมิได้ดำเนินการเช่นนั้น จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ่ายเงินตอบแทนในอัตราเทียบเท่ากับคำชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ให้แก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ไม่ครบถ้วน จำเลยต้องจ่ายเงินตอบแทนในอัตราเทียบเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานตามจำนวนดังกล่าวข้างต้นให้แก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามที่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 มีคำขอ

สำหรับโจทก์ที่ 11 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 24 และที่ 26 นั้น จำเลยนำสืบว่า โจทก์ดังกล่าวไม่ได้ออกไปปฏิบัติงานบนเครื่องบินตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เพราะจำเลยประกาศหยุดบินเนื่องจากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ตามสำเนาประกาศหยุดบินเอกสารหมาย ล.40 จึงไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงจากจำเลยแต่อย่างใด

ส่วนโจทก์ที่ 11 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 24 และที่ 26 นำสืบว่า ในช่วง 300วัน หรือช่วง 400 วัน ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่โจทก์ดังกล่าวพันสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่จำเลยมีประกาศหยุดบินหรือไม่ก็ตาม โจทก์ดังกล่าวก็ยังออกไปทำการบินอยู่บ้าง ตามตารางปฏิบัติงานบนเครื่องบินเอกสารหมาย จ.33, จ.34, จ.36 ถึง จ.39, จ.41 ถึง จ.46, จ.50

เห็นว่า เอกสารที่โจทก์ดังกล่าวนำสืบ ไม่ใช่พยานหลักฐานที่ยืนยันชัดเจนว่า โจทก์ดังกล่าวออกไปทำการบินจริงในวันใดบ้าง และได้รับเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวจากจำเลยเป็นจำนวนเท่าใด

ส่วนที่โจทก์ดังกล่าวนำสืบว่า โจทก์ดังกล่าวได้รับเบี้ยเลี้ยงจากจำเลย ตามสำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเอกสารหมาย จ.47 และใบสรุป Flight Perdiem System เอกสารหมาย จ.51 นั้น

ก็ปรากฏว่าพยานหลักฐานนั้น ไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนว่า โจทก์ดังกล่าวได้รับเบี้ยเลี้ยงจากจำเลยหรือไม่ และได้รับเป็นจำนวนเท่าใดแน่ พยานหลักฐานที่โจทก์ดังกล่าวนำสืบมา ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ในช่วง 300 วัน หรือช่วง 400 วัน ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่โจทก์ดังกล่าวพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์ดังกล่าวยังออกไปทำการบินและได้รับเบี้ยเลี้ยง ซึ่งถือเป็นค่าจ้างตามผลงานคำนวณโดยเป็นหน่วยจากจำเลย

จึงไม่มีค่าจ้างตามผลงานของโจทก์ดังกล่าวที่จะนำมารวมเป็นฐานของค่าจ้าง เพื่อคำนวณเป็นเงินตอบแทนในอัตราเทียบเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เพื่อจ่ายให้แก่โจทก์ดังกล่าวเพิ่มเติมส่วนที่ขาดตามฟ้องได้ ย่อมถือว่าจำเลยจ่ายเงินตอบแทนในอัตราเทียบเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานให้แก่โจทก็ดังกล่าวครบถ้วนแล้ว

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลย (บริษัท การบินไทยฯ) จ่ายเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ของปี 2560 ถึงปี 2563 ให้แก่โจทก์ที่ 4 และที่ 16 ครบถ้วนแล้วหรือไม่ และจำเลยจ่ายเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ของปี 2557 ถึงปี 2559 และปี 2563 ให้แก่โจทก์ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 15 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 24 และที่ 26 ครบถ้วนแล้วหรือไม่

ในข้อนี้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 ระบุให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30 รวมถึงค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามที่ตกลงกัน

โดยในมาตรา 30 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้า หรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันและตามระเบียบของจำเลยว่าด้วยการบริหารงานบุคคล สำเนาเอกสารหมาย ล.43 ตอนที่ 1 สิทธิและหน้าที่โดยทั่วไปของพนักงาน พ.ศ.2537 ข้อ 9 เรื่องการหยุดพักผ่อนประจำปี

