Skip to main content
sharethis

ความเห็นของกรีนพีซต่อรายงานสังเคราะห์การทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก ย้ำการประชุม COP28 ในปี 2566 นี้ รัฐบาลต่างๆ ต้องตกลงยุติการใช้น้ำมัน ก๊าซฟอสซิลและถ่านหินอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม โดยยึดหลักการผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย  ชี้ทางออกมีพร้อมแล้ว ระบบพลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานที่มีราคาถูกที่สุด

 

9 ก.ย.2566 กรีนพีซ ประเทศไทย แจ้งต่อสื่อมวลชนว่ารายงานความคืบหน้าในการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake Synthesis Report) ของสหประชาชาติเพื่อบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีสซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความถดถอยอย่างมากในปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ ความมุ่งมั่น และความโปร่งใสตรวจสอบได้ของรัฐบาลประเทศต่างๆ ท่ามกลางผลกระทบที่เป็นหายนะจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศทั่วโลก และความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการหาทางออกจากวิกฤต

จากข้อค้นพบของรายงาน Kaisa Kosonen ผู้ประสานงานด้านนโยบาย กรีนพีซ สากล กล่าวว่า “บ้านของเรากำลังถูกไฟไหม้ แต่ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายเพื่อปกป้องชีวิตผู้คนยังคงจิบกาแฟโดยแสร้งเป็นว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น  ไม่มีรัฐบาลใดจะหาข้ออ้างได้แล้วว่าพวกเขาไม่รู้ถึงแนวทางกู้วิกฤติสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลทั้งหลายได้รับการช่วยชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่าจากนักวิทยาศาสตร์ และเราก็มีรายงานสังเคราะห์สถานการณ์ดำเนินงานระดับโลก สิ่งที่โลกรอคอยคือการลงมือทำ และความเป็นผู้นำ เราต้องการให้ผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดใช้พลังของตนเพื่อหลีกเลี่ยงความปั่นป่วนทางสภาพภูมิอากาศ และเพื่อปกป้องมนุษยชาติ แทนที่จะปกป้องอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษ”

ในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (COP28) ในปี 2566 นี้ รัฐบาลต่างๆ ต้องตกลงยุติการใช้น้ำมัน ก๊าซฟอสซิลและถ่านหินอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม โดยยึดหลักการผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย ผู้นำทั้งหลายไม่อาจยิ้มได้อีกต่อไปและอ้างว่าพวกเขาสนับสนุนความตกลงปารีสและจำกัดภาวะโลกเดือดไว้ที่ 1.5°C หากพวกเขาไม่กำหนดวันปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิลและยังผลักดันให้ขยายเพิ่มขึ้น

ทางออกมีพร้อมแล้ว - ปัจจุบันระบบพลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานที่มีราคาถูกที่สุด - เราต้องยุติยุคเชื้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลได้จับเราเป็นตัวประกัน แต่เวลาของพวกเขาหมดลงแล้ว”

อนึ่งตามรายงานความคืบหน้าในการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake Synthesis Report)  มาตรา 14 ของความตกลงปารีสกำหนดให้มีการทบทวนการดำเนินงานของความตกลงนี้เป็นระยะเพื่อประเมินความก้าวหน้าในภาพรวมต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของความตกลงนี้และเป้าหมายระยะยาวของความตกลง ซึ่งเรียกว่า “การทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก” (Global Stocktake) การทบทวนนี้ต้องทำอย่างครอบคลุมและเอื้ออำนวย โดยพิจารณาทั้ง (1) การลดก๊าซเรือนกระจก (2) การปรับตัว (3) กลไกการดำเนินงานและการสนับสนุนโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมและวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ การทบทวนระดับโลกจะเริ่มครั้งแรกในปี 2566 และจะต้องดำเนินการทุกๆ 5 ปี หลังจากนั้น หรือตามมติของภาคีความตกลงปารีส ผลของการทบทวนระดับโลกจะใช้เป็นข้อมูลของประเทศภาคีในการยกระดับการดำเนินงาน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net