ในข้อ 9.1 กำหนดให้พนักงานที่มีอายุงานครบตั้งแต่ 1 ปี 5 ปี 10 ปี 15 ปี และพนักงานระดับผู้อำนวยการใหญ่ หรือกรรมการผู้จัดการขึ้นไป มีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้ 12 วัน 18 วัน 21 วัน 24 วัน และ 28 วัน ตามลำดับ และระบุให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวนดังกล่าวให้พนักงานล่วงหน้าหรือผู้บังคับบัญชาและพนักงานจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในรอบปีถัดไปก็ได้ แต่สะสมได้ไม่เกิน 3 รอบปีติดต่อกัน

โดยต่อมาจำเลย (บริษัท การบินไทยฯ) มีประกาศที่ 020/2558 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 เรื่องการดำเนินการวันหยุดพักผ่อนประจำปี ข้อ 3 ระบุว่า นับตั้งแต่รอบปี 2557/2558 เป็นต้นไป จำเลยจะไม่นำวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เกินกว่าระเบียบบริษัทกำหนดมาจ่ายเป็นเงินทดแทน ลูกจ้างสามารถสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่เกิน 3 ปี และจะมีการตัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมที่เกิน 3 ปี ในทุกวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี ตามสำเนาประกาศเอกสารหมาย จ.20 เช่นนี้

เห็นว่า การที่จำเลยมีประกาศดังกล่าว ก็เพื่อไม่ต้องการให้มีการหยุดงานคราวละจำนวนมาก ซึ่งอาจกระทบต่อการบริหารจัดการคนให้เหมาะสมกับงาน ทั้งยังเป็นไปเพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยพยุงสถานะทางการเงินของจำเลยให้อยู่รอดต่อไปได้

การกระทำของจำเลย นอกจากจะถือเป็นการบริหารงานบุคคลโดยสุจริตแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบของจำเลย ข้อ 9 และเป็นการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยถูกต้องครบถ้วนแล้ว

ดังนั้น การที่จำเลยมีประกาศดังกล่าว แล้วตัดสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมในส่วนที่เกินสามปีทิ้งไป และไม่นำมาจ่ายเป็นเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามระเบียบของจำเลย

จึงชอบแล้ว โจทก์ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 15 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 24 และที่ 26 ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ของปี 2557 ถึงปี 2559 จากจำเลยเพิ่มเติมได้อีก

ที่โจทก็ดังกล่าวนำสืบอ้างว่า โจทก์ดังกล่าวไม่สามารถใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ และจำเลยไม่ได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ดังกล่าว โดยมีหลักฐานเป็นประกาศของจำเลยตามสำเนาเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 ที่ระบุไม่ให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินลาหยุดพักผ่อนประจำปี หรือขอความร่วมมือจากพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินให้ชะลอการใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีมาแสดง นั้น

ก็เป็นการห้ามหรือขอความร่วมมือในบางช่วงบางเวลาเท่านั้น จึงไม่สามารถบ่งชี้ชัดว่า จำเลยไม่ได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ดังกล่าวตามที่อ้าง

นอกจากนี้ ที่โจทก์ดังกล่าวอ้างว่า หน่วยงานที่โจทก์ดังกล่าวสังกัดเป็นหน่วยงานที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถให้พนักงานใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีได้หมด จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทน ตามสำเนาประกาศเอกสารหมาย จ.20 ข้อ 3 และ ข้อ 4 นั้น

เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เพราะกรณีจะเป็นเช่นนั้น ตามประกาศดังกล่าวระบุว่า จะต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากฝ่ายบริหารของจำเลยก่อน แต่โจทก็ดังกล่าวไม่มีหลักฐานการการพิจารณาอนุมัติจากฝ่ายบริหารของจำเลยมาแสดงแต่อย่างใด

ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ของปี 2563 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามรายละเอียดวันหยุดพักผ่อนประจำปีเอกสารหมาย ล.44 ว่า จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 4 และที่ 16 ตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์ที่ 4 และที่ 16 มีสิทธิได้รับ เพราะเป็นปีที่โจทก์ที่ 4 และที่ 16 พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลย

จึงชอบแล้ว โจทก์ที่ 4 และที่ 16 ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ของปี 2563 เต็มตามสิทธิ 24 วัน ดังที่ฟ้องและนำสืบแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 24 และที่ 26 ตามรายละเอียดวันหยุดพักผ่อนประจำปีเอกสารหมาย ล.44 นั้น จำเลยไม่ได้นำเงินประจำตำแหน่งของโจทก์ดังกล่าว ซึ่งเป็นค่าจ้างดังกล่าวมารวมคำนวณด้วย ย่อมไม่ถูกต้อง…

จำเลยจึงต้องจ่ายเงินส่วนที่ยังขาดอยู่นั้นให้แก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 24 และที่ 26 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามที่โจทก์ดังกล่าวมีคำขอ…” คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 1 (พระนครศรีอยุธยา) คดีหมายเลขดำที่ ร1181-ร1206/2565 คดีหมายเลขแดงที่ ร905-ร908 ,ร937 ,ร965 ,ร 974 ,ร1005 ,ร1066, ร1655-ร1671/2566 ลงวันที่ 7 ก.ย.2566 ระบุ

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 8/7/2566

16 สภาองค์การลูกจ้าง 8 สหภาพ ร่วมถก “พิพัฒน์” นัดแรก ย้ำ!ค่าแรงรอฟังนายกฯ 11 ก.ย.นี้

8 ก.ย. 2566 ที่กระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาด้านแรงงานกลุ่มสภาองค์การลูกจ้างต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยเป็นการประชุมร่วมกับประธานสภาองค์การลูกจ้าง 16 สภา แต่มาเพียง 15 สภา เนื่องจากผู้นำสภาลูกจ้างแห่งชาติ ไม่สบาย และประธานสหภาพแรงงาน 8 สหภาพ นัดแรก นอกจากนี้ มีผู้บริหารฝ่ายข้าราชการประจำ นำโดย นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) อีกทั้งมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ และนายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีฯ เข้าร่วมประชุมร่วมกันเป็นเวลา 2 ชั่วโมง

นายพิพัฒน์ เปิดเผยภายหลังการหารือว่า วันนี้ตนได้เชิญ 16 สภาลูกจ้าง มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยคาดว่าหลังจากที่รัฐบาลมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 11-12 กันยายนนี้ เพื่อประกาศทิศทางนโยบายแรงงานไทย จากนั้นก็จะมีการหารือกันอีกครั้ง จากการประชุมวันนี้ ตนได้รับความเห็นจากสภาแรงงานหลายอย่าง ยืนยันว่าสิ่งที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทำไว้ดีแล้ว ตนจะสานต่อไป ไม่นับหนึ่งใหม่ ทั้งนี้ ตนได้แจ้งกับสภาลูกจ้างว่า กระทรวงแรงงานจะต้องยกระดับเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ เพราะทุกองคาพยพของไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน กระทรวงแรงงานจึงเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม จากการหารือวันนี้ก็พบปัญหาของลูกจ้างในประเด็นคล้ายเดิม เช่น การเข้าร่วมในอนุสัญญาไอแอลโอ (ILO) ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 ซึ่งมีข้อเสนอให้รัฐบาล กระทรวงแรงงานพิจารณาเข้าร่วมด้วย

“เท่าที่ผมทราบคือ ในอาเซียนเหลือแค่ประเทศไทย และ สปป.ลาว ที่ยังไม่เข้าร่วม และเรื่องการถูกเอารัดเอาเปรียบในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะต้องเข้าไปดูทุกมิติ เพื่อให้เกิดความเสมอภาค ประเทศจะเจริญหรือพัฒนาได้ แรงงานเป็นส่วนสำคัญที่สุด หากไม่มีการพัฒนาฝีมือแรงงาน การจะพัฒนาประเทศให้เร็วไปกว่านี้ ก็จะเป็นไปได้ยาก ส่วนเรื่องค่าแรงนั้น ขอให้นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ประกาศให้เรียบร้อย เราจึงจะหารือกันว่า จะทำอย่างไร โดยเฉพาะนโยบายต่างๆ ที่ได้หาเสียงกันก่อนเลือกตั้ง” นายพิพัฒน์ กล่าวและว่า สิ่งสำคัญคือ การทำงานร่วมกัน เดินหน้าไปพร้อมกัน หากฝ่ายข้าราชการประจำที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ไม่ช่วยเหลือตนในฝ่ายการเมือง เป็นไปไม่ได้ที่พวกตนจะสามารถเดินหน้าได้ เพราะกำลังหลักสำคัญคือ ข้าราชการในกระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า หากมีนโยบายใดที่จะขับเคลื่อนกระทรวงแรงงาน ก็จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากข้าราชการและสภาลูกจ้างทั้งหมด ทุกสิ่งจึงต้องเดินไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม กฎหมายใดที่ค้างจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ตนก็จะพยายามทำให้สำเร็จ แต่ขอเวลาให้ตนได้เข้ามาทำงานเต็มรูปแบบ 100% ภายหลังจากที่มีการแถลงนโยบาย“เนื่องจากนายกฯ ได้แจ้งไว้ว่า ขอให้เจ้ากระทรวงทุกกระทรวง อย่าเพิ่งลงนามในเอกสารใดๆ ทั้งสิ้น เพราะถือว่ายังไม่ได้แถลงนโยบายจากรัฐบาล จึงถือว่ายังไม่ได้เต็มรูปแบบ 100% จึงขอให้มีการแถลงนโยบายให้เรียบร้อยก่อน” นายพิพัฒน์ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 8/9/2566

ปลัดแรงงาน สั่งหน่วยงานในสังกัด รุดเยี่ยมบ้านสร้างขวัญกำลังใจญาติ กรณีแรงงานไทยเสียชีวิตที่เกาหลีใต้

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีแรงงานไทยที่ไปทำงานในเกาหลีใต้ประสบอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิตขณะไปพักผ่อนที่อ่างเก็บน้ำ เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา และแม่ของผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นชาวจังหวัดมหาสารคามขอความช่วยเหลือผ่านสื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือพาศพลูกชายกลับไทย ว่า ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานผมได้สั่งการให้ทูตแรงงานที่เกาหลีใต้ประสานกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล เพื่อให้ความช่วยเหลือตามความประสงค์ของญาติอย่างเร่งด่วน นายบุญชอบ กล่าวต่อว่า จากรายงานของ นายนิธิพัฒน์ วัฒนสุวกุล อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งได้ประสานกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล พบว่า ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว จำนวน 2 ราย ทราบชื่อคือ นายทักษ์ศิลป์ พวงสีเคน อายุ 39 ปี และนายวสันติ์ พลกำแหง อายุ 39 ปี ทั้งสองคนเป็นชาวจังหวัดมหาสารคาม เดินทางเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ด้วยวีซ่าท่องเที่ยว ขณะนี้ทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล แจ้งว่าได้ติดต่อกับญาติของแรงงานทั้งสองคนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนายประเสริฐศิลป์ พวงสีเคน บิดาของนายทักษ์ศิลป์ พวงสีเคน และนางบุญเหลือ พลกำแหง มารดาของนายวสันติ์ พลกำแหง ได้มอบอำนาจให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล เป็นผู้ดำเนินการส่ง ซึ่งมีกำหนดการส่งศพกลับไทยในวันจันทร์ที่ 11 กันยายนนี้ โดยจะเดินทางด้วยสายการบิน T- way เที่ยวบินที่ TW101 ออกจากสนามบินอินชอน เวลา 20.10 และกลับถึงไทย เวลา 23.55 น.

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสถานะความเป็นผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคม พบว่า นายทักษ์ศิลป์ พวงสีเคน เคยเป็นผู้ประกันตนและสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันมีเงินสะสมกรณีชราภาพอยู่ 48,241.08 บาท ยังไม่รวมดอกผล และนายวสันติ์ พลกำแพง  เคยเป็นผู้ประกันตนและสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนเมื่อปี 2561 ปัจจุบันมีเงินสะสมกรณีชราภาพอยู่ 54,527.64 ยังไม่รวมดอกผล และจากการตรวจสอบของกรมการจัดหางานพบว่า ทั้งสองคนไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ

นายบุญชอบ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการดำเนินการที่ประเทศไทย ผมได้สั่งการให้แรงงานจังหวัดพร้อมด้วยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นภูมิลำเนาของแรงงานไทยที่เสียชีวิตทั้งสองรายดังกล่าว ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อปลอบขวัญให้กำลังใจพร้อมแจ้งข้อมูลขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือให้ญาติทราบทั้งการดูแลอำนวยความสะดวกในการประสานกระทรวงการต่างประเทศเพื่อนำศพกลับ รวมทั้งมอบสิทธิประโยชน์เงินสะสมกรณีชราภาพจากประกันสังคมแก่ทายาทผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้แรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ ขอให้เดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันมี 5 วิธี ได้แก่ กรมการจัดหางานจัดส่ง บริษัทจัดหางานจัดส่ง นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงานต่างประเทศ นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงานต่างประเทศ และคนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง จึงขอแจ้งเตือนไปยังคนหางานที่ประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศไปทำงานด้วยวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมาย อย่าหลงเชื่อนายหน้า และขอให้สมัครเป็นสมาชิกเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์การคุ้มครอง หากประสบอันตราย เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ หรือประสบปัญหาในต่างประเทศ

ที่มา: ThaiPR.NET, 8/9/2566

'พิพัฒน์' เข้ากระทรวงแรงงานวันแรก ประกาศยกเป็นกระทรวง ศก. ขอสานต่องานสุชาติ ไม่นับ 1 ใหม่

7 ก.ย. 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้อำนวยการพรรคภูมิใจไทย และว่าที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา ว่าที่เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และ นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ว่าที่ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เดินทางเข้ากระทรวงแรงงานเป็นวันแรก โดยเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน รวม 5 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 พระพุทธสุทธิธรรมบพิตร จุดที่ 2 พระพุทธชินราช จุดที่ 3 ศาลพระภูมิชัยมงคล จุดที่ 4 ศาลท้าวมหาพรหมเทวฤทธิ์ และจุดที่ 5 ศาลพ่อปู่สุชินพรหมมา

จากนั้นเวลา 9.00 น. นายพิพัฒน์ได้ประชุมหารือร่วมกับ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงฝ่ายข้าราชการประจำ ประกอบด้วย อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์

นายพิพัฒน์ให้สัมภาษณ์ก่อนร่วมประชุมกับข้าราชการประจำว่า วันนี้ถือโอกาสฤกษ์งามยามดีจึงเข้ามากราบสัการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และพบปะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่ยังไม่ได้ให้นโยบายอะไร เนื่องจากต้องรอรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 11-12 กันยายนนี้ให้เสร็จก่อน หลังจากนั้น ตนพร้อมปลัดกระทรวงแรงงานและข้าราชการกระทรวง จะมาทำนโยบายเพื่อแถลงนโยบายให้ชาวกระแรงทรวงงานและพี่น้องแรงงาน ลูกจ้างและนายจ้างทราบว่า หลังจากนี้ไปตลอด 4 ปีข้างหน้ารัฐบาลจะทำอะไรบ้าง กระทรวงแรงงานที่ได้รับนโยบายจากรัฐบาลมาจะทำอะไรบ้าง แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ตนตั้งเป้าหมายและอยากจะทำให้ได้ คือ การเห็นกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ เพราะแรงงานเข้าถึงทุกองคาพยพของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กระทรวงแรงงาน ดังนั้น จึงต้องหารือกันเพื่อยกระดับแรงงานไทย

เมื่อถามถึงภารกิจสำคัญอันดับแรกๆ ที่จะดำเนินการ นายพิพัฒน์กล่าวว่า ตนขอเวลาศึกษาข้อมูลก่อน เพราะวันนี้ วันแรกยังไม่ได้เรียนรู้อะไรมากมายแต่หลังจากหารือร่วมกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตั้งแต่ปลัดกระทรวงแรงงานไป ก็จะทราบถึงสิ่งสำคัญอันดับแรกที่จะทำ ที่สำคัญกว่านั้นคือ ตนขอพบกับ 3 ฝ่าย โดยเฉพาะสหภาพแรงงาน นายจ้าง และข้าราชการให้ครบ เพื่อนำความคิดมาประมวลกัน

เมื่อถามถึงแรงกดดันต่อตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ยืนยันว่าตนไม่ได้มีความกดดัน เพราะในอดีตตนเคยเป็นผู้บริหารภาคธุรกิจมีลูกจ้างนับพันคน ปัจจุบันเป็นบริษัทในเครือครอบครัวมีลูกจ้าง 2-3 หมื่นคน ฉะนั้นตนได้เรียนรู้ถึงการดูแลแรงงานมาตั้งแต่อยู่ภาคธุรกิจ เมื่อมาอยู่กระทรวงแรงงานต้องทำความเข้าใจกับการทำงานกับข้าราชการ ที่จะต้องปรับเปลี่ยนเพราะคำว่าข้าราชการและคำว่าธุรกิจ การดูแลกับการตัดสินใจก็จะเป็นคนละรูปแบบ

เมื่อถามว่า นโยบายเดิมมีอะไรที่อยากสานต่อ นายพิพัฒน์กล่าวว่า สำหรับภารกิจเดิมที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ทำเอาไว้ดีอยู่แล้ว ตนก็จะเดินต่อแน่นอน จะไม่นับ 1 ใหม่เด็ดขาด สิ่งที่ดีก็ควรจะต่อยอด ไม่ใช่ว่าดีอยู่แล้ว แต่ตนมาใหม่แล้วเข้ามาเปลี่ยน เราไม่มีเวลานับ 1 ใหม่ เราควรต้องนับ 9 นับ 10 เลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่นายสุชาติทำไว้ดี เราควรต่อยอดเพื่อประหยัดเวลา เพราะในวันนี้รัฐบาล ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เราไม่มีเวลาฮันนีมูน ไม่มีเวลาพักศึกษา เรามีอย่างเดียวคือ เข้ามาแล้วเริ่มงานได้เลย ใครเริ่มเร็วกว่าคนนั้นถึงเส้นชัยก่อน

ทั้งนี้ นายพิพัฒน์มีกำหนดการเดินทางไปพบปะหารือกับกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในวันที่ 8 กันยายนที่อาคารบรรเจิด ชลวิจารณ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยพบกับ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย เพื่อรับฟังปัญหา ความต้องการ และข้อเสนอแนะ นอกจากนี้ ยังมีนัดหมายพบปะตัวแทนผู้ใช้แรงงานในสัปดาห์ต่อไปอีกด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 7/9/2566

56% ของคนไทยเริ่มหางานใหม่อย่างจริงจัง บริษัทต่าง ๆ แข่งกันเฟ้นหาบคุลากรที่มีความสามารถสูง

ผลการศึกษาที่ทำกับพนักงานทั่วประเทศล่าสุดระบุว่าภูมิทัศน์การจ้างงานในประเทศไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยคนไทยจำนวน 46% ต่างกำลังมองหางานใหม่อยู่ในขณะนี้ อีก 10% กำลังวางแผนที่จะเริ่มหางานใหม่ในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยการเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่เคยมีมาก่อนนี้ได้แสดงให้เห็นถึงพลวัตของตลาดแรงงาน ซึ่งเกิดจากความลื่นไหลที่เพิ่มขึ้นและความต้องการของผู้คนที่จะสำรวจโอกาสทางอาชีพใหม่ ๆ

การศึกษาล่าสุดจากผู้เชี่ยวชาญด้านการสรรหาบุคลากรอย่าง Michael Page Thailand รวบรวมข้อมูลจากพนักงานจำนวน 942 คนในประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพนักงาน 1 ใน 2 คนได้เปลี่ยนงานตั้งแต่ที่โควิด-19 ได้เริ่มแพร่ระบาด ข้อมูลนี้บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับตัวงาน ซึ่งนำไปสู่ "การปฏิวัติที่มองไม่เห็น" ซึ่งกระทำผ่านลักษณะการย้ายงาน

จากรายงาน Talent Trends ประจำปี 2566 ของ Michael Page Thailand หัวข้อ "The Invisible Revolution" หรือ การปฏิวัติที่มองไม่เห็น ระบุว่า การย้ายงานได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยคนไทยจำนวน 9 ใน 10 คนที่เริ่มงานใหม่เมื่อปีที่แล้วกำลังเปิดรับโอกาสทางอาชีพใหม่ ๆ ความคิดที่ยืดหยุ่นต่อความก้าวหน้าในอาชีพได้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ โดยคนส่วนใหญ่มองว่าการเปลี่ยนงานเป็นส่วนหนึ่งของในอาชีพของพวกเขา

Kristoffer Paludan ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคของ Michael Page ประเทศไทย กล่าวว่า "จากการติดตามมาอย่างต่อเนื่อง พนักงานจำนวน 89% ในประเทศไทยเปิดรับโอกาสด้านอาชีพใหม่ ๆ แม้แต่พนักงานที่พอใจกับงานอยู่แล้วก็ยังมองหาโอกาสทางอาชีพใหม่ ๆ เช่นกัน ซึ่งสิ่งที่พนักงานชาวไทยกำลังมองหาอยู่นั้นคือรายได้และสวัสดิการที่ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนที่สูง ความยืดหยุ่นในการทำงาน การเติบโตในสายอาชีพ การให้คุณค่าแก่พนักงาน รวมถึงวัฒนธรรมการทำงานที่สอดคล้องกับค่านิยมในด้านต่าง ๆ เช่น ความยั่งยืน ความหลากหลาย ความเสมอภาค และการยอมรับความแตกต่าง"

ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับพฤติกรรมการหางานใหม่ปัจจุบันเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ในความเป็นจริง ประชากรจำนวน 67% มีแนวโน้มที่จะหางานใหม่เมื่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจแย่ลง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยการสมัครงานใหม่เสมอไป หลังจากการหลั่งไหลย้ายงานที่มากขึ้นทั้งในระหว่างและหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้คนต่างให้ความสำคัญในการหางานที่ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละคนอย่างดีที่สุด และทำตามสิ่งที่มองหาทั้งในเรื่องของความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน

Nicholas Kirk ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ PageGroup กล่าวว่า "แนวโน้มในประเทศไทยสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของตลาดแรงงานระดับโลก การเปลี่ยนงานได้เกิดขึ้นทุกภูมิภาคและทุกกลุ่มอายุ ทุกตลาด และทุกอุตสาหกรรม

"สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แนวโน้มที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้นหรือการตอบสนองต่อความโกลาหลในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานเชิงโครงสร้างที่บริษัทต่าง ๆ นำมาใช้เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้"

ผลการวิจัยล่าสุดนำมาซึ่งความต้องการเร่งด่วนสำหรับองค์กรในประเทศไทยในการประเมินกลยุทธ์ด้านการสรรหาบุคลากรอีกครั้ง เนื่องจากตลาดแรงงานกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงลึก โดยนายจ้างจะต้องทำมากกว่าการปรับตัวให้เข้ากับพลวัตที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรที่ดีที่สุดไว้ ซึ่งการปรับแนวทางให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงนั้น บริษัทต่าง ๆ จะสามารถวางตัวเป็นนายจ้างที่พนักงานต้องการและส่งเสริมความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลานี้ได้

ที่มา: Michael Page, 6/9/2566

ไทย-เมียนมา ไฟเขียวแรงงานเอ็มโอยูครบ 4 ปี กลับเข้าทำงาน เมียวดี-เกาะสอง พร้อม 11 ก.ย.นี้

6 ก.ย. 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา กกจ. ประชุมหารือร่วมกับ นายมอง มอง ตาน อธิบดีกรมแรงงาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และคณะ ผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอร์เร้นท์ (Video Conference) เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการแรงงานเมียนมาตามเอ็มโอยูที่วาระการจ้างงานครบ 4 ปี ในประเด็น ดังนี้

1. การอำนวยความสะดวกแรงงานอยู่ครบ 4 ปี ให้กลับเข้าสู่ระบบการจ้างงานโดยเร็ว โดยแรงงานที่วาระการจ้างงานครบ 4 ปีในปีนี้ ที่ประสงค์จะทำงานต่อไป สามารถกลับเข้ามาทำงานครั้งใหม่ โดยที่ระยะเวลาในการเดินทางกลับเมียนมาไม่ต้องถึง 30 วัน และสามารถดำเนินการลงนามสัญญาจ้างได้ในบริเวณแนวชายแดนฝั่งเมียนมา ณ เมืองเมียวดี และ เกาะสอง

2. ฝ่ายเมียนมาแจ้งให้ทราบว่า สามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. 2566 โดยพิจารณาอนุมัติบัญชีรายชื่อมาแล้ว จำนวน 171 คน

3. การเตรียมความพร้อมในการออกเอกสาร CI ฝ่ายเมียนมามีความพร้อมที่จะดำเนินการออกเอกสาร CI ให้กับแรงงานเมียนมาจำนวนมากที่ได้ขึ้นทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2566 ภายหลังจากที่ฝ่ายไทย ได้เสนอแนวทางการดำเนินการให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

“รัฐบาลไทยได้เปิดโอกาสให้แรงงานตามเอ็มโอยูที่ครบ 4 ปี ได้ทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยต่อไป โดยมีแนวทางดำเนินการด้านนโยบายในการบริหารจัดการแรงงาน ให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แรงงานได้รับสิทธิและการคุ้มครองตามกฎหมายไทย” นายไพโรจน์ กล่าวและว่า หากนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว มีข้อสงสัยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th และ เฟซบุ๊ก : สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว หรือติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ที่มา: มติชนออนไลน์, 6/8/2566

รมว.แรงงาน "แพ้ฝุ่น" เร่งเปลี่ยนพื้นพรมห้องทำงาน เป็นพื้นไม้ลามิเนต

4 ก.ย. 2566 ที่กระทรวงแรงงาน ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงแรงงาน ว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน มีกำหนดเดินทางเข้ากระทรวงแรงงานในช่วงเช้าวันที่ 7 ก.ย. และได้มีการเรียกประชุมผู้บริหารกระทรวง ข้าราชการระดับซี 9 ขึ้นไปในเวลา 09.00 น.

ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ จะยังใช้ห้องทำงานรัฐมนตรีบนชั้น 6 ของอาคาร 15 ชั้น ไม่ได้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างรอการปรับปรุงเปลี่ยนพื้นพรมไปเป็นพื้นไม้ลามิเนต โดยเจ้าหน้าที่ที่ดูแลห้องทำงานแจ้งว่า รัฐมนตรี "แพ้ฝุ่น" ในช่วงแรกจึงต้องไปใช้ห้องทำงานเดิมของผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่อยู่ชั้นเดียวกันไปก่อน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 4/9/2566

กลุ่มโรงแรมเล็งดึงนักศึกษาฝึกงาน แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า กรมการท่องเที่ยวเตรียมเสนอแผนฟื้นฟูแรงงานภาคการท่องเที่ยวและบริการ ให้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ททช.) พิจารณาเร็วๆ นี้ หลังจากที่คณะทำงานด้านการฟื้นฟูและพัฒนาแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการได้มีมติกำหนดแผนระยะสั้นโดยสนับสนุนการใช้แพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ของกรมแรงงาน เพื่อเพิ่มตำแหน่งงานให้ตรงกับความต้องการมากขึ้น รวมถึงคุณสมบัติที่ตรงในสาขาการท่องเที่ยวและโรงแรม เช่น แม่บ้านทำความสะอาดห้องพัก ในโรงแรมพนักงานเสิร์ฟในโรงแรมระดับ 3-5ดาว และดึงดูดให้แรงงานเดิมกลับเข้ามาทางานโดยการปรับขึ้นค่าจ้างตามทักษะที่เหมาะสม เป็นต้น

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า แรงงานยังขาดแคลนอยู่จำนวนมาก ยอมรับว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ ซึ่งต้องค่อยๆ ปรับตัวไป โดยแรงงานส่วนใหญ่เริ่มกลับมาแล้ว แต่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวทั้งจังหวัดหลักและจังหวัดรอง ยังประสบปัญหานี้อยู่ ส่วนใหญ่พนักงานไปทำงานในโรมแรมขนาดใหญ่แทน

อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะทำงานด้านการฟื้นฟูและพัฒนาแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ ได้มีมติให้นำนักศึกษาชั้น ปวส. และปริญญาตรี มาฝึกงานในโรงแรม โดยประสานผ่านอาชีวะศึกษาและปริญญาตรี ใช้หลักสูตรเรียน 2 ปี ฝึกงาน 2 ปี จากก่อนหน้านี้การฝึกงานไม่นานขนาดนี้ ซึ่งมีหลายโรงแรมเริ่มนำนักศึกษามาฝึกงานแล้วโดยเฉพาะโรงแรม 5 ดาว ซึ่งจะต้องประสานงานกับสถานศึกษาในจังหวัด ซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มนี้ที่จะต้องพัฒนา

“ช่วงไฮซีซันหรือฤดูกาลท่องเที่ยวโรงแรม จะต้องหาวิธีการจ้างงานใหม่ๆ เพื่อหาวิธีการจ้างงานไปก่อน ปัญหาการจ้างงานมีขาด แต่ไม่ได้ขาดตลอด ช่วงโลว์ซีซันแรงงานพอ เพราะอัตราการเข้าพักต่ำ แต่พอเข้าสู่ช่วงไฮซีซันอัตราการเข้าพักสูง ทำให้ขาดแคลนแรงงาน”

ที่มา: เดลินิวส์, 4/9/2566

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net